xs
xsm
sm
md
lg

นาคปรก : หนังโคตรกล้า ในสังคมหน้าบาง!!/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


apnunt@yahoo.com

ถ้าไม่ใช่คำว่า “แรง” ก็ไม่รู้จะมีคำไหนอีกแล้วล่ะครับที่จะเหมาะสมกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะลำพังแค่คลิปหนังตัวอย่างที่ผมหยิบมาแขวนไว้ให้ดูข้างบนนั้น หลายฉากหลายช็อต ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ใครหลายๆ คน “ช็อก” และ “อึ้ง” กับภาพที่ปรากฏต่อสายตา

...คนหัวโล้นห่มเหลืองหันหลังมาตวาดหญิงชราด้วยวาจาผรุสวาท และคนหัวโล้นห่มเหลืองอีกเช่นกันที่ใช้คารมหว่านล้อมคะยั้นคะยอขอมีเซ็กซ์กับหญิงสาวนางหนึ่งด้วยท่าทีหื่นกระหาย ฯลฯ

แน่นอนครับว่า ภาพที่เห็นนั้น ย่อมสั่นสะเทือนความรู้สึกของพุทธศาสนิกอย่างยากจะหลีกเลี่ยง แต่ก็อีกนั่นแหละ การ “รีบด่วนตัดสิน” จากสิ่งที่เห็นเพียงแค่ผิวเผินนั้น ผมเชื่อว่า ย่อมมิใช่วิสัยของวิญญูชนแต่ประการใด

และที่สำคัญ การที่ผมหยิบเอาหนังเรื่องนี้มาพูดถึงก่อนทั้งที่หนังยังไม่เข้าฉาย ไม่ใช่เพราะต้องการให้เราๆ ท่านๆ มาถกเถียงกันถึง “ความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม” ในการนำเสนอของหนัง หรือแม้กระทั่ง “ประหารชีวิตหนัง” ไปเสียก่อน โดยที่ยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของมันทั้งหมด

บอกกล่าวกันอย่างสั้นๆ ครับว่า นี่คือ “นาคปรก” ผลงานการกำกับของคุณภวัติ พนังคศิริ ซึ่งกว่าที่หนังจะได้พาตัวเองมายืนอยู่บนตารางการเข้าฉายนั้น ก็กินเวลา 3 ปีเต็ม ขณะที่ต้องเจอกับแรงกดดันมาพอสมควร

ก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละครับว่า ก่อนหน้านี้ วงการหนังบ้านเราต้องพิงตัวเองอยู่ภายใต้ระบบเซ็นเซอร์ ผลงานทุกเรื่อง จะ “สร้างได้” หรือ “สร้างไม่ได้” ล้วนแต่ต้องพึ่งพาดุลยพินิจของคณะกรรมการในกองดังกล่าว และไม่ต้องสงสัยเลยว่า “นาคปรก” หนังที่แตะประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องศาสนา มีหรือจะเลี่ยงพ้นการโดนสกัด

โอเคล่ะ แม้ว่าจริงๆ แล้ว ที่ผ่านๆ มา “นาคปรก” อาจจะยังไม่ถูกส่งให้กองเซ็นเซอร์พิจารณาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ด้วยเนื้อหาที่ล่อแหลมของมัน ก็ทำให้ได้รับจดหมายจากผู้หลักผู้ใหญ่ส่งจดหมายมาเตือนทีมงานให้ “เฝ้าระวังหนัง” ตั้งแต่เริ่มถ่ายทำ และก็เป็นที่คาดเดาได้เลยว่า หนังจะต้องเจอชะตากรรมเช่นไร ถ้ามันถึงมือของเซ็นเซอร์



อย่างไรก็ดี นอกจากจะทดลองตัดโน่นตัดนี่ที่เห็นว่าล่อแหลมออกไป อย่างฉากจี้ปืนใส่พระที่มีการลบปืนออกในตอนแรก ก่อนจะใส่กลับเข้ามาใหม่...สิ่งที่ทีมสร้างหนังเรื่องนี้ทำ ก็คือ ความใจเย็นในการที่จะอดทน “รอเวลา” เพื่อให้หนังของตัวเองได้เข้าฉายในแบบที่ใจต้องการจริงๆ เมื่อระบบการจัดเรตติ้งถูกนำมาใช้ และผมก็เชื่อเหลือเกินว่า ถ้าหนังเรื่องนี้ “ประนีประนอม” ยินยอมให้ตัวเองเข้าฉายไปตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน เนื้อหาที่ได้ มันก็คงไม่เท่านี้อย่างแน่นอน

ความน่าสนใจก็อยู่ที่ตรงที่ระบบเรตติ้งนี่แหละครับ เพราะต่อให้ไม่พรรณนาความดีความชอบอะไรกันมากมาย สิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าจะพอหวังได้แน่ๆ จากระบบการจัดเรตที่ว่านี้ก็คือ อิสระของคนทำหนังที่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานในแบบที่ตัวเองต้องการจะนำเสนอจริงๆ โดยไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะโดนตัดโดนแบนเหมือนที่ผ่านๆ มา (พูดแบบนี้ ไม่ได้จะบอกว่าคนทำหนังจะทำยังไงก็ได้นะครับ แต่อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่า ผู้กำกับทุกๆ คนก็คงมีมาตรฐานในการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” อยู่แล้วว่า แค่ไหนที่พอเหมาะหรือเกินเลย)

อันที่จริง การผ่านพ้นขึ้นมาของหนังอย่าง “นาคปรก” นั้น นับเป็นนิมิตหมายที่ดีเลยนะครับสำหรับวงการหนังไทย อย่างน้อยที่สุด มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ความหน้าบางและเกรงกลัวการพูดความจริง เป็นสิ่งที่สมควรแก่คำว่า “ล้าสมัย” ไปได้แล้ว

การนำเสนอสิ่งที่เป็น “ด้านบวก” ของสังคมนั้น เป็นสิ่งที่งดงามอยู่แล้วล่ะครับ แต่ถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นมาพูดถึง “ด้านมืด” ของมันบ้าง ผมว่าก็ไม่ใช่น่าจะใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด ขอแค่เพียงการนำเสนอนั้นอยู่บนฐานข้อมูลความจริง (แน่นอน ถ้าคนทำหนัง ทำออกมา “ชุ่ย” เอง คนดูนั่นแหละที่จะพิพากษา)

และเช่นเดียวกัน ภาพยนตร์นั้นเป็นความบันเทิงอย่างไม่อาจโต้แย้งได้อยู่แล้ว แต่เราจะพูดได้หรือว่าการทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อน “ความจริง” ของโลกและชีวิต ไม่ใช่ภารกิจที่ภาพยนตร์สามารถกระทำได้

“ความจริง” ซึ่งไม่ได้มีแค่ด้านที่รื่นรมย์สวยงาม เพราะความต่ำทรามอัปลักษณ์ก็เป็น “ความจริง” เท่าๆ กัน...

อย่างไรก็ดี กล่าวสำหรับเมืองไทยเรา ที่ผ่านๆ มา “ระบบ” มันไม่เอื้อให้ “พูดความจริง” กันได้อย่างเต็มปากเต็มคำ จะมีใครปฏิเสธไหมว่าเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่ “ลูบหน้าปะจมูก” และหลายๆ ครั้ง เราก็ “กลัว” อะไรกันมากเกินไป เหมือนกระต่ายตื่นตูมที่เพียงได้ยินเสียงลูกมะพร้าวหล่นก็ตื่นเต้นตกใจ นึกว่าฟ้าจะถล่มดินจะทลาย โดยปราศจากการตรวจสอบความจริง

วิธีการแบบหนึ่งซึ่งผมมองว่า “นาคปรก” ใช้ได้ผลก็คือ ในขณะที่รอคอยเรตติ้ง และ “กระต่าย” หลายๆ ตัวกำลังแสดงอาการหวั่นระแวงและกระวนกระวายใจในสิ่งที่หนังนำเสนอนั้น หนังก็พาตัวเองเดินทางไปฉายตามสถาบันต่างๆ ให้ทั้งนักศึกษาและพระภิกษุสงฆ์ได้ชม เหมือนเป็นการทำประชาพิจารณ์ไปด้วยในตัว และผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ คนเหล่านั้นต่างเข้าอกเข้าใจใน “เจตนา” ที่หนังต้องการสื่อ และกลายมาเป็น “นาคปรก” ที่ช่วยปกป้องและเป็นปากเป็นเสียงให้กับหนังไปโดยปริยาย

ผมไม่แน่ใจว่า ตอนนี้ที่ระบบเรตติ้งถูกนำมาใช้แล้ว มันจะยังเป็นเหมือนเมื่อก่อนอยู่หรือเปล่า ที่ถ้าคุณจะทำหนังเกี่ยวกับองค์กรหรือหน่วยงานอะไรก็ตาม มันก็จะมีคนจากหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ มามะรุมมะตุ้มรุมกันพิจารณา ซึ่งก็ชัดเจนเหลือเกินว่า คงไม่มีใครที่ต้องการให้ “ภาพ” ที่ไม่ดีของตัวเองถูกถ่ายทอดออกไปในหนัง

อย่าว่าแต่พูดประเด็นละเอียดอ่อนเกี่ยวกับพระสงฆ์องค์เจ้าเหมือน “แสงศตวรรษ” ของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เลยครับ เอาง่ายๆ แค่เด็กผู้ชายจูบปากกันใน “รักแห่งสยาม” (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) ก็แทบจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายกันแล้ว (ไม่ต้องพูดถึงการตัดการเบลอฉากต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นมาไม่รู้กี่สิบๆ ปี)

ก็อย่างที่บอกในหลายย่อหน้าที่แล้ว บางที เรื่องแบบนี้ จะโทษใครคนใดคนหนึ่ง คงไม่ถูกต้องนัก เพราะอันที่จริง เราๆ ท่านๆ ส่วนหนึ่งในสังคมนั้นก็มีส่วน คือไม่ใช่แค่ “หน้าบาง” และยอมรับความจริงกันได้ยาก หากแต่ในหลายๆ ครั้ง ยังประพฤติตนไม่ต่างไปจาก “นาคปรก” ที่ช่วยหมกคลุมความเลวร้ายต่างๆ ไว้ ไม่อยากให้ใครพูดถึงมัน โดยมี “เซ็นเซอร์” เป็นคนคอยดูต้นทางให้อีกทีหนึ่ง

พูดเช่นนี้ เหมือนจะเป็นการไม่แสดงความเคารพแก่กองเซ็นเซอร์ซึ่งทำงานกันมานาน ซึ่งไม่ใช่เลยครับ และผมเชื่อว่าคนไทยเองก็คงซาบซึ้งใจกันดีในเจตนารมณ์ของหน่วยงานนี้ที่แบกรับภาระในการช่วย “แบ่งเบาวิจารณญาณของคนดู” เห็นสิ่งไหนไม่เหมาะไม่ควร ก็ “คัดกรอง” ให้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมอาจจะคิดมากไปเองก็ได้ว่า การที่ระบบเซ็นเซอร์ “แข็งแรง” มากๆ ผมว่า บางที มันก็ส่งผลข้างเคียงต่อคนทำหนังได้เช่นกัน

นั่นหมายความว่า ตราบเท่าที่ระบบเซ็นเซอร์ยังคงทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ไม่ใช่แค่คนทำหนังที่ตั้งใจสื่อสะท้อนด้านอัปลักษณ์ของสังคมที่ไม่กล้าแม้แต่จะคิด แต่ยังอาจจะส่งเสริมให้คนทำหนังส่วนหนึ่งเกิดความมักง่ายในสายอาชีพของตัวเองได้เหมือนกัน คือไม่พยายามคิดอะไรกันมาก ไม่อยากทำหนังที่จริงจังหรือบอกเล่าด้านต่างๆ ของสังคม เพราะทำไป ก็อาจมีหวังโดนสั่งแบน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ เพลย์เซฟกันไว้ก่อน ด้วยการผลิตหนังตลกไร้สาระ หนังผี หนังกะเทย หรือไม่ก็หนังรักเบาๆ ปัญญาอ่อนกันไปวันๆ

ความหวังที่จะได้ดูหนังที่สะท้อนด้านมืดของศาสนาอย่าง Bad Education หรือเสียดเย้ยความชั่วร้ายของสถาบันตำรวจได้เจ็บปวดแสบสันต์อย่าง Infernal Affair จึงเป็นไปได้ยากยิ่งสำหรับหนังไทย
เอาล่ะ ไม่ว่าจะอย่างไร ตอนนี้ ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่า วงการหนังไทยเราได้เดินทางมาถึงหลักไมล์หลักใหม่อีกครั้งแล้ว พร้อมกับการมาถึงของระบบเรตติ้ง ที่แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถมั่นใจได้เท่าไรนักว่าจะ “ดี” อย่างที่คิดไว้หรือไม่ก็ตามที แต่อย่างน้อยๆ ผมว่า มันก็น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับคนทำหนังไทยที่จะมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานกันมากขึ้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อ “ช่องทาง” เปิดกว้างให้อย่างนี้แล้ว ถ้าหนังไทยยังเกลื่อนกลาดดาษดื่นด้วยหนังงี่เง่าปัญญาอ่อนอยู่อีก ก็คงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจาก “กรรมเก่า” เท่านั้นเอง...

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก





กำลังโหลดความคิดเห็น