Facebook...teelao1979@hotmail.com
อาจจะดูว่า “ชื่อหนังไม่ขาย” หรือ “ดาราไม่ดัง” แต่หนังฟอร์มเล็กๆ พูดจาภาษาอีสานเรื่องนี้ ก็มีสิ่งดีๆ ในด้านอื่นๆ ที่แข็งแรงเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสนุกและความตลกของเรื่องราวนั้น เรียกได้ว่า “เกินหน้าเกินตา” ขณะเดียวกัน บรรยากาศของความเป็นดราม่าซึ้งๆ ก็มีให้เก็บซับอยู่เรื่อยๆ ตามจุดต่างๆ ของเนื้อเรื่อง
ภาพรวมทั้งหมดของหนัง ทำให้ผมเดินออกมาจากโรงด้วยความรู้สึกที่ไม่ต่างไปจากหลายๆ คน คือ ไม่เสียดายกับเงินที่จ่ายไป
อันที่จริง ถ้าจะพูดถึงความดีของหนังเรื่องนี้ คงต้องแยกออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ
หนึ่งคือ ความสนุกสนานและอารมณ์ขัน...
เนื้อเรื่องหลักๆ ของ “ปัญญา เรณู” ยืนอยู่บนพื้นฐานของตัวละครสองตัว คือ “เด็กชายปัญญา” กับ “เด็กหญิงเรณู” ทั้งสองคือเพื่อนสนิทที่เรียนโรงเรียนเดียวกันในชนบนตามต่างจังหวัด เด็กชายปัญญานั้นดูเป็นเงียบๆ หงิมๆ แต่ก็ไม่ถึงกับหงอ ไม่ชอบก่อเรื่อง แต่ก็ใช่ว่ากลัวโลก แต่กระนั้น ด้วยความที่เป็นใสซื่อและตรงไปตรงมา ก็มักจะทำให้ “มีเรื่อง” เดินเข้ามาหาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการสะกิดบอกครูด้วยเม็ดมะขามว่ามีเพื่อนร่วมชั้นเรียนกำลังลอกข้อสอบ, การเชื่อด้วยพาซื่อ เพราะเพื่อนบอกว่า ปลาในสระน้ำสระนั้น เจ้าของสระเขาไม่หวง เหล่านี้ ล้วนสะท้อนนิสัยแห่งการเป็นคนซื่อของปัญญาได้ทั้งสิ้น และถ้าถามถึงความไม่กลัวโลก ก็ต้องยกตัวอย่างตอนที่เขาดอดย่องลงจากบ้านในตอนท้ายๆ เรื่อง (เราผู้ใหญ่ยังคิดว่าจะกล้าลงไปแบบนั้นหรือเปล่า?)
แน่นอนครับ สิ่งที่ทำให้เราหลงรักตัวละครตัวนี้ได้ไม่ยาก นอกจากความใสซื่อ อีกหนึ่งก็คือความกล้าหาญ ถึงแม้ร่างกายจะผอมกะหร่อง แต่เชื่อว่า หัวใจของปัญญา คงจะมีกล้ามเป็นมัดๆ อยู่ในนั้น
เช่นเดียวกัน ในฟากฝ่ายของเด็กหญิงเรณู ขอโทษนะครับ เรียกด้วยความรู้สึกน่ารักน่าเอ็นดู...รูปร่างของเจ้าหล่อนดั่งยักษิณีจำแลงมา อ้วนท้วนสมบูรณ์ แถมปากจัด พร้อมจะต่อยตีกับโลกกับผู้คนได้ทุกเมื่อ เรียกว่าถ้าแบ่งข้าง เธอก็อยู่ฝั่งตรงข้ามกับปัญญาแทบจะทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ดี หนังก็ใส่ความหวานลงไปในตัวละครตัวนี้ ด้วยการบอกกล่าวให้เรารู้ตั้งแต่ช่วงต้นๆ เรื่องว่า เด็กหญิงร่างใญ้ใหญ่คนนี้ “มีใจให้” กับเด็กชายปัญญา ในความคิดของเธอ ดูเหมือนจะมีคำว่า “ปัญญา” อยู่ในนั้น ทั้งยามหลับฝันและยามตื่น
แต่นิยายรักของเด็กบ้านนอกอย่างเรณูก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ฟ้าดินก็ส่งเด็กสาวหน้าตาใสกิ๊กเข้ามาในหมู่บ้าน และดูเหมือนว่า เด็กชายปัญญาก็คล้ายจะมีใจให้กับสาวในเมืองคนนั้นไปซะนี่...
นี่แหละครับที่เป็นเสน่ห์อันดับแรกๆ ของเรื่องราว จริงๆ ถ้าจะบอกว่า มันคือ Lover Story แบบเด็กๆ ก็คงไม่ผิดนัก และความน่ารักน่าชังเอามากๆ ของเรื่องรักเรื่องนี้ก็คงอยู่ที่ความคิดความอ่านแบบของเด็กหญิงเรณูที่เอาจริงเอาจังซะเหลือเกินกับความรักและพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ครอบครองชายในดวงใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขีดเส้นใต้ไว้ตัวโตๆ ตรงนี้นะครับว่า หนังบอกเล่าเรื่องท่าทีที่น่ารัก และเป็นความรักใสๆ ซื่อๆ แบบเด็กๆ ไม่ได้มีอะไรที่ด่างพร้อยเป็นรอยหมอง
เอาเป็นว่า ถ้าคุณจะเรียกมันว่า เป็น “แฟนฉัน เวอร์ชั่น Speak อีสาน” ก็คงจะได้อีกเหมือนกัน
เกือบๆ สองชั่วโมงกับการดูหนังเรื่องนี้ของผม ผ่านไปอย่างรื่นรมย์และราบรื่น ไม่มีง่วงไม่มีเบื่อ หนังมีความสนุกแทรกอยู่ในทุกๆ ฉากช่วง และเป็นความสนุกที่ต่างไปจากการดูหนังตลก ของตลก โดยตลก ที่ความตลกเกิดจากการยิงมุก ส่งมุก หากแต่ความตลกของ “ปัญญา เรณู” เกิดจากสถานการณ์เรื่องราวชีวิตอันเปี่ยมอารมณ์ขันของตัวละคร
เด็กชายปัญญา กับเด็กหญิงเรณู นั้นคือตัวชูโรง แน่ๆ นอนๆ แต่ตัวละครอื่นๆ ก็เข้ามาเสริมทัพความฮาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ไม่ว่าจะเป็น “เด็กชายจอบ” เพื่อนร่วมชั้นของปัญญา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงพ่อเจ้าอาวาสของวัดประจำหมู่บ้านที่ออกฉากทีไร เป็นได้ฮากันทุกที
ความดีส่วนที่หนึ่ง หนังสอบผ่านโดยไม่มีข้อแม้ ความสนุก ความซึ้ง มันผสมผสานกันอยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะและลงตัว ผลลัพธ์ของมันก็คือ “ความรู้สึกดีๆ” ที่ฝากไว้ในใจของคนดู
ทีนี้ มาถึงความดีส่วนที่สอง...
บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ กับผลงานการกำกับและเขียนบทเอง เขาเคยทำหนังมาแล้ว 4 เรื่อง และเอกลักษณ์ที่เรามักจะได้เห็นในหนังของเขาก็คือ กลิ่นอายบรรยากาศความเป็นไทย ไล่ไปตั้งแต่ฉากหลังแบ็กกราวน์ไปจนถึงบรรยากาศทางความคิดความเชื่อแบบวิถีไทย และกับ “ปัญญา เรณู” เขาก็ยังคงยืนอยู่กับการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ขยับปริมณฑลแห่งท้องถิ่นไปโฟกัสชัดเจนที่ดินแดนภาคอีสาน
หนังสามารถหยิบจับเอาเรื่องราวของท้องที่และขนบความเชื่อของท้องถิ่นมานำเสนอได้อย่างมีรสชาติ คือถ้าไม่นับรวมสิ่งที่เป็นตัวเดินเรื่องอย่าง “โปงลาง” (ที่เด็กๆ ในโรงเรียนจะต้องซ้อมเพื่อไปแข่งขันกัน) ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึง “การใส่ใจ” และ “ทำการบ้าน” มาพอตัว ของผู้กำกับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ผีแม่หม้าย”, การที่เด็กชายปัญญาวิ่งไปขอพรจากพระพุทธรูป หรือวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวัด พระ และเรื่องเชิงไสยศาสตร์ (คนทรง) สิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับชาวบ้านอีสานมานานนม ขณะที่ดนตรีและเพลงประกอบซึ่งโอบกอดบรรยากาศของหนังทั้งเรื่องไว้ ก็เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของความเป็นท้องถิ่นอีสาน และถ้าสังเกต ภาพโปสเตอร์บางแผ่นก็ถูกออกแบบมาให้มีสีสันจัดจ้านไม่ต่างไปจากฉากม่านของเวทีลูกทุ่งหมอลำ ซึ่งก็คือความเป็นอีสานอีกแบบหนึ่ง
พูดง่ายๆ สิ่งทั้งหลายที่ว่ามา มันก็คือ วัฒนธรรมประจำที่ประจำถิ่นทั้งนั้นแหละครับ ขณะที่ผู้กำกับก็สามารถนำมาเรียงร้อยแทรกอยู่ในเรื่องราวได้อย่างมองเห็นภาพและเป็นชีวิตจริงๆ
ในแง่นี้ “ปัญญา เรณู” ก็บอกกล่าวอยู่กลายๆ ว่าเมืองไทยเรานี้ แสนดีนักหนาสำหรับคนทำหนัง เพราะมันยังมี “เรื่องราว” อีกมากมาย และ “วัตถุดิบ” อีกมากมี ที่คุณสามารถหยิบจับมานำเสนอได้ไม่มีวันหมด ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณมีสายตาหรือเวลามากพอที่จะมองเห็นมันหรือไม่ เท่านั้นเอง
หนังเรื่องนี้ อาจจะมีจุดที่ดูแล้วติดๆ ขัดๆ บ้าง ในมุมมองของผม ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือ น้องกะเทยตัวเล็กๆ ที่จ๊ะจ๋าได้ใจซะจนเกิดขนาด คือถ้าคุณบิณฑ์สามารถกลับไปถ่ายหนังเรื่องนี้ใหม่ได้ ผมว่าถ้าลดดีกรีความกระแดะของน้องเขาลงบ้าง ก็น่าจะดีนะครับ เพราะมันดูขัดๆ อย่างไรไม่รู้ เพราะในขณะที่ตัวแสดงอื่นๆ ดูเป็นธรรมชาติกันหมด แต่น้องคนนี้แกดูแก่แดดเกินจริงไปหน่อย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า กะเทยเด็ก ทำไมหล่อนช่างกล้าถึงเพียงนั้นยะ ฮ้า?? (หรือว่าผมรู้สึกไปเองคนเดียว อันนี้ก็ไม่แน่ใจนะครับ)
ขณะเดียวกัน ผมว่าในช่วงที่เด็กนักเรียนจากในเมืองไปพักที่โรงเรียนในหมู่บ้านของเด็กชายปัญญานั้น ก็ดูจะมีความน่าเคลือบแคลงอยู่เหมือนกัน เพราะเพียงแค่มาพักวันแรก แต่หนังกลับใช้ภาพพรรณนาผ่านเพลงซะจนเหมือนกับว่า เด็กๆ เหล่านั้นมาอยู่กันเป็นอาทิตย์ๆ แล้ว เพราะทำกิจกรรมอะไรต่อมิอะไรร่วมกันเยอะแยะไปหมด มันทำให้หนังอ่อน “ความเป็นไปได้” และดูแปร่งๆ อยู่สักนิด
แต่ก็อย่างที่ผมบอกไว้ในรายการ Viewfinder ทางช่องซูเปอร์บันเทิงเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมานั่นแหละครับว่า ถ้าหนังจะเอาตัวรอดจากจุดบอดจุดนี้ไปได้ ก็คงเป็นเพราะการใส่เพลงเข้ามา เพราะในด้านหนึ่ง เพลงก็มีบทบาทในการทำให้หนังดูเซอร์เรียลได้ เซอร์เรียลคืออะไร พูดง่ายๆ ก็คือไม่ต้องอิงกับฐานความจริงมากนักนั่นแหละครับ (อันนี้ ถ้าใครอยากศึกษา ผมแนะนำให้หา 500 Days of Summer ตอนที่พระเอกร้องเล่นเต้นรำไปตามทางเดินริมถนนและมีผู้คนที่อยู่แถวนั้นออกมาร่วมเต้นรำด้วย นั่นแหละครับ เซอร์เรียล ก็สไตล์นั้น)
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลที่พูดมา ก็ไม่เท่ากับความรู้สึกที่ว่า มันมีไม่บ่อยครั้งหรอกครับที่เราจะเดินออกจากโรงหนังด้วยความรู้สึกไม่เสียดายตังค์แบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการดูหนังไทยด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ปัญญา-เรณู เป็นหนังพูดจาภาษาอีสานเต็มรูปแบบ แต่หลายๆ คนไม่ต้องกังวลครับ เพราะหนังมีซับไตเติ้ลให้ทั้งเรื่อง หรือถึงไม่อ่านซับ “เฮาคนไทย” ก็น่าที่จะฟังแบบพอเข้าใจได้ ถึงไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ก็น่าจะเก็ตด้วยบริบทของคำนั้นๆ ประโยคนั้นๆ
จะดูวันปกติ 140 บาท หรือจะดูวันพุธ หกพันสตางค์ ผมว่า ก็คุ้มค่าครือๆ กัน...