Facebook...teelao1979@hotmail.com
“เราอาจจะพบเจอเรื่องเจ็บปวดสูญเสียมาบ้าง แต่ถึงอย่างไร เราก็ยังมีชีวิตอยู่”
.......
มีหลายครั้ง...กับหนังหลายเรื่องที่เรารู้สึกว่า ตัวอย่างซึ่งหนังปล่อยออกมาเรียกความสนใจ ชักนำความหวังของเราไปในทางหนึ่ง ต่อเมื่อได้ดูตัวหนังฉบับเต็มจริงๆ กลับพบว่า ภาพที่เราคาดหวังนั้น คลาดเคลื่อนไปถนัดใจ แน่ล่ะครับ สำหรับหนังเรื่องใหม่ของ “เจ.เจ. อับรามส์” จาก Star Trek ก็เป็นอีกหนึ่งหนังที่เป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเป็นจริงที่ว่า Super 8 ไม่ใช่หนังที่จะมากระตุ้นอะดรีนาลินด้วยฉากตื่นเต้นคึกโครมแบบที่หนังแอ็กชั่นไซไฟส่วนใหญ่พึงมีพึงเป็นนั้น ผลงานชิ้นนี้ของเจ.เจ. อับรามส์ ก็มี “จุดแข็ง” ในตัวของมันเองอย่างมิอาจปฏิเสธ
Super 8 เซ็ตฉากหลังแบ็กกราวน์ให้เกิดขึ้นในปลายยุค 70s ในฤดูร้อนของปี 1979 โดยวางแกนของเรื่องราวให้อยู่บนตัวละครเด็กๆ กลุ่มหนึ่งในเมืองเล็กๆ ของโอไฮโอ ซึ่งวางแผนกันไว้ว่า จะใช้จ่ายวันเวลาช่วงซัมเมอร์ถ่ายทำหนังสั้นสักหนึ่งเรื่อง (เกี่ยวกับซอมบี้ เรื่องรัก และการพรากจาก) อย่างไรก็ดี หลังจากที่พวกเขาหลบครอบครัวเพื่อไปรวมหัวกันถ่ายทำฉากๆ หนึ่งในยามมืดของค่ำคืนหนึ่ง และทุกสิ่งทุกอย่างกำลังไปได้สวย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
หลังเหตุการณ์ในคืนนั้น เรื่องประหลาดๆ ก็เริ่มคุกคามเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เมื่อสิ่งมีชีวิตในหมู่บ้าน (สุนัข แมว ฯลฯ) ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้คน ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยและลึกลับ ราวกับว่ามีตัวประหลาดอะไรสักตัวมาคอยจับไป
หนังสั้นของเด็กๆ กลุ่มนี้ จะถ่ายทำสำเร็จหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับพวกเขา เท่าๆ กับที่ปริศนาอันดำมืดเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดหรืออะไรสักอย่างที่น่าสะพรึง ค่อยๆ ถูกเปิดเผย...
ก็อย่างที่เปรยๆ ไว้ในข้างต้นครับว่า Super 8 ไม่ใช่หนังที่จะสร้างเสียงตึงตังโครมครามหรือเอาจริงเอาจังกับความลุ้นระทึกของคนดู และถึงแม้จะเป็นหนังสัตว์ประหลาด ก็ไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่มากมายด้วยเอฟเฟคต์อย่าง War of the World หรืออะไรพวกนั้น หากแต่โทนของมัน ค่อนไปทางหนังอย่าง E.T. ที่จากโลกไปพร้อมกับภาพความน่าซาบซึ้งติดตรึงอยู่ในใจ แต่ถึงอย่างไร แม้จะเป็นเช่นนั้น ผมก็มองว่า หนังไม่น่าเบื่ออย่างที่หลายคนอาจจะคิด เพราะ...อ้าว สัตว์ประหลาดบทไม่เยอะ แล้วจะสนุกอย่างไร?...
สนุกครับ และความสนุกนั้นก็มาจากหลากทิศทาง หนังบางเรื่อง ไม่ได้สนุกเพราะมันตูมตาม (อย่าง Transformers หรือ 2012) แต่สนุกเพราะการผูกเรื่อง ไปจนถึงการดำเนินเรื่องที่ชวนให้ค้นหาติดตาม ขณะเดียวกัน ผมเห็นว่า ทุกเวลาทุกฉากที่กลุ่มตัวละครเด็กๆ สุมหัวกันนั้น นอกจากจะเปี่ยมด้วยสีสันแห่งวัยเยาว์ที่งามพราวด้วยความฝันแบบเด็กๆ...มุกฮาซึ่งเกิดจากบทพูดบทสนทนาระหว่างพวกเขา ก็เติมชีวิตชีวาความสนุกให้กับหนังได้เป็นอย่างดี
หนังเรื่องนี้ทำให้นึกไปถึง Stand by Me อย่างยากจะหักห้าม เพราะถ้าไม่นับรวมแบ็กกราวน์ฉากหลังที่เกิดในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน (และแถมเป็นเรื่องที่เกิดในหน้าร้อนเหมือนกันด้วย) เรื่องราวของเหล่าเด็กๆ ก็ปลุกฟื้นความรู้สึกเชิง Nostalgia ถวิลหาคืนวันอันเก่าก่อนให้ย้อนกลับมาอีกคราหนึ่ง
นั่นจึงไม่แปลกที่ใครหลายคนดูแล้ว จะหวนระลึกนึกถึงวันเก่าๆ คืนก่อนๆ ตอนที่ยังวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ วัยเยาว์ ทำโน่นทำนี่สุดแต่ใจจะใฝ่ฝัน ถ้าจะมีอะไรที่ต่างกันก็เพียงว่า ขณะที่ฤดูร้อนของผองเพื่อนแห่ง Stand by Me ดำเนินไปด้วยการออกจากบ้านไปค้นหาศพเด็ก ก็เปลี่ยนเป็น “ทำหนังสั้น” สำหรับสมาชิกวัยเยาว์แห่ง Super 8 แต่ไม่ว่าจะทำหนังสั้นหรือพากันตามหาศพ จุดจบบทสรุปแบบหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันในทั้งสองเรื่อง ก็คือ หน้าร้อนปีนั้นของเด็กๆ ล้วนจบลงด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในความนึกคิด
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ Stand by Me เล่นกับประเด็นการก้าวผ่านวันวัย (Coming of Age) อย่างเจาะเน้น แต่สำหรับ Super 8 ดูจะแตกแขนงออกไปหลากหลายกว่า หนึ่งในนั้น รู้สึกว่าหนังจะแตะแง่มุม “รักแรก” ด้วย เพียงแต่ไม่ได้ “ขยี้” ให้ลึกซึ้งเท่าที่ควร ถึงกระนั้น ผมคิดว่าแง่มุมที่ดีที่สุดซึ่งทำให้ Super 8 ควรติดอยู่ในเกรดหนังที่ดูแล้วงดงามประทับใจ ก็คือ การพูดถึงเรื่องความเป็นเจ็บปวดในชีวิตและการผ่านพ้น
เพียงแค่เปิดมาฉากแรก หนังก็โยนความเจ็บปวดใส่ลงไปในตัวเนื้อเรื่องทันทีทันควันด้วยสถานการณ์ความสูญเสียของเด็กชายที่กำลังเข้าวัยรุ่นอย่าง “โจ” หลังจากนั้น ตัวละครหลักๆ ทุกตัว แทบจะเรียกได้ว่า ถูกสถานการณ์ชีวิตโอบล้อมไว้ด้วยบรรยากาศของความเจ็บปวดและสูญเสีย
แต่สูญเสียแล้วอย่างไร? เจ็บปวดแล้วอย่างไร?
เปิดเรื่องมาด้วยความเจ็บปวด หนังก็ไปปิดสรุปที่การคลี่คลาย ถ้อยคำของโจในตอนท้ายๆ ที่พูดว่า “เราอาจจะพบเจอเรื่องเจ็บปวดสูญเสียมาบ้าง แต่ถึงอย่างไร เราก็ยังมีชีวิตอยู่” ดั่งแสงไฟที่สว่างวาบขึ้นมาท่ามกลางความมืดมิด และให้ความหวัง
Super 8 ไม่ใช่หนังสัตว์ประหลาดถล่มโลกครับ แน่ล่ะ เมื่อเพ่งพิศพินิจศักยภาพ ผมคิดว่า ถ้า เจ. เจ. อับรามส์ จะทำให้งานชิ้นนี้ออกมาเป็นหนังเอฟเฟคต์ครึกโครมจริงๆ ก็คงไม่เกินมือ และเขาเองก็โชว์ทักษะด้านนี้ให้เราเห็น ด้วยฉากปิคอัพพุ่งชนรถไฟที่ระทึกจิตได้ใจไปเต็มๆ แต่ที่สุดแล้ว เขาก็เลือกที่จะให้คนดูเสพรับประสบการณ์ร่วมระหว่าง E.T. กับ Stand by Me
และ เจ.เจ. อับรามส์ ผู้กำกับ/เขียนบท ก็สมควรที่จะได้เครดิตจากผลผลิตชิ้นนี้