xs
xsm
sm
md
lg

โฆษณาแฝง ตรงไหน(ฟะ)?/อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

"ไม่เข้าใจว่าเปิดประเด็นนี้ขึ้นมาทำไมไม่ทราบ ลองดูหน้าเว็ปของตัวเองซิว่ามีไหม ไอ้โฆษนาแฝงที่ว่าเนี่ย ถ้ามีก็รบกวนถามคนในผู้จัดการดูเองเลยว่ามีทำไม มีไปเพื่ออะไร ไม่ต้องมาตั้งกระทู้ให้เปลืองเนื้อที่ข่าว...

ข้างต้นเป็นข้อความการแสดงความคิดเห็นที่ 7 ที่มีต่อสกู๊ปเรื่อง
"โฆษณาแฝง ขายของแบบเล่นแร่แปรธาตุ"
จากทีมงาน Click ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เมเนเจอร์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา

โดยมีผู้แสดงความคิดเห็น "เห็นด้วย" ต่อผู้ที่แสดงควมเห็นที่ว่า +143 เป็นจำนวนที่สูงที่สุด

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายข้อความพอสมควรที่มีความคิดเห็นไปในลักษณะเดียวกับคุณ "เห็นด้วย" อาทิ...ซิดคอม เขาแฝงโฆษณากันเกือบทุกประเทศแหละคุณพี่ขา บ้าป่าวค่ะเนี่ย เป็นมากป่าว...AD

ไมเคยรู้สึกเลยคะ ว่ามีแอบแฝง เพราะไม่เคยดูไปถึงของที่แอบแฝงนั้นเลย ดูแต่ตัวละคร คะ กระทู้นี้คิดมากไปเปล่าคะ...miss tokyo ฯลฯ
...
จริงๆ ตั้งใจจะชวนท่านผู้อ่านแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง "โฆษณาแฝง" มาตั้งแต่ที่ได้อ่านสกู๊ปเรื่องนี้ใหม่ๆ แล้วครับ เพียงแต่รู้สึกว่ายังขาดแรงบันดาลใจอะไรบางอย่าง

กระทั่งเมื่อเห็นโฆษณา (ไม่แฝง) ผ่านทางยูบีซีว่า นับจากนี้ไปยูบีซีจะมีโฆษณา(แล้ว) ก็ให้นึกอยากจะรู้สึกอยากจะเขียนขึ้นมาทันที

เท่าที่สอบถามไปยังเพื่อน พี่ น้อง ที่เป็นสมาชิกของเคเบิ้ลเจ้านี้อยู่ ทันทีที่ได้เห็นโฆษณาที่เอาดาราเอเอฟฯ ชาย-หญิงคู่หนึ่งมาชี้แจงว่าการมีโฆษณาในครั้งนี้จะไม่ทำให้อรรถรสในการรับชมยูบีซีของเหล่าสมาชิกเสียไปอย่างแน่นอน ก็มีหลายคนเลยครับที่รู้สึกไม่ค่อยจะพอใจสักเท่าไหร่

ขณะที่บางคนก็ทำเป็นมองโลกในแง่บวก บอกแนวประชดประชัน(ตัวเอง)ว่า จะเรื่องมากอะไรกันนักกันหนา เขาอุตส่าห์ "แถม" โฆษณามาให้ โดยไม่เก็บค่าสมาชิกเพิ่มก็บุญแล้ว!

ผมเองไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างถูกต้องตามกฏหมายของเคเบิ้ลเจ้านี้แต่อย่างใด (หมายถึงว่าอาศัยดูอยู่ที่ออฟฟิศ ไม่ได้ไปติดของเถื่อนของผีอะไรนะครับ) แต่พอรู้ว่าจะมีโฆษณาขึ้นมา ก็ยังอดรู้สึกแทนสมาชิกไม่ได้ถึงการถูก "เอาเปรียบ"

ต้องไม่ลืมนะครับว่า เหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เขาเลือกเป็นสมาชิกยอมเสียเงินเสียทองเดือนละหลายร้อยถึงหลักพันกว่าบาท นอกจากความต้องการจะเสพความหลากหลายในเรื่องของเนื้อหาข่าวสาร สาระและความบันเทิงแล้ว อีกประเด็นหนึ่งก็เพราะที่นี่มันไม่มีโฆษณาให้เสียอารมณ์มิใช่หรือ

จริงอยู่ครับที่ว่านี่คือ "ช่องทางเลือก" หากผู้บริโภครู้สึกถึงความไม่คุ้มกับเงินที่จะต้องเสียไปก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการบอกเลิก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยอมรับกันนะครับว่านับตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึง ณ วันนี้ เจ้าของสินค้าเองเปลี๊ยนไป๋ และมีการเปลี่ยนแปลงการให้บริการที่ดูเหมือนจะเป็นการมัดมือชกสมาชิกอยู่ไม่น้อยตลอดมา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแพคเกจที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งเรื่องของคุณภาพของการให้บริการ

ยังจำกันได้มั้ยล่ะครับกับโฆษณาของยูบีซีชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นการสนทนาที่ปู่พยายามอธิบายหลักการการส่งสัญญาณให้ผู้เป็นหลานฟัง

ตอนแรกไอ้กระผมก็นึกว่าจะโชว์ความเทพทางด้านเทคนิกของยูบีซี ทว่าบทสรุปกลับกลายเป็นว่า...หลาน เอ๊ย สรุปแล้วมันช่วยไม่ได้จริงๆ นะที่เราจะดูยูบีซีไม่ชัดในบางครั้ง หรือสัญญาณภาพและเสียงที่ส่งไปมันล้มขาดๆ หายๆ ในบางครา ด้วยเหตุก็อย่างที่ปู่อธิบายให้ฟังนั้นแล

หลอกบ่นคนอื่นฟรีๆ โดยไม่เสียค่าสมาชิกแล้วทีนี้ก็มาว่ากันที่เรื่องของโฆษณาแฝงกันบ้าง

มาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่าคำว่า "โฆษณา" หมายถึงอะไร?

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้ระบุความหมายของโฆษณาไว้ว่า เป็นการประกาศสินค้าหรือบริการที่ต้องการให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบจุดมุ่งหมายก็เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักสินค้าหรือการบริการนั้น

ส่วนกฎหมายคุ้มครอง ผู้บริโภคคำว่าโฆษณานั้นหมายความถึง การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า (ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522)

ดังนั้น ข้อความที่จะเป็นการโฆษณาได้จะต้องเข้าองค์ประกอบ 2 ข้อ ดังนี้ (1) การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นทราบข้อความ และ (2) เพื่อประโยชน์ทางการค้า

ไอ้เจ้าโฆษณานี่มันจะมีพื้นที่ของมันโดยเฉพาะครับ ยกตัวอย่างที่เราเห็นในสิ่งพิมพ์ซึ่งบางสื่อจะระบุให้เห็นชัดเจนว่าตรงไหนคือเนื้อที่โฆษณา ขณะที่ในทีวีก็จะมีการกำหนดเวลาเอาไว้ เช่น ใน 1 ชั่วโมงสามารถโฆษณาได้ไม่เกิน 16 นาที เป็นต้น

แล้วโฆษณาแฝงล่ะคืออะไร?

หลักๆ มันก็คือการโฆษณาที่ใส่เข้าไปในช่วงที่ไม่ใช่เวลาโฆษณาโดยที่ทำให้ผู้บริโภคเองไม่รู้สึกว่าเป็นโฆษณานั่นแหละ เช่น ให้พระเอกเลือกที่จะใช้รถยี่ห้อนั้น ให้นางเอกใช้ผ้าอนามัยยี่ห้อนี้ ร้านขายของชำในทุกๆ เรื่องของซิทคอมที่โชว์สินค้าหลากหลายยี่ห้อ แก้วน้ำ เครื่องดื่ม โน้ตบุ๊คส์ที่ตั้งอยู่หน้าโต๊ะผู้ประกาศของทีวีทุกช่อง ทุกค่าย

ช่วงหลังๆ นี้มีการถกเถียงกันพอสมควรเลยครับว่าไอ้การมีโฆษณาแฝงโดยเฉพาะในจอทีวี และเจาะจงลงไปอีกในรายการประเภทซิทคอมว่ามันมีความเหมาะสมหรือสมควรมีมากน้อยเพียงใด

บางคน (อย่างที่ยกตัวอย่างมาในย่อหน้าต้นๆ ของคอลัมน์) ก็จะมองว่าไม่เห็นน่าเกลียด เพราะชีวิตจริงเวลาเราเข้าไปในรานขายของชำเราก็จะต้องเห็นสินค้าที่หลากหลายอยู่แล้ว, บางคนก็จะมองว่าทำไมคิดเองไม่เป็นหรือไง, ก็ให้เขาโฆษณาไปเถอะ ไม่มีผลอะไรหรอก ขณะที่บางคนก็มองว่ามันคือการเอาเปรียบผู้บริโภค เวลาโฆษณาก็มีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีด้วย บางก็อาจจะมองว่ามันคือการยัดเยียด

มีมุมมองที่ผมว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อยครับในสกู๊ปเรื่อง
"โฆษณาแฝง ขายของแบบเล่นแร่แปรธาตุ"
เป็นความคิดเห็นของคุณ "สุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์" ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ของบริษัท แอ็กแซ็กท์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าแรกๆ ที่นำโฆษณาแฝงเข้ามาในละครซิทคอม

โดยเจ้าตัวมอง(ในทำนองชี้แจง)เกี่ยวกับเรื่องที่ค่ายของตนเองถูกเพ่งเล็งเกี่ยวกับเรื่องนี้กว่าค่ายอื่นๆ ว่า...“เรามีโครงเรื่องวางไว้ชัดเจน ไม่ใช่แถใส่ร้านค้าและสินค้าเข้าไปอย่างไม่มีเหตุและผล แน่นอนว่า เมื่อมีร้านค้า เป็นนิสัยปกติของคนที่อาศัยบริเวณนั้นที่จะจับจ่ายซื้อขายสินค้าในร้าน และเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีสินค้าต่างๆ วางอยู่ สุดท้ายคนดูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นโฆษณาแฝงหรือไม่ เขาสนใจแค่ความสนุกของละคร เขาไม่รู้สึกว่าตรงนั้นมาทำลายความซึ้งหรือความสนุกของผู้ชม”

พร้อมกันนี้เขายืนยันด้วยว่า...อุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ สินค้าโชว์บนแผง ป้ายในรายการ โลโก้ วีทีอาร์ แก้วน้ำ แก้วกาแฟ แก้วนม หรือสินค้าในชีวิตประจำวันของตัวละครเช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ ที่ผปรากฏในละครหรือซิทคอมของเอ็กแซ็กท์ ไม่ใช่โฆษณาแฝง เป็นสิ่งของที่ต้องมีตามปกติในชีวิตประจำวัน โดยผู้ผลิตไม่ได้คิดเงินเพิ่มจากผู้ลงโฆษณา เหมือนเป็นการให้ของแถม ตอบแทนการซื้อสปอตโฆษณาอย่างต่อเนื่องของลูกค้า เพื่อให้เป็นสปอนเซอร์ไปนานๆ

จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็สุดแล้วแต่พิจารณากันเอาเองเถิดครับ

ส่วนผม เกี่ยวกับเรื่องโฆษณาแฝง แม้จะขุ่นมัวในอารมณ์อยู่บ้างเพราะรู้สึกว่าถูกยัดเยียด, ถูกเอาเปรียบเพราะไม่ได้ค่าโฆษณาเหมือนกับเจ้าของรายการ เจ้าของเวลา(ที่เขาอาจจะได้เพิ่มขึ้น) แต่ก็ยังน้อยกว่าความรำคาญ!

รำคาญอะไร?

อย่างที่บอกครับว่าโฆษณาแฝงมันคือการโฆษณาโดยไม่ให้คนดูรู้สึกว่าเป็นการโฆษณา เพราะฉะนั้นการทำโฆษณาแฝง หรือการแอบโฆษณาในลักษณะนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครับ ที่สำคัญคือต้อง "เนียน" ยกตัวอย่างเช่น ดูเจมส์ บอนด์แล้วหลายคนก็ฝันนึกอยากจะได้รถยี่ห้อที่เจมส์ บอนด์ ขับ อยากได้นาฬิกาที่บอนด์ผูก อะไรทำนองนี้

แต่ไอ้การที่ให้ตัวละครพูดโฆษณาสรรพคุณสินค้าให้ตัวละครตัวอื่นฟังแบบโต้งๆ (แถมบางทียังไปแขวะยี่ห้อคู่แข่งเข้าให้อีก) หรือบางซิทคอมที่กันเวลาเอาไว้ช่วงเวลาหนึ่งเพื่อโฆษณาสินค้าโดยเฉพาะ เหล่านี้ผมอยากจะเกาหัวแกรกๆ แล้วถามไปยังบรรดาครีเอทีฟ หรือผู้กำกับฯ ด้วยภาษาพ่อขุนรามว่า...

อย่างนี้มรึงยังกล้าเรียกว่าโฆษณาแฝงอีกหรือวะ?
กำลังโหลดความคิดเห็น