xs
xsm
sm
md
lg

ไตวายคร่าครูเพลงศิลปินแห่งชาติ "พยงค์ มุกดา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อช่วงสายที่ผ่านมาของวันนี้ ล่าสุดมีรายงานว่าครูเพลงชื่อดัง ศิลปินแห่งชาติวัย 83 ปี "พยงค์มุกดา" ได้เสียชีวิตแล้ว

รายงานสดจากพื้นที่ข่าว

เดินทางไปที่นี่
Latitude: 13.765614 Longitude: 100.527043



จากการแถลงข่าวของแพทย์ผู้รักษาในช่วงบ่าย 3 โมงที่ผ่านมาโดยนพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ และ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชายบัญชาเผยว่า ครูเพลงชื่อดังได้ถูกส่งตัวเข้ามารับการักษาเมื่อช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ด้วยอาการเหนื่อย หายใจไม่ออก ทางแพทย์ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการหัวใจหยุดเต้น แพทย์จึงได้ทำการปั๊มหัวใจและปรึกษาญาติกับทางญาติ ก่อนจะตัดสินใจที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตไปอย่างสงบ

แพทย์ผู้รักษายังเปิดเผยต่อไปด้วยว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมของปีที่ผ่านมาครูเพลงชื่อดังได้ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่แพทย์จะตรวจพบเนื้องอกที่กระเพาะปัสสาวะ และมีการตัดไตออกไปหนึ่งข้าง จากนั้นผู้ป่วยได้เกิดอาการแทรกซ้อนและไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ต้องให้อาหารทางสายยาง ซึ่งครูเพลงชื่อดังเพิ่งจะออกจากโรงพยาบาลไปเมื่อ 7 วันที่แล้วก่อนจะถูกนำตัวกลับมาอีกครั้ง โดยสาเหตุของการเสียชีวิตนั้นเกิดจากอาการไตวายไม่เกี่ยวกับเนื้องอกที่กระเพาะปัสสาวะแต่อย่างใด

ทั้งนี้ในส่วนของพิธีศพนั้นจะมีพิธีน้ำหลวงอาบศพในเวลา 16.00 น. ของวันพรุ่งนี้ ณ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน และจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 7 วันก่อนจะรอไฟพระราชทานเพลิงศพจากองค์สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ และคาดว่าจะเก็บศพไว้ 100 วันโดยมีสมัชชาศิลปินแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม และสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ

ครูพยงค์ มุกดา เป็นชาวจังหวัดราชบุรี บุตรของนายแก้ว และนางบุญ มุกดา เกิดบนเรือกลางแม่น้ำแม่กลอง บริเวณตำบลท่าเสา จังหวัดราชบุรี จบชั้น ป.4 จากโรงเรียนเทศบาลวัดราชนัดดาราม และเข้าสู่วงการจากการเป็นนักร้องวงดุริยางค์กองทัพบก โดยการสนับสนุนของครูจำปา เล้มสำราญ

ชีวิตในวัยเด็กของครูพยงค์ค่อนข้างที่จะลำบาก ต้องทำงานช่วยมารดาหาบขนมขาย และบางทีต้องอยู่บ้านพี่สาวช่วยทำงานก่อสร้างหรือขายมะนาวที่ตลาดเก่า เยาวราช สำเพ็ง โดยครูพยงค์ได้เขียนเล่าประวัติในวัยเด็กของตนเองไว้ว่า...

"เกิด...ข้าพเจ้าท่องคำกลอนที่แม่สอน คือปีขาล วันอังคาร เดือน 6 แรม 8 ค่ำ...สถานที่...ในเรือบรรทุกเสาของมารดา หน้าบ้านผู้ใหญ่กิม แม่น้ำแม่กลอง...ญาติ...บิดา นายแก้ว มุกดา พื้นเพอุบลราชธานี - ศรีสะเกษ..."

"...พ่อแยกทางไปจากแม่ แม่และพี่เดินเรือรับจ้างบรรทุกไม้เสาจากราชบุรี มาขึ้นที่ร้าน สถาพรพานิช(ตรงธนาคารกรุงเทพฯสาขาผ่านฟ้า ในปัจจุบัน)..."

"...ในตอนสมัยเด็ก ทางบ้านมีฐานะยากจน จึงเรียนหนังสือเพียงจบประถม 4 จากโรงเรียนเทศบาล 23 วัดราชนัดดาราม หลังโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย (ปัจจุบัน คือพลับพลกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์)..."

"...เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ถึงขั้นทำให้เรือแตก ตกเป็นครอบครัวไร้บ้าน แม่จึงพาทุกคนอพยพมาพัก ที่สถาพรพานิช ชั่วคราว จนต่อมาขยับขยายออกมาเช่าแผงลอยที่หน้าวัดราชนัดดาราม ถนนราชดำเนิน ใกล้ๆ กัน..."

"...เนื่องจากฐานะยากจน ไม่ได้เรียนต่อ จึงติดตามแม่และพี่สาวไปทำงานก่อสร้าง เมื่อแม่หาบขนมขายก็เป็นคนร้องขาย พี่สาวรับขนมลงเรือสำปั้นพายขายในคลองผดุงกรุงเกษม จนออกแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นคนพายหัวเรือ และร้องขายอีก"

"...อาศัยที่มีพรสวรรค์ทางด้านการร้องเพลง โดยมักจะเป็นต้นเสียงร้องเพลงในงานโรงเรียน มีความสามารถในการเรียงความ ชอบโคลงกลอน ทำให้มีพื้นฐานด้านการแต่งเพลง"

"...ระหว่างเรียน ข้าพเจ้าชอบร้องเพลง เพลงจากละคร จันทโรภาส ของ พรานบูรพ์ เพลงจากภาพยนตร์พากย์ของ ทิดเขียว เพลงจากละครศิลปากรของ หลวงวิจิตรวาทการ เพลงจากแผ่นเสียงรุ่น ต. เง็กชวน จำเพลงต่างๆ มาร้องเล่น จนลูกเจ้าของบ้านในร้านสถาพร ชอบเรียกข้าพเจ้ามาร้องเพลงให้ฟัง แล้วก็ให้สตางค์แดง หนึ่ง-สอง สตางค์ ไปกินขนม นั่นคือลางบอกวิถีชีวิตของข้าพเจ้าโดยแท้..."

ตลอดระยะเวลาของการทำงานในฐานะนักแต่งเพลง ครูพยงค์ มุกดา มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 เพลงและหลากหลายประเภท ทั้ง เพลงสดุดี เพลงมาร์ช เพลงปลุกใจ เพลงลูกกรุง เพลงลูกทุ่ง หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละยุคแต่ละสมัย

โดยในจำนวนเหล่านั้นมีเพลงที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับ "รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ" ถึง 7 เพลง คือ เพลงช่อทิพย์รวงทอง เพลงเด็ดดอกรัก เพลงนกขมิ้น เพลงนางรอง เพลงรอพี่รับเมืองเหนือ เพลงรักใครไม่เท่าน้อง และ เพลงฝั่งหัวใจ

ปี พ.ศ. 2532 ครูพยงค์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย 2 รางวัล จากเพลง "สาวสวนแตง" (ขับร้องโดย สุรพล สมบัติเจริญ) และ "ล่องใต้" (ขับร้องโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทาน 3 รางวัล จากเพลง "ยอยศพระลอ" (ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ) "น้ำตาสาวตก" (ขับร้องโดย ศรีสอางค์ ตรีเนตร) และ "ลูกทุ่งเสียงทอง" (ขับร้องโดย เพชร พนมรุ้ง)

สำหรับผลงานเพลงที่ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ในการแต่งเพลงของครูพยงค์ มุกดาก็คือ เพลงนกขมิ้น ซึ่งครูพยงค์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงนี้ไว้ว่า...

"เพลงนกขมิ้นได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อคณะละครสั่งให้แต่งเป็น เพลงประกอบละครเรื่อง ในป่าแก้ว ในปี พ.ศ.2487 ถือเป็นเพลงประวัติศาสตร์ เพลงนี้ดังมากดังมาตลอด ผู้ชมทั้งแม่ค้าและคนทั่วไปชื่นชอบเพลงนี้มาก สามารถร้องได้กันมากทั้งที่ยังไม่ได้ออกอากาศ หรือบันทึกแผ่นเสียง เพลงนกขมิ้นได้รับการบันทึกแผ่นเสียงถึง 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ธานินทร์ อินทรเทพ เป็นผู้ขับร้อง ในปี พ.ศ.2507 และ ได้รับรางวัล แผ่นเสียงทองคำพระราชทานที่สวนอัมพร"

ครูพยงค์ มุกดา ได้รับยกย่องว่าเป็นเสาเอกของวงการเพลงไทยสากล เป็นผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้งสมาคมนักดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สมาคมนักจัดรายการข่าววิทยุ และสมาคมนักนิยมเพลงบางปะกง ฉะเชิงเทรา ฯ

นอกเหนือจากการเป็นเสาหลักเสาเอกของวงการเพลงบ้านเราแล้ว ครูพยงค์ยังผ่านงานอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการป็นนักร้อง นักแสดง นักจัดรายการวิทยุ เคยแสดงภาพยนตร์ เช่นเรื่อง เสน่ห์บางกอก, ไซอิ๋ว เคยอยู่วงดุริยางค์กองทัพเรือ เป็นผู้ประพันธ์เพลงมาร์ช เช่น "สหมาร์ชราชนาวี", "มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า", นาวีบลู ฯ

ปี พ.ศ. 2534 ครูพยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง) และล่าสุดในปี พ.ศ. 2551 ก็ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินอาวุโส รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550
...
ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(1)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(2)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(3)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(4)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(5)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(6)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(7)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(8)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(9)

ประวัติของ ครูพยงค์ มุกดา(จบ)/บทเชิดชู
กำลังโหลดความคิดเห็น