xs
xsm
sm
md
lg

น่ารักน่าใคร่ : รถไฟฟ้ามาหานะเธอ/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา




หลังจาก “หมากเตะรีเทิร์นส” ที่ดูเหมือนจะเป็นหนังประเภท “สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก” หาจุดโฟกัสที่ชัดๆ เจนๆ ไม่ได้เท่าไหร่ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ผลงานการกำกับลำดับที่ 2 ของคุณปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ดูเหมือนจะเคลมได้ง่ายกว่ามาก ว่าเป็นหนังซึ่งสร้างมาเพื่อเสิร์ฟกลุ่มสาวโสดวัยทำงาน (Office Lady) ที่กำลังใฝ่ฝันถึงการมีคนรัก

ครับ ที่พูดเรื่องนี้ก่อน เพราะผมคิดว่ามันสำคัญพอสมควรสำหรับคนทำหนังยุคนี้ที่ต้องค้นหาให้ได้ว่าทาร์เก็ตของตัวเองอยู่ตรงไหน ซึ่งหลายๆ ค่ายก็คงพยายามทำอยู่ ในลักษณะของการสำรวจตลาดที่ไปวิจัยความต้องการของคนดูว่า ปรารถนาหนังแบบไหน

แต่ก็อีกนั่นแหละ นอกเหนือไปจากการ “มองเห็น” ความต้องการของผู้ชม ผมเชื่อว่า การบ้านที่หนักหนายิ่งกว่านั้นซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของการทำหนังจริงๆ ก็คือกระบวนการงานสร้างที่ต้องอาศัยพลังงานและความใส่ใจ ไล่ตั้งแต่คัดเลือกบท เขียนบท หาโลเกชั่น ฯลฯ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือการแคสติ้งนักแสดง

ท่ามกลางกระแสที่แรงเหลือของหนังเรื่องนี้ที่เพิ่งฉลองใกล้ทะลุร้อยล้านตามหลัง “5 แพร่ง” ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องสำหรับหนังเรื่องนี้ของจีทีเอชซึ่งเลือกใช้ “เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์” มาเป็นแอ็คเตอร์ตัวหลัก เพราะต่อให้ไม่นับรวมความดีของหน้าตาที่เข้าขั้น “หล่อทะลุแป้ง” นักแสดงคนนี้ยังมีภาพลักษณ์ของความเป็นแฟมิลี่แมนที่แลดูอบอุ่นในสายตาของผู้หญิงทั่วๆ ไป และแน่นอนที่สุด เมื่อหนังดีไซน์ตัวละครอย่าง “เหมยลี่” ให้เป็นผู้หญิงที่กำลังนึกฝันถึงการมี “คู่ชีวิต” ด้วยแล้ว คำถามก็คือ แล้วผู้ชายคนไหนล่ะที่จะเหมาะสมกับบทนี้มากไปกว่าคนที่มี “ชีวิตคู่” ที่ดีอยู่แล้ว

เปรียบเทียบดูก็ได้ครับว่า ถ้าเราลองเปลี่ยนตัวแสดงจาก “เคน” ไปเป็นคุณซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ หรือคุณเต๋า-สมชาย เข็มกลัด ผมเชื่อมากๆ เลยว่า สาวๆ ที่ยังโสดอยู่ก็อาจจะไม่รู้สึกอินเท่านี้ก็เป็นได้

พูดอีกแบบก็คือ ภาพลักษณ์ของเคนในโลกความเป็นจริง ถูกหยิบมาใช้สอยในโลกของหนังได้อย่างเหมาะเจาะถูกที่ถูกเวลา กับบทบาทของชายหนุ่มชื่อแปลกๆ (ลุง) วิศวกรรถไฟฟ้าที่เข้างานกะดึก

แต่ก็น่าแปลก ทั้งๆ ที่หนังเลือกใช้นักแสดงที่มีคุณภาพถึงเพียงนี้ แต่เราจะเห็นว่า บทของเคน-ธีรเดช นั้นกลับไม่มีอะไรโดดเด่นมากมาย อย่างน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับผลงานการแสดงในละครหลายต่อหลายเรื่อง พูดได้เลยว่า บทของ “คุณลุง” ในหนังเรื่องนี้ไม่มี “ซีนที่น่าจดจำ” อะไรเลย

พูดกันอย่างตรงไปตรงมาเลยก็คือ บทของเขาถูกทำให้ดู “หล่อ” แบบเทพบุตรจุติก็จริง แต่ทว่าในแง่ของแอ็คติ้ง ผมว่าบทหนังยังไม่ส่งให้เขาได้โชว์ทักษะด้านการแสดงอะไรมากมาย มากไปกว่านั้น บทของเขายังดู “เบาๆ ลอยๆ” ไปหน่อย พูดไปก็คล้ายๆ พระเอกในนิยายรักหวานแหววของวัยรุ่นที่มาพร้อมกับหน้าตาหล่อเหลาขั้นเทพ แค่แย้มยิ้มบนใบหน้า สาวๆ ก็กรี๊ดแตกกันแล้ว

แต่เอาล่ะ ผมไม่อยากจะคิดว่าการเลือกเคนมาแสดงนั้นเป็นเพียงเครื่องมือทางการตลาดเพื่อเอาใจคนดู ซึ่งก็คือคุณผู้หญิงทั้งหลาย หรือพูดอีกอย่าง มันเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะว่ากันตามจริง สิ่งที่ดูเหมือนว่าหนังต้องการให้ตัวเองเป็นก็คือ Chick Flick (ใช้เรียกขานหนังกลุ่มหนึ่งซึ่งนิยมเดินเรื่องด้วยการให้ความสำคัญกับตัวละครหญิงเป็นหลัก ตัวอย่างหนังกลุ่มนี้ก็มีตั้งแต่โรแมนติกคอเมดี้น่ารักๆ อย่าง My Best Friend’s Wedding, Pretty Woman, The Princess Diaries ฯลฯ ไปจนถึงหนังโรแมนติกเน้นๆ แบบ Gone With the Wind หรือแม้แต่หนังนัวร์ๆ ดาร์กๆ อย่าง Thelma & Louise)

และหนังก็ทำสำเร็จ เพราะตลอดระยะทางที่หนังเล่าเรื่องไป เราจะเห็น “เหมยลี่” ปรากฏตัวในแทบจะทุกฉากทุกซีนในฐานะ “เสาหลัก” ของหนังและ “กระดูกสันหลัง” ของเรื่องราว ขณะที่คริส หอวัง ซึ่งรับบทนี้ ก็ “เต็มที่” กับบทบาทของตัวเองในแบบที่สามารถส่งเข้าชิงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมได้สบายๆ

ความเด็ดขาดในคาแรกเตอร์ของเหมยลี่ก็คือ การทำหน้าที่เป็นเสมือนภาพสะท้อนของหญิงสาวร่วมสมัยส่วนหนึ่งซึ่งยังโสดโดดเดี่ยวและเหงา เวลากินข้าวต้องมีคนเป็น “พยาน” ขณะที่ถ้าตกหลุมรักใครสักคน ก็รักเป็นวรรคเป็นเวร ฯลฯ นั่นจึงไม่น่าแปลกใจว่า เพราะอะไร ผู้หญิงจึงอาจจะดูหนังเรื่องนี้ได้ “อิน” มากกว่าผู้ชาย (บางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นประสบการณ์แบบ Woman Fantasy หรือ Woman Insight ก็ไม่ผิด)

เหนืออื่นใด คือการใส่บุคลิกและอากัปกิริยาแบบการ์ตูนเข้าไปในตัวของเหมยลี่ แล้วเติมส่วนผสมแบบตัวละครในหนังโจวซิงฉือเข้าไปอีก (คุณปิ๊งคือแฟนพันธุ์แท้คนหนึ่งของโจวซิงฉือ) อย่างตอนที่เธอ “ว้าบ” เข้าไปในโลกของความคิดแล้วหนังใช้เทคนิคเปลี่ยนแบ็คกราวน์ฉากหลังนั้น มันมีทั้งความเป็นการ์ตูนและหนังตระกูลโจวซิงฉือไปด้วยในขณะเดียวกัน

แน่นอน สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดส่งผลให้ตัวละครอย่างเหมยลี่ดูมีเสน่ห์ที่แตกต่างไปจากนางเอกในหนังส่วนหนึ่งซึ่งต้องวาดภาพนางเอกให้ดูดีไปทุกกระเบียดนิ้ว เพราะเหมยลี่นั้นทั้ง “เว่อร์” แล้วก็ “รั่ว”...

แต่เอาเถอะ ไม่ว่าเหมยลี่จะเป็นยังไง แต่ถ้ามองในภาพรวม ผมว่าบรรยากาศอารมณ์ของหนังนั้นไม่ได้ “หวือหวา” อะไรมากมายนัก เส้นกราฟอารมณ์ของหนังดูค่อนข้างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีจุดที่ “พีคสุดๆ” แต่ก็ไม่ถึงขั้น “ลงต่ำ” จนน่าเบื่อ อย่างมากสุดที่หนังมี ก็คือ “ซีนอารมณ์” แบบประปราย ของคริส หอวัง ที่มาพร้อมกับเวิร์ดดิ้งโดนๆ และ Magic Word ต่างๆ อย่างการพูดถึงสาเหตุที่เหมยลี่ไม่มีแฟนเพราะมัวแต่คบเพื่อน หรือพูดถึงการมีคนรักแล้วไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันทุกเวลานาที นี่คือความฉลาดในการประดิษฐ์คิดคำที่ “เพิ่มน้ำหนัก” ให้กับความรู้สึกและหัวจิตหัวใจของตัวละครได้เป็นอย่างดี แบบไม่ต้องเปลืองพลังในการสาธยายหรือเล่าเรื่องอะไรมาก

พ้นไปจากนี้ มุกตลกที่แวดล้อมอยู่รอบทิศและแทบจะทุกๆ 5 นาที ก็คือความรื่นรมย์ที่ไม่หยาบโลนและต่างไปจากหนังตลกไทยหลายๆ เรื่อง อย่างไรก็ดี มันยังมีมุกที่ล่อแหลมอยู่จุดหนึ่ง (คือตอนที่สอบสวนเด็กหนุ่มกับสาวใช้) ซึ่งผมคิดว่าคุณปิ๊งอาจต้องระวังไว้บ้าง และหนังไม่จำเป็นจะต้องไปขยี้ย้ำอะไรขนาดนั้นก็ได้ เพราะมันไม่ขำแล้ว และพูดก็พูดเถอะ ถ้าจะเจาะจงลงไปที่มุกตลกซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศทำนองนี้ ผมว่ามุก “เก็บสบู่” ในหนังเรื่องที่แล้วของคุณปิ๊ง ยังทำได้ “เนียน” และ “ดูดี” กว่านี้เยอะมาก

และอาจจะเป็นเพราะถนัดในการ “เล่าเรื่อง” มากกว่าที่จะ “ลงลึก” หรือเปล่าไม่แน่ใจ จึงทำให้ผลงานของคุณปิ๊ง-อดิสรณ์ เป็นหนังที่ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แม้หนังจะมีประเด็นหนักๆ ซึ่งสามารถที่จะเค้นให้ลงลึกได้ก็ตามที อย่างใน “หมากเตะรีเทิร์นส” เราจะเห็นว่า มันมีประเด็นบางประเด็นที่หนังสามารถบีบให้ตัวละครเดินไปสู่จุดที่ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ได้ อย่างน้อยๆ ก็เรื่องของความขัดแย้งในใจของโค้ชพงศ์นรินทร์ที่หนังดูเหมือนจะมีความพยายามทำให้มันเป็นประเด็นดราม่าเค้นน้ำตาอยู่ แต่หนังกลับทำได้ “ไม่สะเทือนใจ” อย่างที่ควรจะเป็น (เช่นเดียวกับความรักของหนุ่มนักฟุตบอลที่มีหญิงสาวสองคนให้เลือก แต่หนังก็ไม่ได้ขยี้ Conflict (ความขัดแย้ง) ตรงจุดนี้ ทั้งๆ ที่เนื้อหาเอื้ออำนวยให้ทำได้)

พอมาถึง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ก็เป็นคล้ายๆ กัน คือเนื้อหนังไม่ได้เน้นความ “เนี้ยบ เฉียบ ลึก” อะไรมาก พล็อตเรื่องหลักก็เป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของหญิงสาว ความเหงา และคนรัก ที่แพ็คมากับอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ให้ฝ่าฟันและผ่านพ้น

คือจริงๆ ผมว่า มันมี “ปมขัดแย้ง” หลายๆ อย่างให้หนังใช้บิวท์อารมณ์ของเรื่องราวให้ “ปะทุคุกรุ่น” ได้ อย่างเช่น ความคิดที่ไม่ตรงกันในการเลือกคู่ระหว่างเหมยลี่กับพ่อแม่ หรือการที่เธอถูกเด็กสาวข้างบ้านปีนเกลียวแย่งแฟน, ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ตรงกันระหว่างเธอกับชายหนุ่ม หรือแม้แต่การที่เหมยลี่เป็นต้นเหตุให้เกิดภาพกอซซิปใหญ่โตมโหฬาร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ จะว่าไป ล้วนแล้วแต่เป็น “วัตถุดิบที่ดี” ในการสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้กับหนัง แต่ก็อย่างที่บอก คุณปิ๊ง-อดิสรณ์ “เปิด” มันขึ้นมา แล้วก็ “พับเก็บ” ไปแบบง่ายๆ

แน่นอน ที่พูดมาทั้งหมด ไม่ได้จะบอกว่าหนังล้มเหลว ในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่า นี่อาจจะเป็นการมาที่ “ถูกทาง” แล้วสำหรับ 1 ใน 6 ผู้กำกับแฟนฉันคนนี้ เพราะบางที คุณปิ๊ง-อดิสรณ์ อาจจะไม่คลิกกับหนังที่ต้องการเนื้อหาที่ลึกซึ้ง (Deep) อะไรมาก แต่ในสายหนังโรแมนติกคอเมดี้ที่ชวนฝันและน่ารักๆ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” คือคำตอบว่าเขาทำได้ในระดับที่ดี

และสุดท้าย ถ้าฮอลลีวูดมี Chick Flick เก๋ๆ อย่าง My Best Friend’s Wedding มี The Sweetest Thing มี In her Shoes และอีกหลายต่อหลายเรื่อง ผมว่า บ้านเราก็คงมี “รถไฟฟ้า” ขบวนนี้นี่เองที่น่าจะเป็น Chick Flick ซึ่งดูเก๋ไก๋ที่สุด ณ ชั่วโมงนี้...







กำลังโหลดความคิดเห็น