xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องไม่ลับ จาก "มงกุฎดอกส้ม" ถึง "ดอกส้มสีทอง"/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ


เตรียมจะออกอากาศให้ได้รับชมกันในปลายเดือนนี้แล้วสำหรับละครเรื่อง "ดอกส้มสีทอง" ซึ่งเป็นละครถาคต่อของ "มงกุฎดอกส้ม" ที่ออกฉายไปเมื่อปีที่แล้วทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

นอกจากดาราชุดเดิมที่อยู่กันค่อนข้างจะพร้อมหน้าพร้อมตาแล้ว ภาค 2 นี้ยังมีนักแสดงชื่อดังเข้ามาเสริมทัพอีกหลายต่อหลายคน ทั้ง ชมพู่ อารยา, ไอซ์ อภิษฎา, หลุยส์ สก๊อต, อั๋น วิทยา ฯ

ว่ากันถึงนวนิยายหลายต่อหลายเรื่องที่ถูกนำมาทำเป็นละครแล้ว ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจทีเดียวที่บทประพันธ์เรื่อง "มงกุฎดอกส้ม" ซึ่งถูกแต่งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้วเรื่องนี้เพิ่งจะถูกนำมาทำเป็นละครเพียง 2 ครั้งเท่านั้น

ครั้งแรกคือช่อง 7 ในปี 2539 และช่อง 3 ในปี 2553

ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนวนิยายเกี่ยวกับผู้ชายบ้าอำนาจ ที่มีบรรดาเมียๆ ซึ่งอิจฉาริษยาพากันแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเพื่อที่จะขึ้นเป็นใหญ่ในบ้านเช่นนี้ มันเป็นสูตรสำเร็จในการเรียกเรตติ้งของวงการละครไทยชัดๆ

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ช่อง 7 สร้างและนำเอาละครเรื่องนี้มาออกอากาศตอนนั้นแม้จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทว่าประเด็นในการพูดถึงต้องไม่ถือว่าเยอะมากไปกว่าละครสนุก-สะใจ-นักแสดงคนไหนแสดงดีไม่ดี

แตกต่างไปจากการออกอากาศของช่อง 3 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะมีประเด็นเรื่องของการนำของใหม่ไปเปรียบเทียบกับของเก่าแล้ว ยังมีบางส่วนที่สังเกตว่าทำไมเรื่องราวของละครเรื่องนี้มันช่างไปเหมือนกับเนื้อหาของภาพยนตร์จีนเรื่องหนึ่งของ "จางอี้ โหม่ว" ผู้กำกับชื่อดังของเอเชียเสียเหลือเกิน?
...
หลายคนอาจจะพอรู้กันว่าละคร "มงกุฎดอกส้ม" นี้ดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่องเดียวกันที่ประพันธ์โดยคุณ "ถ่ายเถา สุจริตกุล" มารดาของคุณ "สมเถา สุจริตกุล" หนึ่งในนักเขียน วาทยากร นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชื่อดังคนหนึ่งของบ้านเรา

แต่บางคนคงอาจจะยังไม่รู้ว่าที่มาหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณถ่ายเถาประพันธ์ละครเรื่องนี้ขึ้นมาก็คือนวนิยายจีนที่ชื่อว่า Wives and Concubines ซึ่งเป็นผลงานของนักเขียนจีนชื่อ "ซูถง" (Su Tong) หรือชื่อจริงๆ ว่า "Tong Zhonggui" ตีพิมพ์ออกมาในปีพ.ศ.2533 (1990) และนับได้ว่าเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขาเป็นอย่างมาก

ความชอบที่มีต่อนวนิยายเรื่องนี้ที่สะท้อนเรื่องราวชะตากรรมของผู้หญิงจีนในยุคสมัยหนึ่งทำให้คุณถ่ายเถาต้องขอบทประพันธ์จากซูถง ก่อนจะนำมาดัดแปลงเป็นนวนิยายเรื่อง มงกุฎดอกส้ม (ในคำนำนั้นคุณถ่ายเถาได้บอกถึงรายละเอียอดของเรื่องนี้ไว้ด้วย) และตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี 2538 โดยสำนักพิมพ์วัลยา

ปีพ.ศ. 2539 ช่อง 7 โดย บ.ดาราวิดีโอ จำกัด ได้นำนวนิยายเรื่องนี้มาทำเป็นละคร เขียนบทโทรทัศน์โดย ศัลยา มี สยาม สังวริบุตร กำกับการแสดง ออกอากาศตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2539

โดยนักแสดงหลักๆ นั้นประกอบไปด้วย เจ้าสัวเชงสือเกียง-รุจน์ รณภพ, เม่งฮวย(คุณนายที่ 1)-อัญชลี ไชยศิริ, เยนหลิง(คุณนายที่ 2)-ดวงดาว จารุจินดา, เหม่เกว่(โรส)(คุณนายที่ 3)-สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์, คำแก้ว (คุณนายที่ 4)-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์, ก้องเกียรติ-อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร, ทรงชัย-ไกรวิทย์ พุ่มสุโข, เรืองยศ-มาฬิศร์ เชยโสภณ, กิมลั้ง-ปรางวลัย เทพสาธร และ อาอึ้ม-บรรเจิดศรี ยมาภัย

และเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา ค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น โดย หน่อง อรุโณชา ได้นำมงกุฎดอกส้ม มาทำเป็นละครให้กับทางช่อง 3 มี โชติรัตน์ รักษ์เริ่มวงษ์ กำกับการแสดง บทโทรทัศน์โดย ศัลยา

ขณะที่นักแสดงนั้นประกอบไปด้วย เจ้าสัวเชงสือเกียง-ฉัตรชัย เปล่งพานิช, เม่งฮวย(คุณนายที่ 1)-จริยา แอนโฟเน่, เยนหลิง(คุณนายที่ 2)-รินลณี ศรีเพ็ญ, เหม่เกว่(โรส)(คุณนายที่ 3)-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์, คำแก้ว(คุณนายที่ 4)-วนิดา เติมธนาภรณ์, ก้องเกียรติ-วิทยา วสุไกรไพศาล, ทรงชัย-อภินันท์ ประเสริฐวัฒนกุล, เรืองยศ-สุพจน์ จันทร์เจริญ, กิมลั้ง-มิณฑิตา วัฒนกุล และ อาอึ้ม-พิศมัย วิไลศักดิ์

เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากคุณศัลยา (สุขะนิวัตติ์) ในฐานะของนักเขียนบทโทรทัศน์แล้ว ดารานักแสดงหญิงมากฝีมืออย่างคุณน้ำผึ้งก็เป็นอีกคนที่มีส่วนร่วมกับละครมงกุฎดอกส้มทั้งสองเวอร์ชั่น

ต้องบอกว่า มงกุฎดอกส้ม ทั้งของช่อง 7 และช่อง 3 นั้นต่างก็มีดีกันไปคนละแบบครับ ช่อง 7 นั้นระดับชื่อชั้นของนักแสดงดูจะเหนือกว่านิดๆ ทว่าในส่วนของโปรดักชั่นนั้นช่อง 3 ก็ย่อมที่จะไม่เป็นรองอย่างแน่นอน

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมละครเรื่องนี้ถึงได้ไปมีความคล้ายคลึงกับหนังเรื่อง "Raise the red lantern" หรือ "ผู้หญิงคนที่ 4 ชิงโคมแดง" ผลงานการกำกับของ จาง อี้ โหมว ที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 (1991) โดยมีนักแสดงชื่อดัง "กงลี่" เป็นนางเอกนั้นก็เป็นเพราะว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ จาง อี้ โหมว ดัดแปลงมาจากนวนิยายจีนต้นแบบของมงกุฎดอกส้ม อย่าง Wives and Concubines ของซูถงนั่นเอง

แต่ถ้าบางคนรู้สึกว่า ถึงจะมีที่มาเหมือนกัน ทว่าละครนั้นดัดแปลงมาจากนวนิยายที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายต้นฉบับอีกที ขณะที่หนังนั้นดัดแปลงมาจากนวนิยายต้นฉบับโดยตรง แถมยังทำออกมาก่อนเกือบจะยี่สิบปี การคล้ายกันเป็นอย่างมากชนิดที่ว่าเนื้อเรื่องเดียวกันเป๊ะๆ บทพูดก็แทบจะเหมือนกันนั้นมันจะให้บังเอิญเกินไปหรือเปล่านั้น?

ประเด็นนี้ผมเองจนหนทางที่จะตอบจริงๆ ครับ
...
ปล. "ดอกส้มสีทอง" เป็นงานนวนิยายภาคต่อของ "มงกุฎดอกส้ม" เขียนโดย "ถ่ายเถา สุจริตกุล" ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ก.ค.2542

มงกุฎดอกส้ม ช่อง 7
มงกุฎดอกส้ม ช่อง 3
ผู้หญิงคนที่ 4 ชิงโคมแดง ผลงานของ จาง อี้ โหมว
จาง อี้ โหมว
คุณถ่ายเถา กับผลงานทั้งสอง
กำลังโหลดความคิดเห็น