xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ติน เทย์เลอร์” ยอดมือกีตาร์แจ๊ซ นำทัพคูณ 3 ซุปเปอร์กีตาร์ โชว์ลีลาให้หัวใจพองโต/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
มาร์ติน เทย์เลอร์
“ปีศาจสุรา” หัวใจพองโตยามได้ร่ำสุรารสเลิศกับสหายที่รู้ใจ ฉันใดก็ฉันเพล ที่ผู้หลงใหลในเสียงกีตาร์มักหัวใจพองโต ยามได้สัมผัสกับลีลาอันสุดยอดเยี่ยมของบรรดามือกีตาร์เทพทั้งหลาย

สำหรับงาน “The BANGKOK GUITAR FIESTA” ที่ทาง เอ เอ็ม ไอ อีเวนส์ เพิ่งจัดผ่านพ้นไปในช่วงระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ. 54 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรม นับเป็นอีกงานหนึ่งที่มีการนำซุปเปอร์มือกีตาร์ใน 3(+1) สไตล์ ผู้มากไปด้วยฝีมือ มาโชว์ลีลาการพรมนิ้วบนเส้นลวด 6 สายอย่างเหนือชั้นให้แฟนานุแฟนผู้หลงใหลในเสียงกีตาร์ และหลงรักในเสียงดนตรีได้หัวใจพองโตไปตามๆกัน

25 ก.พ. : “มาร์ติน เทย์เลอร์” คนเดียวเอาอยู่

“มาร์ติน เทย์เลอร์ เป็นหนึ่งในนักกีตาร์โซโลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการกีตาร์ เป็นแรงบันดาลใจและน่าตื่นใจอย่างที่สุด”

แพท แมทธินี สุดยอดมือกีตาร์แจ๊ซระดับต้นๆของโลก ผู้ยิ่งยงแห่งยุค 80’s ถึงปัจุบัน ได้กล่าวอวยถึงมาร์ติน เทย์เลอร์ ยอดมือกีตาร์ชาวอังกฤษเอาไว้อย่างนั้น แสดงให้เห็นถึงของดีที่มีอยู่ในตัวมาร์ตินอย่างมากโข ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น เพราะเมื่อผมไปไล่เรียงดูข้อมูลของมาร์ตินในสูจิบัตรแล้ว ต้องบอกว่า“หมอนี่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ”

มาร์ติน ฝึกฝนเล่นกีตาร์ด้วยตัวเองมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ พอโตขึ้นได้ 11 ขวบ ซึ่งหากเป็นเด็กบ้านเราส่วนใหญ่ก็มักจะนั่งเล่นเกมอยู่หน้าคอมพ์ แต่สำหรับเด็กชายมาร์ตินเขาได้กลายเป็นมือกีตาร์นำให้กับวงดนตรีท้องถิ่น พร้อมกับได้รับการยกย่องให้เป็น“พ่อมดแห่งกีตาร์” ด้วยฝีมืออันเก่งเกินวัย

แม้มาร์ตินจะได้แรงบันดาลใจในการอยากเป็นมือกีตาร์มาจาก “จังโก ไรน์ฮาร์ดต์”(Django Reinhardt) แต่การได้ซึมซับกับฝีมืออันเยี่ยมยุทธ์ของยอดนักเปียโนอย่าง “อาร์ต ทาทัม”(Art Tatum) และ“บิล อีแวนส์”(Bill Evans) มันก็ทำให้เขานำเทคนิคของเปียโนมาประยุกต์ใช้กับการเล่นกีตาร์ ก่อนที่เขาจะเข้ามาสร้างสีสันในยุทธจักรวงการเพลงด้วยลีลาการเล่นโซโลกีตาร์(เดี่ยวกีตาร์)อันโดดเด่นไม่เหมือนใครในสไตล์ลายเซ็นต์เฉพาะตัว ที่ภายหลังได้กลายเป็นแนวทางให้กับมือกีตาร์ชั้นนำรุ่นน้องๆอยู่หลายคนด้วยกัน

กว่า 40 ปีที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการดนตรี มาร์ตินร่วมงานกับนักดนตรีชั้นนำมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เชท แอทกินส์(Chet Atkins),บิลล์ ไวแมน(Bill Wyman),จอร์จ แฮริสัน(George Harrison), ดิออน วอร์วิค(Dionne Warwick),สเตฟาน กราพเพลลี(Stephane Grappelli) และคนอื่นๆอีกมากมาย รวมไปถึงการร่วมงานครั้งสำคัญกับ “Vassar Clements” ในอัลบั้ม “Together At Last” ที่ส่งผลให้มาร์ตินซิวรางวัลแกรมมี่มาประดับบารมีได้ในปี ค.ศ. 1987

นอกจากนี้มาร์ตินยังผลงานอัลบั้มยอดเยี่ยมและมีเครดิตทางดนตรีอื่นๆอีกเพียบ ชนิดที่ผมเห็นแค่เครดิตชื่อชั้นของเขาก็ทำให้หัวใจพองโตปานอาโออิแล้ว ครั้นพอหมอนี่เดินเดี่ยวแบกกีตาร์คู่ใจขึ้นเวที พร้อมกับยกมือไหว้ทักทายแฟนเพลง พร้อมกับกล่าวคำว่า “สวัสดีครับ”ในภาษาไทยหัวใจผมก็ยิ่งพองโตปานมิยาบิเข้าไปอีก

แล้วมาร์ตินก็บรรจงพรมนิ้วลงบนเส้นลวด 6 สายกับสไตล์การเล่นแบบฟิงเกอร์สไตล์(เล่นโดยใช้นิ้ว) ที่แสดงให้เห็นถึงทักษะ ฝีมือ การเรียบเรียง การใช้ลูกนิ้วเล่นประสานเสียงเบส ฮาร์โมนี คอร์ด และเมโลดี้รอง เมโลดี้หลักไปพร้อมๆกันได้อย่างกลมกล่อมนุ่มเนียน รวมถึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนิ้วมือซ้าย-ขวาอันยอดเยี่ยม ที่ส่งผลต่อยอดไปยังตัวกีตาร์ให้สัมพันธ์กับตัวของคนเล่นได้เป็นอย่างดี

มาร์ตินไม่ใช่ผู้ที่เน้นการเล่นแบบหวือหวาดุดัน โชว์การไล่ลูกนิ้วเร็วจี๋ปานรถด่วนขบวนนรก หากแต่เน้นในความเนี๊ยบ ละเอียด และซุ่มเสียงที่ออกมาเนียน เคลียร์ และใสกิ๊ก พร้อมการเลื่อนไหลนิ่วมือซ้ายไปบนเฟร็ตแบบหวานหมูดูง่ายๆสบายๆ แต่จริงๆแล้วทำไม่ง่ายเลยสักนิด

นอกจากนี้ยังมีการนำเทคนิคการเปลี่ยนเสียงกีตาร์แบบง่ายๆ ด้วยการนำแผ่นกระดาษหรือแผ่นไม้บางๆชั้นเล็กๆมาสอดรองที่หย่องกีตาร์ พอเล่นออกมามันจะช่วยทำให้เสียงกีตาร์แจ๊ซที่ใสแหลมคมนั้น กลายเป็นนุ่มทุ้มฟังคล้ายเสียงกีตาร์คลาสสิคขึ้นมาแบบไม่ต้องใช้เอฟเฟ็คใดๆช่วย

รวมไปถึงลีลาการเล่นแบบแยกไลน์ เพิ่มไลน์ ผสมไลน์ ให้เห็นกันจะจะในเพลง
"Kwame" ซึ่งเขาเริ่มต้นจากการเล่นแยกไลน์ จากไลน์ 1, 2,3,4 และ 5 ให้คนดูได้รับรู้กันก่อนที่จะค่อยๆเพิ่มเข้าไปทีละไลน์ จนครบ 5 ไลน์ กลายเป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบชวนฟัง ก่อนที่จะค่อยๆลดไลน์ จากไลน์ 5,4,3,2 มาจนเหลือไลน์ 1 ไลน์เดียวอีก และก็เพิ่มกลับเข้าไปจนกลายเป็นเพลงเหมือนเดิมอีก นับเป็นลูกเล่นขั้นเทพที่หากไม่เคี่ยวกรำฝึกปรือมาเป็นอย่างดี รับรองไม่มีทางทำได้

คอนเสิร์ตในค่ำวันนั้นมาร์ตินเน้นหนักในการเล่นเพลงแจ๊ซอันหลากหลาย ทั้งคึกคัก ซึ้งหวาน เศร้าอ้อยสร้อย ร่วมด้วยคันทรีสนุกๆโชว์ลีลาลูกนิ้ว และเพลงอารมณ์แคริบเบียนชวนให้นึกถึงทะเลในอีกฟากโลกหนึ่ง โดยเขางัดเอาบทเพลงทั้งที่แต่งเองและเพลงครู เพลงดัง อันหลากหลายมาเล่น อาทิ "Don't Know Why”, “I Fall In Love Too Easily”,“They Can't Take That Away From Me”,"I Got Rhythm",”Sweet Lorraine”,”True” และ “Georgia On My Mind”

นอกเหนือไปจากฝีมือกีตาร์อันเป็นเอกอุแล้ว มาร์ตินยังมีความสามารถเป็นเลิศในการเอนเตอร์เทนต์คนดู ปนด้วยลูกขี้เล่นที่งัดออกมาเรียกรอยยิ้มให้ผู้ชมได้เป็นระยะ ช่วยทำให้คอนเสิร์ตครั้งนั้นดูสนุก รื่นไหล และเป็นกันเองมากขึ้น ซึ่งแม้ว่างานนี้มาร์ตินจะขึ้นมาร่ายมนต์เล่นกีตาร์เพียวๆ เพียงคนเดียวโดดๆ แต่เขาก็เป็นประเภท “คนเดียวเอาอยู่” ที่ไม่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนเพลงแต่อย่างใด
ลีโอนาร์ด กริกอร์เรียน(ซ้าย) โจเซฟ ทาวาดรอส(ขวา)
26 ก.พ. : ลีโอนาร์ด-โจเซฟ ดูโอเวิลด์มิวสิค

ตามกำหนดการเดิมคอนเสิร์ตในค่ำวันที่ 26 เป็นการแสดงของ “The Grigoryan Brothers” จากฝีมือของ “สลาวา กริกอร์เรียน”(Slava Grigoryan) และ “ลีโอนาร์ด กริกอร์เรียน”(Leonard Grigoryan) พี่น้องสองสิงห์ยอดมือกีตาร์คลาสสิคแห่งเมืองจิงโจ้ ออสเตรเลีย

แต่สลาวา กริกอร์เรียนผู้พี่ดันเกิดป่วยกะทันหันทำให้ทางผู้จัดต้องเปลี่ยนตัวด้วยการนำ “โจเซฟ ทาวาดรอส”(Joseph Tawadros) มาแทน พร้อมกับปรับเปลี่ยนแนวทางเพลงใหม่จากสไตล์ดนตรีคลาสสิคมาเป็นเวิลด์มิวสิค เพราะโจเซฟไม่ใช่มือกีตาร์ หากแต่เป็นมือ “อู๊ด”(Oud) ที่เป็นอาราเบียนลูท(Arabian Lute)เครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทเครื่องสายแบบดีดเหมือนกีตาร์ แต่ตัวป้อมสั้นกว่า แถมบอดี้ของมันก็ป่องรีคล้ายลูกมะพร้าวขนาดใหญ่ผ่าซีก

ลูทที่โจเซฟเล่นมี 12 สายด้วยกัน ให้สำเนียงแบบตะวันออก แขก อาหรับ อย่างชัดเจน และเป็นซุ่มเสียงที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างกีตาร์คลาสสิค(สายเอ็น)กับกีตาร์โปร่ง(สายเหล็ก)

โจเซฟจะมาแทนแต่ว่าก็ไม่ใช่มวยแทนแต่อย่างใด หมอนี่จัดเป็นยอดแห่งอาราเบียนลูทที่ฝากฝีไม้ลายมือไว้กับนักดนตรีชื่อดังอย่าง John Patitucci,Jack DeJohnette และ Mark Isaacsมาแล้ว

ในขณะที่ลีโอนาร์ด กริกอร์เรียนผู้น้องนั้น เขาเริ่มเรียนกีตาร์กับคุณพ่อมาตั้งแต่อายุแค่ 4 ขวบ ก่อนจะเติบโตขึ้นมาประสบความสำเร็จจากเวทีการแข่งขันกีตาร์ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ได้ร่วมเล่นกับวงดนตรีชั้นนำในออสเตรเลีย อย่าง เมลเบิร์นและควีนส์แลนด์ ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า พร้อมกับผ่านงานเทศกาลดนตรีมาอย่างโชกโชน

ลีโอนาร์ด นอกจากจะเป็นเลิศในสายคลาสสิคแล้ว เขายังเชี่ยวชาญในสายแจ๊ซและเวิลด์มิวสิคอีกด้วย อีกทั้งเขายังเป็นนักแต่งเพลงและนักเรียบเรียงที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยการเล่นเดี่ยวของลีโอนาร์ดในคอนเสิร์ตครั้งนี้ เขาได้นำเพลงที่แต่งเองอย่าง “Sarabande and Gigue” มาเล่นร่วมกับเพลงน่าสนใจอื่นๆ อาทิ Choro da Saudade, Dasa Brasileira ที่เต็มไปด้วยความแม่นยำในตัวโน้ตและทักษะทางการเล่นกีตาร์คลาสสิคในระดับตัวพ่อคนหนึ่ง โดยเฉพาะในเพลง The Reluctant ของ ราล์ฟ ทาวเนอร์(Ralph Towner) ที่ลีโอนาร์ดเล่นได้ไพเราะ หวานซึ้ง งดงามมาก

อย่างไรก็ดีเมื่อลีโอนาร์ดมาจับคู่เล่นกับโจเซฟ แนวทางดนตรีได้เปลี่ยนจากคลาสสิคมาเป็นเวิลด์มิวสิค ซึ่งงานนี้ทั้งคู่ไม่ได้เป็นประเภทขึ้นมาแจมกันขัดตาทัพขอไปที หากแต่พวกเขาได้ร่วมเล่นดนตรีกันมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.2006 ในชื่อวง “แบนด์ ออฟ บราเทอร์ส”(Band Of Brothers) ที่เป็นการรวมกันของยอดวงสองพี่น้องใน 2 ตระกูลได้แก่ กริกอร์เรียน(สลาวา-ลีโอนาร์ด) กับ ทาวาดรอส(โจเซฟ-เจมส์(น้องชายมือเพอร์คัสชั่น) พร้อมกับมีอัลบั้มเป็นของตัวเองออกมา ดังนั้นเมื่อทั้งคู่ขึ้นมาเล่นด้วยกันจึงให้ความรู้สึกสอดรับกันอย่างเพลิดเพลิน

ลีลาการเล่นอู๊ดของโจเซฟ(ใช้ปิ๊กเล่น)นั้นแพรวพราวเหลือหลาย ทั้งดีดโซโล เล่นประสาน ตีคอร์ด เล่นเบสคุมจังหวะ รวมไปถึงการไล่โน้ตในเพลงเร็วอันคล่องแคล่วยอดเยี่ยมในสำเนียงอาหรับ สำเนียงตะวันออก และสำเนียงแขก ที่บางเพลงฟังแล้วอดนึกถึงซุ่มเสียงในแบบของมหาวิษณุออร์เคสตร้าไม่ได้

ส่วนที่ผมเห็นว่ามันขาดไปหน่อยในคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็คือ การไม่มีเพลงช้าๆซึ้งๆให้พี่โจเซฟโชว์ลีลาการดีดอู๊ดแบบอ้อยอิ่งกินใจ ในขณะที่ลีลาการเอนเตอร์เทนคนดูนั้น พี่โจเซฟผู้มีอารมณ์ขันอันล้นเหลือสามารถเรียกรอยยิ้มเสียงหัวเราะให้กับคนดูได้เรื่อยๆ เรียกว่าขัดกับหน้าตาที่ดูโหดดุของแกอย่างชัดเจนเลยทีเดียว
วิคโต มองเก(ซ้าย)
27 ก.พ. : “วิคเตอร์” กีตาร์ฟลามิงโกกระชากใจ

แม้จะคุ้นเคยกับสรรพเสียงกีตาร์ฟลามิงโกมาช้านาน แต่ว่าไม่บ่อยเลยที่จะได้มีโอกาสชมโชว์กีตาร์ฟลามิงโกกันแบบสดๆจะจะ

นั่นจึงทำให้ในค่ำคืนของวันที่ 27 ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ชมการเล่นกีตาร์ในแนวทางนี้จากวง “วิคโต มองเก เซอรันนิโต ควอเท็ต” จากสเปน ที่นำโดย “วิคโต มองเก”(Victor Monge)หรือ เซอรานิโต(Serranito) : กีตาร์ 1 (กีตาร์นำและกีตาร์โซโล),”พาโค วิดัล”(Paco Vidal) : กีตาร์ 2 (กีตาร์คอร์ด,ไลน์ประสาน)“ฮูเลียน วัคเกโร”(Julian Vaquero) : กีตาร์ 3 (กีตาร์คอร์ด,ไลน์ประสาน) เบส และ วิคเตอร์ มองเก “จูเนียร์” (Victor Monge “Junior”)

วิคโต มองเก จัดเป็นมือกีตาร์ฟลามิงโกระดับตำนานของสเปนผู้มากรอบจัดไปด้วยฝืออันแพรวพราว อีกทั้งยังเป็นนักแต่งเพลงนักเรียบเรียงชั้นยอด ซึ่งแม้อายุอานามเขาจะร่วงโรยไปแล้ว แต่ฝีมือของเขายังคงเหนือคนอยู่ไม่สร่าง

วิคโตนำบทเพลงฟลามิงโกขึ้นชื่อของสเปน อาทิ Cazorla,Paseando Por Triana,Como Un Sueno,Romance Para Un Poeta มาร่ายลีลาฟลามิงโก ให้คนดูได้ปล่อยจินตนาการไปตามตัวโน้ตที่ลื่นไหล โดยบางช่วงของเพลงที่ออกลูกสนุก ผมอดนึกถึงวัวกระทิงที่วิ่งไล่ขวิดมาธาดอร์ไม่ได้ หรืออย่างช่วงที่ตีคอร์ดรัวเร่งเร้าปนดุผมก็นึกไปถึงอารมณ์ที่ “อันโตนิโอ แบนเดอรัส” ยกกล่องกีตาร์ขึ้นมารัวปืนกลปานถล่มทลายใน “เดสเพอราโด” ไม่ได้ ส่วนยามเริงร่าเสียงกีตาร์มันชวนให้ผมนึกไปถึงอารมณ์ดีใจของทีมชาติสเปนที่ยิงเฉือนฮอล์แลนด์คว้าถ้วยฟุตบอลโลกหนแรกมาครองไม่ได้

นอกจากนี้ วิคโตยังพยายามที่จะนำเสนอวิธีการเล่นในหลายสไตล์ให้คนไทยได้สัมผัสกัน เรียกว่าจัดหนักกันมาโชว์กันแบบหลากหลายครบเครื่อง ยามรวดเร็วดุดัน คุณน้าวิคเตอร์แกก็เล่นลูกนิ้วไล่อย่างเร็วบรื๋อ แต่ประทานโทษ ฟังชัดเจนและแม่นยำทุกเม็ด ส่วนในเพลงช้าอ้อยสร้อยแกก็เล่นได้อย่างอ่อนหวาน โดยเฉพาะลีลาการเล่นทรีโมโล(Tremolo : การใช้ 3 นิ้ว ชี้ กลาง นาง ดีดรัวในสายเดียว ส่วนนิ้วโป้งเล่นเบส)นั้นฟังหวานบาดใจดีแท้

สำหรับสิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่วงของวิคเตอร์มาแสดงให้ดูนั่นก็คือการใช้มือตีคอร์ดที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง มีทั้งการตีคอร์ดด้วยนิ้วโป้ง ตีคอร์ดด้วยนิ้วชี้ ใช้ 3 นิ้วตีคอร์ดแบบสะบัดรัว ตีคอร์ดแบบดีดขึ้น ตีคอร์ดไปพร้อมกับการตบบอดี้กีตาร์ นับเป็นลูกเล่นของกีตาร์ฟลามิงโกที่ดูเพลินเหลือหลาย

ส่วนที่ฟังแล้วกวนอารมณ์หน่อยก็คือเสียงกลองใหญ่ที่ดังไปนิด และเสียงเบสในตัวต่ำที่ออกบวม ฟังคลุมเครือไปบ้าง แต่นั่นดูจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย(มาก)ไปทันทีกับลีลาการเล่นอันครบเครื่องชวนทึ่งของวิคโต ชนิดที่หลังเล่นจบแล้ว ผู้ชมทั่วหอประชุมเล็กต่างลุกขึ้นมายืนปรบมืออย่างยาวนานให้กับยอดมือกีตาร์ฟลามิงโกคนนี้

อย่างไรก็ตามงานนี้แม้จะสร้างความพองโตในหัวใจให้กับคอกีตาร์ทั้งหลายที่ไปชม แต่ด้วยจำนวนผู้เข้าชมที่บางตาไปนิด อาจทำให้ผู้จัดเกิดอาการหัวใจห่อเหี่ยวได้ แต่กระนั้นก็ขอให้ทางผู้จัดอย่างได้ถอดใจ เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีผู้ชมอีกจำนวนไม่น้อยที่เมื่อได้มาสัมผัสกับงานนี้แล้ว ต้องมนต์ในเสียงกีตาร์ พกพาหัวใจพองโตกลับบ้านไป
*****************************************

หมายเหตุ : สัปดาห์นี้ของดคอลัมน์แนะนำเพลงเก่า เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคอนเสิร์ต

*****************************************
ข่าวดนตรี

สถาบันดนตรีกัลญาณิวัฒนา ชวนนักฟังเพลงไปร่วมเสวนาเรื่อง “โมสาร์ท” โดยพลโทนายแพทย์ ดำรงค์ ธนะชานันท์ และศาสตราจารย์ เจตนา นาควัชระ ในวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2554 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญไท ในโรงพยาบาลพญาไท พร้อมด้วยพรีคอนเสิร์ต ทอล์ค(ภาษาอังกฤษ) โดย Jean – Pierre Kirkland โดยบทเพลงที่จะบรรเลงในคอนเสิร์ตครังนี้คือ Mozart Flute Quartet in D major K.285,Mozart Flute Quartet in A major K.298 และ Mozart Clarinet Quintet in A major K.581

สำหรับนักดนตรีประกอบด้วย Viloin-Roland Baidini,Leo Phillips : Viola-ทัศนา นาควัชระ,Cello-กิตติคุณ สดประเสริฐ,Flute-วรพล กาญจน์วีระโยธิน และ Clarinet-ดร.ยศ วณีสอน บัตรราคา 500 และ 800 บาท ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-2354-7987 และ 0-2354-7732
กำลังโหลดความคิดเห็น