ค่อนข้างจะจัดกันเยอะทีเดียวในช่วงนี้ สำหรับบรรดามหกรรมคอนเสิร์ต-มิวสิก เฟสติวัลทั้งหลายที่ขนเอาบรรดาศิลปิน-นักร้องมาแสดงดนตรีกันชนิดข้ามวันข้ามคืน
มองอย่างผิวเผิน ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการคืนกำไรให้กับคนฟังเพลงที่มีโอกาสได้ชื่นชมกับศิลปินคนโปรดของตนเองพร้อมๆ กันในคราเดียว
แต่ด้วยความที่ค่อนข้างจะ "ถี่" ขณะที่ศิลปินที่ขึ้นเล่นซึ่งค่อนข้างจะ "ซ้ำ" นี้เอง หลายคนจึงอดที่จะคิดไม่ได้ว่าในความเป็นจริงแล้วการเกิดขึ้นของมหกรรมคอนเสิร์ตเหล่านี้แท้ที่จริงได้สร้างคุณค่าให้กับคนฟัง นักดนตรี และที่สำคัญคือวงการเพลงบ้านเรามากน้อยสักเพียงใด?
...
"วินเทอร์ อะคูสติก เฟสติวัล ครั้งที่ 3" ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ โดยบริษัทอาร์เอส เฟรชแอร์ฯ, Love Fest Love Memory Concert ตอน..รักจัดปาย, "สิงห์ ซัมเมอร์ กรู๊ฟ", “พัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล มิวสิค เฟสติวัล 2009”, “กระทิงแดง ไทยแลนด์ ร็อค เฟสติวัล ออน เดอะ บีช” ( KTD THAILAND ROCK FESTIVAL “ ON THE BEACH ”) เทศกาลดนตรีร็อค-แนวฮิป, “คอนเสิร์ต ดนตรี ฮอนด้า ซัมเมอร์ เฟสต์ หัวหิน“ (Concert Honda Summer Fest’@ Hua Hin) เทศกาล ดนตรีฤดูร้อน ครั้งที่ 2” ฯ
เหล่านี้คือตัวอย่างของคอนเสิร์ตใหญ่ในระดับมหกรรมที่ได้จัดไปแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 - พฤษภาคม 2552 โดยบางรายการก็เพิ่งจะจัดเป็นครั้งแรก ขณะที่บางรายการก็เป็นครั้งที่ 2-3
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการเกิดขึ้นของคอนเสิร์ตใหญ่เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจากตำนานคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่ของโลกอย่าง "Woodstock Festival" ทั้งสิ้น
อะไรใหม่ๆ มักจะมาพร้อมๆ กับความตื่นเต้น ทว่าเมื่อหันมาลองตั้งข้อสังเกตกันแล้วคำถามนั้นมีมากมายทีเดียวตั้งแต่ที่ว่าอะไรคือจุดประสงค์ที่แท้จริงของการก่อให้เกิดงานเหล่านี้ขึ้นมา อะไรคือคุณค่า-สาระที่แท้จริงของงาน
เพราะถึงแม้งานมิวสิก เฟสฯ ที่เกิดขึ้นมากมายจะพยายามที่แบ่งประเภทดนตรีอย่างชัดเจน อาทิเทศกาลดนตรีร็อก แจ๊ส บอสโนวา ฟังก์ สกา เร็กเก้ อินดี้ ฯ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่วงที่ขึ้นไปเล่นนั้นค่อนข้างจะมีความไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่และก็วนอยู่แต่เดิมๆ อาทิ โมเดิร์นด็อก ทีโบน รวมถึงวงอย่างกรู๊ฟไรเดอร์ส
"ผมว่าทุกครั้งที่มีงานพวกเราศิลปินทุกคนก็รู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วมอยู่ตลอดนะ" ก้อ ณัฐพล ศรีจอมขวัญ มือเบสกรู๊ฟไรเดอร์ส เผยถึงความรู้สึกของการได้มีส่วนร่วมกับมหกรรมคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเกือบจะทุกงาน
"แถมแต่ละวงก็เป็นเหมือนเพื่อนกันครับ เรารู้จักกันเกือบหมด แต่ว่านานๆ ถึงจะได้เจอกันที โอกาสที่เป็นงานเฟสแบบนี้แล้วก็ยังอยู่นอกสถานที่มันก็เหมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินได้พักผ่อน สังสรรค์กันบ้างหลังการแสดง"
ขณะที่ "ต่อพงษ์ เศวตามร์" หนึ่งในนักวิจารณ์เพลงมองว่าสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมหกรรมคอนเสิร์ตเหล่านี้ขึ้นมาเยอะในช่วงระยะหลังๆ ก็เพราะว่าตรงนี้ถือว่าเป็นช่องทางทำมาหากินช่องทางหนึ่งของค่ายเพลง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานของรัฐฯ ที่จะเข้ามามีบทบาทมากที่สุดก็คือการท่องเที่ยวฯ นั่นเอง
นอกจากนี้เขายังมองด้วยว่ากำไรสูงสุดนั้นจะไม่ตกอยู่กับประชาชนหรือคนดูของประเทศ แต่มันจะตกอยู่กับเอเยนซี่ที่เป็นคนจัดงาน ซึ่งวิธีง่ายที่สุดที่เอเยนซี่ทำคือจะไปจ้างวงดนตรีหรือค่ายดนตรีที่มีคอนเนคชั่น เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าในมหกรรมนี้คนก็จะได้ดูแต่ค่ายนี้ ขณะที่ความสำคัญของดนตรี หรือความสำคัญของตัวนักดนตรีมันไม่ได้ถูกวางไว้เป็นเหมือนแค่หน้าร้านที่อยู่ๆ ก็ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเอาเงินมาใช้เท่านั้นเอง
"อย่างเอกชนจัดก็เหมือนกัน คือเขาก็จะมีสปอนเซอร์หลักอยู่เจ้าหนึ่ง ทีนี้มันขึ้นอยู่กับรสนิยมของเอเยนซี่แล้ว ถ้าเอเจนซี่มีรสนิยมดี ก็จัดคอนเซปต์ได้ดีกว่านี้ กลายเป็นมหกรรมดนตรีอย่างที่มันควรจะเป็น ได้ดนตรีดี แต่ถ้าเอเยนซี่ไหนรู้จักแค่การต่อรองราคา คือเอามาแล้วทำได้ถูก มันก็จับฉ่ายหน่อย"
"หรือไม่งั้นผู้จัดก็ทำสองสามทาง โอเค จ้างมันทั้งแกรมมี่ อาร์เอส ค่ายเล็กค่ายน้อย แต่อ่ะ ค่ายไหนจ่ายน้อยหน่อยก็ไปเล่นเวทีนู้นเลย ค่ายไหนมีความสัมพันธ์มากหน่อย จ่ายเยอะหน่อยก็เวทีใหญ่ไป...เพราะฉะนั้นปีๆ หนึ่งจะมีคอนเสิร์ตดีๆ แบบนี้ แล้วมีคุณภาพแบบมอนสเตอร์ออฟร็อกก็ได้ แต่มันต้องมีความร่วมมือร่วมใจกันจริงๆ ทั้งเอเยนซี่ นายทุน และตัวศิลปิน ส่วนใหญ่นายทุนก็พร้อมและยินดีที่มีศิลปินเยอะ เล่นกัน 72 ชั่วโมงรวดทำนองนี้"
ต่อพงษ์ยังมองต่อไปด้วยว่า ในความเป็นจริงที่ว่าบ้านเราอาจจะมีมหกรรมดนตรีหลายรายการ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีเอกลักษณ์ หรือคาแรกเตอร์ที่เป็นของตนเองเด่นชัดสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น "แฟต เฟสติวัล" ที่อย่างน้อยๆ ทุกๆ ปีก็จะต้องมีเวทีให้วงดนตรีหน้าใหม่ได้ใช้เป็นบันไดก้าวไปสู่ความสำเร็จ หรือจะเป็นมหกรรมคอนเสิร์ตเพื่อธรรมชาติและชีวิตที่เขาใหญ่
คล้ายกับต่อพงษ์ "อนันต์ ลือประดิษฐ์" หนึ่งในบุคคลากรที่เป็นผู้จัดงานแจ๊ส เฟสติวัล ขึ้นในบ้านเราและค่อนข้างจะได้รับการยอมรับถึงคุณภาพมองว่า แม้การจัดงานเช่นนี้จะไม่สามารถปฏิเสธเรื่องของการตลาดได้แต่ก็ไม่ควรที่จะละเลยเรื่องของธีม เพราะไม่เช่นนั้นงานที่จัดขึ้นมาก็จะหาค่าอะไรแทบมิได้เลย
"จริงๆ แล้วเราปฏิเสธเรื่องการตลาดไม่ได้เลย จะว่าไปมันก็ต้องมาควบคู่กับคอนเสิร์ตด้วยซ้ำ แต่ในอีกด้านหนึ่ง core content หรือธีมงานหลักมันก็เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ด้วยเหมือนกัน บางงานคนไม่ได้มีความสนใจที่จะไปร่วมงานเลย มันเหมือนกับเปลี่ยนที่กินเหล้า เปลี่ยนที่พบปะสังสรรค์ แล้วเก็บดนตรีไว้เป็นแบ็กกราวนด์ แค่นั้นเอง"
กูรูเรื่องแจ๊สของเมืองไทยยังบอกต่อไปด้วยว่าโดยส่วนตัวแล้วการเกิดขึ้นอย่างมากมายของมหกรรมดนตรีในบ้านเราช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องอยู่ภายใต้ตัวแปรที่ว่าผู้จัดต้องการอะไร
"ถ้าถามว่ามันเกลื่อนไปมั้ย ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ แล้วการมีกิจกรรมดีๆ อย่างมิวสิก เฟสติวัลก็เป็นอะไรที่ดีกับสังคมนะครับ โดยแรงขับเคลื่อนหลักแล้วมันจะเป็นการสร้างสรรค์อะไรที่ดีให้กับสังคมได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูลึกลงไปด้วยว่าเฟสติวัลที่จัดนี่มันเน้นในเรื่องการแสดงออกวัฒนธรรมทางดนตรี หรือว่าเน้นจัดงานเพื่อเชิงรายได้ ทางผู้จัดเองเล็งเห็นอะไรในการจัดงานนั้น คือต้องดูไปถึงเจตนารมย์"
"บ่อยครั้งทีเดียวที่งานเฟสฯ แบบนี้มีปัญหาหนักหน่วงในเรื่องของการจัดการ อย่างเช่นการขายบัตรเกินพื้นที่การจัดงาน ทำให้เกิดปัญหาคนล้น และสร้างความอัปลักษณ์ต่อวงการเป็นอย่างมากเลยครับ"
อีกประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดของการจัดงานมหกรรมดนตรีก็คือการเสาะแสวงหา "พื้นที่" การจัดงาน ซึ่งถ้าจะว่ากันตรงๆ แล้วตรงนี้มีความสำคัญไม่แพ้ตัวของศิลปินเลยทีเดียวในการที่จะทำให้มหกรรมดนตรีนั้นเป็นที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่เขาใหญ่ ปาย ริมทะเล ฯ แต่ในขณะเดียวกันการเลือกเอาพื้นที่ในลักษณะที่ว่านี้ ซึ่งมีเสน่ห์อยู่ที่ธรรมชาติแห่งความเงียบ มาผสมเข้ากับงานรื่นเริงที่มีเสียงค่อนข้างดัง มากมายด้วยผู้คนที่พลุกพล่าน ก็ย่อมที่จะไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่จะตามมา
เรื่องนี้อนันต์ ลือประดิษย์มองว่ามันจะไม่เกิดปัญหาเลย หากคนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม..."อันนี้สำคัญมาก อย่างหัวหินนี่มันมีความเชื่อมโยงหลายอย่างในการจัดงานแจ๊ส เรามีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นนักดนตรีแจ๊สเอกของประเทศและทรงประทับอยู่ที่นั่น เมื่อมีรากฐานที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นเป็นไปได้มั้ยที่เราจะต่อยอดโดยการเชิญคนในพื้นที่ที่เขามีวิสัยทัศน์ในศิลปวัฒนธรรมดนตรีแจ๊สมามีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ เราควรมีสถานที่เฉพาะในการจัดแสดงดนตรีมั้ย มี พิพิธภัณฑ์ดีมั้ย มีอะไรที่มันเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่านี้จะดีกว่ามั้ย ซึ่งทั้งหมดนั้นจำเป็นอย่างมากที่คนในชุมชนจะมามีส่วนร่วมด้วย"
"เท่าที่เห็นมาสรุปได้ว่าคนในชุมชนมีบทบาทมากจริงๆ ต่องานเฟสติวัล อย่างน้อยคือพวกเขาจะต้องรับรู้ เข้าใจ และยอมรับเสียงจากคนในท้องถิ่นนั้นถือได้ว่ามีความสำคัญ แต่อย่างที่ผ่านมาจะมีแนวคิดภาคการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็ไม่ค่อยกล้าทำมากเท่าไหร่"
พร้อมยกตัวอย่างที่ "ปาย" ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่ละเอียดอ่อน ถ้าทำไม่ดีก็เป็นเสมือนกับการทำร้ายคนในท้องถิ่นไปในทันที..."ถึงปายในตอนนี้จะมีหลากหลายวัฒนธรรมที่รวมไปถึงวัฒนธรรมทางดนตรี แต่ยังไม่ทิ้งความเป็นเมืองสงบ หากไม่มีการทำประชาพิจารณ์ของคนในพื้นที่ถึงความเห็นควรให้จัดงาน เราก็ไม่ควรทำ แค่การยกลำโพงเครื่องเสียงและย้ายเวทีหนีไปจัดอีกที่หนึ่ง มันน่าจะมีจุดที่พอเหมาะพอดีร่วมกันได้น่ะครับ ก็ควรจะมีกระบวนการทำงานร่วมกับพวกเขาได้ดีกว่านี้"
Glastonbury Festival, Montreux Jazz Festival, Fuji Rock Festival เหล่านี้คือมหกรรมดนตรีที่ขึ้นชื่อระดับโลกที่ล้วนแล้วแต่มีความขลังอยู่ในตัวของมันเอง แต่สำหรับของบ้านเรานั้นอนันต์บอกว่า..."มันจะขลังหรือไม่ขลังผมก็ไม่รู้นะครับ แต่ถ้ามันมีการเตรียมการดีๆ วางแผนดีๆ ไม่ใช่ปีหนึ่งมีแค่ 3 วันที่เราสนใจ แล้วปีถัดไปก็หยุดอะไรแบบนี้ มันก็เหมือนกับงานที่ต้องทำไปส่งๆ แบบนั้น เราเน้นที่ความยั่งยืนดีกว่า"
...
Woodstock Festival เทศกาลทางดนตรีสุดยิ่งใหญ่ตลอด 3 วัน 3 คืน ที่จัดขึ้นในทุ่งอันกว้างขวางสุดลูกหูลูกตาในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของนิวยอร์ก เมื่อปี 1969 นอกจากจะเป็นเหตุการณ์ทางดนตรีครั้งสำคัญ ในช่วงที่จิตวิญญาณของมวลชนแห่งโลกเสรีได้ถูกปลดปล่อยด้วยวิถีแห่งเสียงเพลงอย่างอิสระโดยพลังขับเคลื่อนของเหล่าบุพผาชน ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของโลกในยุคนั้นแล้ว มันยังได้กลายเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมแห่งมวลชนที่เรียกกันว่า "เทศกาลดนตรี" ที่เหล่าแฟนเพลงจะได้มารวมตัวกันเพื่อร่วมเสพศิลปะดนตรีที่ตัวเองศรัทธา
พร้อมทั้งยังเป็นเวทีที่เหล่าศิลปินมากมายใช้เป็นที่แจ้งเกิดหรือจารึกชื่อตัวเองเอาไว้ในวงการสืบไป เหมือนครั้งที่ Santana, Janis Joplin, CCR, Sly & the Family Stone, The Who, Jefferson Airplane, The Band, Johnny Winter, Crosby, Stills, Nash & Young และ Jimi Hendrix เคยร่วมสร้างตำนานกันเอาไว้ในเหตุการณ์ที่เล่าขานกันว่าเป็น "มารดาแห่งเทศกาลดนตรีทั่วโลก" แต่หนก่อน
แต่เวลาที่ผ่านไป ความหมายทางด้านจิตวิญญาณทางด้านศิลปะในงานเทศกาลดนตรีที่เคยเข้มข้นในยุคก่อนดูจะถูกแทนที่ด้วยเหตุผลความเป็นจริงทางด้านธุรกิจ จนทำให้หลายๆ เทศกาลในยุคหลังนี้พยายามหาความสมดุลระหว่างคุณค่าของานศิลปะแห่งเทศกาลดนตรีและความอยู่รอดของตัวเทศกาลเอง
เราจึงน่ามาดูกันหน่อยว่า เทศกาลดนตรีระดับโลกในปัจจุบันที่ยังคงเป็นเสาหลักของวงการเพลงโลก ทั้งเป็นที่ยอมรับของแฟนเพลงและศิลปินชั้นนำที่พร้อมจะมาร่วมเทศกาลกันทุกๆ ปีตอนนี้มีที่ใดกันบ้าง
Glastonbury Festival
เทศกาลดนตรีที่โด่งดังที่สุดจากประเทศอังกฤษ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาลดนตรีจากกลุ่มฮิปปี้ในยุค 70 จัดขึ้นทุกปี(เว้นบางปีเพื่อจัดระบบใหม่)ที่แถบตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษตั้งแต่ปี 1970 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิ.ย.(3-5วัน) นอกจากจะเป็นที่ๆ ศิลปินแนวอัลเทอร์เนทีฟต่างยึดเป็นหัวหาดในการมาเปิดการแสดงที่นี่ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เหล่าศิลปินชื่อดังของทั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกาต่างแวะเวียนกันมาเป็นเฮดไลน์เนอร์ของเทศกาลนี้กันแทบทุกปี โดยแต่ละปีจะมีแฟนเพลงทั่วโลกมาร่วมงานเรือนแสนคน เพื่อรวมชมการแสดงกว่า 400 ครั้งในบน 80 กว่าเวทีของงานสุดยิ่งใหญ่นี้
Download Festival
ถ้า Donington Park อดีตที่สิงสถิตของ Monsters of Rock ในอังกฤษเปรียบเสมือนเมกกะของเหล่าสาวกหูเหล็ก Download Festival ก็เป็นเทศกาลดนตรีในฝันสูงสุดของเหล่าเฮดแบงเกอร์เช่นกัน เทศกาลดนตรีสุดมันนี้จัดขึ้นที่เลสเตอร์ไชร์ของประเทศอังกฤษในช่วงกลางเดือนมิ.ย.มาตั้งแต่ ปี 2003 และก็ใหญ่โตขึ้นทุกปี มีเหล่าสุดยอดวงเมทัลของโลกทั้งระดับตำนานและหน้าใหม่ไฟแรงมาเปิดการแสดงทั้ง 3 เวทีตลอดทั้ง 3 วันให้แฟนๆ ได้ฟังกันอย่างเต็มอิ่ม
Coachella Valley Music and Arts Festival
เทศกาลดนตรีที่โด่งดังและมาแรงที่สุดของอเมริกาในขณะนี้ เริ่มจัดงานมาตั้งแต่ปี 1999 และจัดเรื่อยมาทุกปีตั้งแต่ปี 2001 ที่แถบทะเลทรายในเมืองอินดิโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในช่วงสุดสัปดาห์ของเดือนเม.ย. โดยตลอดทั้ง 3 วันจะเป็นการแสดงของศิลปินจากหลากหลายแนวตั้งแต่ ร็อก, อัลเทอร์เนทีฟ, ฮิปฮอป และอิเล็กทรอนิกซ์ มิวสิค และเพื่อเป็นการสร้างความสดใหม่ให้กับเทศกาล ผู้จัดจึงมักจะเชิญแต่ศิลปินที่ไม่เคยมาเปิดการแสดงที่นี่เป็นหลัก ทำให้มีศิลปินเพียง 19 รายเท่านั้นที่เคยมาเปิดการแสดงที่นี่มากกว่า 2 ครั้ง
Lollapalooza
เทศกาลในตำนานของแวดวงอัลเทอร์เนทิฟของอเมริกาในช่วงปี 1991 ถึง 1997 เป็นเวทีสร้างชื่อของวงแนวๆ นี้อีกมากมายทั้ง Nine Inch Nails, The Smashing Pumpkins และ Red Hot Chili Peppers ก่อนจะกลับมาคืนชีพอีกครั้งในปี 2003 ในรูปแบบเทศกาลทัวร์ไปหลายๆ เมือง จนเปลี่ยนรูปแบบโดยการยึดเอา Grant Park ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลินอยส์มาเป็นฐานบัญชาการตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา แฟนเพลงเด็กแนวจะมาร่วมงานที่จัดในช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนส.ค.เป็นเวลา 3 วันในการแสดงจากศิลปินเกือบร้อยชีวิตใน 8 เวที
Montreux Jazz Festival
สถานที่พิสูจน์กึ๋นทางดนตรีของทั้งตำนานระดับเทพและคนรุ่นใหม่ที่มั่นใจในฝีมือของตัวเอง กับเทศกาลดนตรีที่โด่งดังที่สุดของภาคพื้นยุโรปที่จัดขึ้นทุกปีที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 1967 ในช่วงต้นเดือนก.ค. ที่แม้จะเน้นศิลปินแจ๊สเป็นหลัก แต่ก็เปิดกว้างสำหรับนักดนตรียอดฝีมือจากทุกแนวเพลงในการมาเปิดการแสดง ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งมาตรฐานการแสดงของศิลปินแต่ละคนในเทศกาลนี้จะอยู่ในขั้นที่สูงมาก และมักถูกนำมาบันทึกเป็นดีวีดีจนกลายเป็นแผ่นในตำนานของแต่ละรายไปไม่น้อย
Fuji Rock Festival
สุดยอดเทศกาลดนตรีร็อกแห่งความภูมิใจของชาวเอเชีย ตั้งชื่อตามต้นกำเนิดเทศกาลที่ไปจัดบริเวณภูเขาไฟฟูจิ และจัดติดต่อกันมาทุกปีตั้งแต่ปี 1997 ที่เมืองนิงาตะ ของประเทศญี่ปุ่นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.ค. โดนตลอดทั้ง 3 วันของการจัดงานจะมีศิลปินร็อกของทั้งญี่ปุ่นและนานาชาติมาเปิดการแสดงกันกว่า 200 ชุด ต่อหน้าผู้ชมเรือนแสนที่มาร่วมชมใน 7 เวทีหลักและอีกหลายๆ เวทีสำรองของงาน จุดเด่นของเทศกาลนี้นอกจากจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว ระบบสาธารณูปโภคและนโยบายเรื่องรีไซเคิลที่ดียังส่งให้มันครองตำแหน่งเป็น "เทศกาลดนตรีที่สะอาดที่สุดในโลก" อีกด้วย