xs
xsm
sm
md
lg

‘It Is Never Too Late To Love’ จุ๋ย จุ๋ยส์ นักหยิบเล็กผสมน้อยสารพันดนตรี/พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพลงบทที่ 1 (Lesson 1)
ศิลปิน จุ๋ย จุ๋ยส์

วงการเพลงอินดี้ในเมืองไทยก็ยังทรงๆ อยู่ ไม่มีอะไรที่น่าแปลกใหม่และแปลกใจเท่าไหร่นัก แม้จะมีความเคลื่อนไหวในระดับคนฟังเฉพาะกลุ่ม สร้างฐานกำลังประชาสังคมเฉพาะที่เฉพาะทางด้วยความหลากหลายก็ตาม

แต่อย่างที่ว่า ดนตรีและบทเพลงของนักร้องหรือวงดนตรีในแบบอินดี้ที่ออกงานมาด้วยทุนทรัพย์ของตัวเอง หรือออกกับค่ายเพลงเล็กๆ หรือออกมากับค่ายเพลงในแบบอินดี้ในสังกัดค่ายใหญ่อีกที ส่วนมากมักโด่งดังและฮิตผ่านทางการบอกต่อปากต่อปากกันเสียมากกว่า ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเพลงอินดี้ที่ดี ในการแสดงถึงการไม่ต้องตกเป็นทาสการตลาดในวงการเพลง

จุ๋ย จุ๋ยส์ (Jui Juis) นักร้อง / นักแต่งเพลง / นักดนตรี ซึ่งมีชื่อจริงว่า สุทธิพงศ์ สุทินรัมย์ กับอีพีชุดที่ 3 ‘It Is Never Too Late To Love’ ได้สร้างกระแสความตื่นเต้นในหมู่คนฟังเพลงใช่น้อย จากแวดวงอินดี้เล็กๆ ก็ไต่เพดานถึงกลุ่มคนฟังเพลงในกระแสหลักได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับการไต่เต้าของ จุ๋ย จุ๋ยส์ นั้น ก็ไม่ธรรมดา จากนักศึกษาศิลปะ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจในเชิงชั้นดนตรีและเล่นดนตรีกลางคืนในละแวกเชียงใหม่ และเข้าสู่การประกวดดนตรีแบบ One Man Show ในรายการ ‘Chang Draught Journey to Glastonbury Festival 2007’ ได้รางวัล 1 ใน 2 คนที่ชนะเลิศมา จากนั้นเขาก็ทำงานเพลงของตัวเองในแบบ อีพี มาแล้ว 2 ชุด คือ ‘Negative Thinking but Positive Doing’ และ ‘To Behave with Abandon’ ตามลำดับ

เพลงของเขาเป็นที่รู้จักของคนฟังแบบแนะนำกันมา รวมถึงความขยันในการแสดงสดทั้งเล่นดนตรีกลางคืนและเข้าร่วมในอีแวนต์หรือเทศกาลดนตรีต่างๆ พลังในการเล่นสดและสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมจึงเป็นจุดขายหลัก ด้วยบทเพลงที่กวนๆ อารมณ์ดี ขี้เล่นแบบประหลาดด้วยเนื้อหา แต่มีคุณภาพทางดนตรีและเสียงร้อง ทำให้ชื่อของเขาขยายเป็นที่ใฝ่หาวงกว้างในหมู่คนฟังเพลง

อีพีชุดที่ 3 จึงถูกทางโซนี่ มิวสิคดึงเข้ามาในสังกัด เพื่อช่วยขยายฐานคนฟังให้มากขึ้นจากจุดขายที่โดดเด่นอยู่แล้ว เมื่อฟังบทเพลงทั้งหมดที่มีด้วยกัน 6 บทเพลง จะพบว่าแท้จริงแล้ว จุ๋ย จุ๋ยส์ เป็นมนุษย์พันธุ์เครียดและลุ่มหลงในวิธีคิดเชิงปรัชญาแนวมนุษยนิยม แต่ด้วยความเป็นคนศิลปะจึงแสดงออกด้วยลีลายียวนเต็มไปด้วยไอเดียของการเล่นมุกแบบสนุกๆ ดูเก๋ไก๋ให้คนร่วมสมัยรู้สึกคล้อยตามไปด้วย

เนื้อร้องของเขานั้นมีมุกต่างๆ ที่อดคิดไปถึงวิธีการเขียนเพลงในแบบเฉลียง ซีเปีย กลุ่มโลกเบี้ยวอยู่ใช่น้อย แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือพลังทางดนตรีของเขาที่กร้าวแกร่งและหนักแน่นกว่าในสไตล์สไตล์อะคูสติคร็อคที่เข้มข้น หยิบเล็กผสมน้อยสารพันดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมา แต่ก็ถือว่าเป็นความเก่งที่เขาทำงานเองทั้งหมดทั้งโปรดิวซ์ เขียนเนื้อร้อง-ทำนอง และเล่นเครื่องดนตรีเองทุกชิ้น เขาประมวลเอาทางดนตรีที่คุ้นหูมาย่อยสังเคราะห์และมีแนวทางของตัวเอง และด้วยคำร้องที่เขียนขึ้นมาเองทำให้เป็นเอกภาพและดูลงตัวเป็นอย่างมาก

เสียงร้องของเขามีหลายมิติและพยายามดีไซน์เสียงต่างๆ ตามอารมณ์ที่สื่อสารผ่านตัวละครในบทเพลง ถือว่าสร้างความสนุกในการฟังอยู่พอควร แต่ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าถ้าเป็นอัลบั้มเต็มฟังยาวกว่านี้จะน่าเบื่อหรือไม่

เพราะอีพี ซึ่งย่อมาจาก extended play (EP) จะมีเพลงมากกว่าซิงเกิ้ล แต่น้อยกว่า แอลพี (LP-อัลบั้ม) อีพีมักจะมีความยาวรวมของเพลงอยู่ราว 10-28 นาที ความยาวขนาดนี้พอสบายหูรื่นรมย์และตกตะกอนกับมุกที่นำเสนอได้พอดิบพอดี ซึ่งเหมาะกับทางเพลงแบบจุ๋ย จุ๋ยส์ของเขาอยู่มาก

บทเพลงขี้เล่นปล่อยมุก ‘บทที่ 1 (Lesson 1)’, ‘จอมโจร ขโมยใจ’, ‘Anatawa’ แฝงสาระก็ถือว่ากำลังดีสอบผ่าน ส่วนบทเพลง ‘ย้อนแยง’, ‘อีกไม่นาน’, ‘ยาสุข’ ก็เสนอสาระแต่แฝงมุกไว้ ทำให้เห็นบุคลิกของเขาชัดเจนมาก

จุ๋ย จุ๋ยส์ แสดงให้เห็นว่า บทเพลงของเขา คือ เสียงแห่งยุคสมัยในแบบบทเพลงฮาเฮอารมณ์ดี ซึ่งเฉลียง, กลุ่มโลกเบี้ยว, เนสเซอรี่ ซาวด์, ซีเปีย เคยบุกเบิกแผ้วทางมาแล้ว และก็มาถึงคิวของ จุ๋ย จุ๋ยส์ ที่มาถมช่องว่างในเวลานี้ และน่าจะมีอนาคตบนเส้นทางสายนี้อยู่สวยงามทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น