xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์คน (อยาก) ดัง นที ธีระโรจนพงษ์ (1) : แค่ “วูบหนึ่ง” ของวงการเกย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นที ธีระโรจนพงษ์
หลังจากการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์จนได้รับรางวัลเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว “นที ธีระโรจนพงษ์” หายตัวไป โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาหายไปไหน? แต่จู่ๆ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เขากลับมา และไม่ได้ให้ความสำคัญในการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์อย่างในวันวานอีกต่อไป วันนี้ ... เขามีเป้าหมายใหม่ และใหญ่กว่าเดิม นั่นคือ การไต่เต้าสู่เส้นทางการเมืองในระดับชาติ

เขาคงจะรู้ดีว่า การเดินบนเส้นทางสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ลำพังการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์อย่างในอดีต ไม่เพียงพอที่จะสร้างความโดดเด่นเพื่อใช้เป็นฐานคะแนนนำไปสู่เป้าหมายอย่างที่เขาต้องการได้ การแต่งตั้งตนเองเป็น “ประธานเกย์การเมืองไทย” คือการย้ำภาพลักษณ์ให้คนจดจำถึงภารกิจและพันธะทางสังคมของเขา แม้ว่าในบางประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมานำเสนอจะมีความอ่อนไหว และเป็นผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มเกย์เองก็ตาม

(ตอนที่ 1)
นที แค่ “วูบหนึ่ง” ของวงการเกย์


ใครที่ไม่เคยรู้จักนที ธีระโรจนพงษ์ อาจจะคิดว่าเขาเป็นคนพื้นเพทางเหนือ ด้วยเขาชื่นชอบในวัฒนธรรมล้านนามาแต่ไหนแต่ไร ทั้งๆ ที่พื้นเพของเขานั้นเกิดที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2499 ในครอบครัวเชื้อสายจีน เขาเป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวนายเซ่หลี และนางกิม แซ่ตั้ง เขาเริ่มต้นชีวิตนักเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) มาต่อชั้นมัธยมต้นที่กำแพงแสนวิทยา จากนั้นมาต่อชั้นมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพฯ เขาจบปริญญาตรีด้านเทคนิคการแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ช่วงที่เขาหายหน้าไปจากวงการหลายปี มีคนเคยบอกว่าเขาไปสร้างบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ ต่อมาเมื่อเขาปรากฏตัวอีกครั้ง หลากหลายเรื่องราวที่เขาหยิบขึ้นมาสร้างกระแสข่าวเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางเหนือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีพระตุ๊ด, กรณีเชียงใหม่เกย์ไพรด์ รวมถึงกรณีของไกรสร แสงอนันต์ กับลูก

นอกจากการสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็น “ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย” แล้ว ยังเป็นเลขาธิการของ “กลุ่มเชียงใหม่อารยะ” ที่ (เคย) มีไกรสร ลีละเมฆินทร์ อดีตสามีของพุ่มพวง ดวงจันทร์เป็นประธาน และเขายังเรียนต่อในระดับปริญญาโท ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง รุ่นที่ 5 ของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

หลังจบเทคนิคการแพทย์ เขาทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนมาอยู่เพียง 5 ปีเท่านั้น จากนั้นก็บินไปเรียนเต้น Jazz Dance ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา กลับเมืองไทยเมื่อปี 2528 โดยตั้งกลุ่มคณะนักแสดงเผยแพร่แจ๊ซแดนซ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในนามของ “กลุ่มเส้นสีขาว”

ชื่อ “เส้นสีขาว” มีต้นรากจากละครบรอดเวย์ มิวสิคัล เรื่อง A Chorus Line เส้นสีขาวบนเวทีเป็นเส้นแบ่งระหว่างนักแสดงหลักกับตัวประกอบ ละครเรื่องนี้โดดเด่นมากในปี ค.ศ.1975 เพลงเอกคือ What I did for Love และ One ละครเรื่องนี้ได้พาคนดูเข้าไปร่วมการออดิชันของนักร้องและนักเต้น เพลงไพเราะเป็นผลงานของมาร์วิน แฮมลิช ส่วนท่าเต้นคิดค้นโดยไมเคิล เบนเนต มนต์ขลังของละครเพลงเรื่องนี้มัดใจคนดูในยุคนั้นเป็นอย่างมาก นที ธีระโรจนพงษ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ถึงขนาดถอด A Chorus Line เป็นชื่อไทยและนำมาตั้งชื่อให้กับคณะแจ๊ซแดนซ์ของตนเอง

กว่าชีวิตตัวประกอบจะก้าวข้ามเส้นสีขาวมายืนในฐานะนักแสดงนำ ต้องใช้เวลานานในการฝึกฝน บ่อยครั้งที่ต้องสูญเสียน้ำตาและกำลังใจนับครั้งไม่ถ้วน และถ้าเราเปลี่ยนฉากจากการแสดงเป็นชีวิตจริง คงไม่มีใครปฏิเสธว่า บางครั้งการที่คนคนหนึ่งจะก้าวมายืนในฐานะ "ผู้นำ" อาจจะต้องเบียด เขี่ย ฆ่า และข้ามซากศพคนเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้พื้นที่ซึ่งตัวเองใฝ่ฝัน ไม่เฉพาะแต่พื้นที่ยืนเท่านั้น หากแต่ที่ตรงนั้นต้องสปอตไลท์สาดใส่ให้ผู้คนทั้งสังคมเห็นได้อย่างเด่นชัด

อีกคนหนึ่งที่มีส่วนอย่างมากในการทำงานกับกลุ่มเส้นสีขาวในสมัยนั้นคือ “อดุลย์ สายปัญญา”

ปี พ.ศ.2531 กลุ่มเส้นสีขาวเริ่มจับงานต่อต้านโรคเอดส์ โดยมีเขาเป็นแกนหลักในการรณรงค์ผ่านศิลปะประยุกต์ที่เอาแจ๊ซแดนซ์มารวมเข้ากับนาฏลักษณ์อย่างไทย กลุ่มภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย หรือ F.A.C.T. ก่อตั้งในปี 2532 โดยความร่วมมือระหว่างพลเมืองชาวเกย์ไทยกับต่างชาติเพื่อขยายเครือข่ายในการรณรงค์

การที่เขาทำงานด้านโรคเอดส์เป็นคนแรกๆ ในยุคนั้นจึงมีชื่อเสียงมาก ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มเกย์ และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและภายนอกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในด้านการทำงานเท่านั้น หากแต่รวมถึงเรื่อง “เงินทุน” สนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนองค์กรอีกด้วย

F.A.C.T. คือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ โดยใช้การแสดงจาก “เส้นสีขาว” เป็นสันทนาการให้สาธารณชนได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ รวมถึงเรื่องสังคมชาวเกย์และการอยู่ร่วมกันกับคนหมู่มาก กลุ่ม F.A.C.T. ได้ทำงานครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มชายและหญิงอาชีพพิเศษ บาร์เกย์สมัยนั้นที่อ้าแขนรับนที ธีระโรจนพงษ์ คือ ซูเปอร์เล็ก (สีลมซอย 6) ของเล็ก มัตสึดะ หลังแสดงจบ เขาจะเดินจากซอย 6 มาขยายไอเดีย ติดความคิดให้แก่กลุ่มเกย์ที่นั่งอยู่ที่ Dairy Queen ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน หัวมุมถนนสีลม (ปัจจุบันคือ Mc Donald's) เป็นอย่างนี้ทุกค่ำคืน ไม่มาเฉพาะคืนที่ต้องไปแสดงต่อที่อื่นเท่านั้น สมัยนั้น สีลมไม่ค่อยมีร้านรวงนั่งพักผ่อนอารมณ์อย่างสมัยนี้ เกย์ส่วนใหญ่ในรุ่นนั้นจึงใช้ฟาสต์ฟูดแห่งนี้เป็นที่รวมพลก่อนที่จะเที่ยวบาร์เกย์ในค่ำคืนนั้นต่อไป

สมัยนั้น ทั้งรุ่นน้องและคนรุ่นเดียวกันที่คุ้นเคยสนิทสนมจะเรียก นที ธีระโรจนพงษ์ว่า “ขาว - พี่ขาว” ชื่อนทีจะใช้สำหรับงานที่เป็นทางการ หรือคนที่ยังไม่สนิทสนมเรียกเขาเท่านั้น

ยุคนั้นสายสัมพันธ์ของเขากับบาร์เกย์ดีมาก เพราะการที่กลุ่ม F.A.C.T. และเส้นสีขาว เข้าไปทำงานในบาร์ เท่ากับรับรองว่า เจ้าของกิจการนั้นๆ พร้อมที่จะร่วมมือในการแก้ปัญหาโรคเอดส์ เนื่องจากบาร์ส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมีผู้ชายขายบริการทางเพศอยู่ กิจกรรมหนึ่งของบาร์เกย์สมัยนั้นคือ การประกวดหนุ่มหล่อ บางบาร์ก็จะให้เขาทำหน้าที่พิธีกร หรือบางทีก็ใช้จินตลีลาจากกลุ่มเส้นสีขาวมาแสดงคั่นรายการ และหลายครั้งนที ธีระโรจนพงษ์ได้แฝงส่งเด็กลงประกวดด้วย ส่วนรายได้ค่าตัวเด็กก็จะมีการหักตามมารยาททางธุรกิจ จะมากเกินควรหรือน้อยเกินไปก็แล้วแต่จะว่ากันไป

นอกจากการรณรงค์ในคลับบาร์ต่างๆ แล้ว F.A.C.T. ยังร่วมมือกับหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน เข้าไปให้การศึกษาแก่ นักเรียน นักศึกษาในสถาบันต่างๆ ส่วนสื่อประชาสัมพันธ์ในด้านข้อเขียนต่างๆ เขาจะผ่านการเขียนบทความไปตีพิมพ์ในนิตยสารเกย์ในสมัยนั้น เขาเคยเปิดเผยว่าเป็นคอลัมนิสต์ให้แก่หนังสือประเภทนี้ถึง 5 ฉบับ นอกจากนี้ ถ้าจำไม่ผิด ยังเป็นบรรณาธิการคนสุดท้ายของ “นิตยสารมิถุนา” ในยุคที่ ยูเนี่ยน โปรดักชั่น เป็นเจ้าของ โดยมี สิทธิชัย ชวะโนทัย เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และชูชีพ สถิตย์ชัย เป็นบรรณาธิการบริหาร (แต่ในนาม)

นอกจากจะเน้นเรื่องการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์แล้ว แนวความคิดเรื่อง “กุลเกย์” ก็เป็นเรื่องที่เขาพยายามจะขยายแนวความคิดมาตั้งแต่สมัยนั้น เนื่องจากเขาปฏิเสธ ต่อต้าน และไม่เห็นด้วยกับ ตุ๊ด เกย์ ที่วี้ดว้ายกระตู้วู้ เนื่องจากทำให้เกย์ส่วนใหญ่เสียภาพลักษณ์

สายด่วนกุลเกย์ในยุคนี้ ก็คือ F.A.C.T. HELPLINE สมัยนั้นนั่นเอง รับปรึกษาทุกปัญหาตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ!?

ผลจากการทุ่มเททำงานในครั้งนั้น ทำให้เขาได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนเกย์เอเชียเข้าร่วมประชุม 12 International Lesbian & Association ที่กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน ตามด้วยองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลออสเตรเลีย ได้นำการแสดงจินตลีลาชุดต่อต้านเอดส์ของทีมงานเส้นสีขาวไปเปิดแสดงในการประชุม Aids in Asia and The Pacific และ 4 National Conference on Aids ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ตลอดถึงประเทศอื่นๆ เช่น กรุงเมลเบิร์น และซิดนีย์

พ.ศ.2523 ได้รับรางวัล อโซกา เฟลโลว์ (Ashoka Fellow) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

พ.ศ.2543 ได้รับรางวัล ยูโทเปีย อวอร์ด (Uthopia Award) ในฐานะเกย์ที่มีผลงานยอดเยี่ยมคนแรกของเอเชีย

เราต้องยอมรับว่า ในภาคต้นของนที ธีระโรจนพงษ์ คือความหวังอันเจิดจรัสมากที่สุดของวงการเกย์ในบ้านเรา เขากำลังจะไปได้สวย แต่แล้วก็มีเสียงร่ำลือถึง “รอยด่าง!”

ด่างรอยแรก คือ การคัดลอก ดัดแปลง ทำเทียม เลียนแบบเรื่องสั้น เมื่อ พ.ศ. 2534, ด่างรอยที่สอง มีเสียงลือเล่าอ้างเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ หลังเกิดข่าวลือไม่นาน นที ธีระโรจนพงษ์ ก็หายหน้าหายตาไปจากวงการ ตามมาด้วยข่าวที่ว่า เขาไปสร้างบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ ปิดตัวเอง ไม่ข้องแวะกับใคร!? หลังซุกซ่อนตัวเองอยู่ระยะหนึ่ง นที ธีระโรจนพงษ์ กลับมาผงาดในวงการเกย์อีกครั้ง

พ.ศ.2547 ก่อตั้งกลุ่มเกย์การเมืองไทย (Gay Political Group of Thailand – G.P.G.T) เพื่อผลักดันกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเข้าสู่กิจกรรมทางการเมือง

ฉายา “เกย์การเมืองไทย - เกย์นที” เขาเพิ่งจะขึ้นเสาเอกสถาปนายกตนเองขึ้นในภายหลัง แค่เดินตูดบิดก็รู้แล้วว่าเป็นเกย์ ไม่จำเป็นต้องเที่ยวตีฆ้องร้องป่าวประกาศให้ใครรู้หรอก

โดยวิสัยและข้อปฏิบัติอันเป็นที่นิยม “ฉายา” ต้องแต่งตั้งโดยบุคคล, หน่วยงานอื่น เพื่อประทับรับรองความเชี่ยวชาญ และ/หรือ ลักษณะพิเศษเฉพาะด้าน แต่เขากลับแต่งตั้งฉายาให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ฉายา เกย์การเมืองไทย, เกย์นที เป็นต้น

กลับมาครั้งนี้ เขาไม่เอา “กลุ่มเกย์” เป็นฐานเสียงอีกต่อไป เนื่องจากเป้าหมายในชีวิตของเขาเปลี่ยนไป เรื่องโรคเอดส์ทั้งหลายแหล่ในช่วงที่เขาหายหน้าจากวงการไป มีคณะบุคคล และหน่วยงานต่างๆ อีกมากมายเข้ามาทำงานอย่างจริงจังกว่ารุ่นของเขา

เป้าหมายใหม่นี้ เริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อเขาลงสมัคร สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2549 นายนที ธีระโรจนพงษ์ หมายเลข 14 แต่ก็พลาดในตำแหน่งนี้

เมื่อเขาตัดสินใจทิ้งการรณรงค์โรคเอดส์มาสู่เป้าหมายใหม่ทางการเมือง นั่นหมายถึง การเลือกเรื่อง และเลือกวิธีการนำเสนอก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เขาเลือกที่จะเปิดประเด็น “ข่าวเชิงลบ” ผ่านสื่อสารมวลชน ใช้สื่อมวลชนในการย้ำและสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง, สร้างเรื่องในการนำเสนอ ขยายประเด็นร้อนแรง เน้นความสะใจ

ณ วันนี้ นที ธีระโรจนพงษ์ ชูคติพจน์ “ไม่หลอกหญิง ไม่ปิ๊งชาย” รวมถึงการเป็นกุลเกย์ ทั้งหมดคือ “ปมชีวิต” ของเขาในสมัยวัยหนุ่ม

“และในช่วงนั้นเองที่ความคิดในอันที่จะหาผู้หญิงสักคนมาเป็นคู่ครองเพื่อเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ชายเต็มขั้นได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง... ในส่วนลึกของผมขอสารภาพอย่างไม่อายว่า อารมณ์ทางเพศกับเพื่อนหญิงคนนี้ผมไม่มีเลย หลายครั้งที่พยายามจะสร้างจินตนาการกับเธอ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือ ชายหนุ่มซึ่งอาจจะมีตัวตนบ้าง หรือเป็นชายที่ปั้นขึ้นตามรสนิยม แต่ก็ยังมีความหวังว่า สักวันหนึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงจิตใจได้” (กว่าจะก้าวข้ามเส้นสีขาว หน้า 15-16)

นวนิยายจากประสบการณ์จริง “กว่าจะข้ามเส้นสีขาว” เขาเขียนคำนำไว้ว่า

“เรื่องราวทั้งหมดนั้น มันก็คือตัวอย่างของโจทย์ปัญหาชีวิต โจทย์หนึ่งซึ่งกลวิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหานั้น ผมได้ใช้วิธีการที่เป็นหลักการเฉพาะแบบหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นค่อนข้างจะเป็นที่พอใจ หากแต่ในชีวิตของคนบนโลกใบนี้ หรือแม้แต่ในชีวิตของคุณผู้อ่านบางคนก็ตามที่อาจจะได้พบกับปัญหาโจทย์ชีวิตในทำนองเดียวกัน ซึ่งอาจจะใช้กลวิธีเหมือนที่ผมเคยใช้ หรืออาจจะต้องแก้ปัญหาโจทย์โดยวิธีการอื่นๆ ก็ย่อมเป็นได้ ขอแต่อย่างเดียวอย่าได้ท้อแท้สิ้นหวัง”

สูตรทฤษฎีเกย์ ของนที ธีระโรจนพงษ์ จำแนกเป็น 2 ระดับ คือ

1.ดูจากบุคลิกภายนอก

2.ยึดเอาเรื่องการชอบปฏิบัติทางเพศ

ทั้ง 2 ระดับนี้ แบ่งแยกย่อยออกเป็น A – เกย์คิง , B – เกย์ควิง (หมายถึงบุคลิก ไม่แข็ง – ไม่อ่อน และบทบาททางเพศ เป็นทั้งรุกและรับ) และ C – เกย์ควีน เมื่อจับคู่กันแล้วจะจำแนกเกย์ออกเป็น 3 ขั้ว 9 ระดับ เรื่องนี้เขาเคยกล่าวใน “กว่าจะก้าวข้ามเส้นสีขาว” (หน้า 21) และมาย้ำอย่างเป็นทางการอีกครั้งใน "แกะกล่องเกย์" (หน้า 59-61) นอกจากนี้ยังพร่ำพรรณนามากมายเกี่ยวกับกรณีผู้หญิงถูกหลอกให้แต่งงานกับเกย์ แยกย่อยไปกับเหตุของการหลอก รวมถึงผู้ชายในสเป๊กของผู้หญิง ไปจนถึงเรื่องผู้หญิงแบบไหนเกย์ไทยชอบหลอก ไปถึงเรื่องวิเคราะห์กลุ่มเกย์ในสังคม โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ มองดูรู้เลย 2.ต้องคบถึงจะรู้ 3.ต้องสอดแนมถึงจะรู้ 4.ดูยังไงก็ไม่มีทางรู้ และเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมาย

ส่วน “กุลย์เกย์” ในความหมายของนที ธีระโรจนพงษ์ คือ เกย์ที่มีคุณสมบัติดังนี้ 1.ไม่แสดงกิริยาวี้ดว้ายกระตู้วู้ 2.ไม่พูดจาส่อเสียดหรือหยาบคาย 3.ไม่นินทาว่าร้าย 4.ไม่ไร้สาระ 5.ไม่บ้าเซ็กซ์ 6.ไม่อยู่อย่างอยู่ไปวันๆ

เขากล่าวถึงข้อดีเด่นๆ ของลูกเกย์ไว้ว่า 1.เป็นคนว่านอนสอนง่าย คือ ไม่ดื้อ 2.เป็นเด็กเรียนดี มีความรับผิดชอบสูง 3.แฟนเกย์จะไม่ก่อปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ 4.มักช่วยเหลือจุนเจือด้านเศรษฐกิจให้กับครอบครัว 5.มักจะดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า (จากถอดรหัสหัวใจเกย์)

เขาคิดว่า เกย์ที่มีความสุภาพ เรียบร้อย ทางบ้านน่าจะยอมรับความเป็นเกย์ได้มากกว่า ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเหนียวแน่นกับความสำเร็จในการแก้โจทย์ ทำให้เขามุ่งขยายต่อยอดกับเรื่องราวโดยเฉพาะเรื่องเกย์ที่เข้าไปสัมพันธ์กับครอบครัว ผัว – เมีย – พ่อ – แม่ – ลูก ด้วยประเด็นร้อนแรงช็อกสังคมด้วยวิธีการนำเสนอ โดยใช้ “แม่พิมพ์” เดียวกับ “ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช”

สายสัมพันธ์ของนที ธีระโรจนพงษ์ (ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร) กับระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช (สมาชิกวุฒิสภา จ.ขอนแก่น) ชิดเชื้อกันอยู่ ระเบียบรัตน์เคยเขียน “คำนิยม” ดังปรากฏในพ็อกเกตบุ๊ก “แกะกล่องเกย์” ว่า...

“คุณนที คือ ผู้กล้า ชัดเจน จริงใจ ตรงไป ตรงมา กล้าที่จะเปิดตัวว่าเป็นเกย์ กล้าที่จะเปิดเผยชีวิตชาวเกย์ เพื่อเกียรติ และศักดิ์ศรีชาวเกย์ที่มีสมอง มีความอัจฉริยะในทุกสาขาอาชีพ สังคมจะได้เข้าใจความเป็น “คน” มากขึ้น ดิฉันหวังที่จะเห็นคุณนทีเป็นตัวแทนชาวเกย์ เข้าไปทำงานแก้ไขปัญหาสังคมในระดับประเทศในฐานะ “สมาชิกวุฒิสภา” ในโอกาสต่อไป” (อ่านต่อตอนที่ 2 - ระเบียบรัตน์ภาคเกย์)


A Chorus Line 2006 (Original Cast) Broadway Best Musicial


การแสดงจากกลุ่มเส้นสีขาวในอดีต


นที ธีระโรจนพงษ์แต่งหญิง
นที ธีระโรจนพงษ์แต่งหญิง
หลากอิริยบทของนที จากหนังสือ “แกะกล่องเกย์”
กิจกรรมของกลุ่มเส้นสีขาว
กิจกรรมของกลุ่มเส้นสีขาว
โฆษณา F.A.C.T.
กำลังโหลดความคิดเห็น