xs
xsm
sm
md
lg

ดาวประดับฟ้า "มัณฑนา โมรากุล" (ตอนที่ 2 ):เธอไม่ได้เกิดมาเป็น ”นักร้อง” หากแต่เกิดมาเพื่อสร้างมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มัณฑนา โมรากุล
วันสบายๆ ที่บรรยายายกาศรายล้อมด้วยความเงียบ ลองฟังเพลงอย่างละเอียดทั้งดนตรี เสียงร้อง และอารมณ์ ของเพลง จะเห็นความแจ่มชัดในความสามารถ เพราะนี่คือความไม่ธรรมดาของนักร้องหญิงคนแรกของวงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ ปรากฏการณ์ นี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในวงการเพลง

เพราะเธอ... มัณฑนา โมรากุลไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็น”นักร้อง” หากแต่เกิดมาเพื่อสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานให้กับของการร้องเพลงไทยสากล
...
ชีวิตนักร้องกรมโฆษณาการ
"แนวของดิฉันคือ ต้องรอ้งเต็มเสียง เต็มคำ ออกเสียงอักขระต้องชัด เสียงไม่เพี้ยน ไม่หลงเสียง แต่ร้องแบบนี้ถ้าเสียงตกต้องเลิกเลยนะคะ เพราะจะได้ยินเสียงชัดเจนทีเดียว ตอนที่ดิฉันอัดเพลง เพชรบุรีแดนใจ กับ ผู้แพ้รักนั้น คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใสกำลังจะอัด พัทยาลาก่อนอยู่พอดี คุณรุ่งฤดียังมาดูถามว่า เวลาร้องดิฉันไม่ได้อ้าปากมากนัก แต่ทำไมเสียงออกมาแน่นแล้วก็ชัด"

"เสียงดิฉันเป็นคนเสียงใหญ่ค่ะ ดิฉันไม่ค่อยชอบร้องเพลงคู่กับหัวหน้าเอื้อ หัวหน้านั้นเสียงแหลมกว่าดิฉัน แต่คนก็ชอบกันนะคะ สังเกตดูเพลงคู่ที่ดิฉันร้องกับหัวหน้ามีไม่กี่เพลงหรอกค่ะ เช่น คูหาสวรรค์ลดำเนินทราย เป็นต้น แต่ถ้าร้องคู่กับคุณวินัย จุลบุษปะก็จะเข้ากันได้ดี อย่างเพลง เงาแห่งความหลัง, เงาของใคร, จะเพราะมาก อย่างดอกฟ้าร่วงนี่ก็นำมาอัดใหม่เป็นสเตอริโอแล้ว หรือเพลงลูกน้ำเค็ม นี่ดิฉันชอบมากร้องกับวินัยที่ร้องว่า หายเหนื่อยด้วยกัน แหอวนเรานั่น เย็บถักรักมั่นพร้อมมั่นทุกครา ไม่ถอนหายใจเลยค่ะ"

ระหว่างการเป็นนักร้องประจำวงหัสดนตรีโฆษณาการ เธอก็มีเรื่องสนุกสนานมากมายเล่าเป็นเกร็ดให้ฟังอยู่หลายเรื่อง เธอยอมรับว่า “ชอบแกล้งคน” คนแรกที่เธอแกล้งคือ รุจี อุทัยกร ขณะซ้อมเพลง “เย็น เย็น” ซึ่งเป็นเพลงประสานเสียงที่ผู้หญิงร้องคู่กันเป็นเพลงแรกของกรมโฆษณาการ ผลงานของครูเอิบ ประไพเพลงผสม มัณฑนาเลือกร้องเสียง 1 ส่วนรุจีต้องร้องเสียง 2

“ เรายืนร้องเสียงดังกลบหูยายรุ (รุจี อุทัยกร)หมด พอเสียงร้องเข้าหูมันก็ร้องเละเทอะ(ฮา) หัวหน้า...รี(จุรี โมรากุล) เค้ากลบเสียงหนูหมด อ้าว...รีเธอเสียงดังมาก เดินห่างจากรุจีออกไปศอกหนึ่ง ตกลงคราวนี้กูร้องเสียงค่อย แกล้งรุจี นี่เป็นความร้ายของดิฉันตอนสาวๆ กลายเป็นว่าทางโน้นร้องคนเดียว เอาใหม่ยืนชิดมาหน่อย ก็ดังอีก"

"ขนาดรุจีเอาไมค์จ่อเสียงยังดังสู้ดิฉันไม่ได้ หัวหน้าเอื้อรู้ว่า ดิฉันแกล้ง เดินผ่านมาเอาไม้คันชักมาตีก้นฉัน บอกว่า เดี๋ยวเหอะ จะแกล้งให้มันถึงเที่ยงเลย ตอนหลังรุจีเดินมาบอกว่า รี อย่าแกล้งรุเลยนะ รุเจ็บคอ ร้องเสียงต่ำๆ เจ็บคอหรือ แล้วกูล่ะโน้ตอีกตั้ง 2 ตัว โธ่...รีก็รู้ว่ารุเสียงต่ำกว่ารี อ้าว...อ้าว ตกลงผ่าน คือ คนที่จะประสานเสียงได้ต้องเก่ง ต้องเป็นโน้ต โถ...ตอนนั้นเลือดมันร้อน"

"อีกเพลง “เริงสุข” ร้องหมู่ - มาเถิดสนุกกันไป เริงใจของเราเอง ต้องร้องประสานกับเลิศ ประสมทรัพย์, ล้วน ควันธรรม), หัวหน้าเอื้อ สุนทรสนาน, จันทนา โอบายวาท, จุรี โอศิริ สนุกมาก อัดกันครึ่งวันไม่เสร็จ ล้วนเสียงดังมาก หัวหน้าก็เสียงแบนแต๋ จุรี โอศิริ ต่อกันครึ่งวันยังร้องไม่ได้ งั้นรี (หมายถึง มัณฑนา) ร้องเสียง 2 แล้วมาหอนเสียง 1 คอที่พองตั้งแต่เสียง 2 จะทำอย่างไง เห็นกูเป็นอะไรวะ ให้หอน 1 ร้อง 2 ฉันไม่ยอม จุรี(โอศิริ) นั่นแหละหอนไปให้ได้ เท่าไรก็ไม่ขึ้น ครึ่งวันไม่เสร็จ"

"จันทนา โอบายวาทย์เป็นคนสนุกสนาน ชอบแปลงเพลงอย่างเพลงคะนึงครวญ-อยู่เดียวเปลี่ยวอกเอ๋ย ฉันเคยโดนเธอปล้ำ (เนื้อเดิม-ฉันเคยฟังเธอพร่ำ) , เพลงรำวงสงกรานต์ - ไปเล่นจ้ำบ๊ะ (เนื้อเดิม -ไปสรงน้ำพระ ณ วันสงกรานต์กันเอย) เราก็เอ๊ะ...จันทนามันร้องอะไร เราเติบโตมาในรั้วในวัง ไม่เคยชินกับคำพูดพวกนี้ เจอคำพวกนี้หน้าแดงเลย ฝ่ายหัวหน้าก็ถามว่า เมื่อกี้ร้องอะไรนะ"

"อีกหนหนึ่งไปร้อง “งอนแต่งาม” ที่ทำเนียบรัฐบาล เพลงเนื้อหาแบบนี้ดิฉันไม่เคยร้อง มันเหมาะกับสุปาณี พุกสมบูรณ์มากกว่าดิฉัน แล้วไม่บอกดิฉันล่วงหน้า ดิฉันก็นั่งเฉย หัวหน้าเอื้อร้องจบท่อนผู้ชายแล้วเราก็นั่งเฉย หัวหน้าเอาไม้คันชักมาชี้หน้าดิฉัน โกรธมากแหม...เอาไม้มาชี้กู กูลูกคุณหลวงนะ พอร้องเพลงเสร็จขึ้นรถออกจากทำเนียบเลย ทางวงต้องไปร้องเพลงงานนอกต่อ แต่ดิฉันไม่ไป มันชี้หน้าเรา เราลูกคุณหลวง(ฮา) นอนดีกว่า มัณฑนานี้ขึ้นชื่อเรื่องงอนกับถือตัวเป็นที่หนึ่ง แล้วไม่ชอบให้ใครมาล้อชื่อพ่อแม่ เราถูกเลี้ยงมาอย่างเด็กโบราณ”
...
อริยวรรต - ดารารายพิลาส
วันหนึ่ง ฉัตรชัย วิเศษสุววรรณภูมิ (พนมเทียน) ได้นำจินตนิยายเรื่องจุฬาตรีคูณมาเสนอกับนางเอกละครวิทยุอย่าง มัณฑนา โมรากุล เธอพาไปพบครูแก้ว อัจฉริยะกุล ต่อมา ครูแก้วดัดแปลงเป็นบทละครวิทยุ พร้อมกับร่วมเขียนเพลงกับครูเอื้อเพื่อประกอบละครเรื่องนี้ ละครเรื่องนี้แหละที่ทำให้พนมเทียนเป็นนักเขียนแถวหน้าในเวลาต่อมา

ละครวิทยุคณะแก้วฟ้า เอื้อ สุนทรสนาน รับบท อริยวรรต, มัณฑนา โมรากุล รับบท ดารารายพิลาส, วินัย จุลบุษปะ รับบท ขัตติยะราเชนทร์ และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี รับบท อาภัสรา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 คณะเทพไท โดย พฤหัส บุญหลงได้นำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีเล่นที่ศาลาเฉลิมไทย เพื่อที่จะหาทุนสร้างพระราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ณ บริเวณลานหน้าสวนลุมพินี คณะกรรมการจัดงานเชื้อเชิญมัณฑนา โมรากุลรับบท “ดาราราย” ได้ค่าตัว 8,000 บาท บทอริยวรรต แสดงโดย ฉลอง สิมะเสถียร ส่วนคู่รอง นำแสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์และชาลี อินทรวิจิตร ละครเรื่องนี้ผู้ชมหนาแน่น เล่นอยู่ร่วมเดือน ประสบความสำเร็จมาก เพลงในละครเรื่องนี้ มีทั้งสิ้น 5 เพลงคือ จุฬาตรีคุณ, ใต้ร่มมลุลี, ปองใจรัก, เจ้าไม่มีศาล และอ้อมกอดพี่ ต่อมาเมื่อบทประพันธ์เรื่องนี้ ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ทุกเพลงจากผลงานของแก้ว อัจฉริยะกุลและเอื้อ สุนทรสนานก็ยังถูกหยิบมาใช้อยู่เรื่อยๆ นับเป็นเพลงอมตะ และไพเราะที่สุดชุดหนึ่งของวงดนตรีสุนทราภรณ์เลยทีเดียว

จุฬาตรีคูณเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 2 ครั้ง ครั้งแรก ดอกดิน กัญญามาลย์ เป็นผู้กำกับการแสดง โดยมีไพรัช กสิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง คู่เอกคือ มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์ ส่วนคู่รองคือ สมบัติ เมทะนีกับเนาวรัตน์ วัชรา สร้างอีกครั้งโดยพรพจน์ฟิล์ม นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี,เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, ปิยะ ตระกูลราษฎร์และวาสนา สิทธิเวช และรูปแบบละครเวทีกลับมาอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 กำกับการแสดงโดย กัณฑรีย์ นาคประภา นำแสดงโดย คาเมล ชาวาลา,ชนานา นุตาคม, ชัชวิน ภูมิดิษฐ์, ปัทมา ปานทอง เปิดการแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุงมณีทัศน์

มัณฑนา โมรากุล ย้อนความหลังถึงละครเวทีเรื่องดังกล่าวให้ฟังว่า
“ตอนซ้อมบทตัวละครชื่อ ดาราราย ต้องร้องไห้ไป หัวเราะไป ยายข้างบ้านเป็นคนจีนก็นึกว่า ดิฉันบ้า(ฮา) มันเดินไปถามพี่สะใภ้ คุณมัณฑนาอีเป็นอะไร อีเข้าห้องน้ำก็ร้องไห้ไป หัวเราะไป พี่สะใภ้บอก มันซ้อมละครอายจะตายตอนนั้น น้าสมพงษ์ ทิพยกลินบอกว่าเล่นทั้งเรื่อง ดีหมด ยกเว้นตอนกอดฉลอง สิมะเสถียร (ซึ่งเธอใช้ข้อศอกยันไว้) อ้าว...ก็เมียเค้า(กัณฑรีย์) จ้องมาตาเขม็งอย่างนั้น ฉันไม่ใช่ดารามืออาชีพนะ ไม่ใช่แบบสุพรรรณ (บูรณพิมพ์) ถึงกล้ากอดกับ ส. (อาสนจินดา) กลม หนูเป็นข้าราชการ”

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเพลงที่มัณฑนา โมรากุลร้องเพลงสลับหน้าเวที เช่น ธรณีกันแสง , หากภาพเธอมีวิญญาณ (แทนเสียง สุพรรณ บูรณพิมพ์ ในละครเรื่องจอมมาร - เฉลิมไทย) , เงาแห่งความหลัง (คู่กับวินัย จุลบุษปะ เป็นเพลงหน้าม่านของละครเวทีเรื่อง จอมมาร) ,ดอกไม้ใกล้มือ (เพลงหน้าม่าน ละครเวทีเรื่อง จอมภพมฤตยู - เฉลิมไทย), จันทร์กะพ้อร่วง (ประกอบละครเวทีเรื่อง แผ่นดินของเรา สวลี ผกาพันธุ์ร้องคนแรก แต่เมื่อบันทึกแผ่นเสียง มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้อง) , อารมณ์รัก (ประกอบละครเวที ผู้ชนะสิบทิศ – เฉลิมไทย) เป็นต้น
...
หลังแต่งงานอำลาวงการ
ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้เธอรู้จักกับเพื่อนของวินัย จุลบุษปะคนหนึ่งชื่อ บุญยงค์ เกียรติวงศ์ คบหากันไม่ถึงปี มัณฑนา โมรากุลยื่นลาออกจากกรมโฆษณาการเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2494 ตัดสินใจแต่งงานเมื่อวันที่ 29 ฑฤศจิกายน พ.ศ. 2494 การยื่นใบลาครั้งนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนานไม่อนุมัติ เธอขาดราชการจนครบ 3 เดือนจึงได้ออกสมใจ

ปีถัดมา พ.ศ. 2495 พลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ ริเริ่มงานเพลงแบบสังคีตสัมพันธ์ (ดนตรีไทยบรรเลงร่วมกับดนตรีสากล) เห็นว่า มัณฑนา โมรากุลเหมาะที่จะร้องเพลงประเภทนี้ จึงติดต่อผ่านไปทางครูผัน โมรากุล แต่ครั้งนั้น เธอไม่อาจจะมาร้องเพลงได้ด้วยเหตุผลทางครอบครัว

แม้ว่ามัณฑนา โมรากุลจะไม่ได้หวนคืนวงการบันเทิง แต่กระนั้นก็ยังมีโอกาสได้บันทึกแผ่นเสียงอีก 7 ครั้งคือ

ครั้งที่ 1 – กลับมาร้องบันทึกกับห้างกมลสุโกศลโดยบันทึกกับแผ่น ตราสุนัขแดง ที่ห้องบันทึกเสียงโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย เมื่อลาออกไปได้ราว 8 เดือน มีเพลง ลาแล้วจามจุรี อาลัยลา เพลงงอนแต่งามเท่านั้น ส่วนเพลงที่เตรียมไว้จะบันทึกเป็นต้นว่า กล่อมวนา, อกหัก, หวานคำ, วาสิฏฐี ก็ต้องยุติเสียก่อนเพราะมีเหตุขัดข้องของเวลาที่ได้กำหนดไว้

“เรานึกว่า9 เพลงนี่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงหรอก เพราะเราเสียงดีอยู่แล้ว ความที่อยากได้เงิน 2 หมื่นบาทนี่แหละ อัดที่ห้องอัดเล็กเฉลิมไทย ดันมาไฟดับเกือบชั่วโมง เลยร้องได้แค่ 3 เพลง อาลัยลา,ลาแล้วจามจุรี ,งอนแต่งามต้องข้ามเพลงไป 6เพลง ในจำนวนนั้นมีเพลงกล่อมวนาและวาสิฏฐีด้วย ครั้นเราจะทู่ซี้อยู่ เดี๋ยวสามีมาพังห้องอัด หรือมาชี้หน้า เราจะเกิดความอาย ก็เลยกลับ เสียดายเพลงกล่อมวนาที่ไม่ได้ร้อง หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ยังพูดเลยว่า ใคร ๆ ก็ร้องสู้ดิฉันไม่ได้”

เพลงกล่อมวนานี่แหละที่เธอค้นพบการใช้ “เสียงสมอง” แทน “เสียงธรรมชาติ” เทรนด์ทุกวัน จนค้นพบเสียงสมอง (ใช้กล้ามเนื้อคอและเพดานอ่อน บังคับลมให้ม้วนเบื้องสูงขึ้นจมูกน้อยๆ แล้วม้วนให้ลมนั้นอ่อนลงสู่เบื้องล่าง เป็นไปอย่างราบเรียบไม่สะดุด) เสียงสมองถ้าร้องดังจะเพราะกว่าเสียงธรรมชาติ

ครั้งที่ 2 – ประมาณปี พ.ศ. 2500 ได้ร้องเพลง “รอยร้าว” หนึ่งเพลง อัดให้ตราเอกชัย ผาสุขในจังหวะวอลซ์ หมายเลขแผ่น AP 10 วงของสุรพล พรภักดี ซึ่งผู้แต่งคือ คุณสุรพบ เป็นศิลปินที่ตาพิการ ได้มาขอให้ช่วยร้องเพราะตั้งใจแต่งเพลงนี้ให้เธอร้องมาแต่แรก

ครั้งที่ 3 - ประมาณปี พ.ศ. 2501 – 2502 ทำแผ่นเสียงตราดอกกุหลาบด้วยตนเอง มีเพลงที่ร้องเองด้วยคือ ดอกราตรี แว่วรักลอยลม ดอกทานตะวัน กอดคุณด้วยใจ รวม 4 เพลง

ครั้งที่ 4 – ประมาณปี พ.ศ. 2502 – 2503 ทำแผ่นเสียงตราดอกกุหลาบออกมาอีกครั้งหนึ่ง เช่นคอยความรัก เป็นต้น

ครั้งที่ 5 – อัดเสียงลงแผ่นสุนทราภรณ์หน้าสีส้ม มีเพลงผู้แพ้รัก เพชรบุรีแดนใจ ดอกฟ้าร่วง และลาแล้วสามพราน แต่เป็นชนิดความเร็ว 45 รอบต่อนาที

ครั้งที่ 6 – บันทึกเสียงให้ “พรพิรุณ” และสถิตภูษา เป็นตราคนคู่ มีเพลง สิ้นรัก แว่วสวาท เดนรัก เป็นต้น

ครั้งที ่7 – แผ่นลองเพลย์ 33 รอบครึ่ง ตราดอกกุหลาบมีสองระยะ แผ่นแรกเป็นการนำเสียงจากแผ่นครั่งเก่ามารวมกับเพลงอัดใหม่ อาทิ เพลงชื่อ ฉันเห็นใจ อีกแผ่นหนึ่งเป็นแผ่นสุดท้ายที่ทำคือ ชุดแผ่นชื่อ รักยิ่งชีพเพลงที่บันทึกมีเพลงรักยิ่งชีพ , ทุเรียนดีดี, น้ำเหนือบ่า (ร้องใหม่), ใจเจ้าเอย มาลัยดอกรัก เป็นต้น เข้าใจว่า บันทึกในราวปี พ.ศ. 2513 – 2514
มัณฑนา โมรากุล
มัณฑนา โมรากุล วัย 72 ปี
เอื้อ สุนทรสนาน – มัณฑนา โมรากุล
ครูแก้ว อัจฉริยะกุล
จุฬาตรีคูณ ของ พนมเทียน
ดารารายพิลาส
ดาราราย – อริยวรรต
อย่างไรก็ดี นักฟังเพลงที่รักเสียงของเธอก็ยังนิยมเสียงที่บันทึกไว้สมัยรุ่นแรกหลังสงครามโลกมากกว่ายุคใหม่ ซึ่งจัดไว้ว่ายุค 2490-2494เป็นยุคที่ยอดเยี่ยมที่สุดของชีวิตการขับร้องเพลง

เมื่อออกจากชีวิตการเป็นนักร้อง มัณฑนา โมรากุลได้ขอตึกแถว 1 ห้องจากสามีบริเวณนางเลิ้ง เปิดร้านเสริมสวย สามีห้ามเด็ดขาด ไม่ให้กลับเข้าไปในวงการบันเทิงอีก ตอนนั้น แม้แต่วิทยุก็ไม่ยอมให้มีในร้านเสริมสวย

“ แหม...กลางวันเพลงมันเพราะนะ เค้าบอกว่าเดี๋ยวได้ยินจะกลับไปร้องเพลงอีก ดิฉันอยากเปิดร้านเสริมสวย เพราะว่า อยากทำมาหากินด้วยตัวเอง จะให้ดิฉันนั่งแบมือขอใคร ไม่ชอบ ไม่เคยทำ ดิฉันดูแลครอบครัวมาตั้งแต่อายุ 14 แล้วจะมารอให้เธอบอกว่า เอาไป300-500 ฉันทนไม่ไหวหรอก คนเราเคยหาเงินได้เอง ขอตึกแถวฉันห้องนึงเถอะ ฉันอยากมีอาชีพ ซุ่มทำร้านอยู่ 3 เดือน หัวหน้าก็ถามว่า ทำไมไม่ไปร้องเพลงในงานเต้นรำ แหม... ยังโกรธไม่หาย เอาไม้มาชี้หน้าเรา ดิฉันอ้างว่า สุขภาพไม่ดี หัวใจเล็ก (ฮา) จริง ๆแล้วมันเป็นอย่างนั้นเพราะเราไม่เคยเบิกบานมาตั้งแต่เล็ก พอร้านเสร็จทำจดหมายขอลาออก รีคิดให้ดีนะ หัวหน้าอนุญาตให้ทำงานถึงเที่ยง ดูกระดานไว้ งานไหนไปได้ก็ไป อนุญาตเราถึงขนาดนั้นเราก็ไม่เอา"

"ข้างฝ่ายสามีบอกว่า อย่าเหยียบเรือสองแคมนะ เดี๋ยวไปพังกรมฯเลย เราก็บอกว่าอย่าไป ไปไม่ได้นะ เราเป็นคนหน้าบางก็เลยตัดสินใจอำลาวงการเพลงหลังแต่งงาน ทั้งที่ตอนนั้นเสียงดีที่สุด ทางกรมก็ไม่ยอมอนุมัติ อ้างว่าหาคนแทนไม่ได้ ไม่อนุมัติหรืองั้นเราไม่เข้าไป มนัส รามโยธินเอาเงินมาให้ทุกเดือน มนัสอย่าทำอย่างนี้นะ ฉันไม่ได้ทำงานเอาเงินมาทำไม ไม่เป็นไรครับ ในที่สุดเงินบำเหน็จทุกอย่างดิฉันส่งคืนกองคลังหมด”

มัณฑนา โมรากุล ยอมรับว่า แพ้ความดีของบุญยงค์ เกียรติวงศ์ ผู้เป็นสามี
“เราเหนื่อยมาตั้งแต่อายุ 14ปี จนมาถึง28 ปี โบราณว่าน้ำหยดลงหินมันยังกร่อน ส่งขนมไหว้พระจันทร์มายังซุกนาฬิกาโอเมกามาให้ ดิฉันเห็นใจเขา สงสารที่เขาอุตส่าห์ทุ่มเทให้เราจริง ๆ เรามีแต่ตัว ทรัพย์สมบัติอะไรก็ไม่มี ร้องเพลงมา 12 ปียังเช่าบ้านอยู่ เพราะว่า เลี้ยงคนเยอะ แต่เขาให้ทุกอย่าง และดิฉันมีทุกอย่างเพราะเขา"

"ตอนหลังมนัส รามโยธินยังมาบอกว่า กลับเถอะ เดี๋ยวนี้... คนมีผัวไม่ต้องลาออก ร้องเพลงได้แล้ว (ฮา) เราก้าวออกมาแล้ว ไม่อยากให้ใครมาว่า ลับหลัง และไม่ร้องอยู่จนถึงทุกวันนี้ ฉันไม่เคยไปร้องเพลงตามไนต์คลับหรือกลับไปของานใครทำ ฉันสู้ด้วยตัวเอง ลิขิตชีวิตด้วยตัวเอง จะไม่มีวันให้ใครมาเลาะสะเก็ดเราเล่น ไม่มีกินแคะขนมครกขายดีกว่า”

วันหนึ่งรวงทอง ทองลั่นธม แวะมาทำผมที่ร้านบอกว่า.
“พี่ขา...พี่คอยฟังนะคะ คืนนี้จะมีเพลงที่ครูแก้วแต่งให้แก่ใครคนหนึ่งที่นับวันจะห่างไกลออกไปทุกที รวงทองบอกว่าครูแก้วแต่งเพลงให้พี่ ดิฉันว่า มาแต่งหาตะบักตะบวยอะไร ฉันมีลูกผัวแล้ว (ฮา) วันหลังมาเซตผมอย่ามาพูดอย่างนี้นะ” ทุกอย่าง ณ วันนั้น ทำให้มัณฑนากลัวและเกร็งว่า สามีจะรู้เรื่องและไม่พอใจที่เธอยังคลุกคลีในวงการเพลง"

บุญยงค์ เกียรติวงศ์และมัณฑนา โมรากุล มีทายาทด้วยกัน 4 คนคือ ยุ้ย – ยิ่งลักษณ์, ยิ้ม – นิชนา, เล็ก – ธำรง และหยวก ยุวนุช เกียรติวงศ์

ขณะที่ทำร้านเสริมสวยอยู่ที่นางเลิ้งได้ระยะหนึ่ง ชีวิตมัณฑนา โมรากุลก็หักเหอีกครั้ง

“ญาติสนิทเอาร้านดิฉันไป ดิฉันเสียใจมาก ไปนั่งร้องไห้อยู่ที่กว๊านพระเยา 2 ปีเพื่อให้หมดสัญญา ทุกวันร้องแต่เพลง “ชีวิตลำเค็ญ” ที่ไปกว๊านพะเยาตอนนั้น เพราะว่าสามีไปสร้างตึกสงฆ์ที่นั่น ฉันนั่งน้ำตาไหลทุกวัน ไม่อยากจะอยู่ที่นี่เลย”

“ครั้งหนึ่งดิฉันกับสามีเดินทางไปอุตรดิตถ์ เจอหมอดูตาบอดนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ เค้าจับลายมือดิฉันแล้วทายว่า เมื่อก่อนมีเงิน เดี๋ยวนี้กางเกงแทบไม่มีจะนุ่ง กลับไปซะ ตุลาคมนี้ได้คืนหมด หมอดูกำชับว่า หลังออกพรรษาในปีนั้นให้อาบน้ำกลางแจ้ง แล้วขอขมาลาโทษต่อฟ้าดิน เนื่องจากดิฉันเคยทำในสิ่งที่ไม่ควร หลายอย่างที่ไม่สมควร ดิฉันจะเล่าให้ฟัง ดิฉันเป็นคนแบบนี้ เอาแต่ใจ แหวนทองดิฉันตำจนแหลก ธนบัตรใบละร้อยเป็นฟ่อน ดิฉันฉีกซะละเอียด ขว้างไปกลางสนาม สามีเก็บขึ้นมา ถามว่า ทำไมเธอทำกับฉันแบบนี้”

หลัง 2 ปี เธอกับญาติเผชิญหน้ากันอีกครั้ง
“ ดิฉันถามว่าพอหรือยัง ถ้าพอแล้วก็ขนของออกไปเดี๋ยวนี้ อะไรของแก แกเอาไป ตึกของฉัน เครื่องดัดผมของฉัน ลูกๆของเค้าตั้ง 8 คน ครั้นเราจะทำอะไรก็ทำไม่ลงอีก คุณมัณช่วยหนูด้วย เชื่อมั้ย ดิฉันยังเอาเงินที่เซ้งร้าน 2 หมื่นบาทให้ไป ซึ่งสมัยนั้น เงิน 2 หมื่นไม่ใช่น้อยนะ ดิฉันบอกว่า เธอทำฉันแย่ แต่พระรู้ ซึ่งดิฉันอโหสิกรรมทุกอย่าง จากนั้นถึงทำโรงหนังศรีพรานนก”

บริเวณสี่แยกพรานนก ปักป้ายไว้หลายปีว่าที่บริเวณนี้จะทำโรงภาพยนตร์ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ทำเสียที บุญยงค์ เกียรติวงศ์ผู้เป็นสามี ซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างนั้นไปถามเจ้าของว่า คิดหน้าดินเท่าไร ทางเจ้าของคิด 370,000 บาท เงื่อนไขที่ตกลงกันคือ จะเอาส่วนที่ต้องชำระค่าหน้าดินไปซื้อวัสดุก่อสร้าง สร้างเสร็จ จ่ายค่าหน้าดินภายหลัง นอกจากโรงภาพยนตร์แล้ว ยังมีตึกแถวด้านหน้าโรงภาพยนตร์อีก 8 ห้อง

พ.ศ. 2507 ภาพยนตร์เรื่องแรกของโรงภาพยนตร์ศรีพรานนกคือ รถด่วนมหาภัย มัณฑนา โมรากุลเป็นคนบุ๊กหนัง ช่วงคั่นระหว่างม้วนต่อม้วนเอาวงดนตรีสุนทราภรณ์มาบรรเลง ทำกิจการโรงภาพยนตร์อยู่ 9 ปี ต่อมาขายกิจการให้แก่เจริญ พูนวรลักษณ์ ส่วนห้องแถวด้านหน้ายังเก็บกินค่าเช่าอยู่ ห้องละ 150 บาท / เดือน ไม่รวมค่าคัตเอาต์ระหว่างตึก เดือนละ 5 พันบาท ซึ่งเธอสามารถเก็บรายได้ในส่วนนี้อีก 25 ปี

นอกจากนี้ มัณฑนา โมรากุล ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “มารรัก” เมื่อปี 2515 นำแสดงโดย ไพโรจน์ ใจสิงห์ และมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช กำกับการแสดงโดย สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้เพลง “ชีวิตลำเค็ญ” เป็นเพลงประกอบ โดยนำมาให้ลัดดา ศรีวรนันท์มาขับร้องใหม่
หมายเหตุ - บางส่วนจาก หนังสือ ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล)
...
มัณฑนา วิชาการ

เมื่อปี พ.ศ. 2546 คณะทำงาน “มัณฑนาวิชาการ” ได้ประชุมเดือนละครั้ง เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2546 และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 รวม 8 ครั้ง โดยการสัมมนา “มัณฑนาวิชาการ” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 -16 พฤศจิกายน 2546 หลังจากนั้น คณะทำงานได้สรุปประชุมประเมินผลเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 เป็นอันสิ้นสุด เอกสารทางวิชาการที่คณะทำงานได้นำเสนอตลอดจนข้อสรุปทั้งหลาย ทางสำนักพิมพ์ ชมนาดได้จัดพิมพ์อยู่ในผลงานชื่อ “เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล” หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง บทสังเคราะห์รายงานการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “มัณนา วิชาการ” และทำเรื่อง “มัณฑนาให้เป็นวิชาการ” โดยเจตนา นาควัชระ, มิติใหม่เกี่ยวกับชีวิตและผลงานของมัณฑนา โมรากุล โดย มัลลิกา คณานุรักษ์, พัฒนาการทางศิลปะของมัณฑนา โมรากุล : การวิเคราะห์เชิงคีตศิลป์ โดยนรอรรถ จันทร์กล่ำ, ศิลปะการขับร้องของมัณฑนา โมรากุล / เพลงของมัณฑนา โมรากุล ในทัศนะของคนรุ่นใหม่ (การอภิปราย) เป็นต้น

ในบทสังเคราะห์รายงานการสัมมนา “มัณฑนาวิชาการ” กล่าวในตอนหนึ่งว่า
“ในด้านของความสามารถส่วนบุคคล ข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ในวงการ และจากการสัมภาษณ์มัณฑนา โมรากุลเอง ปรากฏชัดว่า เธอเป็นผู้ที่ใฝ่แสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ด้วยพื้นฐานทางวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง เธอสามารถตีความเพลงได้อย่างลึกซึ้ง เธอมีความดื่มด่ำกับวรรณคดีไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมาขับร้องเพลงไทยสากลใน “ยุคทอง” เธอก็พยายามทำความเข้าใจกับสารที่มาในรูปของเนื้อร้องที่เปี่ยมด้วยวรรณศิลป์"

"เธอเล่าว่า เธอจะเริ่มต้นด้วยการศึกษาเนื้อร้องอย่างละเอียด จากนั้นจึงพยายามตีความเนื้อร้องและทำนองให้เข้ากันให้ได้ ในด้านการขับร้อง เธอแสวงหาแนวการฝึกการร้องด้วยตัวเอง จนในบางครั้งก็ไปไกลเกินครูเสียด้วยซ้ำ ด้วยการเปล่งตัวโน้ตด้วยการดำน้ำ (ซึ่งอาจเรียกเป็นศัพท์วิชาการได้ว่า “Underwater Vocalizing) การฝึกเสียงสั่น ( Vibrato) ก็ดี การฝึกใช้เสียงหลอก (Falsetto) ซึ่งเธอเรียกว่า “เสียงสมอง” ก็ดี เป็นเรื่องของการแสวงหาความชัดเจนด้วยตัวเอง ผนวกกับการรับคำแนะนำจากผู้รู้ มัณฑนา โมรากุล จึงเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศของศิษย์มีครู ผู้ซึ่งไม่หยุดยั้งที่จะคิดต่อจากครู”

ในปกหลัง ได้แสดงทัศนะของบุคคลที่มีต่อมัณฑนา โมรากุล 4 ท่าน ดังนี้
เจตนา นาควัชระ “นักร้องรับเชิญบางคนมิใช่ศิษย์สายตรงของสำนักสุนทราภรณ์ แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งว่า การร้องเพลงมัณฑนาไม่ให้เหมือนมัณฑนานั้นเป็นสิ่งที่ผู้ที่ชื่นชอบเพลงของมัณฑนารับได้เป็นอย่างดี … และข้อมูลย้อนกลับที่ได้จากคุณมัณฑนา โมรากุล ซึ่งให้เกียรติมาร่วมงานตลอด 2 วัน ก็ปรากฏว่า ท่านประเมินการตีความใหม่ไว้ในระดับสูง สรุปได้ว่าการตีความใหม่หาใช่เป็นการนอกครู การบิดเบือน หรือการลดงานรุ่นเก่าในสังคมร่วมสมัยของเราก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจงานต้นแบบ อันจะนำไปสู่การตีความใหม่ที่กอปรด้วยความหมายและทรงคุณค่า”

นรอรรถ จันทร์กล่ำ “ คุณมัณฑนาเป็นผู้ที่ผสมผสานการร้องพลงไทยกับเพลงสากลเข้าด้วยกันจนกลายเป็นศาสตร์ชนิดใหม่ และเพลง “ธรรมชาติกล่อมขวัญ” เป็นเพลงที่มีรูปของศาสตร์ทั้ง 2 ด้านครบถ้วน มีเนื้อที่สวยงาม มีท่วงทำนองที่ดี การเรียบเรียงยอดเยี่ยม ทุกสิ่งพร้อมที่จะทำให้นักร้องรังสรรค์ความเป็นไทยสากลให้สมบูรณ์ และคุณมัณฑนาก็ได้พิสูจน์จากผลงานเพลง “ธรรมชาติกล่อมขวัญ”นี้ว่า คุณมัณฑนา เป็นผู้ที่วางมาตรฐานการร้องพลงไทยสากลที่เป็นรูปแบบที่ลงตัว เหมาะสม และเป็นแม่แบบให้แก่นักร้องรุ่นต่อมากระทั่งถึงปัจจุบัน"

วิษณุ วรัญญู “ คุณมัณฑนาเป็นนักร้องที่อ่อนน้อมถ่อมตนและเคารพผู้มีพระคุณ นอกจากนี้ คุณมัณฑนายังเคารพผู้ฟัง (อันเป็นสิ่งที่แสดงความยิ่งใหญ่ของศิลปิน) จะเห็นได้ว่า ในการปฏิบัติการดนตรีของคุณมัณฑนานั้น ไม่ว่าจะในการแสดงจริงหรือการซ้อม คุณมัณฑนาจะทำหน้าที่เต็มที่เสมอ ไม่ว่าการร้องเพลงครั้งนั้นจะมีผู้ฟังเพียงไม่กี่คน หรือเป็นพันคน หรือในการร้องเพลงออกอากาศ ท่านจะต้องแสดงเต็มที่สุดความสามารถเสมอ สิ่งนี้เป็นวิญญาณศิลปิน”

รวงทอง ทองลั่นธม “คำขึ้นต้นในเพลงของคุณพี่มัณฑนานั้นล้ำเลิศเหลือเกิน ก็คือคำขึ้นต้นของทุกเพลงนั้นมีมนต์และมีพลังที่ทำให้เราผูกพันและทำให้เราเห็นถึงความไพเราะอันมหัศจรรรย์ ทั้งคำกระแสเอื้อนและหางเสียงที่ท่านฝากไว้ มันคลุกเคล้ามาอยู่ในหัวใจเรา เพลงของคุณมัณฑนามิได้อยู่ในอากาศ แต่อยู่ในหัวใจของคนต่างหาก เพลงนั้นมีอิทธิพลที่ฝังเข้าไปอยู่ในส่วนลึก อยู่ในมันสมอง อยู่ในจิตวิญญาณ นี่ต่างหากที่ครองความเป็นอมตะ”


เพลง "ลูกน้ำเค็ม"
เพลงประมาณปี 2490 – 2492 เป็นเพลงที่สนุกมาก เวลาร้องจะแบ่งกันร้องโดยไม่ถอนหายใจ ในแต่ละท่อนกับคุณวินัย จุลบุษปะ

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

ครอบครัว
หนังสือ ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล
แผ่นซีดี ชุดนี้ ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด
ปกแผ่นเสียงมัณฑนา
รักยิ่งชีพ  ผลงานสุดท้าย บันทึกเสียงหลังเมื่อประมาณปี 2513-2514
เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล สำนักพิมพ์ชมนาค
กำลังโหลดความคิดเห็น