กำกับ - ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล
แสดงนำ - พ.ท. วันชนะ สวัสดี, พ.ท. วินธัย สุวารี, นพชัย ชัยนาม, ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง, พ.ท. คมกฤช อินทรสุวรรณ, สรพงษ์ ชาตรี, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, นภัสกร มิตรเอม, ชลัฏ ณ สงขลา, สมชาติ ประชาไทย, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, อินทิรา เจริญปุระ, เกรซ มหาดำรงค์กุล, อคัมย์สิริ สุวรรณศุข, ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, วิชุดา มงคลเขตต์, เกศริน เอกธวัชกุล, พิมพรรณ ชลายนคุปต์, ดอม เหตระกูล, พันธกฤต เทียมเศวต, เขมชาติ โรจนะหัสดิน, พ.ต.ต. จตุรวิทย์ คชน่วม, ดิลก ทองวัฒนา
ภายหลังการประกาศเอกราชของพระนเรศ ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ แล้ว พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้โปรดให้กรีฑาทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาคืนเป็นเมืองขึ้นถึง ๔ ครั้ง คือ ในคราวศึกพระยาพะสิมและ พระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ – ๒๑๒๘ ศึกนันทบุเรง ปี พ.ศ. ๒๑๒๙ ศึกมหาอุปราชาในปี พ.ศ. ๒๑๓๓ และศึกยุทธหัตถีในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ โดยศึกสำคัญที่ทำอยุธยาต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์อันสุ่มเสี่ยงต่อการสิ้นสูญแผ่นดินคือ ศึกนันทบุเรง ซึ่งน้อยคนที่เคยได้ยินหรือระลึกได้ แต่วีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งเป็นที่จดจำ ทั้งการออกปล้นค่ายพม่าจนเป็นที่มาของเรื่องพระแสงดาบคาบค่าย หรือการสังหารลักไวทำมู ทหารเอกข้างหงสาวดี ล้วนอุบัติในศึกนันทบุเรงทั้งสิ้น
ภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ “ศึกนันทบุเรง” ถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยาม หวังให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือและเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศมิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า
กองทัพกษัตริย์ของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง ๓,๒๐๐ ทัพม้า ๑๒,๐๐๐ และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง ๒๕๒,๐๐๐ โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้งพระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า
กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามานี้ ส่งผลให้เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกันแปรพักตร์เข้าสมานสมัครพระเจ้านันทบุเรงรบสมเด็จพระนเรศวร เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้น เมื่อพระศรีสุพรรณธรรมาธิราช พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัยสมเด็จพระนเรศวรแต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ละแวกจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมสยามให้ย่อยยับหากมีอันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรงนี้
ภัยรอบด้านบีบรัดให้สมเด็จพระนเรศวรทรงต้องเผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว ซ้ำเคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น และกองกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึกกันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจาก เพราะพิษรักระหว่างรบที่จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่างเลอขิ่นกับพระราชมนูขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขันเมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของพระเจ้านันทบุเรง
ด้วยข้อจำกัดที่รุมเร้าหลายประการ ผสานกับจำนวนไพร่พลที่เป็นรองหงสาวดีอยู่หลายขุม ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงจำต้องปรับยุทธศาสตร์การตั้งรับทัพหงสาวดี โดยทรงใช้พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นฐานบัญชาการรบแต่เพียงแห่งเดียว ทรงส่งกำลังออกไปปักปราการ วางแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาปลูกค่ายใกล้ขอบคูพระนครและกำแพงเมือง ทั้งยังแต่งกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นค่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ
เมื่อศึกเหนือเสือใต้รุมกระหน่ำ ขุนนางผู้ใหญ่ขาดสามัคคีคิดคดคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จอมทัพผู้รั้งราชบัลลังก์และความอยู่รอดของแผ่นดินก็มาพลาดท่า ต้องศาสตรากลางสมรภูมิ ยอดทหารเอกกรุงศรีถูกขุนศึกผู้ชาญณรงค์กว่าจับเป็นเชลย ชะตากรรมกรุงศรีอยุธยาและสมเด็จพระนเรศวรจะลงเอยอย่างไร ต้องติดตามในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ “ศึกนันทบุเรง” ซึ่งมีกำหนดฉายพร้อมกันทุกโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ ๑๑ สิงหาคม นี้