xs
xsm
sm
md
lg

ศรีไศล สุชาตวุฒิ = เชอร์ลีย์ บาสซีย์เมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ตุ้ม” ศรีไศล สุชาตวุฒิบนคอนโดฯ ส่วนตัว
เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2534 ผู้ล่วงลับ เคยกล่าวในหมู่คนสนิทเมื่อได้ฟังเสียงของ “ตุ้ม” ศรีไศล สุชาตวุฒิว่า “ คอยดูเถอะ … นักร้องคนนี้จะเป็นเชอร์ลีย์ บาสซีย์เมืองไทย” … แล้ววันหนึ่ง ...ศรีไศลก็ต้องตัดสินใจทิ้งอาชีพ “นักร้อง” จากเมืองไทยไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ
ชั่วพริบตาเดียว … 30 ปี เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เธอกลับมาเปิดคอนเสิร์ต “ ศรีไศล สุชาตวุฒิ รักข้ามขอบฟ้า Live in Concert” ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีครั้งแรกในชีวิตนักร้องของเธอ เสียงปรบมือในหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในค่ำคืนนั้น ไม่ใช่แค่สื่อความคิดถึงที่คนไทยมีต่อเธอเท่านั้น หากแต่ทุกบทเพลงที่เธอบรรจงกรีดอารมณ์ใส่ ทำให้การฟังเพลงได้อรรถรสจนเห็นภาพโลดแล่นอยู่เบื้องหน้า คอนเสิร์ต “รักข้ามขอบฟ้า” จะจัดแสดงอีกครั้งในชื่อเดิม “ศรีไศล สุชาตวุฒิ รักข้ามขอบฟ้า Live in Concert” วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนนี้ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเช่นเคย

จาก “ชีวิตละคอน” ถึงคอนโดฯ
“ ตัวของเราเป็นใครกันแน่ เฝ้าเปลี่ยนแปรชีวิตทุกวันไป ตามแต่เขาปั้นให้ บทบาทวาดไว้สวมใส่ให้เดิน ...” เพลงนี้ชื่อ “ชีวิตละคอน” ใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์และละครเรื่อง “ละครเร่” ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ผลงานเพลงประพันธ์คำร้องโดย ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และให้ทำนองโดย ครูสง่า อารัมภีร เพลงนี้ ...ทำให้เธอนึกถึงเรื่องราวชีวิตของใครต่อใครหลายคนที่เธอมักคุ้นอันมีความไม่แน่นอนเป็นสรณะ ...เพลงบทนี้ทำให้เธอจุกแน่น … และต้องหยุดเพื่อที่จะดึงอารมณ์กลับมาประคองร้องให้จบ …

ดึกสงัดคืนนั้น … เธอกลับมาเป็นตัวของตัวเอง นั่งจิบสปาร์กลิงไวน์อยู่คนเดียวในห้องบนคอนโดฯ ส่วนตัวริมน้ำเจ้าพระยา นึกย้อนชีวิตกลับไป... หลายชั่วโมงที่แล้ว เธออยู่บนเวทีคอนเสิร์ตด้วยเสื้อผ้าหรูหราจากการออกแบบของ “ไข่ บูติค” สมชาย แก้วทอง ณ วินาทีนี้ ลีลา “ชีวิตนักร้อง” ที่เธอสวมบทเล่นอยู่นั้นได้สิ้นสุดลง พร้อมๆ กับพาตัวเองกลับมาสู่ตัวตนที่แท้จริง

4 ปีที่แล้วเธอซื้อคอนโดฯ ริมน้ำแห่งนี้ไว้ ด้วยคิดว่าเมื่ออายุมากขึ้น เธอจะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย เมื่อก่อน ปีหนึ่งๆ เธอวนเวียนใช้ชีวิตอยู่ระหว่างอเมริกา และประเทศไทย แห่งละ 3 เดือน ส่วนที่ฝรั่งเศสอยู่นานถึง 6 เดือน เธอบอกว่า เมื่อใดที่ชาโตว์ลาบิช ที่นอร์มังดี ฝรั่งเศสขายได้ เธอจะบินกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยอย่างเต็มตัว และบินไปมาระหว่างเมืองไทยกับอเมริกาเท่านั้น เพราะลูกทุกคนใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น อเมริกาจึงเป็นเหมือนกับบ้านหลังที่ 2 ของเธอ

ช่วงดังสุดขีด - ลาชีวิตนักร้อง
สถานภาพของศรีไศล สุชาตวุฒิ คือ “หม่อม” ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช จุฑาธุช) พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ที่ประสูติแต่หม่อมระวี จุฑาธุช ณ อยุธยา (ไกยานนท์) ตั้งแต่ปี 2527

“ตอนที่พี่ไปเมืองนอก เป็นช่วงที่พี่กำลังมีงานเข้ามามาก เหมือนกับเราตัดขาดและทิ้งไปเลย คือตอนนั้นท่านเป็นโรคเส้นพระโลหิตในสมองตีบ เลยทำให้เป็น STROKE (สโตรก) ด้วยความรัก ความห่วงใย เราไปด้วยเหตุที่จะไปดูแลท่านที่เมืองนอก ตอนแรกๆ คิดว่าถ้าอาการท่านดีขึ้นก็จะกลับมา ถ้ามีใครจ้างก็จะร้องเพลงต่อ แต่พอไปรักษาตัวที่นั่น ปรากฏว่ามันนานกว่าที่คิด การไปในคราวนั้นกลายเป็นว่า เอาลูกไปเรียนหนังสือ ซื้อบ้าน ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น” ศรีไศล สุชาตวุฒิ (วรานนท์) กล่าวกับทีมสกู๊ปพิเศษ “ซูเปอร์บันเทิง” ASTV Manager Online

การพำนักอยู่ในต่างประเทศกลับเป็นผลดีให้เธอได้ใช้ “ชีวิตแม่บ้านและแม่ของลูก” อย่างเต็มที่ ลูก 3 คนนี้เป็นลูกของเธอกับ “คุณตุ๋ย” ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ (หัวหน้าวงคีตะวัฒน์) สามีคนแรกที่ใช้ชีวิตคู่อยู่ได้เพียง 10 ปีและหย่าในที่สุดตอนที่เธอต้องไปเมืองนอก ลูกๆ อายุไล่เรียงกันตั้งแต่ 14 - 13 - 10 ขวบ เช้าส่งลูกไปโรงเรียน ตอนสายเธอเรียนภาษาเพิ่มเติม และกลับมาทำอาหารถวายท่านตอนกลางวัน เวลาบ่าย 3 โมงรับลูกกลับจากโรงเรียนแล้วเตรียมอาหารเย็น เป็นอย่างนี้ตลอดในช่วงเวลานั้น

“ต้องบอกว่า การไปเมืองนอกทำให้พี่ได้ทำหน้าที่ภรรยาและแม่เต็มๆ และเป็นความทรงจำที่ดีด้วย แม้จะเป็นยายแจ๋วทำสารพัดอย่างด้วยตัวเอง ล้างรถ, ปลูกต้นไม้, ทำกับข้าว, เลี้ยงลูก คนอื่นอย่างไรไม่รู้ แต่สำหรับพี่ ชีวิตที่เมืองนอกอบอุ่นมาก ถ้าอยู่เมืองไทยเราคงไม่มีโอกาสแบบนี้ เพราะเรายังคงต้องมีอาชีพร้องเพลงอยู่ ดูแลลูกนิดๆ หน่อยๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ มีคนขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน”

ต่อมาเมื่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช สิ้นชีพตักษัยเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2533 พระชันษา 69 พรรษา เธอจึงใช้ชีวิตอยู่กับลูกๆ ที่อังกฤษและอเมริกา

ชีวิตช่างเสื้อ
“ตุ้ม” ศรีไศล สุชาตวุฒิ เกิดที่สมุทรสาคร เป็นลูกคนที่ 8 ในจำนวนพี่น้อง 10 คน เนื่องจาก “คุณพ่อสรรค์” เป็นผู้พิพากษา ชีวิตวัยเด็กของเธอจึงต้องย้ายตามชีวิตราชการของพ่อไปยังจังหวัดต่างๆ แห่งละ 4-5 ปี จากสมุทรสาครไปยังกาญจนบุรี และเริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนประจำจังหวัดสกลนคร หลังจากนั้นติดตามพี่ๆ มาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ชีวิตนักเรียนในเมืองหลวงเริ่มต้นที่ โรงเรียนสตรีปทุมวัน (บริเวณสี่แยกปทุมวัน ปัจจุบันรื้อไปแล้ว) จากนั้นมาเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาจนจบ ม.8 ที่โรงเรียนศรีอยุธยา

“คุณพ่อไม่สนับสนุนให้เป็นนักร้อง เพราะว่าในสมัยนั้นคนที่เป็นนักร้องยังไม่ได้รับเกียรติอะไรจากสังคมนัก นอกจากจะเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงมากๆ เมื่อคุณพ่อรู้ว่าเราจะเป็นนักร้องให้ได้ ก็เลยมีการต่อรองกัน พ่อบอกว่า ลูกไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยอย่างพี่ๆก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่จบ ม.8 แล้วออกมาเป็นนักร้องเฉยๆ แต่ลูกต้องไปเรียนด้านวิชาชีพควบคู่ไปด้วย”

นอกจากการร้องเพลงแล้ว เธอยังมีความชำนาญในเรื่อง “เย็บปักถักร้อย” ในวัย 13-14 ปี พี่สาวคนหนึ่งซึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครู สวนสุนันทา (ต่อมายกฐานะเป็น วิทยาลัยครูสวนสุนันทา , สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในปัจจุบัน) เป็นคนสอนให้ ความชำนาญนี้ถึงขนาดคุณครูที่โรงเรียนศรีอยุธยาจ้างเธอตัดเสื้อและให้ค่าแรงตัวละ 20 บาท ในตอนนั้นถือว่ามากอยู่สำหรับเด็กอายุ 13-14 ปี

เมื่อต้องเรียนด้านวิชาชีพ เธอเลือกที่จะเรียนตัดเสื้อกับ “คุณเล็ก” สปัน เธียรประสิทธิ์ (ภรรยาคนแรก) ของชรินทร์ นันทนาคร (งามเมือง) โดยให้คุณอาท่านหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกับแม่ (ถมยา สุชาตวุฒิ) และมีบ้านติดกับครอบครัวเธียรประสิทธิ์เป็นคนฝากให้

“ เราทราบมาแล้วว่าพี่เล็กเป็นภรรยาของพี่ชรินทร์ ซึ่งขณะนั้นพี่ฉึ่งเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงแล้ว ขณะเดียวกันพี่เล็กเพิ่งบินกลับจากอังกฤษ เก่งเรื่องการออกแบบเสื้อผ้ามาก ทั้ง 2 คนเป็นไอดอลของเราเลย โดยเฉพาะเมื่อตอนที่พี่ชรินทร์มีปัญหาเรื่องเด็ดดอกฟ้า ตอนนั้นพี่ชื่นชมในความกล้าหาญของพี่เล็กกับพี่ฉึ่งมาก”

เรื่องนี้แหละ ที่สุรชัย ดิลกวิลาศ ตั้งฉายาให้แก่ชรินทร์ นันทนาครว่า “ขุนแผน ลูกแม่ระมิงค์”

“ตุ้ม” ศรีไศลเป็นนักเรียนคนแรกของสปัน เธียรประสิทธิ์ ตั้งแต่ยังไม่เปิดโรงเรียนสอนตัดเสื้ออย่างเป็นทางการ ตอนนั้นร้านตัดเสื้อตั้งอยู่ที่กล้วยน้ำไทโดยปันเนื้อที่ส่วนตัวบ้านมาเปิดเป็นร้าน ในร้านมีอยู่ด้วยกัน 5 คนได้แก่ ครูสปัน, ศรีไศล, ช่างเย็บ 2 คน, ช่างสอย 1 คน ตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 18-19 ปีเท่านั้น นอกจากจะเรียนตัดเสื้อแล้วยังเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมด้วย ต่อมาเมื่อสปันเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ “ตุ้ม” ศรีไศลก็เปลี่ยนฐานะจาก “ผู้เรียน” มาเป็น “ผู้สอน” เป็นครูคนแรกของโรงเรียน การร่ำเรียนวิชาความรู้จากครูสปันที่เธอเรียก “พี่เล็ก” นั้น ไม่ได้มีเฉพาะวิชาตัดเสื้อเท่านั้น หากแต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ทำให้เธอรู้จักรสนิยมการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงภาษาของนักเรียนอังกฤษจากพี่เล็ก, การวางตัว, มรรยาท, การแต่งตัวให้เหมาะสมกับสถานที่และสังคม

“ตอนนั้นพี่เล็กยังไม่ได้เรียกชื่อเล่น แกบอก ศรีไศลนี่ดีหมดนะ หน้าตาดี ท่าทางดี แต่รู้ไหมอะไรที่อยากให้แก้ … แกบอกว่า เราชอบทำหน้าบึ้ง คือเป็นคนที่ชอบทำหน้าตาแบบเฉย !! ต้องเปลี่ยนใหม่ ให้รู้จักยิ้ม เราก็เริ่มหัดยิ้ม จนเดี๋ยวนี้อาจจะยิ้มเยอะไปหน่อย พี่เล็กบอกอย่าทำหน้าเฉย มันจะทำให้บุคลิกเราดูไม่ดี เจอใครรู้จัก ไม่รู้จัก ให้ยิ้มไว้ก่อน อันนี้ก็ได้เอามาสอนลูก ๆ ทั้งสามคน”

นอกเหนือจากการเป็นครูที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อสปันแล้ว ในระยะแรกเธอได้นำวิชาความรู้นี้ไปเปิดร้านตัดเสื้อที่บ้านบริเวณสี่เสาเทเวศร์ โดยเจียดพื้นที่บ้านของพ่อแม่มาดำเนินกิจการดังกล่าว ลูกค้าส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่อยู่ในวงการเพลง เช่น สวลี ผกาพันธุ์ , เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, รวงทอง ทองลั่นธม, จินตนา สุขสถิตย์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, ลินจง บุนนากรินทร์, อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา นอกจากนี้ยังออกแบบเครื่องแต่งกายประกอบภาพยนตร์ของดอกดิน กัญญามาลย์ และอัศวินภาพยนตร์หลายเรื่อง

ร้องเพลง “ชรินทร์โชว์” ครั้งแรก
การร้องเพลงเป็นความตั้งใจของเธอมาตั้งแต่เด็ก !!

บนเวทีของศูนย์วัฒนธรรมฯ น้องชายของ “ตุ้ม” สกล สุชาตวุฒิ ได้ร่วมกับเธอขับร้องเพลง Smile ตามด้วย “พิษรัก” ที่สกลร้องคนเดียว น้องชายคนนี้แม้จะไม่ใช่นักร้องอาชีพ แต่ก็เคยประกวดนักร้องสมัครเล่นของไทยทีวีสี ช่อง 3 ชนะเลิศในปี พ.ศ. 2529 รุ่นก่อน นันทิดา แก้วบัวสาย1 ปี แต่ก่อนหน้านั้น… เธอกับน้องชายคนนี้แหละที่นิยมเล่นขึ้นเวทีร้องเพลงตอน 6-7 ขวบ ในขณะที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันชอบเล่นขายของ ส่วนพี่คนอื่นๆ ก็อาจจะมีใจรักในการร้องเพลงประเภทสมัครเล่นมากกว่าจะเอาจริงเอาจังอย่างเธอ

“ จริงๆ น่าจะมีอยู่ในสายเลือดเหมือนกันนะ อย่างพี่คนที่เป็นหมอเนี่ย ตอนเป็นนักเรียนแพทย์จุฬาฯ ก็เป็นนักร้องอยู่ในวงดนตรีแพทย์จุฬาฯ พี่คนที่แต่งงานไปกับชาวออสเตรเลีย อยู่ที่นั่นก็ชอบร้องเพลงเอนจอยกับเพื่อน แต่ไม่มีใครยึดเอาเป็นอาชีพ”

สมัยที่เรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนศรีอยุธยา เธอไปประกวดร้องเพลงในงานกาชาด ครูสอนวิชาขับร้องที่โรงเรียนเลือกเพลง “ดอกไม้” ของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ (หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์) การประกวดในคราวนั้นเธอได้รับถ้วยพระราชทานจากพระหัตถ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เธอได้รู้จักกับนักร้องอย่าง Frank Sinatra, Ella Fitzgerald, Nancy Wilson, Diane Schuur ฯลฯ จากการที่พี่ชายหอบแผ่นเสียงมาจากประเทศอังกฤษ

“อย่าง Frank Sinatra ชอบมาถึงเดี๋ยวนี้ไม่เคยเปลี่ยน เป็นนักร้องฝรั่งไม่กี่คนที่ร้องเพลงแล้ว คำจะชัดมาก อันนี้ท้าให้ไปฟังได้เลย ฟังแล้วจะรู้ว่าเขาร้องว่าอะไร ฟังของคนอื่นอาจจะไม่รู้ว่าตรงนี้มันอะไรนะ แต่ฟังของแฟรงก์แล้ว เห็น เข้าใจ … พี่ชายชอบแจ๊ซ พี่เริ่มมาชอบแจ๊ซตอนมาเรียนตัดเสื้อกับพี่สปัน พี่สปันชอบฟังและร้องเพลงแจ๊ซ ผู้ใหญ่รุ่นนั้น อย่าง พี่สปัน เธียรประสิทธิ์ , คุณกมลา สุโกศล จะฟังเพลง ร้องเพลงในแนวที่ใกล้ๆ กัน เรียนร้องเพลงแจ๊ซประมาณนี้ การที่พี่ได้อยู่ใกล้ชิดกับพี่สปัน ทำให้พี่ได้อะไรต่อมิอะไรเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ … พี่เล็กชอบร้องเพลงฝรั่ง ร้องเวลาตัดเสื้อ เราก็ร้องไปด้วย พี่เล็กบอกว่า เอ๊ะ ... ศรีไศล เสียงดีนะ”

ต่อมา สปัน เธียรประสิทธิ์เป็นคนแนะชรินทร์ให้เอา “ตุ้ม” ศรีไศลไปออกในรายการ “ชรินทร์โชว์” ทางช่อง 4 บางขุนพรหม รายการนี้จัดเดือนละครั้ง โดยใช้วงคีตะวัฒน์ในการบรรเลงออกอากาศ เธอยึดแนวเพลงของสวลี ผกาพันธุ์ เป็นต้นแบบ เธอเล่าเป็นเกร็ดให้ฟังว่า ในยุคนั้นเมืองไทยมีวงบิ๊กแบนด์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอยู่เพียง 3 วง คือ วงสุนทราภรณ์ ของครูเอื้อ สุนทรสนาน, วงคีตะวัฒน์ ของไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ และวงกรรณเกษม ของจำนรรจ์ กุณฑลจินดา เท่านั้น ต่อมา... การเป็นนักร้องให้แก่วงคีตะวัฒน์ ทำให้เธอได้บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก

“เป็นเรื่องที่เรานึกถึงอยู่ตลอดเวลา เราเกิดจากจุดนี้ วงคีตะวัฒน์เป็นคนทำให้เกิด”

บันทึกเสียงแผ่นแรกด้วยบทเพลงของอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ในเพลง “ รักเอย” และ “ชั่วฟ้าดินสลาย” แม้แต่แผ่นรวมเพลงของอัศวินภาพยนตร์ อย่าง “ชีวิตละคอน” เธอก็เป็นคนบันทึกเสียงไว้ แต่เนื่องจากเธอเป็นนักร้องหน้าใหม่ ทางผู้ผลิตจึงต้องหา “นักร้องชื่อดัง” มาประกบไว้ด้วยบทเพลงเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีการทำการตลาดอย่างหนึ่งของวงการเพลงในสมัยนั้น ขายเพลงด้วยนักร้องชื่อดัง ขณะเดียวกันก็ปั้นนักร้องหน้าใหม่ไปในตัว อย่าง รักเอย และชั่วฟ้าดินสลายนี้ แผ่นเสียงหน้า A ผู้ขับร้องคือ ธานินทร์ อินทรเทพ ส่วนหน้า B ถึงจะเป็นเสียงของเธอในบทเพลงเดียวกัน

“คุณพ่อสรรค์ หวงพี่อย่างกับอะไรดี !! ไม่ค่อยอนุญาตให้ไปไหนต่อไหนจนกระทั่งแตกเนื้อสาว ทั้งรู้ว่า ลูกสาวเป็นนักร้อง ต้องตระเวนร้องเพลงไปกับวงคีตะวัฒน์ โดยเฉพาะช่วงศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ ต้องร้องเพลงนอกสถานที่อย่าง เวทีลีลาศสวนลุมพินี, เวทีลีลาศสวนอัมพร , วังสราญรมย์ ก็ต้องมี “พี่ๆ” คนใดคนหนึ่งไปนั่งเฝ้าและกลับบ้านพร้อมกัน แต่ไม่เคยโกรธคุณพ่อเลยนะ เพราะรู้ว่าท่านรักและเป็นห่วง พวกเรารักคุณพ่อคุณแม่มาก”

และความหวงจนเกือบจะหมดอิสรภาพนี่แหละ ที่ทำให้ศรีไศลตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ หัวหน้าวงคีตะวัฒน์ เมื่ออายุเพียง 22 ปี

“แต่งงานในตอนนั้น มันเกิดจากช่วงที่เราอยากจะเป็นอิสระมากกว่าเหตุผลอื่น”

การตัดสินใจหย่าในเวลาต่อมา เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากสำหรับครอบครัวสุชาตวุฒิ
“ครอบครัวเรา หมายถึงลูกๆ ของพ่อกับแม่ในสกุลสุชาตวุฒิ อยู่กับใครก็คนนั้น ไม่มีใครหย่า อยู่กันจนตายกันไปข้างหนึ่ง มีพี่คนเดียว ไม่รู้ว่าเป็นอะไรเหมือนกัน ความคิด ความอ่าน ความเห็นของพี่ แต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กแล้วเรามองชีวิตแบบเปิดกว้าง มีหัวค่อนข้างสมัยใหม่ เลยมีความหวังสูงในชีวิตคู่”

ในช่วงต้นของการเป็นนักร้อง เธอเริ่มต้นจากการร้องเพลงในงานต่างๆ สมัยก่อนถ้ายังจำกันได้
งานโก้ ๆ จะไปจัดที่สวนอัมพร วังสราญรมย์ มาถึงยุคไนต์คลับ จนเข้าสู่ยุคค็อกเทลเลานจ์ เมื่อเธออายุได้ 38 ปี

ในแวดวงบันเทิง นอกจากเธอจะเป็นนักร้องแล้ว ยังมีโอกาสได้เป็นนักแสดงรับเชิญให้แก่ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง ผลงานภาพยนตร์มีเพียง 3 เรื่อง คือ “เพลงรักเพื่อเธอ” ของเริงศิริ ลิมอักษร , “หนามยอกอก” ของเป๋ โปสเตอร์ และ “แก้ว” ของเปี๊ยก โปสเตอร์ ต่อมา ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ เป็นคนทาบทามเธอเข้าสู่การแสดงละครโทรทัศน์ มีผลงานหลายเรื่อง เช่น ความรัก, ประชาชนชาวแฟลต ฯลฯ

นักร้องเสียง Hasky
ศรีไศล สุชาตวุฒิ เป็นคนที่ “ร้องเพลงเป็น” มากกว่า “ร้องเพลงเพราะ “ ดังนั้น “การเลือกเพลง” สำหรับเธอต้อง “คอร์ดฝรั่ง และเนื้อสากล” โดยมีรายละเอียดกำกับไว้ว่า หนึ่ง. ต้องเป็นเพลงที่ไม่ “ไทยจ๋า” จนเกินไป เช่นมีลูกเอื้อนที่ได้อิทธิพลจากเพลงไทยเดิม สอง. ดนตรีต้องออกไปทางแนวฝรั่ง และเนื้อเพลงที่มีความเป็นสากล ไม่ใช่เพลงที่หนักไปทางคร่ำครวญ ยกตัวอย่างเพลง “ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก” - - อันแสงสูรย์ส่องสว่างแต่กลางวัน อันแสงจันทร์ส่องประจำยามราตรี … ลักษณะเพลงแบบนี้แหละที่เหมาะกับเธอ

“ไม่ใช่ว่าไม่ชอบเพลงไทยเดิม แต่เพราะเสียงของเราไม่ให้มากกว่า” เธอแสดงความเห็น
ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารฉบับหนึ่งว่า

“ ครั้งแรกๆ ที่ฟังเพลงของศรีไศล ยังไม่ค่อยชอบเพราะเธอร้องไม่ลงกับจังหวะห้องของดนตรี (คือล้อกับดนตรี ไปก่อนบ้าง ตามหลังบ้าง) … แต่ฟังไปแล้วชักชอบ เพราะเป็นสไตล์ของเขาเอง (คือสุดท้ายก็ลงได้พร้อมดนตรี)”

กับฉายาที่ “ป้าโจ๊ว” เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เรียกเธอว่า “เชอร์ลีย์ บาสซีย์เมืองไทย” (Dame Shirley Veronica Bassey, DBE - คุณหญิงเชอร์ลีย์ เวโรนิกา บาสซีย์)

“ฉายานี้พี่ไม่ทราบมาก่อน แต่จะเป็นสไตล์การร้องเพลงหรือเปล่า อาจจะนะคะ พี่ยอมรับว่า พี่ดูเชอร์ลีย์ บาสซีย์เยอะอยู่ เพราะฉะนั้น อะไรที่เราดูเยอะๆ มันก็อาจจะอยู่ในหัวเรา สไตล์อาจจะออกมาอย่างเขาบ้าง แต่ในด้านเสียงไม่เหมือนแน่ เพราะว่าเชอร์ลีย์จะเป็นเสียงที่มีพลังมาก แต่จะว่าไม่เหมือนเสียทีเดียวก็ไม่เชิง เพราะในโทนเสียงต่ำของเขา จะมีเสียงทุ้มต่ำ แหบพร่า ซึ่งมีลักษณะสาก แหบแบบทรายๆ หรือที่เรียกว่าเสียง “ฮัสกี” พี่เองก็มีโทนเสียงอย่างนั้น นักร้องฝรั่งหลายคนอย่าง บาร์บรา สตรัยแซนด์ (Barbra Streisand) ก็มีเส้นเสียงที่เป็นฮัสกีเหมือนกัน ตอนที่พี่ร้องเพลงที่เลานจ์ ก็มีคนพูดว่าพี่เหมือนบาร์บรา ซึ่งเสียงแบบนี้ไม่ค่อยมีในหมู่นักร้องไทยในสมัยนั้น “

บนเวทีคอนเสิร์ต “ศรีไศล สุชาตวุฒิ รักข้ามขอบฟ้าฯ” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เธอคือ “ศิลปิน” ผู้ถ่ายทอดอารมณ์ มากกว่าที่จะเป็น “นักร้อง” ที่ถ่ายทอดบทเพลงอันไพเราะ เมื่อเธอใช้ “อารมณ์” เป็นตัวตั้ง แทนที่จะใช้ “เสียง” อย่างนักร้องคนอื่น จึงทำให้ลีลาในแต่ละบทเพลง และการร้องแต่ละครั้งย่อมมีรายละเอียดที่ต่างกัน ความพิเศษที่เข้าถึงอารมณ์นี้ไม่อาจรับรู้ได้จากการฟังเพลงของเธอจากเครื่องเล่นซีดี หรือแม้แต่เพลงบางเพลง เมื่อเวลาเปลี่ยน การรับชมเปลี่ยน ค่าของอารมณ์ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ยกตัวอย่าง คนที่ได้ชมคอนเสิร์ตในคืนนั้น ย่อมเห็นตรงกันว่า เพลง “ชีวิตละคอน” ที่ได้ชมบนเวทีศูนย์วัฒนธรรมฯนั้น แตกต่างจากการชมบนยูทิวบ์ ทั้งที่มันคือ “เพลง - เวที” เดียวกัน

เพลงชอบตามอารมณ์ “ไม่มีที่สุด”
วันที่มีโอกาสได้คุยกับเธอ - ศรีไศล สุชาตวุฒิ เธอบอกว่า “ชอบหลายเพลง แต่ไม่มีเพลงที่ชอบที่สุด และเป็นไปตามอารมณ์ในช่วงนั้นมากกว่า อย่างในวันที่อารมณ์อยากเศร้า ก็จะเปิดแต่เพลง ความรักครั้งสุดท้าย ฟังทั้งวัน” !!

ตามอารมณ์วันนี้ … เธอเลือกไว้ 5 เพลง คือ ความรักครั้งสุดท้าย, ไม่เคยรักใครเท่าเธอ, สิ้นหวานแล้ว, ชีวิตละคอน และ โอ้รัก ผิดคาด เพราะไม่มีเพลงยอดนิยมอย่าง เก็บรัก - ชั่วฟ้าดินสลาย - รักข้ามขอบฟ้า

“อยู่ดีๆ จะให้ฟังรักข้ามขอบฟ้ามั้ย ไม่ค่อยฟัง เก็บรักอีกเพลง ก็ไม่ค่อยฟัง เพราะสมัยที่เป็นนักร้องร้องเพลงอยู่ 4 แห่ง คืนหนึ่งต้องร้องประมาณ 8 เที่ยว หัวค่ำร้องไปแล้ว สักพักคนเพิ่งมาใหม่ ขออีกแล้ว เป็นอย่างนี้ทุกที่ ถึงบอกว่าเบื่อมากสำหรับนักร้อง แต่ยอมรับว่าคนฟังมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ยินเพลงเหล่านี้”

คอนเสิร์ต “รักข้ามขอบฟ้า” จะจัดแสดงอีกครั้งในชื่อ “ศรีไศล สุชาตวุฒิ รักข้ามขอบฟ้า Live in Concert” วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนนี้ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สิ่งที่จะเปลี่ยนไปบ้างบนเวทีนี้คือ บทเพลงใหม่จะเข้ามาแทนที่ รวมถึงเพลงพิเศษที่แต่งขึ้นมาเพื่อขอบคุณแฟน ๆ ของศรีไศล ส่วนเรื่องเสื้อผ้าที่เธอจะสวมใส่บนเวทีในครั้งนี้นั้น “ไข่ บูติค” หรือสมชาย แก้วทอง ยืนยันที่จะตัดให้ใหม่ทั้งหมดทุกชุด โดยเฉพาะศิลปินรับเชิญครั้งนี้ ถือว่าได้รับเกียรติอย่างมากจากชรินทร์ นันทนาครที่ยอมมาเป็นศิลปินรับเชิญให้ นอกจากนี้ยังมี “กบ” ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี และนักร้องท่านอื่นอีกหลายท่าน

ถ้าคุณพร้อม … เราไปชมคอนเสิร์ตร่วมกันอีกสักครั้ง แล้วจะรู้ว่า เสียงสดกับสไตล์เฉพาะตัวของนักร้องคนนี้จะทำให้คุณรักและประทับใจไม่รู้ลืม

...........................




กับชุดสวยของ “ไข่ บูติค “ วันแถลงข่าว
บรรยากาศใน “ศรีไศล สุชาตวุฒิ รักข้ามขอบฟ้า Live in Concert”





แผ่นเสียงจากการสะสมของแฟนคลับ
คุณแม่ตุ้มกับลูกๆ ในวัยเด็ก
วันนี้กับหลานๆ
ชรินทร์ นันทนาคร พี่ชายผู้มีพระคุณ
สปัน เธียรประสิทธิ์  อดีตภรรยาชรินทร์ แนะไปออกรายการ “ชรินทร์โชว์”
“ป้าโจ๊ว” เพ็ญศรี ว่า ตั้งฉายาให้ศรีไศลเธอเป็น “เชอร์ลีย์ บาสซีย์เมืองไทย”
บ้างก็ว่า เสียงเธอละม้ายบาร์บรา สตรัยแซนด์
การ์ดจากชรินทร์  -  31 – 03 – 2011
การ์ดจากสวลี ผกาพันธุ์ -  31 – 03 – 2011
กำลังโหลดความคิดเห็น