Facebook...teelao1979@hotmail.com
อาจจะเป็นความรู้สึกส่วนตัว...เพราะตั้งแต่ที่ได้ยินโปรเจคต์นี้ครั้งแรก หนังอย่าง “หลุด 4 หลุด” ก็เป็นผลงานที่ผมอยากดูมากๆ เหมือนอย่างที่เคยบอกไว้ในรายการ Viewfinder ทางช่องซูเปอร์บันเทิงเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ที่บอกว่าอยากดู ก็เพราะเหตุผลองค์ประกอบด้าน “บุคลากร” ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น “เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์” นักวาดการ์ตูนที่ดันมีทักษะด้านการเขียนบทภาพยนตร์ได้ดียิ่งกว่าหลายๆ คนที่มีอาชีพเขียนบทโดยตรงซะด้วยซ้ำ
ที่ผ่านๆ มา คนดูหนังบ้านเรา คงรับรู้รับทราบในชั้นเชิงและฝีไม้ลายมือของเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ กันมาแล้ว ทั้งจากหนังที่สร้างมาจากการ์ตูนของเขาอย่าง 13 เกมสยอง (The 13th Quiz Show) รวมไปจนถึงการเขียนบทให้กับหนังดังๆ ทั้ง “บอดี้ ศพ 19”, “สี่แพร่ง” (ตอน ยันต์สั่งตาย), และเมื่อปีที่ผ่านมา ก็มี Who are You (ใคร...ในห้อง) ที่มีเรื่องมีราวว่าถูกผู้กำกับจับเอาไปยำซะจนเละ ไม่หลงเหลือร่องรอยคอนเซ็ปต์ของคนต้นเรื่องเลย
ไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะอยากจะกลับมา “แก้มือ” หรือเปล่า แต่สุดท้าย เอกสิทธิ์ก็คิดโปรเจคต์นี้ขึ้นมาในชื่อว่า “หลุดสี่หลุด” ที่ประกอบไปด้วยหนังสั้น 4 เรื่องในแนวทางของหนังเขย่าขวัญมากกว่าจะเป็นสยองขวัญเหมือนกับผลงานที่ผ่านๆ มาของเขา
อย่างไรก็ดี ขณะที่ชื่อของเอกสิทธิ์มีสถานะเสมือนตัวตั้งตัวตีผู้เริ่มต้นไอเดีย แต่สิ่งที่ทำให้ “หลุด 4 หลุด” ดูมีออร่าน่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ชื่อของผู้กำกับแต่ละคนที่มาร่วมปล่อยพลังกันในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล”, “ก้องเกียรติ โขมศิริ” และ “ภวัต พนังคศิริ”
อย่างไม่ต้องชมเชยให้มากความ ผมว่าคนทำหนังเหล่านี้ได้พิสูจน์ศักยภาพของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์มาแล้ว คนที่ได้ดูหนังอย่าง “13 เกมสยอง” และ “รักแห่งสยาม” ก็คงจะพิจารณากันได้ถึงความสามารถของมะเดี่ยว-ชูเกียรติ เช่นเดียวกับที่ก็น่าจะรู้ถึงความมีฝีมือของก้องเกียรติ จากเรื่อง “ลองของ”, “ไชยา” และ “เฉือน” ส่วนภวัตนั้น ก็การันตีได้จากหนังนัวร์ (Noir) เข้มๆ ข้นๆ อย่าง “นาคปรก” ที่เพิ่งสั่นสะเทือนยุทธภพไปเมื่อปีที่แล้ว
ความโดดเด่นที่ชัดเจนที่สุดของ “หลุด 4 หลุด” ก็ยังคงมีกลิ่นอายสไตล์การ์ตูนซึ่งเป็นทางถนัดของเจ้าของเรื่องอย่างเอกสิทธิ์ และการไม่ติดกับกรอบว่ามันจะเป็นไปได้หรือเป็นไปได้ (ซึ่งก็คล้ายๆ กับการ์ตูน) เพราะสุดท้าย องค์ประกอบด้านเนื้อเรื่องเหล่านั้น มันก็ทำหน้าที่เป็นแค่เพียง “ช่องทาง” ที่รองรับให้ไอเดียและแนวความคิดไหลผ่านไปสู่คนดู
ตัวอย่างที่ชัดมากๆ ในแง่นี้ก็คือเรื่องเปิดอย่าง “เกรียนล้างโลก” ซึ่งเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ รับหน้าที่กำกับเอง ผมไม่คิดว่า ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ใครต่อใครจะต้องมานั่งปวดกบาลคำนวณการณ์ความเป็นไปได้ว่าไอ้สัญญาณโทรศัพท์มันจะฆ่าคนทั้งโลกได้อย่างไร (ซึ่งจริงๆ มันก็อาจจะทำได้ก็ได้นะครับ) แต่ถ้าเราตั้งใจฟังบทสนทนาของตัวละครที่ทั้งคุยทั้งบ่นกันพึมพำราวกับคนที่เซ็งนักเซ็งหนากับความเป็นไปของโลกนั้น มันอัดแน่นไปด้วยแง่มุมความคิดที่เย้ยหยันกระแทกกระทุ้งปรากฏการณ์ต่างๆ ที่กำลังเป็นอยู่และเป็นไปในสังคมหรือกระทั่งในโลกได้อย่างน่าเจ็บปวดหัวใจ (อย่างเรื่องของการวิพากษ์การใช้เครื่องปรับอากาศกับอุณหภูมิความร้อนของโลกนั้น ก็เป็นประเด็นที่เราๆ ท่านๆ ชอบถกกันอยู่เสมอๆ ในชีวิตจริงๆ)
ขณะที่ “ร้านของขวัญเพื่อคนที่คุณเกลียด” (กำกับโดยก้องเกียรติ โขมศิริ) ก็ดูแปลกตั้งแต่ชื่อเรื่องและชื่อร้าน เกิดและเติบโตมาจนเกือบจะครึ่งชีวิต ผมก็เพิ่งจะได้ยินนี่แหละครับ ร้านของขวัญบ้าอะไรมีไว้เพื่อให้คนไปจับจ่ายซื้อหาสิ่งของไปมอบให้แก่คนที่เกลียด เพราะถ้าเป็นผม เกลียดใครก็เกลียดไปเฉยๆ ไม่เห็นจะต้องเหนื่อยไปซื้ออะไรให้เบื๊อกนั่นเลย แต่ไม่ใช่อย่างที่ผมคิดหรอก เพราะสิ่งที่หนังจะบอกกับเราจริงๆ ก็คือ สิ่งของแต่ละชิ้นที่คุณมาซื้อไปจากร้านนี้ มันมีอานุภาพมากพอที่จะคร่าชีวิตของคนที่คุณเกลียดได้ และที่สำคัญ มันก็ไม่ใช่สิ่งของที่น่าสะพรึงกลัวอะไร ซ้ำมิหนำ ของบางชิ้นยังดูหรูหราคาแพงชนิดที่ผู้ได้รับจะต้องดีใจ (อย่างเช่น ไอแพด รองเท้าแบรนด์เนม ฯลฯ)
แต่ใครเลยจะรู้ “เบื้องหลัง” สิ่งของหรูๆ ราคาแพงๆ นั้น มันคือความเกลียดเข้าไส้ของคนที่มอบให้ และถ้าไม่ระมัดระวังหรือตรวจสอบให้ละเอียด มันก็อาจจะทำให้คุณตายได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ “ร้านของขวัญฯ” ดูจะแปลกๆ จนน่ากลัว แต่ตัวเนื้อหาของหนังก็ยังไม่ลืมที่จะทิ้งปมไว้ให้คิดเกี่ยวกับผลกรรมและความผิดบาป เพราะอยู่ดีๆ มันไม่ใช่ว่าใครก็อยากจะเดินเข้าไปในร้านของขวัญร้านนั้นแล้วเลือกหาสิ่งของมามอบให้คุณหรอก ถ้าคุณไม่ไปทำอะไรให้ใครเขาเกลียดคุณก่อน
และก็เหมือนกับสองตอนที่ว่ามา ผมคิดว่า “ฮู อา กง” (กำกับโดยมะเดี่ยว-ชูเกียรติ และเหมือนจะเล่นล้อกับชื่อ Who are you อยู่กลายๆ) วางตัวเองไว้เหนือ “ความเป็นไปได้” โดยสิ้นเชิง เพราะถึงแม้คุณหมอหนุ่มที่เพิ่งจบมาหมาดๆ จะพยายามอธิบายว่ามันมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับอยู่ แต่การที่อากงซึ่งตายไปนานแล้ว (แต่สั่งเสียก่อนตายว่าให้เก็บศพไว้ที่บ้าน) จะลุกขึ้นมาเดินไปโน่นไปนี่ได้ แต่ก็อย่างที่บอก ความหลุดโลกแบบนั้นมันไม่สำคัญหรอก เพราะสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ “เนื้อหา” ที่แฝงมากับเนื้อเรื่องนั่นต่างหาก
ในหนังสั้นทั้งสี่เรื่อง “ฮู อา กง” ดูจะมี “ทาง” ที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ของเรื่องที่ไม่เน้นความเคร่งเครียดซีเรียสจริงจัง บรรยากาศของหนังดำเนินไปอย่างคึกครื้นเฮฮา และทำออกมาได้ดีไม่น้อยไปกว่า “คนกอง” ของ 5 แพร่ง และดีกว่าตอน “ขึ้นครู” ในเรื่อง “ตายโหง”
ผมชอบหนังสั้นตอนนี้ เพราะรู้สึกว่า หนังมีความแข็งแรงและแม่นยำมากในเรื่องจังหวะอารมณ์ขัน โดยเฉพาะตอนที่อากงออกฉากทีไร เป็นได้ฮากันทีนั้น เช่นเดียวกันกับ “หนุ่มนะฮะ” คนนั้นที่เรียกเสียงหัวเราะลั่นกันทั้งโรง แต่กระนั้น ใช่ว่าหนังจะมาเอาฮากันแบบขำๆ โดยไม่มีอะไรเหมือนกับ “คนกอง” หรือ “ขึ้นครู” หนังปิดท้ายด้วยประโยคสอนใจคมๆ (และด่าเจ็บๆ) ของอากงกับเรื่องรักที่สุดแสนโรแมนติกชนิดที่เราเองก็ต้องทึ่งว่ามันเป็นไปได้ยังไงวะครับ
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามถึงเรื่องที่ “ลงตัว” ที่สุด ผมยกให้ “คืนจิตหลุด” ครับ หนังมีความแน่นในเชิงโครงสร้างและองค์ประกอบครอบคลุมรอบด้าน ทั้งตัวเรื่อง การดำเนินเรื่อง รวมไปจนถึงนักแสดง ฉากและแบ็กกราวด์ที่ผ่านการจัดแสงให้ออกมาอึมครึมทึมเทาตามสไตล์ของฟิล์มนัวร์ ก็เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับบรรยากาศของเรื่องและคาแรกเตอร์ของตัวละคร
ภวัต พนังคศิริ ที่เคยพูดถึงโจรห่มเหลือง ในเรื่อง “นาคปรก” ยังคงไปได้สวยกับการเล่าเรื่องโจรในหนังเรื่องนี้ ข้อแตกต่างอยู่เพียงแค่ที่สถานการณ์ซึ่งโจรต้องเผชิญใน “คืนจิตหลุด” มันไม่ใช่การถูกตามล้างตามเช็ดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากแต่เป็น “อะไรบางอย่าง” ซึ่งดูราวกับภูตผีที่มาออกคำสั่งให้ทำโน่นทำนี่จนทำให้ “ค่ำคืนนี้” ของพวกเขา กลายเป็นค่ำคืนที่ชวนให้ประสาทรับประทานอย่างถึงที่สุด
คนที่ต้องชมมากๆ ก็คือ ทั้งผู้กำกับและนักแสดงอย่างอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม พวกเขาราวกับสมคบคิดกันแบบแนบเนียนจนนำมาสู่แอ็คติ้งที่ดีสุดๆ อีกครั้งหนึ่งของอนันดา ซึ่งบางที การแสดงของเขาในเรื่องนี้อาจจะดีมากกว่าใน “ชั่วฟ้าดินสลาย” ด้วยซ้ำไป ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของเขา ผมไม่แปลกใจเลยที่สถาบันรางวัลบางแห่งเริ่มแจกรางวัลให้กับ “บักจ่อย” คนนี้แล้ว และเชื่อสิ รางวัลใหญ่ๆ ที่รอจะแจก อย่างสุพรรณหงส์ ก็คงจะมอบตำแหน่งนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมให้แก่เขาเหมือนกัน ไม่ว่าจะได้จากเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” หรือ “คืนจิตหลุด” ก็เหมาะสมทั้งนั้น
อนันดา ในเรื่องนี้ เขาคือคนหนุ่มที่ลุ่มหลงในโลกของความรุนแรง ตั้งแต่ได้ปืนกระบอกนั้นมา ปืนคือสัญลักษณ์แห่งความรุนแรงที่เขาเสพติด (เหมือนกับเสพติดยาระงับปวดและความรุนแรงในเรื่อง “อินทรีแดง”) หรือถ้าจะพูดให้ถูก เขาคือตำรับตัวละครแบบ “บ้า-ดี-เดือด” ครบสูตร ไม่ขาวสะอาด แต่ก็ใช่ว่าจะเลวร้ายจนหาดีไม่ได้ เป็นตัวละครสีเทาๆ ตามแบบแผนตัวละครของฟิล์มนัวร์ เพราะตอนที่บ้าหรือเวลาที่คลั่ง ก็ราวกับว่าโลกทั้งโลกจะสั่นสะเทือน แต่ถึงกระนั้น เมื่อได้สัมผัสด้านที่ดีของเขา เราก็จะรู้สึกว่าผู้ชายคนนี้ช่างมีหัวจิตหัวใจที่ยิ่งใหญ่ซะเหลือเกิน
ว่ากันถึงวัฒนธรรมของหนังสั้นหลายตอนในหนึ่งเรื่องที่เฟื่องขึ้นมาในรอบหลายปีที่ผ่าน ผมว่า “หลุด 4 หลุด” นอกจากจะมีคุณภาพที่ไม่ต่ำต้อยไก่กาแล้ว ยังสามารถพาตัวเอง “หลุดพ้น” ออกไปจากกรอบเดิมๆ ของหนังกลุ่มนี้ ที่ถ้าไม่ใช่มาสไตล์ “ผีหลอกผีหลอน” อย่าง “5 แพร่ง” หรือ “ตายโหง” ก็เป็นตลกกันไปซะ เหมือนอย่าง “สามย่าน” แต่ “หลุด 4 หลุด” วางตำแหน่งตัวเองใหม่ ด้วยเรื่องราวที่ค่อนข้างจะโอเว่อร์และหลุดโลก ไม่พาผีมาจ๊ะเอ๋ให้คนดูตกใจ แต่ใช้ทักษะด้านจิตวิทยามาเล่นกับจิตของตัวละคร ขณะเดียวกัน ก็ไม่หลงลืมที่จะสื่อสะท้อนมุมมองความคิดบางประการซ้อนทับมากับตัวเรื่องด้วย
“หลุด 4 หลุด” เป็นหนังไทยเรื่องแรกของปีนี้ที่ผมขอชมและเชียร์ให้ไปดูกัน ที่สำคัญ อยากให้จับตาดูบทบาทการแสดงของอนันดาในเรื่องนี้ให้ดีๆ ไม่รู้ผมคิดไปเองคนเดียวหรือเปล่า แต่ก็นี่แหละครับที่ผมอยากจะขอใช้คำว่า “มืออาชีพเท่านั้นที่ทำได้”!!