xs
xsm
sm
md
lg

"บิณฑ์" ทุ่ม 20 ล.ทำ "ปัญญา เรณู" หลังค่ายหนังปฏิเสธเหตุไม่มีดารา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"บิณฑ์" ทุ่ม 20 ล้านทำ "ปัญญา เรณู" หลังค่ายใหญ่ปฏิเสธเหตุไม่มีดาราเป็นจุดขาย ก่อนแย้มเตรียมลงทุนกับอินเดียดึง "ปื๊ด ธนิตย์" ทำหนังสะท้อนชีวิตเด็กทั้งสองชาติ เผยถ้าไม่รุ่งอีกคงจะต้องหยุดตั้งหลักใหม่

เตรียมจะเข้าฉายให้ได้ชมกันในวันที่ 17 ก.พ.นี้แล้วสำหรับภาพยนตร์ “ปัญญา เรณู” ผลงานชิ้นที่ 5 ของ “บิณฑ์ บันลือฤทธิ์” (เดอะโกร๋น ก๊วน กวน ผี , ช้างเพื่อนแก้ว , ตำนานกระสือ , มนต์รักเพลงลูกทุ่ง) โดยเจ้าตัวเผยงานนี้ตนลงทุนเองไปกว่า 20 ล้านบาทหลังนำโปรเจ็กต์ไปเสนอสหมงคลฟิล์มฯ แต่ถูกปฏิเสธเพราะหนังไม่มีดาราเป็นจุดขาย

“ที่ผมกล้าคิดที่จะทำเองลงทุนเอง เพราะผมไปเสนอใครเขาก็ไม่เอา อย่างทางสหมงคลฟิล์มเขาบอกเขาไม่รู้จะขายอะไรมันหนังมันไม่มีอะไร ดาราก็ไม่มี เราเลยคิดว่าก็ทำเองดีกว่า เพราะเขาไม่เอาเรา แต่เราชอบเนื้อเรื่องของเราไง การที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วจะได้อะไรที่มากกว่าการที่ไปดูหนังตลกเฮฮา"

"ซึ่งหนังผมมันมีสาระด้วย มีความสามัคคีความเอื้ออาทร มีความรักความมีน้ำใจให้กันเพื่อนฝูงที่ดีต่อกัน เรารวมกันแล้วเราจะมีพลัง เราไม่ต้องแบ่งแยกว่าภาคไหน เราไม่จำเป็นต้องมีดาราดังอยู่ในนั้น เราไม่ได้ลงทุนมหาศาล 30-40 ล้าน เพราะเราวางไว้ว่าเรื่องนี้รวมโฆษณาไม่เกิน 20 ล้าน”

“ผมคิดว่าช่างมันเถอะ ถ้าทำแล้วจะขาดทุน แค่ขอให้คนดูออกมาแล้วบอกว่าหนังดีน่าดู อันนี้ยอมรับว่าจะขาดทุนก็ช่างมัน แต่ถ้าคนดูแล้วพอใจกับผลงานมันก็โอเค เราก็แค่นั้นอยากได้แค่นั้น เพราะว่าหนังเราไม่ใช่หนังธุรกิจเอาดาราดังๆ มาขาย และก็เอาตลกมากๆ ยัดเข้าไป และก็มีทั้งตลกมีทั้งคำนู้นคำนี้ หนังของเรามันไม่ใช่แบบนั้น”

แจงหนัง "ปัญญา เรณู" มาจากประสบการณ์ชีวิตจริงของตัวเอง สะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานผ่านความน่ารักสดใสของกลุ่มเด็กนักเรียนบ้านโคกสะอาดที่มุ่งมั่นในการแข่งขันโปงลางเพื่อเป็นตัวแทนของอำเภอ
“หนังที่ผมทำมันเป็นหนังเกี่ยวกับเด็กอีสานมันอาจจะมีเนื้อเรื่องบางตอนที่เอามาจากชีวิตจริงของผมที่อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่ใช้มาตอนเด็กๆ และเราก็อยู่วงการมานาน เราก็มองว่าทำไมถึงไม่มีหนังที่เกี่ยวกับเด็กอีสานเลย ก็อยากจะถ่ายทอดความรู้สึกของเขาที่อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้เรียนหนังสือ"

"ก็เลยคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่มีความเป็นอีสานของเด็กๆ โดยแท้ เอาเด็กอีสานมาเล่นเลย ไม่ได้เอาเด็กกรุงเทพฯมาเล่นเป็นคนอีสาน และเด็กทุกคนก็เล่นหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก คือหนังเรื่องนี้ถ้าใครอายุ30-40 ปีจะรู้จักเพราะว่ามันเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ก็เลยคิดว่าเรื่องปัญญาเรณูน่าจะเป็นอะไรกลางๆ เราก็อยากให้ออกมากลางๆ”

“ซึ่งเนื้อเรื่องก็จะเป็นเกี่ยวกับการเล่นโปงลางของภาคอีสาน โดยความแปลกเราจะเห็นแต่ผู้ใหญ่ที่เล่นโปงลาง แต่อันนี้เรานำเด็กนักเรียนมาเล่นอายุประมาณ9-10 ขวบมาเล่นกันทั้งวง โดยเป็นนักเรียนที่เรียนดนตรีจริงๆ เรามองเห็นในความสามารถของเด็กเราก็เลยอยากจะถ่ายทอด"

"เราอยากจะบอกเด็กๆ ว่าเขาจะปล่อยเวลาว่างให้ไม่เป็นประโยชน์ทำไม เขาชอบอะไร ก็น่าจะทำให้มันดีการพัฒนาไปเรื่อยๆ มันจะสู่อำเภอจังหวัดระดับประเทศ เหมือนกันการที่ผมคิดว่าเป็นการแข่งขันในโรงเรียนซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ มันก็จะขยายไปสู่องค์กรขนาดใหญ่ มันคิดเรื่องไม่ยาก เพราะเป็นชีวิตที่เคยผ่านมาแล้ว”

ลั่นไม่สนหนังเรื่องนี้จะขายได้หรือไม่ได้ ก่อนแย้มถึงโปรเจ็กต์ใหญ่ทำหนังร่วมกับประเทศอินเดียสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างเด็กทั้งสองชาติ และพร้อมดึง “ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล” ร่วมงาน

“คือผมตั้งชื่อไว้วว่ารูปูกับรูปี แต่ยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์ที่เราคุยจะเป็นเหมือนที่เราคุยไว้ตั้งแต่แรกหรือเปล่า เราคุยกับอินเดียไว้เหมือนกัน เพราะว่าเราไปทัวร์อินเดียมาเราเห็นความโอ้โห(เสียงสูง) คือถ้าใครไปประเทศอินเดียมาแล้วมาดูประเทศไทย จะรู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่มาก จะสะท้อนความเป็นอยู่ของสังคมในอินเดีย"

"ซึ่งเราอยากให้เห็นภาพเลยเด็กไทยได้อะไรเยอะกว่าเด็กอินเดีย เด็กอินเดียวันหนึ่งแทบจะไม่ได้กินขนมเลย ได้กินแต่น้ำข้าว อย่างการอาบน้ำบางทีเด็กอินเดียบางคนต้องอาบน้ำที่เขาอาบมาแล้วสี่ชั้น ชั้นสามรอชั้นสี่ คนที่อยู่ชั้นสองต้องรอชั้นสามอาบเสร็จเพื่อน้ำจะไหลมา และคนชั้นล่างพวกจันทานต้องรอชั้นหนึ่งสองสามสี่อาบเสร็จ"

"น้ำดำมากแต่มันต้องอาบ คือไปเห็นมาแล้ว นี่หรือคือสิ่งที่อยู่บนมนุษย์โลกใบนี้ คือทางอินเดียเขาไม่ค่อยควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ คือไม่มีถุงยางหรือยาคุม เอะอะมีลูกประชากรก็เต็มไปหมด ลงรถทีขอทานเป็นร้อยคน วิ่งมาเห็นเราเป็นพระเจ้ากอดเรา พอเราเห็นเราก็อยากทำหนัง อยากให้ออกมาสะท้อนตรงนี้”

“แต่มันจะไม่เป็นหนังที่ดูเหมือนเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสองประเทศอะไร เพราะว่าเรามีการคุยกับเขาว่าเราไม่ได้เอาเขามาทำเป็นแบบไม่ดี เราจะเอาเด็กเราไปร่วมกับเขา แล้วให้เด็กไทยนึกถึงชีวิตของเด็กอินเดีย ให้เขานึกถึงว่าที่ประเทศอินเดียเขาเป็นแบบนี้ๆ นะ"

"แล้วเราจะเอาชีวิตตรงนี้ไปสอนเด็กอินเดีย ให้เด็กต่อเด็กประสานสัมพันธ์กันเองว่า อย่ากินข้าวโดยใช้มือดำๆ หยิบข้าวเข้าปาก เด็กไทยจะทำให้ดูว่ามันต้องล้างมือนะ ไม่ใช่ว่าน้ำมูกใสๆ ไหลมาก็สั่งออกมาแล้วไปป้ายตามเนื้อตามตัว เด็กไทยต้องสอนให้ใช้กระดาษทิชชู่เช็ด”

“หรืออย่างมันมีเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ที่เราไปถอดผ้าป่าที่อินเดีย แล้วโดนพวกนี้ปล้น มีพระไปเต็มเลย แล้วพระก็โดนแทงอันนี้คือเรื่องจริง ที่ทางที่นู่นเล่าให้เราฟัง มันทุลักทุเลมาก คือเราจะผูกเรื่องให้มันดูสนุกตื่นเต้น และตอนนี้กำลังเรียกพี่ปื๊ด (ธนิต จิตนุกูล) ว่าจะทำยังไงให้มันออกมาแล้วดูดีทั้งสองประเทศ ซึ่งพี่ปื๊ดก็โอเคแล้วครับ”

เผยถ้าทำแล้วยังไม่รุ่งอีกตนคงจะต้องขอหยุด และพร้อมที่จะหันไปเป็นผู้จัดละคร หรือไม่ก็ทำรายการเคเบิ้ลอย่างที่ถนัด...“ถ้าหนังมันขายไม่ได้จริงๆ เราก็คงต้องหยุดพักอาจไปเป็นผู้จัดละคร เพราะว่าเราไม่ได้ปั๊มเงินเอง บริษัทของเราอาจจะเปิดเป็นเคเบิ้ล หรือทำอะไรก็ได้"

"แต่ก็คงต้องทิ้งระยะสักพักเพื่อปั๊มเงินก่อน เปลี่ยนทำอย่างอื่นไป ซึ่งที่คิดเอาไว้รายการ เคเบิ้ลก็จะเป็นเหมือนทำสาธารณกุศล เพราะว่าเราก็ทำมูลนิธิร่วมกตัญญูอยู่ อาจจะคล้ายๆ กับเรื่องจริงผ่านจอ เพราะฉะนั้นเราก็จะทำเป็นแบบของเรา แต่ว่าเราออกพื้นที่อยู่แล้ว เราก็อาจจะเอาภาพเหตุการณ์มาเล่าวันต่อวัน”

“ก็คิดไว้หลายๆ อย่าง หรือไม่ก็อาจจะนำเสนอไปยังช่องต่างๆ แต่ว่าถ้าจะทำ คือในกรณีที่หนังมันไม่เวิร์คนะ ถ้ามันไม่เป็นอย่างที่เราตั้งใจไว้เพราะหนังเรื่องหนึ่งก็ลงทุน 20-30 ล้าน”

กำลังโหลดความคิดเห็น