xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะรักกันได้ - มิวสิคัลไทย รสชาติเยี่ยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ความงามวิไล ข้ามิได้ปรารถนา ข้าชังนักหนาเจ้าเอย” - ดารารายพิลาส
องก์ที่ 2 ฉากแรก … ในนิมิตนั้น อริยวรรต (พิษณุ นิ่มสกุล) กษัตริย์แห่งแคว้นมคธเห็นนางผู้เลอโฉมกำลังกรีดเสียงร่ำร้องรำพันเกลียดชังความงามของตนเอง … เสียงโหยหวนของความรันทดแห่งนางถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลง “จุฬาตรีคูณ” จนอริยวรรตสะดุ้งตื่นจากฝัน และมุ่งตามหา “นางในฝัน” ในกรุงพาราณสี …

ที่แท้ “นางในฝัน” ของกษัตริย์อริยวรรตคือ ดารารายพิลาส (พริมรตา เดชอุดม) ธิดากษัตริย์แห่งแคว้นกาสี กรุงพาราณสี

ขณะที่ผู้ชมละคร “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” กำลังชื่นชมกับฉากที่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันไปสู่เรื่องราวตามจินตนิยายของพนมเทียน เสียงของวิทิต (สุเมธ) ผู้กำกับละครเวทีก็เข้ามาในฉาก แท้ที่จริงแล้ว ฉากเมื่อสักครู่ที่เพิ่งผ่านไปคือการซ้อมแบบเหมือนจริงในละครเวทีเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” … เชื่อว่าผู้ชมหลายคนคงจะเข้าใจว่าในองก์ 2 นี้คงจะเป็นละคร “จุฬาตรีคูณ” ที่แยกขาดจากองก์แรก เพราะนักแสดงที่จะต้องแสดงละครเรื่อง จุฬาตรีคูณ ต่างก็สวมเครื่องแต่งกายอย่างชาวภารตะ ไม่ว่าจะเป็น พิษณุ นิ่มสกุล, พริมรตา เดชอุดม, รัชพล แย้มแสง, ณัฏฐ์นรี มะลิทอง, วิสรรค์ ฉัตรรังสิกุล และ มฤษฏ์ เดชไกรศักดิ์

ละครซ้อนละครยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันแสดงจริง ท่ามกลางเรื่องราวของคนหน้าและหลังเวที !! เหลือบางเพลง เช่น “ปองใจรัก” ที่ยังต้องดำเนินต่อไปในการแสดง เรื่องใด ฉากใดที่กล่าวเล่าอ้างไปแล้วกับการ “ซ้อม” จะไม่นำมากล่าวถึงอีก

แม้การร้อยเรียง “ละครซ้อนละคร” เรื่องนี้จะเหมือนภาพที่ถูกซอยแบ่งไป - มาระหว่างสังคมปัจจุบันกับการแสดงละครเวที “จุฬาตรีคูณ” ทว่าทุกอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนโดยทุกประการ … ใครที่มีโอกาสชม “ กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” แล้ว ย่อมสัมผัสได้ถึง “รส” ที่ถูกนำมาร้อยเรียงได้อย่างเหมาะสม งดงามและเต็มอิ่มภายใต้บทเพลงของสุนทราภรณ์กว่า 20 เพลง

ก่อนละครจะรูดม่านในแต่ละรอบนั้น ทีมงานนักแสดงได้ส่งมอบเพลงพิเศษ “เริงลีลาศ” (รวมหมู่นักแสดง) ไปให้ผู้ชมทุกรอบเพื่อส่งต่อความสุข เสียงปรบมือดังกึกก้องโรงละครตอกย้ำให้เห็นความสำเร็จอันงดงาม จนมูลนิธิสุนทราภรณ์และบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย ตัดสินใจเพิ่มอีก 1 รอบ เวลา 19.30 น. ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 ที่จะถึงนี้

เพลงนำ - ละครตาม
ละครเรื่องนี้ตั้งใจที่จะนำเสนอ “บทเพลงของสุนทราภรณ์” ในโอกาส 100 ปีชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นลำดับแรก โดยมี “ละครเวที” เป็นส่วนที่ 2 และ “ฉาก แสง สี เสียง” เป็นองค์ประกอบในส่วนที่ 3

นอกจาก 5 เพลงเอกจากละครเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” อันได้แก่ จุฬาตรีคูณ, จ้าวไม่มีศาล, อ้อมกอดพี่, ใต้ร่มมลุลี, ปองใจรัก ที่เขียนทำนอง - คำร้อง โดย เอื้อ สุนทรสนาน และแก้ว อัจฉริยะกุลแล้ว การให้ความสำคัญต่อภาคส่วนของชีวิตปัจจุบันถึง 70 % ทำให้สามารถนำเพลงอื่นๆ ของสุนทราภรณ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของละครเวทีเรื่องนี้ได้

ผลงานของครูเพลงอื่นๆ ที่อยู่ในละครเรื่องนี้ และให้ทำนองโดย “เอื้อ สุนทรสนาน” เช่น ขอให้เหมือนเดิม, กว่าจะรักกันได้ (พรพิรุณ) , ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม (รังษีรัตน์), ครวญถึงเจ้า (เทอด วรรธนา), ศรรัก (เล็ก โตปาน), มองอะไร, เสียแรงรักใคร่, พรานล่อเนื้อ (แก้ว อัจฉริยะกุล), ไม่ใกล้ไม่ไกล (สมศักดิ์ เทพานนท์), จำได้ไหม (ธาตรี), คนเรารักกันมาก, แสนงอน, เริงลีลาศ (ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ) มีเพียง 2 เพลงนี้เท่านั้นที่ครูเอื้อไม่ได้สร้างทำนอง แต่เป็นเพลงของคณะสุนทราภรณ์ คือ จุดไต้ตำตอ (ธนิต ผลประเสริฐ- สมศักดิ์ เทพานนท์ ) และบุพเพสันนิวาส (เวส สุนทรจามร - สุรัฐ พุกกะเวส )

เพลงจากเสียงนักแสดงละครเวทีเรื่องนี้ไม่ได้จัดทำเป็น “อัลบั้ม” ด้วยมิวสิคัลจะสมบูรณ์และสนุกต้องฟังโดยผ่านการชมการแสดงเท่านั้น แต่ “ทุกเพลง” จากละครเรื่องนี้ ทางบริษัทเมโทรแผ่นเสียงและเทป (1981) จำกัดที่ถือลิขสิทธิ์เพลงสุนทราภรณ์อยู่ได้จัดทำอัลบั้ม สุนทราภรณ์ Original และ Retro “กว่าจะรักกันได้” ออกมาจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว

เพลงจากละครเวทีเรื่องนี้มี “ฟอร์ด” สบชัย ไกรยูรเสน เป็น Music Director และ “อู๋” ธรรพ์ณธร ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา เป็น Producer & Sound Designer

“ในฐานะของผู้กำกับ เราจะคำนึงว่าบทที่เขาเขียนมา เราจะทำอย่างไรเพื่อให้คนเขียนบทเสียใจน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันเราจะจินตนาการตัวอักษรให้เป็นภาพขึ้นมาได้อย่างไร อันนี้แหละที่เราคิดว่ามันน่าท้าทาย ในขณะเดียวกัน บทเพลงสุนทราภรณ์เราก็ไม่ควรที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรมาก สิ่งที่เราต้องการจะบอกคือ มิวสิคัลมีมากมาย เพลงสมัยใหม่มีมากมาย แต่ถ้าเราเอาเพลงสุนทราภรณ์มาเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดมันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเราต้องดำรงไว้ แล้วการที่เราจะดำรงไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้อีก เราจะเอามาบาลานซ์อย่างไรเพื่อให้บทเพลงของสุนทราภรณ์เมื่อวันวานกลับมาดังก้องในวันนี้ด้วยความร่วมสมัยบนศาสตร์ของละครเวที” แหม่ม - พิไลวรรณ บุญล้น ผู้กำกับการแสดงกล่าว

“ หน้าที่หลักของสถาบันสุนทราภรณ์คือ ทำอย่างไรที่เพลงของเราเหล่านี้จะสื่อไปถึงคนรุ่นใหม่ได้ เราจะเก็บเพลงไว้เฉพาะแต่คนรุ่นเก่าคงไม่ได้ หน้าที่ของเราจึงต้องเอาเพลงเหล่านี้ไปปรับให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ถือเป็นการปรับที่ชัดเจนที่สุด เพราะเพลงเหล่านี้จะถูกนำไปเพื่อการแสดง ไม่ใช่เพื่อร้องอย่างที่เราเคยชิน การแสดงมันต้องมีเรื่องของอารมณ์ของคนแสดง มีบางช่วงตอนอาจจะต้องถูกเรียบเรียงให้จังหวะดนตรีชัดเจนเพื่อสอดรับกับการแสดง การทำมิวสิคัลในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่จะตอบสังคมว่า เพลงของสุนทราภรณ์สามารถหยิบจับไปทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่แค่ร้องและบรรเลงบนเวทีเท่านั้น” อติพร เสนะวงศ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิ สุนทราภรณ์กล่าว

“ มันเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมากที่เพลงสุนทราภรณ์ซึ่งเกิดมาแล้วกว่า 60 -70 ปียังสามารถอยู่กับโลกในยุคปัจจุบัน ไปกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ได้ ไปกับวงออร์เคสตราใหญ่ๆ ได้ โดยที่ยังสามารถรักษาความยิ่งใหญ่และงดงามไว้ได้ เขาถึงบอกว่า ดนตรีมันคือ Universal Language เป็นภาษาสากลในจักรวาลนี้ซึ่งไม่มีวันตาย โดยเฉพาะมรดกของคนไทยอย่างบทเพลงของสุนทราภรณ์” ครูอ้วน - มณีนุช เสมรสุตกล่าว

เนื่องจากครูเพลงรุ่นเก่าส่วนใหญ่ใช้ภาษาวรรณคดีในการประพันธ์คำร้อง และมีเพลงจำนวนไม่น้อยที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับละครวิทยุ, ละครเวที และภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ (ในยุคนั้นและสมัยต่อมา) จึงทำให้เพลงส่วนใหญ่มีความเป็น “ดรามา” สูง เพื่อถูกปรับเปลี่ยนจากการ “ร้องและฟัง” อย่างปกติมาเป็น “การแสดงและโชว์” ก็จะเห็นความวิจิตรตระการตาอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนไว้ในภาษาและตัวโน้ตที่ครูเพลงจงใจเขียนให้ทำนองไว้อย่างยิ่งใหญ่

เพลงนี้ … “เสียแรงรักใคร่” ถูกนำมาใช้ในการ “ตัดพ้อ” ระหว่างผู้กำกับฯ - วิฑิต (สุเมธ องอาจ) และผู้เขียนบท - เอื้อมพร (มณีนุช เสมรสุต)

วิฑิต - ที่ผมแก้บทคุณ เพราะคิดว่าคุณคงจะไม่เข้าใจความแตกต่างของความรักกับหน้าที่
เอื้อมพร - ใครกันแน่ที่ไม่เข้าใจ คุณต้องรู้ด้วยว่าเมื่อผู้หญิงรักใครแล้ว ไม่มีวันจะเปลี่ยนใจ

“ทางคุณฟอร์ดเขาชำนาญในเรื่องเครื่องเป่า วงสุนทราภรณ์เป็นวงบิ๊กแบนด์ที่ใช้เครื่องเป่าเข้ามาเสริมให้เพลงมีความหนักแน่น ผมเชื่อว่านักดนตรีที่ชำนาญเรื่องเครื่องเป่าย่อมต้องรู้จักเพลงของสุนทราภรณ์ไม่มากก็น้อย แต่ทางคุณอู๋เขาถนัดและมาทางแนวร้อง แถมยังมีภาพลักษณ์เป็นร็อกเกอร์ด้วย ตรงนี้ที่ผมเป็นห่วง มีอยู่เพลงหนึ่งคือ เสียแรงรักใคร่ ซึ่งจะใช้ประกอบในฉากที่เศร้า เพลงนี้ผมต้องบอกว่าขอช้านิดหนึ่งเพื่อจะได้ทอดอารมณ์เพลง ซึ่งผมทึ่งมาก นำเพลงด้วยเสียงเปียโน … ” สุเมธ องอาจกล่าว

“เขาออเรนต์เหมือนกับมีออร์เคสตราคลอ พอถึงช่วงที่เราต้องถ่ายทอดอารมณ์แสดงความเจ็บปวดออกมา ทุกครั้งที่เราร้อง เรารู้สึกเลยว่ามันช่างเป็นละครเพลงบรอดเวย์เสียนี่กระไร”

เพลงนี้ผู้ชายร้องเป็นหลัก มีเพียงท่อนเดียวที่ฝ่ายหญิงสอดร้องแซมขึ้นมา
“ ช้ำนักรักเอ๋ยเคยพร่ำ เสียถ้อยเสียคำที่เคยให้ ถูกเธอผลักไส ตัดบัวซิเหลือเยื่อใย ตัดใจไม่เหลือเลย” สมบูรณ์ ไพเราะ และให้จินตนาการได้สุดยอดจริงๆ

อีกเพลงหนึ่งที่ควรแก่การกล่าวถึงคือ เพลง “มองอะไร” นักฟังเพลงอาจจะคุ้นกับเสียงแหลม สูง และแสดงอารมณ์สนุกสนานของศรีสุดา รัชตะวรรณ อดีตนักร้องหญิงวงสุนทราภรณ์ผู้ล่วงลับ บนเวทีแห่งนี้ สมนึก ประธานมูลนิธิลายครามสยามบดี ที่แสดงโดย สุประวัติ ปัทมสูตเป็นคนขับร้อง เพราะเห็นว่า ปกป้อง (พิษณุ นิ่มสกุล) กำลังตะลึงกับการจ้องมองสายหยุด (พริมรตา เดชอุดม) ลูกสาวของตนอยู่ เป็นต้น เป็นอีกเพลงหนึ่งที่แสดงให้เห็นความกลมกลืนของเพลงกับละครเป็นอย่างดี ใครจะไปคิดว่าเพลงเฉพาะผู้หญิงอย่างนี้ พอถูกปรับโดยมีการแสดงเข้าช่วย จะให้อีกอารมณ์หนึ่งได้อย่างน่าทึ่ง

เพลงครูในความเห็นนักแสดง
สุเมธ องอาจ ถือเป็นคนที่คุ้นเคยกับเพลงสุนทราภรณ์มานาน หลายปีก่อน นอกจากผลงาน “สุเมธแอนด์เดอะปั๋ง” แล้ว ยังมีโอกาสได้ขับร้องเพลงอมตะเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกกรุง และเพลงสุนทราภรณ์ โดยเขาเป็นหนึ่งในศิลปินชายที่ร่วมในผลงาน “แกรมมี่โกลด์ ซีรีส์ สุนทราภรณ์”

“ เรื่องการร้องเพลงผมไม่พะวงเลย เพราะผมอยู่กับบทเพลงเหล่านี้มาตั้งแต่จำความได้ ในแต่ละบทเพลงคือ ภาษาร้อยกรองชั้นดี คำร้อง - ทำนองเพลงของสุนทราภรณ์ได้รับการพิสูจน์ด้วยกาลเวลามายาวนานว่าเป็นเพลงที่ดีจริงเราอาจจะสูญเสียครูเอื้อ และครูเพลงท่านอื่นๆ รวมถึงนักร้องไปกับกาลเวลา แต่บทเพลงของสุนทราภรณ์ก็ยังอยู่และได้รับการถ่ายทอดใหม่อยู่ตลอดเวลา”

“บอย” พิษณุ นิ่มสกุล AF รุ่น 2 ซึ่งเป็นรุ่นที่ทางโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีได้ส่งครูเข้าไปฝึกสอนการร้องเพลงที่บ้านอะคาเดมีด้วยตัวเอง อีกทั้งที่ผ่านมานั้นเขาเองเคยขึ้นเวทีหลายครั้งเพื่อถ่ายทอดบทเพลงของสุนทราภรณ์ ดังเช่นเวทีคอนเสิร์ต “มหัศจรรย์เพลงสุนทราภรณ์” โดยคุณพระช่วย เป็นต้น
“เรามีความสุขที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดเพลงดีๆ ของครูเพลง และพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว เพลงสุนทราภรณ์เปรียบเสมือนกับมรดกของคนไทยที่ควรให้คนในรุ่นลูก รุ่นหลานได้สืบกันต่อไปเพื่อไม่ให้มรดกชิ้นนี้มันหายไป ผมยอมรับเลยว่า เมื่อมีโอกาสถ่ายทอดเพลงสุนทราภรณ์บ่อยๆ จะเริ่มอินไปกับเพลงเหล่านี้ อยากจะเก็บเพลงดีๆ เหล่านี้ไว้กับคนไทยไปนานๆ”

“จ๊ะจ๋า” พริมรตา เดชอุดม เป็นครั้งแรกที่มาเล่นละครเวที และเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักเรื่องราวและบทเพลงของสุนทราภรณ์

“ จ๋าได้เจอกับทีมงานคุณภาพ ได้รับรู้เรื่องราวที่กว่าจะมาเป็นเพลงสุนทราภรณ์ในทุกวันนี้ แค่นี้ก็คุ้มแล้วสำหรับชีวิตจ๋า จ๋าเชื่อว่าน้อยคนที่จะได้สัมผัสกับบทเพลงเหล่านี้ น้อยคนที่จะรู้ถึงที่มา - ที่ไปของเพลงเหล่านี้ว่า มันคืออะไร จ๋าไม่อายที่จะบอกตรงๆ ว่า จนอายุป่านนี้แล้วยังไม่เคยรู้ว่าครูเอื้อมีผลงานเพลงเป็นพันเพลง และหลายเพลงของครูเอื้อถูกนำมาถ่ายทอดโดยนักร้องหลายรุ่น ตกทอดเป็นมรดกและสมบัติของชาติไทย และยังไม่เคยรู้ว่า ครูเอื้อเป็นบุคคลสำคัญของโลกตามประกาศของยูเนสโก”

“มิวสิค” รัชพล แย้มแสง AF4 เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมกับงานนี้
“เมื่อมาร้องเพลงสุนทราภรณ์ รู้เลยว่ามันเข้าไปในความรู้สึกของเรามากกว่า เนื่องจากเราได้มาร้อง และสัมผัสได้จริงยิ่งกว่าเพลงที่แต่งใหม่ในสมัยนี้อีก”

“อีฟ” พุทธธิดา ศิระฉายา ลูกไม้ไม่ไกลต้น ผู้เป็นทายาทของเศรษฐา ศิระฉายา และอรัญญา นามวงศ์ ซึ่งเคยเป็นอดีตนักร้องดาวรุ่งของโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีในลำดับที่ 46 (จากหนังสือ “สุนทราภรณ์กึ่งศตวรรษ”)

“ตัวอีฟเองได้อะไรมาเยอะกับการแสดงละครเวทีเรื่องนี้ เป็นละครเพลงครั้งแรกในชีวิต และทุกบทเพลงยอมรับว่ามีความไพเราะมาก กับเพลงไม่กี่เพลงที่เรามีโอกาสได้ร้องทำให้เรามีความสุขกับการร้องเพลงและพร้อมจะส่งต่อความสุขนี้ไปให้แก่ผู้ชมละคร”

3 คู่ชู้ชื่นใน “กว่าจะรักกันได้”
“กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” เป็นมิวสิคัลรสชาติไทยแท้ๆ ที่มีความยาวราว 3 ชั่วโมงเศษ ที่เขียนบทโดย “อั๋น” วัชระ แวววุฒินันท์ และกำกับการแสดงโดย “แหม่ม” พิไลวรรณ บุญล้น แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของคน 3 คู่ที่กว่าจะรักกันได้

“เราต้องสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครแต่ละตัวขึ้นมาเพื่อให้มันมีมิติ แล้วรีบรวบรัดตัดความให้เร็วที่สุด มีไดอะล็อกแล้วตัดไปร้องเพลง แล้วไดอะล็อกต้องกลืนไปกับเพลง จะทำอย่างไรให้มันกลมกลืนไปในทางเดียวกัน และในเนื้อเพลงแต่ละเพลงก็ยังต้องมาตีความอีกว่า มันแปลว่าอะไร ร้องเพราะอะไร ทำไมต้องร้อง เราจะเอาเพลงของสุนทราภรณ์เข้าไปในชีวิตของตัวละครได้อย่างไร เนื้อเพลงตรงนี้น่าจะให้เขาทำอะไร หรือท่อนโซโลจะให้เขาทำอะไร เพื่อให้เนื้อเรื่องมันสามารถเดินต่อจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งได้ ทุกเรื่องต้องคิดเยอะ” แหม่ม - พิไลวรรณ บุญล้นกล่าว

วิฑิต (สุเมธ องอาจ) - เอื้อมพร (มณีนุช เสมรสุต) / เป็นคู่รักรุ่นใหญ่เนื่องจากทั้งคู่เคยรักกันมาก่อน และมีเรื่องให้ผิดใจกันเมื่อ 10 ปีที่แล้วแต่ยังไม่มีโอกาสได้เคลียร์กัน จนเมื่อโคจรกลับมาร่วมงานกันในละครเรื่องนี้

“คู่นี้เมื่อมาเจอกัน มันเหมือนกับมันมีอะไรที่ยังไม่เสร็จสิ้นที่ต้องมาสะสางกัน เมื่อ 5-4-3-2-1 เปิดฉากปุ๊บ เราต้องมีเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราแล้ว ก้าวเดินมาอยู่หน้าเวทีเราต้องต่อกับเรื่องในใจในอดีตให้ติด แล้วจะเล่นอย่างไรไม่ให้คู่นี้ดูแก่ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่อ่อนและมีจริตจนเกินงามจนไปแตะคู่ของเด็กๆ อีก 2 คู่” มณีนุช เสมรสุตกล่าว

“ เรื่องร้องเพลงผมไม่ห่วง ส่วนภาพยนตร์กับละครโทรทัศน์เคยเล่นมาบ้าง ส่วนละครเวทีไม่ค่อยได้เล่น แล้วการเล่นละครเวทีมันต้องเกี่ยวข้องกับเสียง การวางมุม วางบอดี้ของตัวเองกับคนดู เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นตัวเรา” สุเมธกล่าว

ปกป้อง (พิษณุ นิ่มสกุล) - สายหยุด (พริมรตา เดชอุดม) / พระ - นางของเรื่อง และยังต้องรับบท พระ - นางในละครเวทีเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ซ้อนเข้ามาอีกต่างหาก ตัวของ “บอย” ต้องรับบทสถาปนิกขี้เล่น กุ๊กกิ๊ก อารมณ์ดี และมีความบ้าอยู่ในตัว ในขณะที่ “จ๊ะจ๋า” จะออกแนวลูกคุณหนูแสนซน

“ผมมีความกดดันกับส่วนที่เป็นจุฬาตรีคูณมาก เนื่องจากจุฬาตรีคูณใช้ถ้อยคำสละสลวย ไม่ใช่ภาษาที่เราใช้สื่อสารกันในปัจจุบัน พี่ๆ ทีมงานเอาหนังสือเล่มนี้มาให้อ่าน ยอมรับว่าคุณพนมเทียนเขียนภาษาสวยงามมาก เรียกว่าเป็นภาษาเทพเลย แต่อ่านกี่ครั้งๆ ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ไม่เข้าไปในหัวเราเลย แต่จ๋าอ่านแล้วเข้าใจ ผมเลยต้องอาศัยให้จ๋าช่วยอธิบายให้ผมฟัง วิธีจัดการของผมคือ ทำการบ้านเยอะๆ” บอย - พิษณุ นิ่มสกุลกล่าว

“ จ๋ายอมรับเลยว่าไม่เคยรู้จักคำว่า จุฬาตรีคูณ และไม่เคยรู้จักเพลงประกอบละครเรื่องนี้เลย เราจะทำอย่างไรกับศาสตร์ละครเวทีที่เราไม่เคยเล่นเลย จ๋าต้องอาศัยความเป็นนักแสดง โดยใช้ความพยายาม ความตั้งใจ การฝึกซ้อม หาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม พยายามที่จะเปลี่ยนความกดดันเป็นความท้าทาย” จ๊ะจ๋า - พริมรตา เดชอุดมกล่าว

ชีวิน (รัชพล แย้มแสง) - รัญญา (พุทธธิดา ศิระฉายา) / ฝ่ายชายเป็นดาราที่มีชื่อเสียงถูกรับเชิญมาเล่นละครเวทีเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ส่วนฝ่ายหญิงเป็นประชาสัมพันธ์สาวให้แก่ละครเรื่องนี้ และไปหลงรักในตัวดาราหนุ่ม

“มิวสิกเขาเด็กกว่าเราเยอะเลย และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพิ่งมารู้จักกันในเรื่องนี้แหละ ตอนที่มาร่วมงานกันในครั้งแรกช่วงแรกๆ ก็เขินๆ เหมือนกัน พี่ก็เกรงใจน้อง น้องก็เกรงใจเรา จนพี่แหม่มต้องบอกว่า ลองพยายามกันอีกนิด กว่าจะจูนกันติดมันมีเวลาของมันเหมือนกัน สำหรับอีฟคิดว่าแอ็กติ้งยากที่สุด” อี๊ฟ - พุทธธิดา ศิระฉายา กล่าว

และหากใครที่ได้ชมละครเวทีเรื่องนี้แล้วย่อมประจักษ์ว่า เลือดพ่อเศรษฐา และเลือดแม่อรัญญาแรง !! บวกกับความแก่นได้ใจแบบพอดิบพอดี ทำให้เธอมีความโดดเด่นมากคนหนึ่งบนเวทีการแสดง
“ สำหรับผม ในส่วนของจุฬาตรีคูณจะเป็นความรักที่ค่อนข้างซีเรียส ซึ่งผมต้องเล่นคู่กับ ณัฏฐ์นรี มะลิทอง นักร้องคลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์ที่มารับบท เพลินตา และอาภัสราในจุฬาตรีคูณ แต่ในองก์แรกจะเป็นรักใสๆ สไตล์วัยรุ่นที่เราไปแอบชอบพีอาร์ของหนังเรื่องนี้ อารมณ์จะคล้ายๆ กับละครซิตคอมนิดๆ และมีความเป็นคอมเมดีรวมอยู่ด้วย” รัชพล แย้มแสงกล่าว

เรื่องราวของละครเวทีเรื่อง “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ได้สะท้อนภาพการทำงานเบื้องหลังของละครซ้อนละคร โดยร้อยเอาเรื่องราวของปัจจุบัน - อดีต, งานเบื้องหน้า - เบื้องหลัง, การแสดงหน้าม่าน - หลังม่าน ตลอดจนการทำงานในภาคส่วนต่างๆ เข้ามาอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกันได้อย่างกลมกลืน โดยใช้ “เพลงสุนทราภรณ์” เป็น “ตัวตั้ง” และเขียนบทละครเพื่อ “รองรับ” เพลงเหล่านี้ ความสอดคล้องเหมาะเจาะนี้เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้ชมมีรอยยิ้มบนริมฝีปากอย่างมีความสุข บางขณะก็หัวร่อร่า เป็นความสุขที่คุณคิดไม่ถึงว่าจะทำได้เยี่ยมขนาดนี้

หมายเหตุ
“กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2554 ทุกวันศุกร์ (เวลา 19.30 น.) เสาร์ - อาทิตย์ (เวลา 14.00 น.) และล่าสุด วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เพิ่มรอบ 19.00 น. ณ โรงละคร เอ็ม เธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

.......................




เริงลีลาศ (รวมหมู่นักแสดง)
พิษณุ (ปกป้อง) , พริมรตา (สายหยุด)
รัชพล (ชีวิน), พุทธธิดา (รัญญา)
สุเมธ (วิฑิต) , มณีนุช (เอื้อมพร)
รัญญา – พีอาร์สาวหลงรักดาราหนุ่ม
“พี่ปอง น้องปอง ต่างคนต่างปอง แล้วเราจะครองคู่เอย” อริยวรรต – ดารารายพิลาส
“นอนในอ้อมกอดพี่ แขนพี่วางแทนที่ตั่งทอง”  - อริยวรรต
“มลุลีเห็นใจน้องพี่ ว่าสิ้นคืนนี้ น้องพี่สิ้นกัน” - ขัตติยะราเชนทร์ - อาภัสรา
อริยวรรตแปลงตนเป็น “พราหมณ์เฒ่า”  ตามหานางในฝัน
อติพร เสนะวงศ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิ สุนทราภรณ์
“อั๋น” วัชระ แวววุฒินันท์ ผู้เขียนบท
พิไลวรรณ บุญล้น ผู้กำกับการแสดง
“ฟอร์ด” สบชัย  และ  “อู๋” ธรรพ์ณธร
CD ชุด “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ Original”
กำลังโหลดความคิดเห็น