xs
xsm
sm
md
lg

แคน เครื่องดนตรีที่เคยถูกห้ามเล่นในพระนคร... / นพวรรณ สิริเวชกุล

เผยแพร่:   โดย: นพวรรณ สิริเวชกุล


เคยสงสัยเหมือนดิฉันเวลาดูละครไทย หรือทัศนคติของผู้ใหญ่รุ่นเก่าๆของเราไหมคะว่า ทำไมต้องรังเกียจลาว...รังเกียจคนอีสาน... ความรู้สึกกึ่งดูแคลนเช่นนี้ ฝังรากกันมา กระทั่งมีการเรียกคนแต่งตัวไม่มีรสนิยม ว่า เสี่ยว หรือ คนทำท่าเด๋อ ว่า ลาวในสมัยหนึ่ง..

วรรณดคีของไทยหลายเรื่องมักดูถูกหญิงลาว หรือหญิงต่างถิ่นถึงความไม่มีวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาวเครือฟ้า หรือ เรื่องขุนช้างขุนแผนตอน มีเมียเป็นนางลาวทอง หรือแม้กระทั่งละครหลังข่าวอีกหลายเรื่องของบ้านเรา ก็มักจะมีลักษณะเช่นนี้อยู่...

แล้วถ้าหากเราจะพูดถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน เราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องนึกถึง แคน ใช่ไหมคะ

ทราบไหมคะว่า เมื่อครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสแก่ข้าราชการทั้งใหญ่น้อยในเวลานั้นห้ามไม่ให้เล่นลาวแคนหรือหมอลำในเขตพระนคร...
ทั้งที่จริงๆ แล้วในสมัยอยุธยา แคนเองก็เคยเป็นเครื่องดนตรีขับกล่อมถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เพราะพระองค์ไม่ทรงโปรด หรอกนะคะ แต่เป็นเพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงการแพร่อิทธิพลของเครื่องดนตรีชนิดนี้ ที่กลายเป็นที่นิยมของชาวพระนครในยุคนั้นกระทั่งหลงลืมเครื่องดนตรีอื่น ของไทยเสียหมด

การเข้ามาของแคนถึงเขตพระนครได้ ก็เพราะสงครามนี่ล่ะค่ะ มีการกวาดต้อนเชลยศึก ตามพระราชพงศาวดารแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 3 ได้บันทึกไว้ถึง การกวาดต้อนครัวเมืองเวียงจันทน์ ได้ถูกขุนทัพทางกรุงเทพฯ กวาดต้อนมาเป็นจำนวนมาก โปรดให้ตั้งรกรากอยู่ตามแถบถิ่นต่างๆ ในเขตภาคกลางปัจจุบัน และเมื่อคนมา ของอื่นๆ ก็ต้องตามมาด้วยแน่นอนค่ะ และหนึ่งในนั้นคือ เสียงดนตรี...

ใครชอบกันบ้างในเวลานั้น ดิฉันไม่อาจรู้ได้ ทราบก็แต่เพียงว่า พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเครื่องดนตรีที่เรียกว่า แคน ยิ่งนัก ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ได้บันทึกไว้ว่า พระองค์โปรดแคน ไปเที่ยวทรงตามเมืองพนัสนิคมบ้าง ลาวบ้าง ลำปะทวนเมืองนครชัยศรีบ้าง บ้านสีทา แขวงเมืองสระบุรีบ้าง พระองค์ฟ้อนและแอ่วได้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ได้เห็นพระองค์แล้วก็สำคัญว่าลาว....

ด้วยเหตุนี้ในเวลานั้นก็กลายเป็นที่กล่าวขานกันทั่วทั้งพระนคร ว่า พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเสียงแคนมาก ทำให้ในช่วงนั้นไม่มีผู้ใดสนใจจ้างวงดนตรีไทยอย่างปี่พาทย์หรือวงมโหรีไปออกงานต่างๆ เลย จนทำให้กิจการของวงดนตรีเหล่านี้ซบเซาไปถนัดตา

และนี่ก็เป็นหนึ่งเหตุค่ะที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องมีพระราชดำรัส ห้ามไม่ให้มีการละเล่นลาวแคนและหมอลำในเขตพระนคร... และนับแต่นั้นเครื่องดนตรีชนิดนี้รวมทั้งผู้เล่นก็มีสถานภาพที่ต่ำลง กลายเป็นเครื่องดนตรีที่ถูกเหยียดหยามและเป็นสัญลักษณ์ของผู้คนชั้นต่ำที่อยู่ในประเพณีลาวเท่านั้น...
สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเนื้อร้องของเพลงลาวแพน ที่แต่งขึ้นตอนหนึ่งว่า

ผ้าทอก็บ่มีนุ่ง
ผ้าถุงก็บ่มีห่ม
คาดแต่เตี่ยวเกลียวกลม
หนาวลมนี่เหลือแสน
ระเหินระหกตกยาก
ต้องเป็นคนกากคนแกน
มีแต่แคนคันเดียว
ก็พอได้เที่ยวขอทานเขากิน...

จะว่าไปแล้ว แคน เองก็เป็นเครื่องดนตรีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานทีเดียวค่ะ เพราะเคยมีการขุดพบแคนที่เก่าแก่ที่สุดอายุกว่า 3,000 ปีที่บริเวณริมแม่น้ำซอง เมืองดองซอน จังหวัดถั่นหัว เลยทีเดียว

แต่กว่าจะมาเป็นแคน ตามที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีการพัฒนารูปแบบ และการผลิตกันมาตลอดนะคะ จากเครื่องเป่าลมไม้ที่มีเพียงเสียงเดียว ที่เรียกกันว่า ปี่ฟางหรือ เป่ากอข้าวของชนชาติจ้วง ในสิบสองปันนา ประเทศจีน
ก็พัฒนามาใช้ไม้อ้อบ้าง ไม้ซาง ไม้ไผ่บ้าง กระทั่งคนเราทดลองใช้ไม้ซางเสียบเข้ากับผลน้ำเต้า แล้วเป่าให้เกิดเสียง เรียกกันว่า ปี่น้ำเต้า แล้วจากน้ำเต้าก็เปลี่ยนมาใช้ไม้แก่นมาถากและเจาะรูเป่าโดยมีไม้กู่แคนเสียบเหมือนเดิม แม้ว่าวัสดุที่ใช้จะเปลี่ยนไปแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเรียกกะเปาะลมนั้นว่า เต้าแคน เช่นเดิม

ปัจจุบันแคนกลับมาเป็นเครื่องดนตรีที่มีคนพูดถึงอีกทั้งทัศนคติหลายๆ อย่างก็เริ่มคลี่คลาย เสียงเพลงหมอลำกลับมาได้รับความสนใจและนิยมจากคนทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง.


ลายใหญ่-โดย "เทพแห่งแคน" หมอแคนสมบัติ สิมหล้า
กำลังโหลดความคิดเห็น