xs
xsm
sm
md
lg

มามา มียา ! มากกว่าเสียงหัวเราะและปรบมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังนำนำบรอดเวย์มิวสิคัลชื่อดังระดับโลกทั้ง Cats, Cinderella, Chicago ล่าสุดบีอีซี - เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์และซีเนริโอ ก็จับมือกันนำ Mamma Mia! มาให้คนไทยได้ชื่นชมกัน ณ เวทีเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้

มามา มียา! โดดเด่นตรงใช้เพลงของ ABBA ซึ่งเป็นเพลงป็อปที่ไพเราะคุ้นหู มากถึง 24 เพลง

มิวสิคัลเรื่องนี้ไม่ได้ปิดท้ายแค่การแนะนำนักแสดงบนเวทีแล้วส่งจูบลาผู้ชมเข้าหลังเวทีอย่างละครเรื่องอื่นตามประเพณีนิยม หากแต่ละครเรื่องนี้มีฟินาเซอร์ไพรส์ 3 เพลงตบท้าย อันได้แก่เพลง Mamma Mia ! , Dancing Queen และ Waterloo เมื่อนักแสดงส่วนหนึ่งวิ่งเข้าหลังเวที เสียงดนตรีได้บรรเลงอย่างกระหึ่มอีกครั้ง ผู้ชมที่เคยนั่งขยับแข้งขยับขาอยู่ระหว่างการชมละครเวที สุดท้ายผู้ชมก็ตัดสินใจลุกขึ้น และออกลวดลายท่าเต้น และโห่ร้องอย่างสนุกสนานไปกับนักแสดงบนเวที...

นี่คือปรากฏการณ์ของมิวสิคัลจากต่างประเทศเรื่องมามา มียา! ที่เข้ามาจัดแสดงในเมืองไทย และปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับทั่วโลก นับจากวันแรกที่เริ่มการแสดงเมื่อปี 1999 จนเหมือนกับประเพณีกันไปแล้ว

เนื้อหาละครไม่มีอะไรมาก อดีตแม่เคยมีสัมพันธ์กับชายหนุ่ม 3 คนในคราวเดียวกัน ลูกสาวที่กำลังจะแต่งงาน จึงเชื้อเชิญผู้ชาย 3 คนมาร่วมงาน เพราะเธออยากจะรู้ว่า ใครเป็นพ่อของเธอกันแน่!!

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เพลงจากวงดนตรีและนักร้องของสวีเดนวงนี้มีความโดดเด่นในเรื่องความไพเราะ อ่อนหวาน กระจ่างบรรเจิดและมีพลัง ยิ่งได้เห็นการนำเพลงต่างๆ ถึง 24 เพลงมาจัดวาง และเรียบเรียงเสียงประสานใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ต้องยอมรับเลยว่าความกระหึ่มของเสียงดนตรีในแต่ละตัวโน้ตยังคงกึกก้องอยู่ในใจแม้ว่ารอบการแสดงในคืนนั้นๆ จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม


05 Mamma Mia (Act 1, Donna

รากฐานของมามา มียา! ต่างจากมิวสิคัลชื่อดัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มต้นบนถนนสายบรอดเวย์ แต่มามา มียา! เริ่มต้นที่ West End ซึ่งก็คือย่านโรงละครเวทีในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ละครเรื่องนี้จัดแสดงครั้งแรกเมื่อ 6 เมษายน 1999 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 25 ปีที่ ABBA ชนะรางวัล The Eurovision Song Contest (1974) โดยจัดแสดงครั้งแรกที่โรงละคร Prince Edward ต่อมาละครเรื่องนี้ได้เดินทางเข้าอเมริกา เปิดการแสดงในย่านบรอดเวย์เมื่อปี 2001 ที่โรงละคร Winter Garden โดยใช้นักแสดงชุดเฉพาะของตัวเอง ส่วนการแสดงที่อังกฤษ ในปี 2004 ย้ายมาที่โรงละคร Princeof Wales

มามา มียา ! เป็นละครที่เรียกว่า Jukebox Musical (จูกบอกซ์ มิวสิคัล) คือ ใช้เพลงที่มีอยู่แล้วเป็นตัวตั้งแล้วค่อยสร้างเรื่องใส่ ซึ่งอาจจะใช้เพลงของศิลปินคนเดียวหรือกลุ่มเดียวกันก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพลงในยุคเดียวกันก็ได้ ผิดกับมิวสิคัลทั่วไปที่ต้องคิดพล็อตแล้วสร้างเพลงสอดประกอบใส่ให้เป็นเนื้อเดียวกัน

ส่วนใหญ่ละครประเภทนี้จะเป็นเรื่องของชีวประวัติของศิลปินผู้เป็นเจ้าของเพลง ตัวอย่างของละครเวทีประเภทนี้ เช่น Buddy – The Buddy Holly Story ใช้เพลงของ Buddy Holly ศิลปินร็อกแอนด์โรลชาวอเมริกัน, We Will Rock You ใช้เพลงของวง Queen, Lennon ใช้เพลงของ John Lennon, Jersey Boys ใช้เพลงของวง The Four Seasons, All Shook Up ใช้เพลงของราชาร็อกแอนด์โรล Elvis Presley, Never Forget ใช้เพลงของวงบอยแบนด์อย่าง Take That เป็นต้น

ABBA มาจากการผสมอักษรตัวแรกของสมาชิกซึ่งประกอบด้วยนักร้องชาย 2 หญิง 2 อันได้แก่ Anni-Frid Lyngstad (ร้อง), Agnetha Faltskog (ร้อง), Benny Andersson (คีย์บอร์ด, ร้อง) และ Bjorn Ulvaeaus (กีตาร์, ร้อง) วงนี้มีผลงานในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1972 – 1982 สมัยนั้น การที่วงดนตรีสักวงหนึ่งจะมีผลงานดังขนาดข้ามน้ำข้ามทะเล ไปถึงฝั่งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะชาติอเมริกันนั้นมีวัฒนธรรมทางดนตรีเฉพาะของตนอย่างเหนียวแน่นและยากที่เพลงจะดังข้ามทวีปไปถึงติดชาร์ตเพลงของอเมริกัน

ความดังของวงนี้ทำให้ทั่วโลกรู้จักและสะเทือนไปกับบทเพลงที่แสนไพเราะ ซิงเกิล Dancing Queen ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของวงนี้ที่ทำชื่อเสียงไปทั่วโลก รวมถึงการขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งบนชาร์ตเพลงใน 12 ประเทศ ติดอันดับ 1 ในอังกฤษนาน 6 สัปดาห์ และข้ามฝั่งแอตแลนติกไปติดอันดับหนึ่งในอเมริกาด้วยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 1977 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่แค่แฟนเพลงในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือเท่านั้นที่ได้ประสบพบพานกับลัทธิ "แอ็บบ้ามาเนีย" ( ABBA Mania)

การนำเพลงดังๆ ของวง ABBA เป็นเพลงอมตะมาร้อยเรียง เรียบเรียงเสียงประสานใหม่ในละครเพลง "มามา มียา!" จะช่วยเสริมความแน่นให้กับเนื้อหาของละครที่ดาษๆ มีความหมายมาก และเป็น The World's No.1 Show ดูง่ายไม่ซับซ้อน แต่อิ่มไปกับเพลง และเชื่อว่าหลายคนที่ผ่านการชมไปแล้วอาจจะต้องมีรอบสั่งลาอีกสักครั้งเพื่อเก็บความทรงจำกับบทเพลงอมตะเหล่านี้









กำลังโหลดความคิดเห็น