โดย นพวรรณ สิริเวชกุล
คลิกที่ไอคอนด้านบนเพื่อ ชม และ ฟัง ในรูปแบบ MULTIMEDIA
ตำนานของเทพเจ้าเหนือมนุษย์นั้น มีอยู่แทบทุกชนชาตินะคะ ตำนานทางแถบเอเชียที่กล่าวถึงอิสตรีก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน ดังเช่นตำนานของพระแม่ทุรคาเทวีองค์นี้ ที่ปัจจุบันมีหลายคนบูชาพระนางเพื่อของโชคลาภและความสำเร็จค่ะ
พระแม่ทุรคาเป็นหนึ่งในเทพีสตรีของศาสนาฮินดู ศาสนาที่สืบเนื่องจากมาศาสนาพราหมณ์
ฮินดูแบ่งออกเป็นหลายนิกายค่ะ เช่น ไวศณพนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ ไศวนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่
ส่วนนิกายที่นับถือสตรีเป็นใหญ่ก็คือนิกายศักติ ซึ่งจะเป็นนิกายที่นับถือพระเทวีหรือพระชายาของมหาเทพ อย่างพระสรัสวดี พระลักษมี พระอุมา เจ้าแม่กาลีและเจ้าแม่ทุรคา เป็นต้น ซึ่งมหาเทวีเหล่านี้คือชายาของมหาเทพทั้งหลาย เป็นผู้ทรงพลังหรืออำนาจของสามีไว้ จึงเรียกว่า ศักติ นิกายนี้เป็นที่นิยมในรัฐเบงกอลและอัสสัมของประเทศอินเดีย
กล่าวถึงพระแม่ทุรคา เรื่องเล่าในตำนานต่างๆ ก็มีแผกแตกต่างกันไปบ้าง แต่ตำนานหนึ่งที่ดิฉันเลือกหยิบมาเล่าต่อในวันนี้ ได้กล่าวว่า พระแม่ทุรคามีชื่อเรียกไปต่างๆ เช่น ดุรกา ดุกา ดูลาคา มีกรทั้งหมด 8 กรและทรงศาสตราวุธครบถ้วน
พระแม่ทุรคา ถือเป็นอีกปางหนึ่งของพระอุมา เทวีของพระศิวะ ที่อวตารมาเพื่อปราบอสูร นาม มหิษาสูร พระแม่ทุรคา พระแม่อุมาและพระแม่กาลี มักมีเรื่องเล่าที่ หลายครั้ง หลายคนอาจสับสน รูปเคารพของพระแม่อุมา บางครั้งมี 4 กร บางครั้งมี 8 กร แต่จะปรากฎคู่กับพระศิวะเสมอและไม่ถือศาสตราวุธใด ทรงพาหนะเสือ
ขณะที่พระแม่ทรุคาจะทรงพาหานะสิงโต ส่วนพระแม่กาลีหรือกาลิกา นั้นมีแปลว่าหญิงดำ มักเป็นรูปสตรีมีสี่มือ ผิวกายสีดำ ดุร้าย เป็นที่นิยมบูชาเพราะเชื่อว่า พระองค์ทรงพลังอำนาจในการให้พรผู้บูชาในการชนะศัตรูหรือประทานความสำเร็จให้แก่ผู้บูชา
ตำนานเรื่องพระแม่ทุรคาและกาลีนั้นคล้ายๆ กันค่ะ ต่างกันตรงชื่อของอสูรที่ต้องปราบ หากเป็นพระแม่ทุรคาจะปราบมหิษาสูรซึ่งเป็นอสูรที่มีเชื้อสายมาจากควายเผือก ส่วนพระแม่กาลีนั้นจะปราบอสูรชื่อมาธู ซึ่งอสูรตนนี้ ได้รับพรจากพระศิวะให้มีชีวิตเป็นอมตะ หากเลือดของมาธู ตกต้องพื้นดิน ก็จะเกิดกลายอสูรอีกนับร้อยนับพัน
มาธูอสูรกำเริบเสิบสาน รุกรานไปทั่วชั้นฟ้า เหล่าเทพเทวาจึงพากันบวงสรวงขอความช่วยเหลือ พระแม่อุมาจึงแบ่งภาคออกมาเป็นพระกาลิกาหรือกาลี โดยก่อนหน้านั้น พระนางได้แปลงตัวเป็นนางอัมพิกาขี่สิงโต มีสิริโฉมงดงาม เสด็จสู่สนามรบ
และด้วยความงามนี้เองที่ทำให้เหล่าอสูรทั้งหลาย หลงใหลในความงามเกิดความรักใครในตัวพระนางอัมพิกา ต่างต่อสู้กันและกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้อสูรล้มตายสุดคณา
เมื่อพระนางอัมพิกาบันดาลโทสะจนถึงที่สุด จึงเกิดพระแม่กาลี ที่พุ่งร่างออกมาจากหน้าผากของพระนางอัมพิกา
ปางนี้เองที่ทำให้พระแม่กาลี ดุร้ายและไล่สังหารอสูรทั้งหลายจนเกือบหมด เหลือก็แต่อสูรมาธู ที่ฆ่าเท่าไรก็ไม่ตายสักที ร้อนถึงพระศิวะที่ต้องชี้แนะถึงวิธีการสังหารอสูรมาธูตนนี้ ด้วยการให้พระแม่กาลีดื่มกินเลือดของอสูรมาธูทุกครั้งที่สังหารมัน กระทั่งไม่มีเลือกหลดต้องแผ่นดิน พระแม่กาลีจึงปราบอสูรมาธูได้สำเร็จ
และด้วยความปิดติพระนางจึงกระโดดโลดเต้นในชัยชนะ แต่ด้วยพลานุภาพของพระนางจึงทำให้กระเทือนไปถึงสามโลก ร้อนถึงพระศิวะที่ต้อง ใช้ร่างกายของพระองค์เข้ามารองบาท ก่อนที่พระแม่กาลีจะกระทืบบาทลงแผ่นดิน จึงเป็นที่มาของภาพและรูปเคารพมากมายที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
ผู้นับถือพระแม่กาลี ต่างเชื่อกันว่าพระนางมีพลังอำนาจในการกำจัดคุณไสย ลบล้างไสยเวทย์ด้านมืด หากบุคคลใดสวดอ้อนวอนพระองค์แล้ว ผู้นั้นก็จะได้รับการขจัดสิ่งชั่วร้ายออกจากตัว และตามความเชื่อกล่าวกันว่า หากผู้ใดสวดบูชา สรรเสริญและถวายเครื่องสังเวยแด่พระแม่กาลีเป็นประจำ พระองค์จะประทานความปลอดภัยและผาสุก มาสู่ผู้นั้น
พระแม่กาลีมีบุคลิกภาพที่ลึกลับกว่าเทพีและเทพทั้งปวง พระนางมีความดุดัน เกรี้ยวกราด รูปลักษณ์และอุปนิสัยเต็มไปด้วยความน่าสะพรึงกลัว แต่ผู้ศรัทธาในพระนางต่างก็เชื่อว่าพระนางจะทำลายเฉพาะอสูรและคนชั่วเท่านั้น หากใครเป็นผู้ประพฤติดี ผู้นั้นก็จะได้รับพรจากพระนางเช่นกัน
ทุกๆปีในฤดูใบไม้ร่วง ชาวฮินดูในรัฐเบงกอลของประเทศอินเดียจะมีพิธีสังเวยบูชา เรียกกันว่า ทุรคาบูชา มีการตกแต่งประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน ผู้คนต่างแต่งกายสวยงามมุ่งหน้ามาทำพิธีที่เทวาลัย ซึ่งถือว่าเป็นพิธีต้อนรับเจ้าแม่ทุรคากลับลงมาจากเขาไกรลาส ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วในเทศกาลนี้จะพากันกลับไปเยี่ยมครอบครัว เยี่ยมพ่อแม่ของตัวเอง
• ขอขอบคุณภาพใน multimedia บางส่วนจาก www.siamganesh.com