xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยวันวาน กับปรากฏการณ์วันนี้ตั๋วหมดของ "แร็พเตอร์" / ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

อัลบั้มชุด 1-4
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าปลื้มใจแทนผู้จัดอย่างคลื่น "คูล 93 ฟาเรนไฮต์" จริงๆ ครับสำหรับกระแสการตอบรับที่มีต่อคอนเสิร์ต "RAPTOR 2011 The Concert" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 และ 2 ตุลาคมนี้ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน

โดยหลังจากที่เปิดให้จองบัตรคอนเสิร์ตดังกล่าวในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ตามรายงานข่าวระบุว่าบัตรทุกราคาของทั้งสองรอบการแสดงต่างถูกซื้อและจับจองจนเต็มหมดในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น!

ทำเอาหลายคนที่พลาดโอกาสต่างส่งเสียงเรียกร้องว่า น่าจะมีการเพิ่มรอบหรือไม่ก็ย้ายสถานที่จัดการแสดงไปยังที่สามารถรองรับผู้ชมได้มากกว่านี้กันเลยทีเดียว

ไล่เลียงย้อนกลับไปในอดีต "Raptor" ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเอาชื่อมาจาก Velociraptor ไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อตัวไม่ใหญ่ แต่มีความฉลาดปราดเปรียว ว่องไว อันเป็นการสื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของสองหนุ่มน้อย "จอนนี่ อันวา (30 สิงหาคม 2524) - หลุยส์ สก็อตต์ (4 มีนาคม 2525)" มีอัลบั้มที่เป็นของพวกเขาเองออกมา 5 ชุดด้วยกัน

นั่นคือ Raptor ในปี พ.ศ. 2537 มีเพลงฮิตติดหูอย่าง ซูเปอร์ฮีโร่ / คิดถึงเธอ / คำว่าเพื่อน, อัลบั้ม Waab Boys ปี พ.ศ. 2539 มีเพลงดังอย่าง รู้สึกอย่างไร / อย่าพูดเลย, อัลบั้ม Day Shock ปี 2539 ตามด้วย Goodbye ในปี พ.ศ.2541 โดยชุดนี้ออกมาหลังจากทั้งสองได้ไปร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ของอาร์เอสฯ ทำอัลบั้มพิเศษ the next มีเพลง เกรงใจ / คำเดียว

จากนั้น Raptor ก็ได้ประกาศยุบวงด้วยเหตุผลว่าต้องการไปศึกษาต่อ โดยในปีเดียวกันนั้นก็ได้มีอัลบั้มสุดท้ายของพวกเขาที่เป็นการรวมเพลงฮิตทั้งสี่อัลบั้มก่อนหน้านี้ รวมถึงอัลบั้มพิเศษและเพลงที่ถูกแต่งขึ้นใหม่ 1 เพลง (ความทรงจำ) ออกมาในชื่อชุด The Memory

ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ณ ช่วงเวลานั้นถ้าจะบอกว่าเป็นยุคทองยุคกลางๆ ของอาร์เอสก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะหยิบปั้นศิลปินแนวไหน คนไหนออกมาเป็นได้รับความนิยมขายเทปกันในระดับ 1 ล้านม้วนอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นสายหนักอย่าง ไฮร็อค, หิน เหล็ก ไฟ ฯ หรือจะเป็นเพลงจังหวะป็อปสนุกแนวลูกกวาดทั้งที่มาเดี่ยว ทั้งที่เป็นแบนด์ อย่าง ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, ไฮแจ็ค, เต๋า สมชาย, ลิฟท์-ออย, บอยสเก๊าท์, นุ๊ก สุทธิดา ฯ และก็ให้รวมถึงสองหนุ่ม แร็พเตอร์

ช่วงที่ แร็พเตอร์ แจ้งเกิดและโด่งดังเป็นที่นิยม ตอนนั้นผมอายุ 17 ครับ (ถ้าสมัยนี้อาจจะมองว่าโตแล้ว แต่สำหรับยุคนั้นแถมเป็นสังคมชนบทบ้านนอกคอกนาด้วยแล้วต้องถือว่ายังเด็กอยู่ 55) ยังจำได้ดีถึงภาพของเด็กน้อยลูกครึ่งวัยสองคนที่มาพร้อมด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด มีเสียงร้องด้วยสำเนียงภาษาไทยที่ไม่ค่อยช้าด(ชัด)เอาเสียเลย ทว่าแต่ละเพลง(ส่วนใหญ่จอนนี่จะเป็นคนร้องหลัก)นั้นมันช่างโดนใจกระทบอารมณ์วัยรุ่นแรกเริ่มในยุคนั้นเข้าอย่างจัง



ไม่ว่าจะเป็นเพลง คิดถึงเธอ...คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ (ต้องใช่แน่ๆ) มันเป็นอะไรที่พูดยาก ต้องให้เธอแก้ (ต้องให้เธอแก้)...หรือจะเป็นเพลงรักเพลงอกหักอย่าง รู้สึกอย่างไร, อย่าพูดเลย ตลอดจนเพลงที่มีความหมายดีๆ อย่างเพลง คำว่าเพื่อน อันเป็นหนึ่งในเพลงที่ให้บรรยากาศการ "ลาจาก" ที่ต้องบอกว่ายอดฮิตมากๆ ของเด็กม.ปลายยุคสมัยนั้น, เพลง Sayonara Goodbye เพลงนี้แค่ขึ้นมาน้ำตาแฟนคลับหลายคนก็คลอแล้วครับ...ซาโยนาระ เหลือแค่ความเข้าใจ ถึงเวลาต้องลาไกล ยิ้มสิอย่าร้องไห้...

อย่าคิดว่าเธอไม่มีใคร เพลงที่ทั้งสองไปร่วมกับศิลปินรุ่นพี่ ไฮแจ็ค ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ไพเราะไม่แพ้เพลงอื่นอ หรือจะเป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกๆ อย่าง เกรงใจ กับท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์มาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนหนึ่งของการแจ้งเกิดอย่างสวยงามของแร็พเตอร์ (รวมถึงศิลปินอีกหลายคนของอาร์เอสฯ ในยุคนั้น) คงต้องยกเครดิตให้กับ "เสือ ธนพล อินทฤทธิ์" ที่ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้กับแร็พเตอร์ตั้งแต่ชุดที่หนึ่งจนถึงชุดที่สาม โดยเฉพาะกับชุดแรกที่หยิบเอาเพลงฮิตของศิลปินคนอื่นมา "ประกอบใหม่" เช่น เพลงบอดี้การ์ด ของ เต๋า ในเพลง Superhero, เพลงลื่น ของทัช ในเพลง ลื่นมากเชื่อยาก, เพลงเล่นเจ็บๆ ของ ไฮแจ็ค ในเพลง อย่าพูดว่าเลิก ฯ แม้จะถูกวิจารณ์ทว่าก็มีส่วนทำให้เพลงของแร็พเตอร์เองสร้างความคุ้นเคยให้กับคนฟังและเป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น

การกลับมาของแร็พเตอร์โดยมีกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นหลังร้างลาจากเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ที่เป็นทางการนานกว่า 13 ปีเช่นนี้โดยส่วนตัวผมถือว่าไม่ธรรมดา ถ้ามองว่าทั้งสองนั้นเป็นเพียงเป็นนักร้องในสายเพลงป็อปธรรมดาทั่วๆ ไปในยุคที่มีศิลปินอีกหลายต่อหลายคนในแนวทางเดียวกันที่ต่างก็มีชื่อเสียงมีเพลงดังในระดับใกล้เคียงกัน

แน่นอนว่าเหตุผลส่วนใหญ่ของคนที่ต้องการมาชมคอนเสิร์ตนี้คงจะเป็นเพราะ "ความทรงจำที่ดี" ในวันเก่าๆ อันก่อให้เกิด "ความคิดถึง" แต่องค์ประกอบอื่นๆ ก็มีความสนใจเช่นกัน

หนึ่งอย่างที่บอกไปแล้ว ก็คือเรื่องของเพลงที่มันเคยโดน

สองผมมองว่าเป็นเรื่องของช่วงระยะที่ทั้งสองสร้างความสุขให้กับแฟนเพลงของตนเองนั่นคือตั้งแต่ปี 2537 ถึง 2541 ทั้งหมด 4 ปี ถือว่าค่อนข้างจะสั้น จนบางส่วนอาจจะรู้สึกว่าไม่เต็มอิ่มก็มายุบวงไปซะแล้ว

สามเรื่องของอายุของทั้งสอง แม้การทิ้งเวทีสิบกว่าปีจะมีช่วงที่ดูเหมือนยาวนาน แต่ด้วยความที่ทั้งคู่เข้าวงการตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะฉะนั้นในวัย 29-30 นี้จึงถือว่าไม่แก่เกินไปจนแฟนเพลงมีความรู้สึกว่าดูแล้วคงจะรู้สึกปลงมากกว่าความสนุกแน่ๆ ถ้าพวกเขาจะมาร้อง มาเต้นแบบที่เด็กในวัย 10 กว่าขวบทำ

และสุดท้ายที่ผมว่ามีส่วนสำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของการวางตัวของทั้งสองที่ส่งผลให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแทบจะไม่มีข่าวในทางด้านลบออกมาเลย

อย่างหนุ่มหลุยส์นี่ช่วงหลังๆ ถ้าไม่นับรวมกับเสียงชื่นชมของสาวๆ ในเรื่องความหล่อเหลา-น่ารักแล้ว ต้องบอกว่าฝีมือในการแสดงละครของเขานั้นมีการพัฒนาการขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้มีมีงานออกมาให้เห็นในบทเด่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในส่วนของหนุ่มจอนนี่ หลังออกจากแร็พเตอร์เจ้าตัวก็ยังคงอยู่ในแวดวงสายดนตรีอยู่ โดยล่าสุดเขาก็ไปทำงานร่วมกับหนุ่ม เจ มณฑล จิรา ในชื่อของ Katsue รวมถึงทำภาพยนตร์ร่วมกับผู้เป็นน้องชาย "อนัน อันวา" ซึ่งแม้ว่าจะไม่ปรากฏเป็นข่าวอะไรมากมาย ทว่าดูเหมือนเจ้าตัวจะหาได้ใส่ใจมากนักเท่ากับการได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและถนัด

ขอฟันธงตรงนี้เลยครับว่า "RAPTOR 2011 The Concert" จะเป็นอีกหนึ่งคอนเสิร์ตที่มีความสนุกอบอุ่น และชวนประทับใจมากๆ ในรอบปีนี้อย่างแน่นอน
ใสๆ ในมิวสิควิดีโอ
นักแสดงชื่อดัง พลอย เฌอมาลย์ ก็เคยมาร่วมงานด้วย
วันวานของสองหนุ่ม
วันนี้ของสองหนุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น