apnunt@yahoo.com
เคยเป็นแบบนี้กันบ้างไหมครับ แบบว่าได้ดูหนังบางเรื่องแล้วเกิดอาการ “ซึม” อยู่หลายวัน และรู้สึกหดหู่ทุกครั้งที่นึกถึงหนังเรื่องนั้นที่ดูมา เหนืออื่นใด คือเกิดคำถามขึ้นในใจว่าทำไม อะไรๆ ในโลกและชีวิต มันถึง “เลวร้าย” ได้มากมายขนาดนั้น??...
ก่อนอื่น ต้องบอกว่าไม่ได้มีวาระพิเศษอะไรเลยครับกับบทความชิ้นนี้ เพราะถ้าจะยึดตาม “กาละ” หรือ “เทศะ” กันจริงๆ ผมควรจะเขียนถึงหนังอย่าง My Valentine หรือ Valentine’s Day หรือไม่ก็หนังรักดีๆ สักเรื่อง ซึ่งน่าจะเหมาะมากกว่ากับช่วงเวลาวันวาเลนไทน์ที่มีคำว่า “ความรัก” เป็นพระเอกนางเอก
แต่ก็อีกนั่นแหละ ในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าตัวเองนั้น ถูกดึงให้เข้าไปข้องเกี่ยวรับรู้เรื่องราวของใครหลายๆ คน ซึ่งมีจุดร่วมที่ใกล้เคียงกัน บางคนอกหัก บางคนเซ็งจิตกับแฟนปัจจุบัน บางคนตกงาน และก็มีอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเหนื่อยและท้อกับงานที่ทำอยู่ ฯลฯ สรุปรวมๆ แล้วก็คือ เขาและเธอทั้งหมดต่างก็กำลังเจ็บปวดกับสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่
อันที่จริง ผมชื่นชมคนที่มีน้ำอดน้ำทนกับเรื่องต่างๆ ไม่เปราะบางและยอมแพ้ต่ออุปสรรคแบบง่ายๆ นะครับ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่จะเข้าใจไม่ได้ว่า สำหรับบางสิ่งบางอย่างนั้น ถ้ารู้สึกว่า “ต้องทน” กับมันเมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องยากที่จะหาความสุขใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะกับเรื่องรัก หากรู้สึกว่าต้อง “พยายามรัก” มันก็ไม่ใช่ “ความรัก” อีกต่อไป
ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจก็คือว่า หลังจากเล่าบอกและระบาย ผมรู้สึกว่าแต่ละคนที่มาเล่าความทุกข์ใจมักจะไปสู่จุดลงเอยเหมือนๆ กัน นั่นก็คือ เกิดคำถามเชิงตัดพ้อต่อว่าโชคชะตาชีวิต และรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในความเป็นไปของตัวเอง บางคนนี่ไปไกลถึงขั้นกล่าวหาว่าฟ้าดินไม่เป็นใจ สวรรค์ไม่เข้าข้าง หรือแม้กระทั่งกล่าวโทษว่า “พระเจ้าลำเอียง” ไปเลยก็มี
เนื่องจากไม่ใช่นักปลอบใจที่ดี นอกจากจะเป็นนักฟังที่พอใช้ได้อยู่บ้าง ผมคิดว่า ในชีวิตสั้นๆ ชีวิตหนึ่งของคนเรา อาจมีบ้างที่ต้องพบพานกับช่วงเวลาเช่นนั้น มันคือช่วงเวลาที่ถูกรุมเร้าด้วยความรู้สึกแย่ๆ ต่อโลกและชีวิต คับแค้นใจที่อะไรต่อมิอะไรไม่เป็นไปอย่างที่ใจคาดหวัง และสำหรับบางคน มันอาจจะหมายถึง...การสูญสิ้นศรัทธาต่อการมีชีวิตอยู่หรือเห็นว่าตัวเองไร้ค่าไปเลยก็ได้ (ผมว่าคนที่ทำร้ายตัวเองหรือแม้แต่ปลิดชีพไปสู่ปรโลกหลายๆ คน บางที ก็เริ่มต้นมาจากจุดนี้)
แน่นอนล่ะ ผมคงไม่อาจชี้นำทุกๆ คนให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เวลาที่ชีวิตเข้าสู่ฤดูมรสุม เพราะเชื่อว่ามันคงไม่มีสูตรสำเร็จขนาดนั้น และปัญหาของแต่ละคนก็มีรายละเอียดซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพิงวิธีการที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผมพอบอกได้ก็คือว่า บางที ชีวิตมันก็ทำบัดซบกับคนเราได้อย่างไร้เมตตาปรานีจริงๆ นั่นแหละ
เหมือนกับชีวิตของ “มัตสึโกะ” ใน Memories of Matsuko (2549) และชีวิตของ “ไอ้แผน” หนุ่มลูกทุ่ง แห่ง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” (2544)
แม้จะเกิดต่างที่อยู่ต่างถิ่น แต่ผมรู้สึกว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้มีบางแง่บางมุมที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่อาจปฏิเสธ อย่างน้อยที่สุด ก็คือพล็อตหลักของเรื่องราวที่บอกเล่าชีวิตของตัวละครที่ดูเหมือนจะมีมือของปีศาจจับเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของ “มัตสึโกะ” นั้น ต้องบอกว่าเต็มไปด้วยเรื่องเลวร้ายชนิดที่หลายๆ คนดูแล้วถึงกับบอกว่า อยากจะขาดใจตายให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลย
หลังจากถูกให้ออกจากการเป็นครูเพราะไปช่วยเหลือเด็กนักเรียนแบบผิดวิธี ชีวิตของมัตสึโกะก็ดูเหมือนจะต้อง “มีอันเป็นไป” ในทุกๆ ทาง และมองไม่เห็นแสงสว่างโดยสิ้นเชิง มันเหมือนชีวิตของคนเศร้าที่ไม่เคยได้รับการอนุญาตให้พบกับความสุขที่แท้จริง ถูกโลกพลัดพรากไปจากคำว่า “สมหวัง” ตลอดทั้งชีวิต ความฝันความหวังที่ดูคล้ายๆ ว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้าง ก็กลับพังทลายครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมกับการจากไปของชายคนรักคนแล้วคนเล่า
จะว่าไป มัตสึโกะนั้นถูกชีวิตเล่นงานมาตั้งแต่เด็กแล้วด้วยซ้ำจากการที่รู้สึกว่า พ่อไม่รักเท่ากับน้องสาวที่นอนป่วยจนรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าในสายตาของพ่อ การยิ้มปากจู๋จนติดเป็นนิสัยอัตโนมัติ แท้ที่จริงก็มีต้นทางมาจากการที่เธอคิดว่า นั่นเป็นวิธีการเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้พ่อหันมา “มองเห็นคุณค่า” ในตัวเธอบ้าง (คุณพ่อหน้าเครียด จะยิ้มออกทุกครั้งที่เธอทำปากจู๋)
ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น “เท็ตสึยะ นากาชิม่า” ที่สร้างชื่อมาจากหนังสไตล์จัดจ้านอย่าง Kamikaze Girl หยิบเอาเรื่องราวของ “มัตสึโกะ” จากหนังสือนิยายของ “มูเนกิ ยามาดะ” มาทำเป็นหนังที่มีเนื้อหาหดหู่ชวนสะเทือนใจตั้งแต่ต้นจนจบ (คุณต่อพงษ์ เศวตามร์ ผู้อำนวยการช่องซูเปอร์บันเทิงและ บ.ก.ข่าวบันเทิงของผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งเป็นแฟนตัวยงหนังญี่ปุ่น ยังบอกว่าหนังเรื่องนี้มันเหมือนกับเทพนิยายที่ “แสนเศร้าและหดหู่เกินไป” เกินกว่าจะทำใจรักได้)
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องถือว่าเป็นความพิเศษในหนังเรื่องนี้ก็คือว่า ทั้งๆ ที่เนื้อหาของมันพูดถึงเรื่องร้ายๆ ที่ชวนให้รู้สึกจิตตกอย่างถึงที่สุด แต่ด้วยเทคนิคงานด้านภาพที่เน้นสีสันฉูดฉาดบาดตา ตลอดจนรูปแบบการเล่าเรื่องที่หยิบยืมสไตล์แบบการ์ตูนมาใช้ ก็ช่วยคลี่คลายอารมณ์ขมขื่นให้กับคนดูได้ระดับหนึ่ง
ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่า ด้วยพลังทางเนื้อหา ถ้าจะทำให้มันเป็นหนังดราม่ารีดเค้นน้ำตาผู้ชมให้ไหลพราก ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำได้ แต่เมื่อดูจากภาพรวม ผู้กำกับเท็ตสึยะอาจจะต้องการให้มันเป็นหนังที่มีโทนอารมณ์ประมาณ “ขันขื่น” แบบที่ดูแล้วไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร่ำไห้ดี ซึ่งการทำให้ได้แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องหมูๆ เลยนะครับ เพราะหากเขย่าส่วนผสมพลาดผิดไปนิดเดียว อาจจะทำให้มันกลายเป็นหนังตลกบ้าๆ บวมๆ หรือไม่ก็ดราม่าฟูมฟายไปเลยก็ได้ แต่ก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละครับว่า เท็ตสึยะเขาทำสำเร็จอย่างหมดจดในแบบที่ใจเขาต้องการให้มันเป็น
และ...เช่นเดียวกัน ผมรู้สึกว่า หนังไทยที่ออกฉายเมื่อปี 2544 อย่าง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” นั้นก็มีเนื้อหาอารมณ์คล้ายๆ กัน คุณเป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับ ดัดแปลงผลงานชิ้นนี้มาจากนิยายซึ่งประพันธ์โดยคุณวัฒน์ วรรลยางกูล (นักเขียนผู้ได้รับการเรียกขานว่า “นักเขียนซีรอง” เพราะเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาหลายสมัย แต่ยังไม่เคยได้ครองถ้วยรางวัลกับเขาสักครั้ง)
คล้ายๆ กับมัตสึโกะ เรื่องราวของตัวละครหลักในมนต์รักทรานซิสเตอร์ก็จัดอยู่ในประเภท “ขันขื่น” ไม่ต่างกัน และเหนืออื่นใด ถ้อยคำคำสมัญญาที่นิยายได้รับมาว่า “ขบแล้วขันพลันโศก” นั้นก็ดูจะเข้ากันได้ดีมากๆ กับภาพรวมของหนัง เพราะนอกจากอารมณ์ขันในขั้นร้ายกาจ งานชิ้นนี้ยังมีแง่มุมที่ชวนให้รู้สึกโศกลึกสะเทือนใจอย่างถึงที่สุด
และถ้าชีวิตของมัตสึโกะจะเหมือนเทพนิยายที่แสนเศร้า เรื่องราวของไอ้แผนก็คงเป็นดั่งนิยายชีวิตชั้นดีที่บอกเล่าความเป็นไปของไอ้หนุ่มบ้านนอกคนหนึ่งซึ่งมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง และทั้งๆ ที่โชคเข้าข้าง แต่ชีวิตก็มีวิธีเล่นตลกกับไอ้แผนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากหนุ่มซื่อๆ ที่ควรจะคว้าอนาคตในการเป็นนักร้องมีชื่อเสียงได้ แต่ก็คล้ายจะมี “มือที่มองไม่เห็น” คอยฉุดกระชากลากจูงให้ไอ้แผนต้อง “พลัดหล่นลงเหว” ครั้งแล้วครั้งเล่า ความฝันที่จะเป็นนักร้องชื่อดัง ริบหรี่ลงทุกที เช่นเดียวกับที่บาดแผลชีวิตก็เริ่มเพิ่มจำนวน
ผมรู้สึกของผมเองว่า ไม่ว่าจะเป็นมัตสึโกะหรือไอ้แผน ทั้งสองคนนั้น ต่างก็มีความ “ตั้งใจใฝ่ดี” อยู่ในตัวเองเหมือนๆ กัน อย่างน้อยๆ ก็มีความคิดฝันถึงคืนวันที่ดีกว่าและพยายามมุ่งหน้าไปคว้ามัน แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างรอบตัว (โดยเฉพาะผู้คนที่เกี่ยวข้องคบหา) มันทำให้ความคิดความฝันไม่บรรลุอย่างที่ใจอยากให้เป็น
มัตสึโกะนั้น แต่เดิมเป็นหญิงสาวแสนสวย มองโลกในแง่งาม มีหัวใจที่พร้อมจะรักใครสักคนและอยู่ร่วมเพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่าด้วยกัน แต่จนแล้วจนรอด ชายหนุ่มที่เธอคบหา ล้วนแล้วแต่เป็นไม้หลักปักเลนที่ไม่สามารถฝากผีฝากไข้ใดๆ ได้ทั้งสิ้น (มองในแง่นี้ ผมว่า “เบ็ตตี้” หญิงสาวผู้ขมขื่น ในหนัง Betty Blue ยังดูโชคดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะถึงแม้ชีวิตเธอจะเศร้า แต่ก็ยังมีคนรักที่ดีอยู่เคียงข้าง)
ขณะที่ไอ้แผนแห่งมนต์รักฯ ก็ไม่ต่างไปจากนั้น คือเป็นคนที่พกความคิดความฝันมาจากบ้านนอกอย่างเต็มเปี่ยม ตัวตนของเขาคือความซื่อใสตรงไปตรงมาซึ่งต้องฟัดเหวี่ยงกับความเจ้าเล่ห์แสนกลของคนอื่นๆ ตลอดทั้งเรื่อง และด้วยเหลี่ยมเล่ห์ของคนเหล่านั้น บวกกับ “สถานการณ์ลากไป” ทำให้ชีวิตของไอ้แผนหลุดออกจากเลนแห่งความรุ่งโรจน์อย่างไม่น่าจะเป็น
อันที่จริง หนังทั้งสองเรื่องมีแง่มุมให้เก็บมาวิเคราะห์และคิดต่อได้หลากหลายเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอดแทรกเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์เชิงเย้ยหยันเสียดสีไว้อย่างแหลมคม อย่างเช่น ฉากหนึ่งในหนังมนต์รักฯ ตอนที่ไอ้แผนกับเพื่อนปลอมตัวเข้าไปในงานปาร์ตี้การกุศลของคนเมืองนั้น เหน็บแนมความจอมปลอมของสังคมชั้นสูงได้แบบแสบทรวง หรือการสะท้อนภาพของผู้หญิงที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างในสังคมญี่ปุ่นในหนังของเท็ตสึยะ อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดกันในแง่ความซวย เรื่องราวของมัตสึโกะและไอ้แผนสามารถใช้คำว่า “ถุยชีวิต!!” ร่วมกันได้อย่างสะดวกปาก
และที่สำคัญ แม้ในกรณีของมนต์รักฯ หนังจะหักมาจบในมุมโศกแกมฟีลล์กู๊ด แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังเห็นว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้เป็นหนังที่ดูแล้วจิตตกหดหู่ใช้ได้เลย มันเป็นความจิตตกคนละแบบกับตอนที่ดูหนังจำพวกหนึ่ง อย่างหนังของผู้กำกับทาเคชิ มิอิเกะ (Imprint, Audition) หรือหนังจำพวก Inside, Frontier, จับคนมาทำเชื้อโรค (Men Behind the Sun), แอบดูเป็นแอบดูตาย (Faces of Death) ฯลฯ ที่ใช้ความโหดเหี้ยมดิบเถื่อนและความแหวะเลือดสาดเล่นกับอารมณ์คนดู แต่ Memories of Matsuko และมนต์รักทรานซิสเตอร์ ทำให้เราจิตตกด้วยพลังแห่งความรู้สึกสะเทือนใจในชะตากรรมอันเลวร้ายของเพื่อนร่วมโลก
ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมไม่รู้ว่ามันมีหรือไม่มีคนที่โชคร้ายแบบสุดๆ เหมือนมัตสึโกะและไอ้แผนอยู่หรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าคนเราแต่ละคนต่างก็น่าจะมีช่วงเวลาที่เลวร้ายเป็นของตัวเองและต้องพานพบกับเรื่องร้ายๆ ที่ชวนให้รู้สึกเหนื่อยล้าและท้อแท้บ้าง บางครั้งคราว
อย่างไรก็ดี ชีวิต ถึงจะ “เลวร้าย” บ้าง ผมว่ามันก็ยังน่าจะดีกว่า “เหลวแหลก” เพราะอย่างแรก เราพอสู้กับมันได้ แต่อย่างหลัง เราพังชีวิตเราด้วยตัวของเราเอง...และนั่นก็เป็นถ้อยคำที่ผมได้ใช้บ่อยที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา...