xs
xsm
sm
md
lg

“กัมพูชา” อัลบั้มที่ดีที่สุดของ“แอ๊ด คาราบาว”/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ปกหน้า
“หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”

“แอ๊ด คาราบาว”หรือ“ยืนยง โอภากุล” เป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกกาลเวลาพิสูจน์ว่า กว่า 30 ปีที่เขาโลดแล่นในยุทธจักรวงการเพลงไทย เขาเป็นศิลปินเพื่อชีวิตแบบไหน?

เพื่อชีวิตมวลชนหรือเพื่อชีวิตตัวเอง???

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแต่ละคนจะมีมุมมองต่อน้าแอ๊ด คาราบาว เช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ น้าแอ๊ดถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีคุณูปการต่อวงการเพลงบ้านเราไม่น้อย เพราะทั้งตัวน้าแอ๊ดและวงคาราบาวของเขาได้สร้าง“ยุคทอง”ของเพลงเพื่อชีวิตขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะผลงานในนามคาราบาวอย่าง“เมด อิน ไทยแลนด์”นั้น นอกจากจะสร้างปรากฏการณ์คาราบาวฟีเว่อร์ขายเทปได้เกินล้านตลับแล้ว งานเพลงชุดนี้ยังกลายเป็นตำนานขึ้นหิ้งค้างฟ้าเคียงคู่วงการเพลงไทยจากยุคนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

เมด อิน ไทยแลนด์ ออกมาเขย่าวงการในช่วงปลายปี(ธันวาคม)พ.ศ.2527 ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วงกลางปีเดียวกัน แอ๊ด คาราบาว ได้ออกผลงานเดี่ยวชุดแรกของตัวเองขึ้นมาในชื่อชุด“กัมพูชา” ที่ในแง่ธุรกิจแม้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในแง่ของศิลปะดนตรี นี่คือหนึ่งในผลงานเพลงที่ดีที่สุดของเมืองไทยชุดหนึ่ง

ผมจำได้ว่าหลังวงคาราบาวเริ่มดังจากชุด“วณิพก”(พ.ศ.2526)และตามต่อชื่อเสียงกันด้วยชุด“ท.ทหารอดทน”(พ.ศ.2526) ในปีถัดมาเมื่อรายการ“โลกดนตรี” เวทีที่สร้างชื่อให้กับนักร้อง วงดนตรี จำนวนมากของไทยในยุค 80’s ของโฆษกคนยาก“เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์” ออกข่าวว่าคาราบาวจะมาเล่นคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มใหม่(ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2527) ก็เฝ้าจดจ่อรอดู

ครั้นพอคาราบาวขึ้นเวทีเล่นเพลงชุด“กัมพูชา”ออกมา ฟังแล้วก็แอบผิดหวังเล็กๆ เพราะที่คาดคิดคาดหวังไว้ คาราบาวชุดใหม่มันน่าจะต้องมีเพลงมันๆโจ๊ะๆ อย่าง วณิพก ทินเนอร์ และเนื้อหาแรงๆแบบถูกฝ่ายปกครอง“แบน”กันอีกสัก 2-3 เพลง แต่กัมพูชาทำออกมาผิดคาด แถมยังกลายเป็นงานเดี่ยวของแอ๊ด คาราบาวไปเสียฉิบ

แต่กระนั้นด้วยความที่เป็นแฟนเพลงของคาราบาวอย่างเหนียวแน่น(ในยุคนั้นไม่ใช่ยุคนี้) เมื่องานของน้าแอ๊ดตัวจักรสำคัญของวงออกมาก็ต้องเก็บเงินค่าขนมไปซื้อกันหน่อย(ตอนนั้นยังเรียนประถมปลายอยู่เลย)

เมื่อได้ฟังเพลงชุดกัมพูชาหลายรอบขึ้น ฟังละเอียดขึ้น เออ...“เพราะว่ะ ชอบเว้ย”

หลังจากนั้นก็ฟังเพลงชุดกัมพูชาเรื่อยมาตามแต่โอกาสจะอำนวย เพราะอัลบั้มนี้แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จทางยอดขาย(ในยุคนั้น) แต่นี่คืองานเพลงที่เปรียบดังคลื่นใต้น้ำ ก่อนที่จะกลายเป็นคลื่นยักษ์สึนามิในชุดเมด อิน ไทยแลนด์ งานเพลงชุดที่ 5 ของคาราบาวหลังผลงานชุดนี้ได้ไม่นาน

สำหรับเหล่านักดนตรีในชุดกัมพูชานอกจากแอ๊ด คาราบาว เจ้าของอัลบั้มที่ทำหน้าที่อย่างหลากหลาย ทั้งร้องนำ กีตาร์ ฮาร์โมนิก้า ร้องคอรัส คองก้า เพอร์คัสชั่น แต่งเพลง และโปรดิวซ์เองแล้ว ก็ยังมีทีมงานนักดนตรีกลุ่มคาราบาวมารวมงานอย่างแข็งขันได้แก่ น้าเล็ก คาราบาว-ปรีชา ชนะภัย : กีตาร์, น้าเทียรี่ เมฆวัฒนา : กีตาร์ แบนโจ คอรัส, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี : เครื่องเป่า คลาริเน็ท คองก้า เพอร์คัสชั่น และน้าเขียว คาราบาว-กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร : คอรัส ร่วมด้วยแขกรับเชิญ สุเทพ โฮป-สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล : กีตาร์ แมนโดริน

สมทบด้วยงานเพลงจากเหล่านักแต่งเพลงฝีมือดี อย่าง สีสัน ควงตะคองหลง(คมสัน ดวงสูงเนิน), สำรอง อนันทัศน์,พ.ต.ท. สุรศักดิ์ สุทธารมย์(ยศในขณะนั้น) และ“นายผี” อัศนี พลจันทร์ ส่วนหน้าปกอัลบั้มได้“วสันต์ สิทธิเขต” มาวาดรูประเบิดน้อยหน่าแทรกแซมด้วยดอกกุหลาบสีชมพูอยู่ 1 ดอก ดูสื่อความหมายชัดเจนไม่ต้องขบคิดตีความมากให้ฉี่เหลือง

ในขณะที่เสียงคอรัสผู้หญิงในปกอัลบั้มไม่บอกไว้ เช่นเดียวกับตำแหน่งคีย์บอร์ดที่สร้างสีสันรองรับหลายๆเพลงได้เจ๋งเอาเรื่องก็ไม่บอกไว้ แต่ผมเข้าใจว่าจะเป็นฝีมือของ อ.ธนิสร์ เพราะในวงคาราบาวแกมีตำแหน่งเป็นมือคีย์บอร์ดด้วย

อัลบั้มกัมพูชาเปิดตัวกันตามเทรนด์สมัยนั้นด้วยเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มคือ“กัมพูชา”เสียงแบนโจลอยนำมา ส่งตามด้วยเสียงร้อง “กัมพูชา กัมพูชา...” ก่อนเปิดให้ภาคดนตรีโซโลอีกรอบในเมโลดี้หลักของเพลง นำโดยเสียงรีคอร์เดอร์(ขลุ่ยฝรั่งที่เราเรียนกันสมัยมัธยม)ฝีปากฝีมือของ อ.ธนิสร์ในทำนองง่ายๆแต่ติดหูชะมัด ชนิดที่วันนี้หลายๆคนยังฮัมตามกันได้

น้าแอ๊ดเขียนเนื้อเพลงนี้ฟังง่ายๆแต่โดนอย่างแรง!!

“สงครามไม่มีความปราณี ไม่มีความอารี มีแต่ทุกข์เวทนา หลั่งเลือดละเลงน้ำตา กองกระดูกมหึมา กลางเสียงร้องระงมทุกขเวทนา...”

สมัยก่อนเวลาฟังเพลงกัมพูชาทีไร ผมรู้สึกเศร้าใจกับการแย่งชิงอำนาจเข่นฆ่ากันเองในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ซึ่งผลพวงแห่งสงครามกลับส่งให้ใครคนหนึ่งเหยียบกองเลือดคราบน้ำตาของผู้บริสุทธิ์ขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ครั้นมาวันนี้ฟังเพลงกัมพูชาคราใดความรู้สึกมันเปลี่ยนไป กลายเป็นความเศร้าใจในประเทศตัวเอง อันเนื่องมาจากความฉ้อฉลไม่เอาไหนของนักการเมือง ทำให้ต้องกลายเป็นลูกไล่ของกัมพูชาอย่างน่าเจ็บใจ

จากกัมพูชาเพลงถัดมาเป็นเพลง“ดิน น้ำ ลม ไฟ” ว่าในมุมมองสิ่งแวดล้อม น่าฟังด้วยการไล่ลำดับความสำคัญของธาตุทั้งสี่ไล่ไปจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ ก่อนไปจบอย่างสุดสวยด้วยการพูดถึง “คน”ที่เป็นตัวทำลายทุกสิ่งแม้ธาตุทั้ง 4 จะคอยรับใช้คน แต่โลกนี้จะมีมนุษย์สักกี่คนที่อุทิศตัวตนเพื่อคนด้วยกัน

เพลงนี้มีเสียงฮาร์โมนิก้าจากน้าแอ๊ดเป่าสร้างสีสันคลอไปทั้งเพลง ร่วมด้วยคีย์บอร์ดไลน์เครื่องสายอันงดงาม ใส่อารมณ์ร่วมกับเพลงได้อย่างน่าฟัง อย่างตอนที่พูดถึงธาตุลม เมโลดี้ไลน์เครื่องสายในแถวสองก็จะใส่มารองรับแบบล่องลอยชวนให้จินตนาการถึงสายลมที่พัดพลิ้ว ผิดกับยามที่พูดถึงไฟ ไลน์เครื่องสายฟังดุดัน กราดเกรี้ยว ได้อารมณ์ไฟเผาผลาญไม่น้อยเลย
ปกหลัง
“ตำนานแผ่นดิน” ภาคดนตรีโดยเฉพาะไลน์กีตาร์ในเพลงนี้วางทางโซโลได้งดงามมาก ส่วนภาคเนื้อร้องที่เขียนโดยน้าสีสันก็จัดว่ายอดเยี่ยม พูดถึงปัญหาพื้นฐานในชนบทในอดีตของบ้านเรา จากแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนไปเป็นผืนดินอันแห้งแล้งยากเข็ญ

เนื้อเพลงช่วงแรกของเพลงนี้ฟังแล้วฉายภาพบรรยากาศชนบทในยุคดินดำน้ำชุ่มได้ดีทีเดียว ส่วนเนื้อเพลงในช่วงหลังก็ให้ภาพผืนดินอันแห้งแล้งลำเค็ญอย่างชัดเจน ฟังแล้วอดสะทกสะท้อนใจไม่ได้ นี่แหละตำนานแผ่นดินที่เกิดขึ้นทั่วไปในบ้านเรา ซึ่ง ณ วันนี้ก็ยังคงเป็นอยู่เพียงแต่ว่าลดน้อยถอยลงไปมาก เพราะเมืองไทยยุคนี้ป่าไม้และวิถีชทบทอันอุดมสมบูรณ์แบบยุคดินดำน้ำชุ่มมันเหลือน้อย(มาก)เต็มที

“ทะเลทราย”เป็นอารมณ์เพลงที่ค่อนข้างต่อเนื่องจากตำนานแผ่นดิน เพราะเมื่อป่าถูกตัดจนผืนดินโล้นแล้งแห้งโกร๋น สภาพแบบทะเลทรายมันก็ตามมา ดนตรีเพลงนี้เป็นหนึ่งในสองเพลงของชุดที่มาในจังหวะเร็วๆสนุกๆ ฟังมันทีเดียว

จากนั้นเบรกอารมณ์อนตรีมันๆกันแบบหัวแทบทิ่มกับ“คนหลังเขา” เพลงนี้แต่งเนื้อร้องโดย สำรอง อนันทัศน์ วง“ด่านเกวียน”ของน้าสีเผือกเคยร้องมาก่อนในชุด“คนหลังเขา” ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อวงเป็น“คนด่านเกวียน” และมีผลงานชุด“เด็กปั๊ม” อันลือลั่น

คนหลังเขา เขียนถึงปัญหาการบริหารงานแบบทุเรศทุรังของภาครัฐในยุคนั้นและยุคต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน ในยุคนั้น“เขื่อน”คือเค้กชิ้นเยี่ยมในการทำมาหารับประทานของนักการเมือง เป็นการกินแบบไอ้เสือเอาวา ก่อนจะมาเปลี่ยนวิธีการกินแบบใหม่ในยุคไอ้หน้าเหลี่ยมมาเป็นการกินแบบทุจริตคอรัปชั่นนโยบาย แดร็กกันเป็นหมื่นๆล้าน เพลงนี้นอกจากเนื้อหารันทดกินใจแล้ว ภาคดนตรีก็สวยงาม เสียงแมนโดรินรัวระรื่นระริกหวานปนเศร้าเคล้าเสนาะหู

ถัดมาเป็นเพลงแรกในหน้าสองของคนที่เคยฟังเทปกับเพลงมันๆอย่าง “ลาวเดินดิน” เพลงนี้น้าแอ๊ดเป็นดังตัวแทนของผู้ใช้แรงงานชาวอีสานที่เดินทางมาฝ่าความยากลำบากมาเป็นผู้ใช้แรงงาน กรรมกร แต่ถูกคนดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในบทเพลงจากเพลงจำนวนมากของน้าแอ๊ดที่ว่าด้วยปัญหาของชนชั้นกรรมมาชีพผู้ใช้แรงงาน ที่สุดท้ายแล้วน้าแอ๊ดก็ยกระดับตัวเองจากนักแต่งเพลงเพื่อชนชั้นกรรมมาชีพมาเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มบี 12 ขายพวกเขาเสียเลย

จากนั้นเป็น “เดือนเพ็ญ” ผลงานอันสุดคลาสสิคของ “นายผี” อัศนี พลจันทร์ เดิมชื่อเพลงคิดถึงบ้าน แต่น้าแอ๊ดมาเปลี่ยนเป็นชื่อเดือนเพ็ญ แถมยังสลับท่อนร้องด้วยการร้องท่อน “เรไรร้องฟังดังว่า”(ท่อน 3) ขึ้นมาก่อนท่อน “กองไฟสุมควายตามคอก”(ท่อน 2) แต่อย่างไรก็ตามน้าแอ๊ดได้เป็นผู้เปิดโลกเพลงเดือนเพ็ญหรือคิดถึงบ้านของนายผีออกสู่สาธารณะให้ศิลปินรุ่นหลังๆนำมาร้องใหม่อีกมาก

เพลงเดือนเพ็ญในชุดกัมพูชานั้นน่าฟังมาก ใครที่ยังมีเทปชุดนี้อยู่จะได้ยินเสียงน้าแอ๊ดพูดสไตล์ลูกทุ่งนำส่งก่อนเข้าเพลงว่า“เดือนเพ็ญ”แต่ในซีดีได้ตัดเสียงพูดอันนี้ออกไป สำหรับเพลงนี้น้าแอ๊ดขับร้องออกมาได้เสียงเย็นสบายติดกลิ่นลูกทุ่งนิดๆ มีลูกเอื้อนแต่พองาม ที่สำคัญคือมีเสียงขลุ่ยของ อ.ธนิสร์ มาโซโลและเป่าคลอเคลาช่วยส่งให้เดือนเพ็ญในเวอร์ชั่นนี้โหยเศร้าชวนให้คิดถึงบ้านดีแท้ นับเป็นเดือนเพ็ญที่ผมยกให้เป็นเบอร์หนึ่งจากการที่มีโอกาสได้ฟังเดือนเพ็ญหรือคิดถึงบ้านของศิลปินอื่นๆ หรือแม้แต่กับงานเพลงชุดอื่นๆของแอ๊ด คาราบาวเอง

“ฝ่าลมฝน” เพลงจังหวะปานกลาง เสียงกีตาร์ตีคอร์ดแน่นๆ พร้อมกับไลน์คีย์บอร์ดสวยๆ ช่วยอุ้มภาคดนตรีของเพลงนี้ไว้ได้อย่างน่าฟัง ในขณะที่เนื้อร้องเพลงนี้สร้างสรรค์ได้อย่างดีทีเดียว เป็นเพลงให้กำลังใจชีวิตที่ฟังได้อยู่มิรู้เบื่อ

“จันทร์เจ้าขา”ของพ.ต.ท. สุรศักดิ์ ดนตรีละเมียดละไม เนื้อหาพูดถึงเด็กยากจนผู้ด้อยโอกาสในสังคม ชีวิตนี้ขอจันทร์เจ้าแค่มีอาหารกินให้อิ่มท้อง ขอครูมาสอนหนังสือ ขอหมอมารักษาโรค ก็พอแล้วไม่ขอแก้ว แหวน มณี ใดๆทั้งสิ้น นับเป็นอีกเรื่องเศร้าในสังคมไทยที่ยังคงเป็นอย่างนี้ชั่วกัปชั่ลกัลป์ดังที่ว่าไว้ในบทเพลง

ปิดท้ายกันด้วย “ถามหาความรัก” ว่าด้วยความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก น้าแอ๊ดร้องถ่ายทอดออกมาด้วยเสียงเย็นๆสอดรับเข้ากันกับเนื้อหาอันกตัญญูอบอุ่นกินใจ ในขณะที่เสียงคลาริเน็ตฝีมือ อ.ธนิสร์นั้นก็เป่าเป็นเมโลดี้รองในแถวสองได้อย่างละมุนน่าฟังยิ่งนัก

และนั่นก็คือ 10 บทเพลงคุณภาพในชุดกัมพูชาผลงานอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของแอ๊ด คาราบาว ที่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ในช่วงขาขึ้นของเขา ซึ่งยังคงมีความสด(มาก)และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความคิด พลังดนตรี พลังสร้างสรรค์ พลังความกล้า และพลังเสียงร้อง

นอกจากนี้เหล่านักดนตรีที่ร่วมงานกับเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกคาราบาวในยุครุ่งโรจน์ ต่างก็มีความสดและมีไฟแรงด้วยกันทั้งสิ้น อีกทั้งการเรียบเรียงดนตรี การบันทึกเสียงในชุดนี้ทำได้ออกมายอดเยี่ยมสอดรับกัน

ซึ่ง ณ วันนี้แม้แอ๊ด คาราบาว จะถูกกาลเวลาพิสูจน์ให้เห็นว่า เขามีอุดมการณ์ มีจุดยืน มีความคิด และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างไร แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่างานเพลงชุดกัมพูชาของเขายังคงความทรงคุณค่าเหนือกาลเวลาอยู่เสมอ

นั่นจึงทำให้งานเพลงชุดกัมพูชาได้รับการยกย่องจากใครและใครหลายคนให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มยอดเยี่ยมในอันดับต้นๆของเมืองไทยตลอดกาล ในขณะที่โดยส่วนตัวผมขอยกย่อง(มากกว่า)เป็นพิเศษให้กัมพูชาเป็นงานอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดของแอ๊ด คาราบาว อีกทั้งยังยกให้เป็นเป็นอัลบั้มเพลงโฟล์คยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของเมืองไทยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

***********************************************************

บทความแนะนำเพลงน่าสนใจย้อนยุค จะนำเสนอสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม

***********************************************************
แกะกล่อง

ศิลปิน : คาราบาว
อัลบั้ม : (วีซีดี-ดีวีดี)บันทึกการแสดงสด "ปิดทองหลังพระ"

อีกหนึ่งคอนเสิร์ตที่ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ในการแสดงดนตรีของวงหัวควาย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2539 ณ อินดอร์สเตเดี้ยม

นอกจากจะครบหน้าด้วยสมาชิก "คาราบาว" ยุคคลาสสิก ทั้ง แอ๊ด, เล็ก, เทียรี่, อ๊อด, เป้า และ อ.ธนิศร์ แล้วยังมากมายไปด้วยศิลปินในยุคอินดี้เฟื่องฟูหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ดิ อาย ลายเนอร์, ออดี้, เดอะมัท, ฟอร์ด สบชัย, สไมล์บัฟฟาโล ฯ รวมไปถึงแขกพิเศษทั้ง ติ๊ก ชิโร่, กษาปณ์ จำปาดิบ, สุกัญญา มิเกล, บุ๋มบิ๋ม สามโทน, แหลม มอริสัน, บิลลี่ โอแกน, สินจัย เปล่งพานิช

สำหรับสาวกคาราบาวที่อยากจะดื่มด่ำกับบทเพลงคาราบาวในยุคที่ยังไม่ใช่ควายแดงต้องไม่พลาดหาซื้อมาดูและฟังกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น