xs
xsm
sm
md
lg

Music Shines : ‘On the Floor’ เดินถอยหลังลงเวทีแด๊นซ์ของ เจ.โล / พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

paulheng_2000@yahoo.com

ภาพของเจนนิเฟอร์ โลเปซ (Jennifer Lopez) ที่อยู่ในชุดยืดแนบเนื้อแบบบอดี้สูทสีเงินยวงแวววาวรูปลักษณ์สไปเดอร์ วูแมน ในคอนเสิร์ตที่ลอสแองเจลิส ซึ่งชุดแบบเดียวกันนี้ก็ผ่านตาในมิวสิควิดีโอ ‘On the Floor’ ของเธอเองมาแล้ว ได้แสดงให้เห็นถึงความโลดโผนสวิงสวายที่จะตรึงตาดึงดูดใจผู้ชมให้สนใจเธอผ่านแฟชั่นที่หลุดแหวกออกไป ซึ่งวิธีการนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่คนที่นำเทรนด์มาก็คือ เลดี้ กาก้า (Lady GaGa) เพราะทุกครั้งที่เธอปรากฏตัวสู่สาธารณชนและเวทีการแสดงหรือคอนเสิร์ต จะสร้างพลังผลักดันในความคิดสร้างสรรค์ของแฟชั่นเครื่องแต่งตัวและสิ่งประดับที่หลุดโลกและสื่อซ่อนนัยยะความหมายอย่างจงใจ จนเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ เวิร์ลด์ ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดทั้งปวงของชุดสไปเดอร์ วูแมน ของ เจ.โล นั้น พอจะคาดเดาได้อย่างไม่ประหลาดใจว่า เป็นความพยายามกลับมายิ่งใหญ่ให้ได้ของนักร้องในระดับพ๊อพสตาร์สาวใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเธอไม่ใช่นักร้องในระดับเสียงทองหรือดิวา (Diva) เธอไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ที่จ่ออยู่ในระดับที่จะเป็นตัวเต็งในฐานะตำนาน ‘ราชินีพ๊อพ’ รวมถึงราชินีแห่งเพลงเต้นรำ หรือ แด๊นซิ่ง ควีน’

รวมถึงอายุในการเป็นสินค้าด้านบันเทิงในโลกแห่งเสียงเพลงของเธอก็เรียกว่ากำลังดิ่งหัวลงสู่ภาวะสามัญ เพราะมีคลื่นลูกหลังที่สดใหม่ใจกล้าและมีความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีและภาพลักษณ์แซงหน้าไปอย่างต้องยอมรับสภาพตัวเองโดยดุษณี

เจนนิเฟอร์ โลเปซ หรือเรียกสั้นๆ ง่ายๆ เป็นคำย่อว่า เจ.โล (J.Lo) ตามชื่ออัลบั้มชุดที่ 2 ของเธอ ‘J.Lo’ ที่ออกมาในปี 2544 และอัลบั้มชุดนี้สามารถนำเธอสู่ความเป็น ‘ละตินพ๊อพสตาร์’ อย่างเต็มรูปแบบ

การขอกลับมาทวงบัลลังก์เพื่อดำรงสถานะรักษาเพดานให้อยู่แถวหน้าของวงการเพลงโลกผ่านซิงเกิล ‘On The Floor’ จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งซิงเกิลนี้ถูกตัดออกมาสู่โสตคนฟัง จากมิวสิควิดีโอหรือเอ็มวีที่มีบรรยากาศของวัฒนธรรมคลับอันเดอร์กราวด์หรือเธคแนวใต้ดิน และโชว์เทคนิคการเต้นรำของเจ.โล เอง ในการหวนรำลึกถึงสมัยที่เธอยังเป็นสาวรุ่นและเรียนมาทางแด๊นซ์ ซึ่งเธอได้ขับเปล่งความสามารถด้านนี้ออกมาและปลดปล่อยตัวเองสู่โลกแห่งการร่ายรำในยุคใหม่ท่ามกลางแสงสีและความดิบเถื่อน

แน่นอน เจ.โล ต้องการเพลงฮิตระเบิดระเบ้อในในระดับเมกะฮิตอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประกาศถึงบารมีและศักดาในการที่จะเบียดแย่งขึ้นสู่แถวหน้าของการเป็นราชินีเพลงแด๊นซ์พ๊อพในโลกดนตรียอดนิยม เพราะการมาถึงของเลดี้ กาก้า (Lady GaGa) หรือแม้แต่ บียอนเซ่ (Beyonce) รวมถึงรีฮันน่า (Rihanna) ในรอบ 2-3 ปี ที่ผ่านมา สามารถดับรัศมีพ๊อพสตาร์สาวบนฟลอร์เต้นรำแทบจะหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็น บริทนีย์ สเปียร์ส, คริสติน่า อากีเลร่า เป็นต้น

แต่อย่างที่ว่าสิ่งหนึ่งที่ เจ.โล เป็นไม่ได้และไม่เคยก้าวเข้าไปถึงคือ การเป็นเทรนด์ เซตเตอร์ (trend-setter) ในวงการเพลงโลก เพราะเธอเป็นได้แค่ผู้จับกระแสดนตรีและแฟชั่นแล้วเอามาประยุกต์ในรูปลักษณ์ของเธอเท่านั้นเอง และการตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนในกระแสอีกครั้งในฐานะกรรมการเวทีอเมริกัน ไอดอล ปีล่าสุด จะช่วยพยุงฐานะเธอในวงการเพลงว่า ยังอยู่ในระดับสูง แต่นั่นละยิ่งเป็นจุดอ่อนมากยิ่งขึ้น เพราะการอาศัยสถานะนี้มาช่วยผลักดันยิ่งเพิ่มแรงกดดันที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน

แม้สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 7 ของเธอ ‘Love?’ ซึ่งเป็นอัลบั้มถูกวางจำหน่ายในตลาดอเมริกาเหนือเรียบร้อยแล้ว แต่จุดที่น่าพูดถึง...ก่อนจะว่ากันถึงอัลบั้มชุดล่าสุดนี้ของเธอ ก็ต้องเป็นซิงเกิลหรือบทเพลง ‘On The Floor’ เพราะแม้จะเป็นซิงเกิลฮิตมีคนเข้าไปดูในเว็บไซต์อย่าง ‘ยูทิวบ์’ ถึงเกือบ 200 ล้านครั้งก็ตาม แต่ก็บ่งชี้ถึงความล้มเหลวทางดนตรีของเธอได้เป็นอย่างดี...

เจนนิเฟอร์ โลเปซ กับการดิ้นเฮือกสุดท้ายในฐานะละตินพ๊อพสตาร์

การมาถึงของเจนนิเฟอร์ โลเปซ ที่ผันตัวเองจากนักแสดงหรือดาราก้าวข้ามเข้ามาสู่โลกของดนตรีและเสียงเพลง ในระยะเวลาที่ดนตรีในแนวละตินพ๊อพกำลังขึ้นอยู่บนจุดสูงสุดในตลาดเพลงอเมริกาและตลาดเพลงโลก

เพราะในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 การมาถึงของราชินีละตินพ๊อพ ชาวเม็กซิกัน เซเลน่า (Selena) ได้เปิดประตูตลาดเพลงของชาวฮีสแปนิกส์-อเมริกัน ในตลาดเพลงอเมริกันที่ฟังภาษาสเปนและโปรตุกีสให้เกิดขึ้น เซเลน่าเป็นนักร้องที่อยู่ในสายเทจาโน ซึ่งครอบรวมตลาดเพลงอเมริกันทางเท็กซัสและเม็กซิโกเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นตลาดใหญ่อย่างมหาศาล ในภาวการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจของพลเมืองอเมริกันที่มีเชื้อชาติฮีสแปนิกส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ในยุคทศวรรษที่ 80 ก็มี กลอเรีย เอสเตฟาน (Gloria Estefan) นักร้องเสียงทองชาวคิวบัน-อเมริกัน เป็นซูเปอร์สตาร์อยู่

การเสียชีวิตก่อนกาลของเซเลน่า จากการถูกยิงเสียชีวิต ทำให้ช่องว่างของราชินีละตินพ๊อพ เกิดขึ้น ชากีร่า (Shakira) นักร้องสาวซูเปอร์สตาร์แห่งโคลัมเบียก็ถูกยกขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถมีอิทธิพลได้เด็ดขาดในตลาดเพลงเหมือนเซเลน่า

เจนนิเฟอร์ โลเปซ จึงถูกผลักดันให้ก้าวสู่เส้นทางสายนี้ ด้วยต้นทุนของการเป็นดาราฮอลลีวู้ดและอดีตแด๊นเซอร์ที่มีลีลาการเต้นจัดจ้าน และก็ประสบความสำเร็จในตลาดเพลงละตินพ๊อพด้วยดี พร้อมขยับขยายเข้าสู่ตลาดเพลงกระแสหลักของโลกดนตรีพ๊อพที่มีดนตรีฮิพฮอพ, เออร์เบิ้น แบล๊ค มิวสิค เป็นความนิยมหลักอยู่

จากวันที่เธอเดินออกจากโลกมายาจากบทบาทของเซเลน่า ในหนังชีวประวัติของราชินีละตินพ๊อพ เจ.โล ได้ถูกสร้างให้ทะยานสู่โลกจริงของดนตรีในฐานะนักร้องคนหนึ่ง จากปี 2532 อัลบั้มชุดแรก ‘On the 6’ จนมาถึงอัลบั้มชุดที่ 6 ‘Brave’ จะเห็นถึงแรงสวิงทางดนตรีที่ถูกสร้างขึ้นมาจากระบบการตลาดที่เน้นแฟชั่นของบทเพลงและดนตรีตามกระแสตลาดของอเมริกาในระดับยอดนิยมเป็นหลัก

ละตินพ๊อพ คือ ตลาดเพลงอันดับแรกที่เจนนิเฟอร์ โลเปซ เข้าไปจับ ด้วยความที่เธอเป็นคนอเมริกันที่มีเชื้อสายเปอร์โตริกัน จึงไม่ยากที่จะซึมแทรกเข้าสู่จุดนี้ในฐานะนักร้องยอดนิยม แต่เมื่อตลาดเพลงเริ่มเปลี่ยนไป ละตินพ๊อพเริ่มหดตัวจากตลาดเพลงกระแสหลักเข้าสู่ความเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มหรือนิช มาร์เก็ตเช่นเดิม เจ.โล ก็พยายามขยับเข้าสู่ตลาดเออร์เบิ้น แบล๊ค มิวสิคบ้าง แต่ก็ขยับไปได้ไม่มากนัก จนต้องกลับมาสู่ละตินพ๊อพแบบพันธุ์แท้ด้วยอัลบั้มภาษาสเปน ก่อนที่จะถูกยกเลิกสัญญากับต้นสังกัด ทำให้อัลบั้มชุดใหม่ที่จะเสร็จ อยู่รอมร่อต้องเคว้งคว้าง เหมือนกับถูกลอยแพในอาชีพนักร้องและเอนเทอร์เทนเนอร์ แต่เธอก็พยายามกลับมาจนได้ ด้วยการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอีกสังกัดได้ในที่สุด

พร้อมกับต้องการพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่า เธอยังมีอนาคตกับเส้นทางสายนี้ในฐานะพ๊อพสตาร์ด้วยช่วงวัย 42 ปีในขณะนี้ของเธอ

เพราะฉะนั้นอัลบั้มชุดที่ 7 ‘Love?’ ของเธอ ที่เปิดตัวด้วยซิงเกิล ‘On The Floor’ ถือว่ามีนัยยะที่สำคัญสำหรับการเดิมพันทางดนตรีของเธอเป็นอย่างสูงเช่นกัน…

‘On The Floor’ เดิมพันราคาสูง ‘เพลงฮิต ตีหัวเข้าบ้าน’

การหาจุดขายในดนตรีและบทเพลงที่จะใส่ไว้ในปากและท่าเต้นของ เจ.โล ถือว่า มหาหิน และทำยากอย่างน่าปวดหัวเลยทีเดียว เพราะอย่างที่บอก เธอไม่เคยเป็นผู้นำในด้านต่างๆ การก้าวมาถึงจุดนี้ได้ล้วนเป็นเพราะกระแสและการตลาดที่ถูกจุดอยู่ในระดับที่เหมาะสมให้ผลเลิศสุดสำหรับเธอ

ดนตรีและบทเพลงก็ถือเป็นสินค้าในแง่พาณิชย์ศิลป์ เหมือนจะมีสูตรในการทำเพลงอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะสูตรที่มองทิศทางของเพลงฮิตในตลาดว่า เป็นเทรนด์ดนตรีประมาณไหน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของดนตรียอดนิยมกระแสหลักหรือเพลงฮิตองตลาดเพลงอเมริกาที่กำหนดทิศทางดนตรีและรสนิยมของคนทั้งโลกนั้นยังอยู่กับ ดนตรีโมเดิร์น ฮิพฮอพ ที่มีส่วนผสมของแด๊นซ์-พ๊อพ และอิเล็กทรอนิกส์พ๊อพ อย่าง แบ๊ลค อายด์ พีส์ (Black Eyed Peas) เลดี้ กาก้า, บียอนเซ่, รีฮานน่า เป็นต้น หรือในสายพ๊อพร๊อคที่ผสมกับโมเดิร์น ฮิพฮอพ ของ บรูโน มาร์ส (Bruno Mars) เป็นหัวหอก

เพราะฉะนั้นการที่ เจ.โล จะกลับมาในท่ามกลางกระแสดนตรีที่เชี่ยวกรากของคนรุ่นใหม่ที่นำพาดนตรีเปลี่ยนโฉมหน้าไป ย่อมที่จะเหนื่อยยากกว่าเดิม รวมถึงแรงดึงดูดใจของเสน่ห์แห่งวัยและกลิ่นอายทางเพศก็ลดถอยน้อยลงตามอายุที่เพิ่มพูน ไม่ต้องพูดถึงความเป็นเอนเทอร์เทนเนอร์ผ่านการแด๊นซ์ที่ความเป็นละตินพ๊อพถูกทิ้งไว้เหลือแค่อดีต

‘On The Floor’ จึงเป็นความพยายามที่จะขมวดรวมเอาความเป็นละตินพ๊อพให้ฟื้นคืนชีพ โดยนำมาเขย่ารวมกับโมเดิร์นฮิพฮอพ และแด๊นซ์ คลับของดนตรีอิเล็กทรอส์ เฮ้าส์มาผสานกัน รับมือกับเทรนด์ดนตรียุคใหม่ ผ่านการทำงานเพลงและดนตรีของ ‘เรดวัน’ ที่ถูกวางให้เป็นกุญแจของความสำเร็จของ เจ.โล ในภาคที่จะคืนบัลลังก์

หากถามว่าในชั่วโมงนี้ ในโลกดนตรียอดนิยมกระแสหลัก คนทำงานเบื้องหลังคนไหนที่บรรดานักร้องระดับพ๊อพสตาร์อยากทำงานร่วมด้วยมากที่สุด ก็ต้องมีชื่อของ เรดวัน (RedOne) อยู่ในอันดับแรกๆ อย่างแน่นอน ด้วยชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือที่เป็นมันสมองเบื้องหลังในการทำเพลงและดนตรีปลุกปั้น เลดี้ กาก้า ขึ้นมาจากนักแต่งเพลงเบื้องหลังออกสู่แถวหน้าข้ามจากพ๊อพสตาร์ขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์ได้อย่างรวดเร็วนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เรดวันเนื้อหอมฟุ้งจรุงใจ และเจ.โล กับต้นสังกัดใหม่ก็มิยอมพลาดที่จะใช้เครือข่ายในนามธุรกิจดนตรีเข้ามาใช้ทำงานร่วมกัน

เรดวัน เคยให้สัมภาษณ์เอ็มทีวีถึงการทำงานร่วมกันกับเจ.โล ไว้ว่า ใบหน้าของเธอทำให้หวนคิดถึงบ้าน ซาวด์ของเพลงที่ทำให้กับโลเปซ ต้องการที่จะเต้นรำและปาร์ตี้ภายใต้มรดกของดนตรีละติน... เพราะฉะนั้น ‘On the Floor’ จึงเกิดขึ้น

หากมาดูชื่อชั้นของเรดวัน ปัจจุบันด้วยศักยภาพของเพลงฮิตผ่านเลดี้ กาก้า ด้วยพรสวรรค์และสไตล์ของเธอ เมื่อมาผนวกรวมกับความเป็นโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงของเรดวัน ทำให้เคมีทางดนตรีและแฟชั่นการฟังเพลงระบาดอย่างรวดเร็ว ผ่านบทเพลงที่ฮิตระเบิดอย่าง ‘Just Dance’, ‘Poker Face’ และ ‘Bad Romance’ ซึ่งทำให้เลดี้ กาก้า เป็นซูเปอร์สตาร์แห่งโลกเสียงเพลงคนใหม่

แน่นอนพื้นฐานของเรดวัน เขาเป็นคนโมร๊อคโค มีชื่อจริงว่า นาเดอร์ คาแย็ท และย้ายมาแสวงหาโอกาสทางดนตรีในสวีเดนช่วงอายุ 19 ปี ด้วยความชื่นชอบดนตรีในแบบยูโรพ๊อพ ยูโรแด๊นซ์ และพ๊อพร๊อคแบบสวีเดน ผ่านความลุ่มหลงวงดนตรีของสวีเดน อาทิ แอ๊บบา (ABBA), ยุโรป (Europe) และ ร๊อกเซ็ตต์ (Roxette) ที่เป็นแรงบันดาลใจทางดนตรี และสั่งสมชื่อเสียงจากวงการดนตรีสวีเดนและยุโรป และข้ามมาแสวงโชคในอเมริกา ประสบความสำเร็จทางโปรดักชันดนตรีกับเลดี้ กาก้า ในที่สุด ได้ทั้งเงินและกล่องคือ มีเพลงในระดับเมกะฮิตและรางวัลแกรมมี่

แต่เมื่อมาแยกส่วนประกอบสำคัญทางดนตรี ‘On The Floor’ ภายใต้ฝีมือของเรดวันเพลงนี้ ก็จะพบว่า เป็นบทเพลงและดนตรีที่หากินกับของเก่า ไร้ไอเดียสร้างสรรค์อย่างจงใจ โดยมีเป้าหมายเดียวที่จะให้บรรลุก็คือ ‘เพลงฮิต’

จากโจทย์ของเพลงที่ต้องการนำดนตรีและการเต้นรำหรือแด๊นซ์ของ เจ.โล กลับสู่รากเหง้าของความเป็นละติน ซึ่งเจ.โล มีเลือดเปอร์โตริกัน เหมือนกับริคกี้ มาร์ติน (Ricky Martin) ซูเปอร์สตาร์ละตินพ๊อพอีกคนในโลกเสียงเพลง การใช้แซมเพิลหรือแซมพลิงบทเพลง ‘แลมบาดา’ (Lambada) ของวงคาโอมา (Kaoma) ที่ฮิตจนเป็นวัฒนธรรมละตินแด๊นซ์กระแสหลักไปทั่วโลกมาใช้ในท่อนฮุค และเป็นโครงร่างหลักของเพลง ใช้จังหวะเพลงผ่านท่อนฮุคแผลงแปลงเนื้อร้องใหม่ให้เกิดขึ้น มาผสมผสานกับความเป็นอิเล็กทรอ เฮ้าส์ และโมเดิร์น ฮิพฮอพ ในกรูพหรือร่องเสียงของการแร๊พของคนที่มาฟีเจอริ่งหรือแขกรับเชิญร่วมร้องเพลงคือ พิทบูล (Pittbull) เพื่อสนองตอบกับดนตรีปาร์ตี้แด๊นซ์ยุคใหม่

ซึ่งบทเพลงนี้ก็เป็นสูตรทำเพลงที่ประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยมเพลงเต้นรำแบบอเมริกันได้ในระดับหนึ่ง ไม่ถึงขั้นกับเป็นทริบัล เฮ้าส์ ที่ใช้ดนตรีพื้นถิ่นของแต่ละที่ในโลกมาหลอมรวมกับดนตรีเต้นรำแบบเฮ้าส์แต่อย่างใด

แน่นอนบทเพลงและดนตรีไม่มีอะไรใหม่ และสามารถฮัมเมโลดี้และคำร้องอย่างติดหูติดใจได้ง่าย เพราะได้ผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลามาแล้วว่า คนทั่วโลกชื่นชอบและจดจำท่วงทำนองและเมโลดี้แบบนี้ได้ขึ้นใจและซึมแทรกเข้าไปได้ง่ายมาก เพียงมาปรับให้ร่วมสมัยมากขึ้นก็เท่านั้นเอง

แต่ถ้ามีเพียงเท่านี้ก็ไม่มีอะไร ยังพอรับกันได้ แต่ดันมีบทเพลงหนึ่งที่ได้เรดวันเป็นโปรดิวเซอร์และคนเขียนเพลงด้วยเช่นกัน มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ ‘On The Floor’ อย่างน่าตงิดใจ โดยเฉพาะเนื้อร้องและความคิดที่ใส่มาในท่อนฮุค รวมถึงแนวดนตรีที่แทบจะละม้ายคล้ายคลึงหรือถอดออกมาจากเบ้าหลอมหรือพิมพ์เดียวกันเลย

นั่นคือบทเพลง ‘Party O'Clock’ ของ แค็ท เดลูน่า (Kat DeLuna) นักร้องวัยรุ่นสายทีนพ๊อพ / อาร์แอนด์บี เชื้อสายโดมินิกันวัย 17 ปี ที่เรดวันเคยทำเพลงให้ แต่โด่งดังเพียงแค่ระดับหนึ่งในหมู่แฟชั่นเพลงทีนพ๊อพ

มาดูเนื้อร้องและการวางพยางค์แลรูปประโยครวมถึงเนื้อหาและความหมายของเพลง ‘Party O'Clock’ ของ เค็ท เดลูน่า

‘Then we party in Miami,
Party in Ibiza, Party in New York,
All the way to Africa,
Love in the Caribbean,
On my way to Vegas,
We go San Tropez & Tokyo
Wake up, wake up, it's party o'clock,
Da di da di da di da di da di da di da di da,
Ooooooooooooooh,
Da di da di da di da di da di da di da di da,
Ooooooooooooooh’

เมื่อมาเปรียบเทียบกับท่อนฮุค ‘On The Floor’ ของ เจ.โล ก็มีใจความและความหมายที่สื่อออกมาผ่านท่วงทำนองที่คล้ายกันมาก

‘Put your drinks up
Pick your body up and drop it on the floor
Let the rhythm change your world on the floor
You know we’re running sh*t tonight on the floor
Brazil Morocco
London to Ibiza
Straight to LA, New York
Vegas to Africa
Lalalalalalalalalalalalalala
Tonight we gon’ be it on the floor’

จะเห็นและฟังได้อย่างจงใจว่า เป็นบทเพลงที่เชิญเชื้อชี้ชวนให้สนุกกับปาร์ตี้ไม่ว่าอยู่เมืองใดในทุกทวีปบนโลกใบนี้ ซึ่งแทบจะไม่แตกต่างกันเลยในแนวคิดและดนตรี เพราะมาจากโปรดิวเซอร์และคนเขียนเพลงคนเดียวกัน

เพราะฉะนั้นแค่การพิจารณาถึงซิงเกิลฮิตที่อ่อนด้อยและไร้พลังทางความคิดในเชิงสร้างสรรค์ของดนตรี ความยาว 3:51 เพลงนี้ แม้จะบรรจุข้อดีในเชิงชั้นดนตรีของการผสมเสียงไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเสียงซินธิไซเซอร์ที่คุมจังหวะได้หนักแน่น บวกกับกลิ่นอายจางๆ ของยูโรแด๊นซ์ และเทคโน รวมถึงท่อนแร๊พแบบคิวบันสไตล์ได้ดีก็ตาม แต่ภาพรวมของการนำแซมพลิงของบทเพลง ‘แลมบาดา’ กับท่อนฮุคที่คล้ายคลึงกับงานเพลงของเค็ท เดลูน่า รวมถึงการร้องวางพยางค์ของคำและจัดรูปประโยคในสไตล์ของเลดี้ กาก้า ในการร้องแบบห้วนๆ กระชากท้ายเสียง ก็น่าจะเห็นรูปรอยที่ไม่เนียนสนิทในวิธีคิดการทำเพลงเพื่อทวงคืนความเป็นราชินีละตินพ๊อพ รวมถึงจะก้าวขึ้นสู่แด๊นซิ่ง ควีน ของโลกดนตรีเต้นรำ

รูปรอยทางดนตรีและแนวความคิดของบทเพลงนี้แสดงให้เห็นถึงภาวะของความผู้ตามและนักผสมผสานที่ไม่ใช่เทรนด์ เซ็ตเตอร์ ทั้งทางดนตรี เอนเทอร์เทนเนอร์ และแด๊นซ์ ของ เจ.โล ซึ่งจับกระแสมาเป็นสไตล์ของตัวเธอเองมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 90 อย่างปฏิเสธไม่ได้โดยดุษณี

สืบรากเหง้าทางดนตรี ‘On The Floor’
บทเพลงจากเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ สู่บราซิล ฝรั่งเศส และทั่วโลก

‘มาดันกูกูรู บุสกันยะ บุหลัน มา กา.
มาตา กาเมรา บุกันยะ กุรัน ตีดู
สัดตี หาตีกู การันนะ ซิแจนตุง ฮาตี
โอโห ซิแจนตุง ฮาตี’

ข้างบนเป็นการถอดสำเนียงบทเพลง ‘ซิ แจนตุง ฮาตี’ (Si jantung Hati) ของอินโดนีเซีย ในฉบับของ มุชลาส์ อะเด ปุตรา เขียนเนื้อร้องและทำนองโดย แฮร์รี่ ทูส ในปี 2528 ที่โด่งดังทั่วเอเชียแปซิฟิค โดยไม่เว้นแต่ในเมืองไทยเองที่มีบทเพลงนี้ในเวอร์ภาษาไทยทั้งแนวเพลงสตริงและลูกทุ่งกันแพร่หลาย ไม่ว่า ‘รอวันเธอกลับ’ ของ ดอน สอนระเบียบ, ‘แอบฝัน’ ของ เอกพจน์ วงศ์นาค และก็มีอีกหลายต่อหลายราย เป็นปรากฏการณ์ของเพลงในระดับเมกะฮิตเมื่อ 25 ปีที่แล้วเป็นอย่างต่ำที่ระบาดไปทั่วเอเชีย และน่าจะเป็นทั่วโลกด้วยซ้ำ

การหยิบบทเพลงนี้มากล่าวถึง เพราะเมื่อดนตรีจากบทเพลง ‘On The Floor’ ผ่านเข้ามากระทบโสต บทเพลง ‘ซิ แจนตุง ฮาตี’ มาทับซ้อนอีกโดยทันที แม้จะเป็นการใช้ศิลปะการทำเพลงในวัฒนธรรมฮิพฮอพที่เรียกว่า ‘แซมพลิง’ หรือ การแซมเพิล ที่มีการนำบางส่วนของเสียงหรือบางท่อนในบทเพลง หรือการแซมเพลอร์มาใช้ใหม่ในอีกเพลง มาใช้อย่างถูกต้องก็ตาม แต่ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า การทำงานเพลงอย่างนี้ โดยนำเมโลดี้ที่ติดหูติดใจคนทั้งโลกมาแล้ว เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วมารื้อฟื้นตัดต่อพันธุกรรมใหม่ในวัฒนธรรมเต้นรำของยุคนี้ ถือได้ว่าเป็นงานที่ตีหัวเข้าบ้านเพื่อการันตีความสำเร็จของบทเพลงอยู่ใช่น้อย

คนไทยและเอเชียแปซิฟิคล้วนคุ้นหูเคยชินกับบทเพลงในท่วงทำนอง ‘On The Floor’ ในภาษาต่างๆ ของตัวเอง ส่วนมากก็เข้าใจว่ารากที่มาดั้งเดิมก็คือบทเพลงที่นำท่วงทำนองมาจากอินโดนีเซีย เมื่อมาดูรากเหง้าของบทเพลงนี้กันจริงๆ ก็ต้องตะลึงถึงการเดินทางในการแผ่ขยายทางดนตรีสู่ทุกทวีปทั่วโลกอย่างไม่น่าเชื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา วันนี้มาถึงตลาดเพลงกระแสหลักในอเมริกาเสียที

คนไทยรู้จักบทเพลงนี้ในเวอร์ชั่นอินโดนีเซีย ‘ซิ แจนตุง ฮาตี’ หรือแปลชื่อเป็นไทยว่า ‘เธอผู้เป็นดวงใจ’ หรือ ‘รักเสมือนดวงใจ’แล้ว นักร้องในประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิคก็นำมาแผลงแปลงเนื้อร้องใส่เป็นภาษาของตัวเอง ในมาเลเซีย ฉบับที่ดังมาที่สุดก็ต้องเป็นของ นอร์อันนิซา ไอดริส ซึ่งถือได้ว่าเป็นราชินีเพลงพ๊อพของมาเลย์เขา นอกจากนี้ก็มีฮ่องกง เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น

แต่จริงๆ แล้ว ต้นทางที่มาของดนตรีและบทเพลงนี้ที่พอจะค้นหาที่มาได้ และตามแกะรอยไปที่ละเปลาะให้พ้นจากเอเชียแปซิฟิค ก็น่าจะดูกันที่บทเพลง ‘Lambada’ ของวงคาโอมา (Kaoma) ในปี 2532 ซึ่งฮิตไปทั่วโลกเช่นกัน และเป็นท่วงทำนองเดียวกันกับบทเพลง ‘ซิ แจนตุง ฮาตี’และทำให้ดนตรีเต้นรำที่เรียกว่า แลมบาดา กลายเป็นกระแสฮิตไปทั่วโลก กลายเป็นดนตรีเต้นรำของผู้คนบนผืนพิภพโดยไม่มีเชื้อชาติภาษาอีกต่อไป

แต่เมื่อค้นลึกไปสู่บทเพลง ‘แลมบาดา’ ก็พบที่มาซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก การสาวไปถึงรากเหง้ายิ่งพบกับความน่าทึ่งของ ดนตรีที่เรียกว่า มิมีพรมแดนอย่างแท้จริง เมื่อคนยุโรปและทั่วโลกรู้จักกับดนตรีเต้นรำในแบบแลมบาดาที่เข้าใจว่าเป็นดนตรีของวงพ๊อพฝรั่งเศสหรือเรองซ์พ๊อพที่นำเวิร์ลด์มิวสิคแบบละตินอเมริกามาใช้ ผ่านการทำงานของวงคาโอมา ที่มีสมาชิกจากบราซิลร่วมวงด้วย

แต่จริงๆ แล้ว ที่มาอันแสนซับซ้อนเริ่มตเนจาก ก่อนหน้าที่เพลงนี้จะออกมาสู่โสตชาวยุโรป ในปี 2531 นักลงทุนชาวฝรั่งเศส โอลิเวีย ลามอต อองชองส์ ได้เดินทางไปที่ปอร์โต ซีกูโร่ ในบราซิล ได้เห็นการเต้นรำของคนท้องถิ่นที่นิยมเต้นด้วยดนตรีที่ประกอบการเต้นรำที่เรียกว่า แลมบาดา เป็นที่นิยมชื่นชอบอย่างมากในบราซิล โดยเฉพาะวงแด๊นซ์ที่ชื่อว่า ตูเร่ กุนดา ที่โด่งดัง เขาจึงตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์เพลงในสไตล์แลมบาดามาทั้งหมด 300 เพลง เมื่อกลับสู่ฝรั่งเศส ยุทธการการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มดนตรีแลมบาดาจึงเกิดขึ้น

โอลิเวีย ลามอต อองชองส์ จึงสร้างวงดนตรีฟรองซ์พ๊อพที่ผสมดนตรีเวิร์ลบีทชื่อ คาโอมา ขึ้นมาและนำสไตล์ดนตรีนี้จากบราซิลไปสู่โสตชาวโลก ด้วยเพลงฮิตยอดนิยมที่มีชื่อเดียวกันของวงคาโอมา ที่มีชื่อว่า ‘แลมบาดา’ โดยเวอร์ชั่นแรกนั้นเป็นภาษาโปรตุกีส ซึ่งทำยอดขายถึง 5 ล้านก็อปปี้ และติดอันดับ 46 ในบิลบอร์ด ชาร์ต ปี 2533

และเมื่อค้นลึกลงไป สืบไปให้หาต้นฉบับจริงๆ ของบทเพลงนี้ ก็พบว่า บทเพลงนี้จริงๆแล้วมีชื่อเป็นภาษาโบลิเวี่ยนว่า ‘Llorando se fue’ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เขาร่ำไห้เมื่อเธอจากไป เป็นบทเพลงที่ไม่ทราบที่มาที่ไปของคนแต่ง ซึ่งอาจจะเป็นเพลงในแนวประเพณีนิยมหรือเทรดิชั่นที่รับสืบทอดกันมารของดนตรีพื้นถิ่นในอเมริกาใต้ โดยในปี 2524 บทเพลงนี้ถูกเผยแพร่ในวงกว้างผ่านวงดนตรีแอนเดรียน โฟล์ค และแอนเดรียน พ๊อพ ที่มีชื่อว่า Los Kjarkas ซึ่งการเดินทางของดนตรีและบทเพลงๆ นี้ก็ถูกต่อยอดนำไปคอฟเวอร์และใส่เนื้อร้องภาษาต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะในละตินอเมริกา โดยเฉพาะการถูกสถาปนานำไปเป็นแม่แบบดนตรีแลมบาดา ในทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศบราซิล

‘Lambada’ มีชื่อเพลงเวอร์ชันภาษาโปรตุกีสว่า ‘Chorando Se Foi’ ซึ่งขับร้องโดย โลอัลว่า บราซ นักร้องนำชาวบราซิเลี่ยนของวงคาโอมา โดยเป็นดนตรียุคแรกๆ ที่มีการบัญญัติศัพท์แนวดนตรีเวิร์ลบีทขึ้นมา และก็มีการคอฟเวอร์และก๊อปปี้กันอีกมากมายไปทั่วโลก แน่นอนในทางกฎหมายลิขสิทธิ์ วง Los Kjarkas ของโบลิเวียชนะสิทธิในการครอบครองบทเพลงนี้

แม้ว่าคำว่า ‘แลมบาดา’ จะเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก และกลายเป็นหนึ่งในตำนานดนตรีจากละตินอเมริกาที่ครอบครองโลก ผ่านดนตรีและสไตล์การเต้นรำที่ร้อนแรง และเข้าใจกันถ้วนทั่วว่า วงดนตรีฟรองซ์พ๊อพที่สร้างเพลงนี้ออกมานั้น ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีบราซิล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องในขั้นหนึ่ง ซึ่ง ‘แลมบาดา’ ก็ทำให้การเต้นรำและบทเพลงแบบบราซิลก็ขจรขจายไปทั่วโลก ไม่แพ้ดนตรีแจ๊ซในสายบอสซาโนว่า ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมพ๊อพหรือวัฒนธรรมยอดนิยมของโลกมากว่า 30 ปี และแลมบาดา ก็ถือเป็นดนตรีของบราซิลที่เรียกขานกันว่า แซมบ้า ไปโดยปริยาย

แลมบาดา ถือเป็นโฉมใหม่ในรูปแบบการเต้นรำของบราซิล ซึ่งมีพื้นฐานและพัฒนามาจากสไตล์เต้นรำของบราซิลที่เรียกกันว่า ‘คาริมโบ’ ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายกันมากในแถบทางตอนเหนือของประเทศ สำหรับคนที่ถูกยกย่องให้เป็นต้นธารหรือบิดาของดนตรีแลมบาดาของบราซิล ที่มาพร้อมกับท่าทางเต้นรำแนวใหม่ก็คือ อริโน กุยริโน คอนคัลเวส หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ปินดูคา’ เขาเป็นนักดนตรีและคนแต่งเพลงในแนวดนตรีคาริมโบที่นำมาใช้ในการเต้นรำแนวนี้ จนได้รับสมญานามว่า ราชาแห่งคาริมโบ

จากรากฐานของคาริมโบ ปินดูคายังได้สร้างสรรค์จังหวะการเต้นรำแนวใหม่ผ่านดนตรีของเขา ไม่ว่าจะเป็น ซิริมโบ, ลารี-ลารี, แลมโกเด และที่ฮิตไปทั่วโลกคือ แลมบาดา ที่เริ่มต้นขึ้นในยุคทศวรรษที่ 1980 ก่อนแพร่กระจายไปทั่วบราซิล และประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน โดยนักท่องเที่ยวก็นำไปแพร่ขยายแผ่ไปฮิตทั่วโลก โดยเฉพาะกระแสของภาพยนตร์ ‘แลมบาดา’ (The Forbidden Dance)

หากว่าไปแล้ว ดนตรีที่เรียกกันว่า แนวแลมบาดา ถูกวงดนตรีมากมายนำมาแผลงประยุกต์ใช้ในบทเพลงของตัวเอง แม้แต่วงเกิร์ลกรุ๊ปตัวเอ้ อย่าง สไปซ์ เกิร์ลส์ ก็อุตส่าห์ขุดมาใช้ในปี 2541 ในบทเพลง ‘Spice Up Your Life’ และก็กลายเป็นเพลงฮิตในแบบคลับแด๊นซ์ที่สนุกสนาน ก่อน เจ.โล ตั้ง 10 กว่าปี

‘On The Floor’ จึงกลายเป็นรอยด่างอีกวงใหญ่ของ เจ.โล ในโลกดนตรีของเธอที่ดูเปลือกนอกสวยหรู แต่เนื้อในและแก่นแท้กลับกลวงโหวงและว่างเปล่า...

>>>>>>>>>>
……….
ฟังมาแล้ว

The Early Years / Bob Marley And the Wailers

คนรุ่นใหม่รู้จักบ๊อบ มาเลย์ ประดุจเทพเจ้าของดนตรีเร็กเก้ เหมือนรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ แต่หารู้ลงลึกเข้าไปในเส้นทางดนตรียุคแรกๆของเขา ที่ต่อสู้และคิดค้นต่อยอดดนตรีแคริบเบียนแบบจาไมก้าให้คลี่คลายตัวจากผู้มาก่อน ที่พัฒนาดนตรีแนวร๊อคสตีดี้ มาสู่สกา, รูทส์ เร๊กเก้, โพลิติคอบ เร๊กเก้ จนกลายมาเป็นเร๊กเก้แบบบ๊อบ มาเลย์

อัลบั้มชุดนี้เป็นการรวบรวมงานเพลงในยุคบุกเบิกของเขาและวงเดอะ เวลเลอร์ส ที่มีซาวด์ดนตรีที่ดิบของชุมชนแออัดในคิงสตัน ที่รับอิทธิพลดนตรีเวสเทิร์นพ๊อพ อาร์แอนด์บี และโซล สู่เสียงใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกดนตรี

Danger Days: The True Lives of the Fabulous / My Chemical Romance

งานชิ้นเยี่ยมยอดของวงอีโมที่พัฒนาฝีมือและศักยภาพดนตรีผ่านแนวคิดและมุมมองที่นำเสนอได้อย่างลงตัวระหว่างความก้าวร้าวกับความละเมียดละไม กับเวลา 53.56 นาที ที่พัดพาเอาพายุทางดนตรีในแบบพังค์พ๊อพและอีโมกรุ่นกำจายในอารมณ์คนฟัง

จากอัลบั้มชุดที่แล้ว ‘The Black Parade’ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปท์อัลบั้มในสไตล์อีโมที่โดดเด่น ทำให้ชื่อและดนตรีของพวกเขาถูกกล่าวขานและจับตามอง จากงานที่มีบรรยากาศของโกธิคร๊อค ได้ขยับเข้าหาความเป็นอีโมที่มีกลิ่นอายพาวเวอร์พ๊อพจัดจ้านปราดเปรียวทางดนตรีที่มากขึ้นจนรู้สึกเฝือหู ผ่าน 15 บทเพลงที่ควบแน่นอัดทะยาน ในโครงสร้างของเพลงที่มีมุมมองและการเล่าเรื่องแบบนวนิยายไซไฟหรือวิทยาศาสตร์แฟนตาซีที่เพ้อฝัน คล้ายเป็นกระบอกเสียงของวัยรุ่นอเมริกันขบถยุคใหม่

Never Can Say Goodbye / Trijntje

นักร้องสาวชาวดัชต์ในสายแจ๊ซ-พ๊อพ หยิบบทเพลงของไมเคิล แจ๊คสัน ที่อยู่ในความประทับใจของเธอตั้งแต่ยุคแจ๊คสันไฟว์จนถึงงานโซโล่ยุครุ่งโรจน์ นำมาร้องแสดงการคารวะต่อราชาเพลงพ๊อพผู้จากไป เธอเติบโตจากบทเพลงเหล่านี้ทำให้การตีความร้องด้วยเสียงร้องและกีตาร์ที่บรรเลงแนวอะคูสติกแจ๊ซผสานหลอมรวมได้ไพเราะน่าลุ่มหลงทั้ง 14 บทเพลงที่เลือกมาร้อง

Living With The Past / Jethro Tull

เอียน แอนเดอร์สัน กับลีลาการเป่าฟลุ๊ตที่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของวงโปรเกรสสีฟร็อค อย่าง เจโทร ทัลล์ กับการแสดงที่แฮมเมอร์สมิธ อพอลโล่ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคร่วงโรยของเขาและวง ซึ่งชื่องานก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า อยู่กับอดีต กับ 21 บทเพลงที่นำมาเล่นสดอย่างจุใจทำให้ระลึกวันชื่นคืนสุขตอบสนองคนฟังที่รักพวกเขาได้เป็นอย่างดี
..........
ชีพจรดนตรี
>>>>>>>>>>>>>>

ดนตรีสร้างสรรค์...ประชันเพลง เพลงพื้นบ้าน vs เพลงแร็ป

พบกับปรากฏการณ์สร้างสรรค์ทางดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ ศิลปินแห่งชาติสาขาเพลงพื้นบ้าน แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ประชันเพลงอีแซว กับศิลปินแร็ปเปอร์แห่งสหัสวรรษของไทย กอล์ฟ สิงห์เหนือ ร่วมด้วยศิลปินสาวนักล่าฝัน มิกกี้ AF5 แม้จะต่างยุคต่างวัยหากแต่มีเสียงหัวใจเต้นเป็นจังหวะดนตรีเช่นกัน เชิญมาชมกันให้สำราญ ประจักษ์ถึงความงาม คุณค่า และความบันเทิงของดนตรีแห่งยุคสมัย

ชมฟรี วันอาทิตย์ ที่ 12 มิถุนายน 2554 เวลา 15.00 - 17.00 น. ณ ห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนินกลาง กทม. สำรองที่นั่งและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 621 0044, 02 621 0044, 02 226 5047 - 48 หรือที่ www.nitasrattanakosin.com

กาลครั้งหนึ่ง ณ ซีนเนอรี่ (Music’n Farm Festival Once upon A Time @ Scenery)

12 ชั่วโมง เต็มอิ่มกับความสวยงามของธรรมชาติ และ ฟาร์มในฝันที่เนรมิตขึ้นเพื่อแฟนๆ ซินเนอรี่ ฉลองการปรับโฉมใหม่ในสไตล์ Vintage Farm เพลินกับเพลงเพราะในฤดูฝนพรำให้ชื่นฉ่ำใจ กับขบวนศิลปินมากมาย

วันเสาร์ที่ 11 มิ.ย. 2554 : เบน ชลาทิศ , Room 39 , Basket Band , Swagen , PLAY, ออดี้

วันเสาร์ที่ 18 มิ.ย. 2554 : Scrubb ft. Juisjui , Pancake , หมู มูซู , Monkey Shaker, สาวรำวง

เวลา 12.00 -24.00 น. ณ Scenery Vintage Farm , สวนผึ้ง ราชบุรี บัตรราคา 800 บาท
ซื้อบัตรได้ที่ Thaiticket Major ทุกสาขารายละเอียดเพิ่มเติมโทร Hot Line : 085-337-3541 Facebook : http://www.facebook.com/SceneryVintageFarm

Singha Presents Flo Rida Live in Bangkok

Flo Rida ศิลปินฮิพฮอพที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลกในขณะนี้ เจ้าของ Single เพลงฮิตหลากหลายเพลงที่ยังคงได้รับกระแสนิยมอย่างมากมายในปัจจุบัน และยังคงเป็นเพลงฮิตที่อยู่ Top 10 Hit ในหลายประเทศทั่วโลก อย่าง ‘Club Can’t Handle Me’, ‘Low’ และ ‘Right Round’ และในขณะนี้ Flo Rida ได้ปล่อย Single เพลงใหม่ออกมาแล้ว อย่าง ‘Where Them Girls At’ ซึ่งเป็นอีกเพลงที่กำลังไต่อันดับไปได้สวยและได้ขึ้นเป็นเพลงฮิตอันดับ 1 ใน 7 ประเทศไปเรียบร้อยแล้ว

เหล่าสากฮิพฮอพตัวจริง คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะเตรียมตัว เตรียมใจไประเบิดความมันส์กับ Singha Presents Flo Rida Live in Bangkok @ Route 66, Outdoor Stage ในวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2554 ที่ Route 66 ตั้งแต่เวลา 19.00 - 22.00 [Open Act : Bangkok Invader, JAY CALO, Dandee, MIZZ NINA and Thaitanium] บัตรราคา 2,000 บาท และ 1,500 บาท เปิดจำหน่ายที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ โทร 02-2623456

พอล เฮง paulheng_2000@yahoo.com
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
กำลังโหลดความคิดเห็น