"เฮ้ย...รางวัลผู้กำกับเลยหรือวะ..." เป็นประโยคถัดจากการแสดงความยินดีที่ผมบอกกับ "ไอ้ต้อย" ผ่านทางโทรศัพท์
ไม่ต้องรอให้ถาม...
ไอ้ต้อย เป็นหนึ่งในบรรดาเพื่อนๆ ที่เรียนคณะวารสารศาสตร์มาด้วยกันครับ ชื่อจริง "อุรุพงศ์ รักษาสัตย์" ซึ่งคนในแวดวงภาพยนตร์น่าจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มันและหนังที่มัน "บรรจงสร้าง" อย่าง "สวรรค์บ้านนา" (Agrarian Utopia) กวาดรางวัลใหญ่มาแล้วมากมาย
รวมถึงล่าสุดที่เพิ่งจะมีการประกาศกันไปอย่างรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 ที่ทำให้ผมเองรู้สึกแปลกใจไม่น้อย
ไม่ใช่ว่าจะดูแคลนฝีมือเพื่อนนะครับ ในทางกลับกันผมมั่นใจด้วยซ้ำว่าในบรรดาผู้กำกับในระดับรุ่นราวคราวเดียวกัน ในแนวทางของหนังประเภทเดียวกัน เพื่อนต้อยคนนี้ "มีดี" ไม่น้อยกว่าใครแน่ ยืนยันได้จากผลงานก่อนหน้านี้ทั้งหนังสั้น หนังประเภทแนวสารคดีที่รับรางวัลมาแล้วมากมาย
เพียงแต่เวทีสุพรรณหงส์นี้เมื่อเทียบกับคนที่เข้าประกวดอื่นๆ ในสายเดียวกันแล้ว ถ้าจะลุ้นก็ต้องบวกการทำใจเข้าไปด้วย เพราะคู่แข่งนั้นค่อนข้างจะมีชื่อเสียงทีเดียว ทั้งคุณสรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร จากเรื่อง "Yes or No อยากรักก็รักเลย" หรือจะเป็นพี่เรียว กิตติกร เลียวศิริกุล เรื่อง "เราสองสามคน" คุณบรรจง ปิสัญธนะกูล ที่ทำหนังยอดฮิต กวาดรายได้เป็นว่าเล่นอย่าง "กวน มึน โฮ"
แถมยังมีหม่อมน้อย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเวทีเดียวกันจากหนังเรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ซึ่งโดยส่วนใหญ่หากหนังเรื่องไหนได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ตัวผู้กำกับเองก็มักจะได้รางวัลด้วย
พอเพื่อนได้รางวัลมาก็อดที่จะดีใจและปลาบปลื้มแทนไม่ได้
ในสมัยเรียนไอ้ต้อยถือได้ว่ามีเอกลักษ์เฉพาะตัวในเรื่องของความ เนิบนาบ สุภาพ ราบเรียบ ทำอะไรค่อนข้างจะเชื่องช้า ปราณีต ประดิษฐ์ประดอย ขณะเดียวกันก็มี "ลูกบ้า" อยู่ในตัว ชนิดที่มักจะทำอะไรให้เพื่อนๆ ต้องรู้สึกประหลาดใจอยู่บ่อยครั้ง
ตั้งแต่รู้จักกัน หากไม่ใช่งานที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังแล้ว โดยส่วนตัวผมมองไม่ออกเลยว่าเพื่อนคนนี้จะไปทำอาชีพอะไรอื่นได้ นอกจากจะบวชเป็นพระ
แม้ภายนอกจะเป็นคนที่สุภาพ เรียบร้อย ชอบทำกิจกรรม ทว่าไอ้ต้อยก็เป็นคนที่ค่อนข้างจะคิดเยอะในประเด็นที่เกี่ยวกับสัจจะ-ความเป็นจริงธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคสังคมชนบท เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ที่คุ้นเคยซึ่งแสดงผ่านออกมาให้เห็นตั้งแต่งานอย่าง กาล, ก่อน, เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ ฯ รวมถึงสวรรค์บ้านนา หนังที่ได้รับทุนจากกองทุน Hubert Bals ด้าน Digital Production เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดัม (International Film Festival Rotterdam) และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
สำหรับประเด็นหลักๆ ที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะบอกก็คือคำถามที่ว่าอุดมคติการทำนาแบบเดิมๆ มันยังมีอยู่จริงไหม? เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน? และส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของชาวนาแค่ไหน? ปัจจุบันชาวนามีความเป็นอยู่อย่างไรท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนไป? โดยนำเสนอผ่านชีวิตของชาวนาสองครอบครัว
สถานที่ถ่ายทำหลักๆ ก็คือที่ อ.เทิง จ.เชียงราย บ้านเกิดของไอ้ต้อยมันเองครับ ใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำปีกว่าๆ ซึ่งมันรับหน้าที่เองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตากล้อง กำกับ ตัดต่อ ฯ มีเพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยทำทุกอย่างเช่นกัน
หลังตัดต่อเสร็จ ไอ้ต้อยฉายสวรรค์บ้านเป็นกึ่งๆ หนังกลางแปลงให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ดูกันเป็นครั้งแรกก่อนอวดสู่สายตาชาวโลกทั้งการฉายโชว์และเข้าประกวดในเทศกาลหนังหลายต่อหลายประเทศโดยกวาดรางวัลมามากมาย
ไม่ว่าจะเป็น รางวัลที่ 1 Audience Award เทศกาลหนังเอเชียนฮ็อตชอร์ต, รางวัล Special Mention ของ Netpac ที่ร็อตเตอดัม, รางวัล Special Mention เทศกาลหนังเอเชียที่บาร์เซโลน่า, รางวัลสเปเชียลจูรี่ไพรซ์ เทศกาลหนังสารคดีมิลเลนเนียม เบลเยี่ยม, รางวัล Netpac เทศกาลหนังบริสเบน, รางวัล “ยูเนสโก อวอร์ด” ในการประกวดรางวัลภาพยนตร์แห่งเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี2552 ฯ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ฯ และล่าสุดกับรางวัลถ่ายภาพและผู้กำกับยอดเยี่ยมเวทีสุพรรณหงส์
เพื่อนผู้กำกับคนนี้เขียนถึงหนังของมันไว้น่าสนใจทีเดียวครับมันบอกว่า...นอกเหนือจากการทำหนังแล้ว สิ่งที่ผมสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การเกษตรกรรม ผมคิดว่ามันเป็นอาชีพที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์เรา
ถ้าเปรียบกับอาชีพอื่นแล้ว การทำเกษตรกรรมคือการผลิตอาหารจากดินเพื่อนำมาใช้กินโดยตรง ขณะที่อาชีพอื่นๆ ล้วนแต่ต้องทำเพื่อให้ได้เงินมาซื้ออาหาร
ผมสงสัย ว่าอาชีพตั้งมากมายบนโลกนี้ (รวมถึงการทำหนัง) มันจำเป็นจริงๆ หรือเปล่า มันจำเป็นต่อโลกใบนี้มากแค่ไหน เพราะผมรู้สึกว่ายิ่งเราทำอะไรซับซ้อนมากเท่าไร มันก็ดูเหมือนจะว่างเปล่ามากเท่านั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
การทำ เกษตรกรรมในยุคนี้ก็มีปัญหาในหลายระดับ ตั้งแต่การถือครองที่ดิน และนโยบายระดับประเทศที่เน้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเพื่อที่จะแข่ง ขันกับนานาประเทศ ทั้งหมดทั้งมวลมันเพื่ออะไรกัน ผมยังสงสัยอยู่ว่า โลกาภิวัตน์ ในเวลานี้มันมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลของเรา มันผลักเราไปไกลเหลือเกิน และก็ไม่รู้ว่ามันจะพาเราไปไหน
การทำ เกษตรกรรมในประเทศไทยตอนนี้ อาจจะรวมถึงทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ มันไม่ได้ทำเพื่อบริโภคโดยตรงอีกแล้ว แต่มันทำเพื่อขาย แลกเปลี่ยนมาเป็นตัวเงิน เพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาต่างๆ ที่เราผูกหรือก่อขึ้น เพราะฉะนั้นเกษตรกรจึงเน้นปริมาณการผลิตด้วยสารเคมี ด้วยเครื่องจักร และแน่นอนที่สุดสิ่งที่เขาให้ความสำคัญลดน้อยลงไปก็คือการปลอดภัยของอาหาร เมื่อมันเป็นอย่างนี้ประเทศไทยจึงหมดความชอบธรรมที่จะกล่าวว่า เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก
ใครที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ความยาว 122 นาทีเรื่องนี้ซึ่งเข้าฉายไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา บางคนอาจจะร้องอ๋อว่าเขาทำนากันอย่างนี้เอง บางคนอาจจะรู้สึกสงสารชาวนา บางคนอาจจะรู้สึกว่าทำไมชีวิตเราต้องเร่งรีบแสวงหาอะไรมากมาย บางคนอาจจะรู้สึกอยากไปใช้ชีวิตแบบพอเพียงที่ชนบทอยู่กับกลิ่นโคลนสาบควาย บางคนอาจจะอยากหนีงานไปนอนสูดอากาศบริสุทธิ์ที่ชายทุ่งสัก 2-3 วัน บางคนอาจจะรู้สึกถึงคุณค่าของข้าว บางคนอาจจะง่วงหลับผลอยเพราะความเนิบนาบของหนัง ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าทุกคนจะต้องมีความรู้สึกเหมือนๆ กันจากการได้ชมนั่นคือ...ภาพสวยมาก
สวยชนิดที่ว่าสัมผัสได้ถึงความเป็นสรวงสวรรค์ของบ้านนอกอย่างไรอย่างนั้น
ไม่ได้จะมาสรรเสริญเยินยอปอปั้นคนกันเอง แต่สวยจริงๆ ครับ โดยเฉพาะฉากที่เด็กๆ วิ่งเล่นกันในนาเหมือนดูแล้วเหมือนกับจมูกจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมของโคลนดินที่ลอยโชยมาเลย
พูดแล้วจะหาว่าเป็นสมรักษ์ คำสิงห์...ไม่ได้โม้นะครับ ผมกับเพื่อนอีก 4-5 คนก็มีโอกาสได้ไปเป็นนักแสดงประกอบของหนังเรื่องนี้ด้วยระหว่างที่พวกเราแวะเวียนไปเที่ยวหาช่วงที่มันกำลังถ่ายทำหนังอยู่ที่เชียงราย
ทว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายครับที่ท่านรวมถึงชาวโลกจะไม่มีโอกาสได้เห็นลีลาการแสดงของตัวประกอบยอดเยี่ยมคนนี้ เหตุเพราะฉากดังกล่าวถูกตัดทิ้งไป
ถามไอ้ต้อยว่าตัดออกทำไมวะเพื่อน มันตอบชนิดแทบไม่ต้องคิด
"กูทำหนังสารคดี ไม่ได้ทำหนังตลก..."
อย่างไรถ้ามีโอกาสก็ลองหาภาพยนตร์เรื่องนี้มาชมกันนะครับ