xs
xsm
sm
md
lg

30 ปีคาราบาว เพลงเสื่อมหรือคนเสื่อม ???/ บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ขี้เมา งานเพลงชุดแรกของคาราบาว
“ขี้เมา”

งานเพลงชุดแรกของคาราบาวที่ออกมาในปี พ.ศ. 2524 แม้จะไม่ประสบความสำเร็จทางชื่อเสียงและยอดขาย แต่ขี้เมาที่ออกเป็นเทปกับค่ายนกยูงผี“พีค็อก”ได้ทิ้งตำนานเพลงขึ้นหิ้ง อย่าง “ลุงขี้เมา” และ “มนต์เพลงคาราบาว” เพลง(เปิด)ลายเซ็นประจำวงเอาไว้จนถึงทุกวันนี้

นี่ไยมิใช่ความจริงที่ว่า“ก้าวแรกมักสำคัญเสมอ”

มนต์เพลงคาราบาว

หลังชุดขี้เมาคาราบาวได้มีก้าวที่ 2 ตามมาคือ“แป๊ะขายขวด”(2525) ที่มีเพลงคลาสสิคอย่าง“กัญชา” ที่แสดงให้เห็นถึงพลังเสียงและความเป็นเลิศด้านการร้องเพลงของ “แอ็ด คาราบาว” หรือ “ยืนยง โอภากุล” นักร้องนำและหัวหน้าวงผู้มีส่วนสำคัญมากต่อความเป็นคาราบาว ไม่เพียงเท่านั้นกัญชายังเป็นงานเพลงที่ถูกทางการแบนอย่างเป็นทางการอีกด้วย

ปี 26 คาราบาวปล่อยอัลบั้ม“วณิพก”ออกมา ปรากฏว่าได้ผลอย่างแรง!!! เพลง“วณิพก”โด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับเป็นการเปิดโลกของเพลงเพื่อชีวิตให้เข้ามาเกาะกุมในใจคนฟัง(ทั่วไป)มากขึ้นกว่าอดีตที่มีคนฟังแค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

เมื่อน้ำขึ้นให้รีบตัก ปลายปี 26 คาราบาวจึงตอกย้ำความสำเร็จด้วยการปล่อยผลงานเพลงชุด“ท.ทหารอดทน”ออกมา ก่อนตามต่อด้วย“เมดอินไทยแลนด์” ในปี 27
เมดอินไทยแลนด์ งานเพลงชุดเยี่ยมของคาราบาว
เมดอินไทยแลนด์ เป็นงานเพลงชุดสำคัญ(มาก)ของคาราบาว มันกระโจนส่งให้วงหัวควายดังพุ่งพรวดแบบถล่มทลาย สร้างปรากฏการณ์คาราบาวฟีเวอร์ขึ้นมาในสังคมไทย ทุบสถิติวงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกที่สามารถขายเทป(ชุดนี้)ได้ทะลุล้านตลับ อีกทั้งยังสร้างด้านมืดของสาวกวงหัวควาย(กลุ่มหนึ่ง)ขึ้นมาด้วยการ“ตีกัน” เป็นประจำยามเมื่อวงนี้ขึ้นเล่นคอนเสิร์ต

หลังผ่านจุดสุดยอดจากชุดเมดอินไทยแลนด์ ความสดห้าวของวงดูจะลดลง แต่ก็ถูกแทนที่ด้วยความเก๋าและฝีไม้ลายมือที่กล้าแกร่งขึ้น

คาราบาวหลังจากนี้แม้ไม่ฟีเวอร์ถล่มทลาย แต่ชื่อชั้นยังคงอยู่ ไม่ได้ตกฮวบด้อยลงแต่อย่างใด

ผลงานหลังเมดอินไทยแลนด์ไล่ไปตั้งแต่ “อเมริโกย”(2528),”ประชาธิปไตย”(2529),”เวลคัม ทู ไทยแลนด์”(2530) และ“ทับหลัง”(2531)ยังคงขายได้ขายดี ดนตรีโจ๊ะๆแบบ 3 ช่าที่เป็นดังลายเซ็นของวงหัวควายยังคงมีให้ฟังกันไม่ได้ขาด ในขณะที่เนื้อหาของเพลงก็ยังคงสะลุ่มลึกในการตีแผ่ สะท้อน และเสียดสีสังคม สมกับตำแหน่งเจ้าพ่อวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยุคนั้นยากจะหาใครทาบได้

เครดิตส่วนใหญ่ในเรื่องนี้คงต้องยกให้กับน้าแอ๊ด คาราบาว ผู้กุมบังเหียนหลักของวง ที่มีมุมมองและมีวิสัยทัศน์ทางการแต่งเพลง เขียนเนื้อร้อง ทำนองเป็นเลิศ

น้าแอ๊ดยุคนั้นจัดว่าเทพเอามากๆ แกสามารถหยิบเรื่องราวของผู้ทุกข์ยาก คนเล็กๆในสังคม สถานการณ์บ้านเมือง วิถีชนบท ปรัชญา มาตีแผ่ได้อย่างโดนใจสังคม ภาษาที่แกใช้แม้เรียบง่าย แต่ลึกซึ้งกินใจ คมคาย และมีสัมผัสสวยงาม

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในปี 2533 คาราบาวได้เดินทางมาถึงจุด“แตกวง”เมื่อน้าเทียรี่ น้าเป้า น้าเขียว และอ.ธนิสร์ แยกทางออกไป ปิดตำนานคาราบาวยุคทอง ที่ได้สร้างคุณูประการและฝากผลงานเพลงเพื่อชีวิตดังๆดีๆเจ๋งๆไว้เคียงคู่วงการเพลงไทยมากมาย
สมาชิกคาราบาวในยุคคลาสสิค
ไม้แก่ผลัดใบ หัวควายร่วงโรย

หลังคาราบาว(ยุคทอง)วงแตก น้าแอ๊ดผู้นำวงเดินหน้าหาสมาชิกใหม่ ซึ่งก็ได้ทีมนักดนตรีฝีมือดีจากวงตาวันมาเล่นแบ๊คอัพในช่วงระยะเวลาสั้นๆ พร้อมกับมีผลงานอัลบั้ม“ห้ามจอดควาย”(2533)ออกมา ก่อนที่คาราบาวและตาวันจะแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง

คาราบาวหลังจากนี้ แม้ว่าน้าแอ๊ด น้าเล็ก น้าอ๊อด และน้าเทียรี่ผู้กลับมา จะได้ทีมงานชุดใหม่ฝีมือแน่นปึ๊กมาร่วมทีม และร่วมกันผลิตผลงานเพลงออกมามากมายและต่อเนื่อง อาทิ วิชาแพะ,ช้างไห้,รุ่นคนสร้างชาติ,แจกกล้วย,เส้นทางสายปลาแดก,พออยู่พอกิน,เซียมหล่อตือ และอีกมากมาย (ใครอยากรู้ว่าคาราบาวช่วงนี้มีอัลบั้มอะไรบ้าง สามารถไปค้นดูได้ในวิกิพีเดีย)

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป รสนิยมคนฟังเพลงเปลี่ยนไป อะไรๆมันก็ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว คาราบาวเสื่อมถอยทั้งชื่อชั้นและฝีมือการทำเพลงที่ตกลงไปมาก(โดยเฉพาะตัวน้าแอ๊ดผู้นำวงที่เป็นดังหัวใจของคาราบาว)

บทเพลงคาราบาวหลังยุคทอง ความคิดเนื้อหา ภาษาไม่คมคายกินใจ ท่วงทำนองก็ไม่โดน หลายเพลงเป็น 3 ช่าแบบตีกิน แถมบางเพลงยังไปเอาทำนองเพลงฝรั่งมาอีก(แบบไม่ให้เครดิต) ส่วนบางเพลงก็ฟังคล้ายๆกับไปลอกท่วงทำนองบทเพลงเก่าๆของตัวเองมา และนำมาปรับเปลี่ยนใส่เนื้อร้องเสียใหม่ ในขณะที่เสียงร้องของน้าแอ๊ดเองก็ตกถอยถดลดพลังลงไปมาก

อย่างไรก็ตามงานเพลงของคาราบาวและงานเดี่ยวของแอ๊ด คาราบาวในยุคนี้ ก็ยังมีเพลงดีๆให้ฟังกันอยู่ เพียงแต่ว่ามันไม่ฮิต ไม่โดนใจสังคมเหมือนแต่ก่อน ซึ่งหากเปรียบเป็นสัดส่วนตัวเลขกลมๆ คาราบาวในยุคทองเมื่อทำเพลงออกมา ประมาณ 80% ถือเป็นเพลงดีมีคุณภาพ เนื้อหาชวนฟัง ดนตรีโดนใจ ส่วนที่เหลือ 20% ถือเป็นเพลงพื้นๆ แต่คาราบาวในยุคหลังสัดส่วนของเพลงจะกลับกันเป็นเพลงดีมีคุณภาพประมาณ 20% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 80% จัดเป็นเพลงแบบพื้นๆ ฟังก็ได้ไม่ฟังก็ได้

อย่างไรก็ดีในปี 2548 คาราบาวก็ได้“สาวปาน-ธนพร แวกประยูร” มาเป็นยาดีฟื้นชีวิตชื่อเสียงของคาราบาว(และสาวปาน)ให้กลับมาโด่งดังเปรี้ยงปร้างอีกครั้งในอัลบั้ม“หนุ่มบาว-สาวปาน”

หนุ่มบาว-สาวปาน นอกจากจะสร้างสีสันใหม่ให้คาราบาวด้วยเสียงร้องเพราะๆใสๆอันทรงเสน่ห์ของสาวปานแล้ว งานเพลงในชุดนี้ยังสามารถตอบโจทย์และฟื้นบรรยากาศคาราบาวในยุคทองหรือยุคคลาสสิคได้เป็นอย่างดี

นับเป็นการผสมสูตรเคมีทางดนตรีที่ลงตัวเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายที่สูตรนี้ทำได้แค่เพียงช่วงสั้นๆและเพียงชุดแรกชุดเดียวเท่านั้น เพราะในชุดต่อมา“บาว-ปาน(รีเทิร์น)” ไม่รู้ว่าผสมสูตรกันอีท่าไหน งานเพลงที่ออกมาจึงแป๊ก!!! ไม่เป็นท่า พร้อมๆกับตามมาด้วยการล่มสลายของสูตรหนุ่มบาว-สาวปาน ที่มีข่าวว่าทั้งคู่ต่างหันมาสวม”คอนเวิร์ส” หย่า-ขาด จากการร่วมงานดนตรีต่อกัน แบบไม่มีอนาคตว่าจะกลับมาร่วมงานด้วยกันอีกได้

หลังจากนั้นชื่อเสียงของคาราบาวก็เดินเข้าสู่จุดเสื่อมถอยอีกครั้ง...
น้าแอ๊ด ทุ่มกีตาร์ในงานสีสัน อะวอร์ด
เสี่ยแอ๊ด ‘ บาวแดง

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งของคาราบาวที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างหนักก็คือ การที่คาราบาวหันมาเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อ“คาราบาวแดง”ในปี 2545

ไม่เพียงเท่านั้นพฤติกรรมหลายเรื่องที่ปรากฏต่อสาธารณชนของน้าแอ๊ด คาราบาว ผู้เป็นแกนหลักของวงหัวควายก็ทำให้ใครหลายๆคนเกิดความสงสัยไม่ได้???

น้าแอ๊ดยุคหลังหันมาขายคาราบาวแดงแม้จะยังคงแต่งตัวเหมือนเดิม แต่เขาถือเป็นผู้นำด้านการขับขี่ฮาร์เลย์ เดวิดสัน นิยมชมชอบดื่มไวน์ขวดละเป็นหมื่น ตีไก่วางเดิมพันทีละเป็นแสน

น้าแอ๊ดจากเดิมที่เคยด่านักการเมือง ด่านายหัวชวน ด่าบรรหาร ด่าเฉลิม แต่ในระยะหลัง เรากลับได้ยินเสียงร้องของน้าแอ๊ดปรากฏอยู่ในเพลงหาเสียงของพรรคการเมืองหลายพรรค ได้เห็นน้าแอ๊ดไปปรากฏเป็นวอลเปเปอร์ของพรรคการเมืองบางพรรคที่ตัวเองเคยด่า หรือล่าสุดที่กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ย่อยๆก็คือ การนำคาราบาวไปซบในอ้อมอกของนายเนวิน ชิดชอบ ทั้งๆที่วงหัวควายเคยทำเพลง“รมต.เต้าหู้ยี้”ประณามคนปากห้อยมาแล้ว งานนี้แม้วินิจ เลิศรัตนชัย จะออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แต่หลายๆคนก็ยังไม่เชื่ออยู่ดี

นอกจากนี้ในการแสดงบนเวทีหลายครั้ง น้าแอ๊ดก็ดูจะไม่ยี่หระต่อคนดูสักเท่าไหร่ ดังกรณีการเมาแอ๋ขึ้นเวทีแล้วทำให้คอนเสิร์ตรำลึกสืบ นาคะเสถียร“ล่ม”เมื่อหลายปีที่แล้ว ซึ่งผมได้ประสบพบเจอมากับตัวเอง หรืออย่างกรณีล่าสุดกับอาการของขึ้น ทุ่มกีตาร์ทิ้งมันเสียดื้อๆบนเวทีสีสัน อะวอร์ด ที่แม้น้าแอ๊ดและทีมงานจะออกมาแถลงข่าวแจงเหตุผลและขอโทษแฟนเพลงในภายหลัง แต่คนส่วนใหญ่เมื่อฟังแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “กูไม่เชื่อ!?!”

อย่างไรก็ตามหากมองกันอย่างเป็นธรรม น้าแอ๊ดแกก็เป็นคน ย่อมมีรัก โลภ โกรธ หลง เป็นธรรมดา หรือแม้กระทั่งเรื่องความผันแปรทางอุดมการณ์ อันที่จริงมันเกิดจากแฟนเพลงไปคาดหวัง(สูง)กับแกเองต่างหาก เพราะน้าแอ๊ดแกก็ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงสมาชิกวง เลี้ยงลูกน้อง เหมือนกับเราๆท่านๆ

แต่ในมุมกลับ เรื่องนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับแฟนเพลงและคนเคยชอบคาราบาวด้วยเช่นกัน ว่าเขาก็เป็นคนเหมือนกัน ย่อมมีรัก โลภ โกรธ หลง เป็นธรรมดา ดังนั้นการที่คนที่เขาเคยนิยมชมชอบ คนที่เขาเคยศรัทธามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป มันก็เป็นการชอบธรรมที่เขาจะเสื่อมศรัทธา หรือเลิกนิยมชมชอบไปตามวิถีของปุถุชนคนธรรมดา

เพลงยังขลัง แต่คนเล่า?

ตลอด 30 ปีที่ท่องอยู่ในยุทธจักรวงการเพลงของคาราบาว เชื่อว่าสาวกคาราบาว อดีตแฟนเพลงคาราบาว คนเคยรักคาราบาว คนที่ฟังเพลงคาราบาว และคนชังคาราบาว คงมีคำตอบในใจกันอยู่แล้วว่า คาราบาวเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตแบบไหน?

เพื่อชีวิตผู้ทุกข์ยาก เพื่อชีวิตผู้เอาเปรียบถูกกดขี่ เพื่อชีวิตคนอื่น

หรือเพื่อชีวิตตนเอง???

แต่ไม่ว่าจะเป็นวงเพื่อชีวิตแบบไหน คาราบาววันนี้ได้สร้างสภาวะ“เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” ให้เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งผมด้วย

เพราะบทเพลงของคาราบาวในยุคหลังๆแม้จะย่ำอยู่กับที่ ตีบตัน ไร้พลัง และตัวบุคคลเองก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ความเป็นคาราบาวเสื่อมมนต์ขลังลงไปมาก แต่กับบทเพลงในยุคทองของคาราบาว อาทิ วณิพก คนเก็บฟืน เมดอินไทยแลนด์ หำเทียม นางงามตู้กระจก เรฟูจี บัวลอย ซาอุดร คนจนผู้ยิ่งใหญ่ พระเจ้าตาก บาปบริสุทธิ์ รักทรหด แม่สาย และเพลงอื่นๆอีกมากมาย

ณ วันนี้ยังมีความขลัง เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงอยู่ไม่สร่างซา
*****************************************

บทความแนะนำเพลงน่าสนใจย้อนยุค จะนำเสนอสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม
*****************************************

แกะกล่อง

ศิลปิน : รวมศิลปิน
อัลบั้ม : 100 เพลงรัก จาก เบเกอรี่ มิวสิค

โซนี่มิวสิค ได้รวบรวมเพลงรักในแบบฉบับของค่ายเบเกอรี่ตั้งแต่ยุคแรกถึงยุคสุดท้ายมานำเสนอใหม่ ในรูปแบบ MP3 ซีดี 2 แผ่นคู่ ในชื่อชุด “100 เพลงรัก จาก เบเกอรี่ มิวสิค”(100 Bakery Love Moment) ที่เต็มแน่นไปด้วยเพลงรักชวนฟังมากมายในหลากหลายอารมณ์ ทั้ง สุขสม รันทด หวานซึ้ง ซึมเศร้า สมหวัง โดยมีเพลงน่าสนใจ อาทิ เหมือนเคย(บอย&เศรษฐา),รักคุณเข้าแล้ว(บอย&ป๊อด),วันที่สวยงาม(รัดเกล้า),ใจกลางความเจ็บปวด(เครสเซนโด),เพลงของหัวใจ(โต๋),วันที่สวยงาม(นภ) และ ฯลฯ สำหรับผู้ชื่นชอบเพลงรักนี่นับเป็นอีกหนึ่งผลงานเพลงชวนฟัง แม้ว่านี่จะเป็นการรวมเพลงรักครั้งแล้วครั้งเล่าของเบเกอรี่ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น