มนต์รักจากเสียงกระดึง
เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" เปี่ยมไปด้วยพลัง ความหวัง และปลุกปลอบให้กำลังใจคนในการก้าวไปข้างหน้า จัดเป็นเพลงยอดนิยมที่สุดของจิตร ภูมิศักดิ์ เพลงอื่นๆ ถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือไม่ใช่คนการเมืองเข้มข้นในสมัย 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 คงยากที่จะรู้จักกับ "บทเพลง" อื่นๆ ที่ไม่ใช่เพลงฮิต
"80% ของเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ ออกมาจากคุกลาดยาว เข้าใจว่า จิตร ภูมิศักดิ์คงจะมีเวลาศึกษาหลายๆ เรื่องอย่างจริงจัง รวมทั้งเรื่องการเขียนเพลงด้วย งานเพลงในช่วงปี 2498 – 2499 ก่อนติดคุกมีไม่กี่เพลงหรอก เข้าใจในสมัยนั้นว่ายังไม่เป็นที่ติดหูคนด้วยซ้ำไป ทุกเพลงที่เขียนขึ้นในคุกมีพลังหมด" แคน สาริกา ผู้ตามจิตร ภูมิศักดิ์ในรอยป่ากล่าวกับทีมสกู๊ปพิเศษ ซูเปอร์บันเทิง ASTV Manager OnLine
แคน สาริกา หรือ บัณฑิต จันทศรีคำ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และเป็นเจ้าของพ็อกเกตบุ๊กหลายเล่ม เช่น เสียงเพลงจากภูพาน, คนตุลาตายแล้ว, วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์, เปลือยป่าแดง ฯลฯ
เพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ "คอมมิวนิสต์ลาดยาว" ที่เขียนโดยทองใบ ทองเปาด์
"ตอนที่พี่ใบ เขียนถึงเพลงลาดยาว ยังไม่ได้บอกว่าเป็นเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์นะ แต่ใช้ชื่อว่า สุธรรม บุญรุ่ง พี่ใบเขียนไว้ว่า สักวันหนึ่งเราจะรู้ว่าเขาคือใคร ผมยังไม่มีโอกาสเจอพี่ทองใบ เป็นเรื่องที่ยังคาใจอยู่ อยากถามแกว่า ทำไมพี่ใบไม่ระบุไปเลยว่าเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วพี่ทองใบเอาทุกเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์มาลง พี่ใบถือเป็นคนแรกที่เขียนเรื่องนี้มาเผยแพร่ ภายหลังวงกรรมาชน เป็นวงแรกที่เอาเพลงของจิตรมาร้องเผยแพร่ ทุกเพลงของจิตรมีพลังในการปลุกเร้าทั้งสิ้น" แคน สาริกา กล่าว
บางคนในสมัยนั้นฟังงานเพลงแล้วยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า "จิตร ภูมิศักดิ์" เป็นใคร สำคัญอย่างไรกับสังคมไทย คนส่วนใหญ่รู้จักเขา เมื่อได้ฟังเพลงชื่อ "จิตร ภูมิศักดิ์" ที่เขียนคำร้องและทำนองโดย สุรชัย จันทิมาธร
"เขาตายเหมือนไร้ค่า แต่ต่อมาก้องนาม ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดนักเขียน ดั่งเทียนถ่องแท้แก่คน"
"ผมคุยกับพี่วิทิต จันดาวงศ์ (สหายปาน) ทราบมาว่า เพลงเสียงเพรียกจากมาตุภูมิ, เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ไม่ได้ฮิตในคุกลาดยาวนะ เนื่องจากชีวิตในคุกลาดยาวเป็นช่วงของการต่อสู้ มันต้องปลุกเร้า เพลงแสงดาวแห่งศรัทธาอาจจะโรแมนติกเกินไป เพลงที่ฮิตในคุกลาดยาวจะมีเพลง รำวงวันเมย์เดย์, วีรชนปฏิวัติ, มาร์ชลาดยาว เป็นต้น"
หลากหลายชีวิตที่อยู่ในคุกลาดยาวคราวนั้น นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์แล้ว ยังมี ทองใบ ทองเปาด์ (ทนายความคนยาก เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527), เทพ โชตินุชิต ผู้นำทางการเมืองแนวสังคมนิยม, พล. ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ, นายอุทธรณ์ พลกุล , อิศรา อมันตกุล นักหนังสือพิมพ์ และ สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) เป็นต้น
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2505 ได้จัดให้มีการแสดงละครเรื่อง "มนต์รักจากเสียงกระดึง" โดยสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) ทำหน้าที่ "ผู้กำกับ" และ จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา "สุธรรม บุญรุ่ง" แต่งเพลงประกอบละคร 2 เพลง คือ มนต์รักจากเสียงกระดึง และ ความหวังยังไม่สิ้น ซึ่ง 2 เพลงนี้ คอนเสิร์ต ซิมโฟนี 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มงคล อุทก ถ่ายทอดเพลง "มนต์รักจากเสียงกระดึง" และครอบครัวโฮป ถ่ายทอดเพลง "ความหวังยังไม่สิ้น"
"เพลงมนต์รักจากเสียงกระดึง พิสูจน์ความเป็นอัจฉริยะของจิตรได้เป็นอย่างดีว่า จิตรแต่งเพลงอีสานได้ เป็นนายของภาษา และเป็นคนศึกษา คุยกับคนอีสานที่อยู่ในคุก ทั้งเนื้อหา ดนตรีสุดยอดมากเลย คือถ้าเพลงนี้ พี่ใบไม่ได้บันทึกไว้ว่าแต่งในลาดยาว คนรุ่นหลังอาจจะคิดว่าจิตรแต่งในสมัยที่เข้าป่าก็ได้"
เพลงมนต์รักจากเสียงกระดึง ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง "ปางนางขึ้นภูเก็บผักหวาน" หรือ "ต้อนงัวขึ้นภู" ทำนองเป็นเพลงพื้นเมืองภาคอีสาน ลีลาของเพลงเป็นการแสดงออกของการบันเทิงและการทำงานผสมผสานกันไป
...
ไม่ใช่ "ฮีโร่" ของพรรคฯ
"สมัยที่เรายังอยู่ในเมือง กลุ่มของพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี, อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, อาจารย์ชลธิชา สัตยาวัฒนา มีความพยายามที่จะบูม "จิตร ภูมิศักดิ์" ขึ้นมาแทนที่ "เช กูวารา" กระทั่งเอารูปที่จิตร ภูมิศักดิ์ ที่คาบบุหรี่เท่ๆ ขึ้นมาทำเป็นโปสเตอร์ คือ เราทุกคนที่อยู่ในเมืองตอนนั้นรู้จักจิตร ภูมิศักดิ์แล้ว แต่ในป่าไม่มีใครพูดถึงเพลงจิตรเลย จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้เป็นที่ "เชิดชู" และไม่ใช่ "ฮีโร่" ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เปรียบไปแล้วคือ ผู้เข้ามาร่วมงานปฏิวัติในช่วงสั้นๆ ไม่กี่เดือนแล้วจบชีวิตลง ...เท่านั้นเอง" แคน สาริกากล่าว
เพลงภูพานปฏิวัติ, มาร์ชกองทัพปลดแอกประชาชนไทย" ( ชื่อเดิม พลพรรคครองชัย) และ เลือดต้องล้างด้วยเลือด" ไม่มีใครทราบว่าเป็นเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ และไม่มีใครรู้จักจิตร ภูมิศักดิ์
"สหายบางคนยังบอกว่า เพลงเลือดต้องล้างด้วยเลือดไม่ใช่เพลงที่จิตรแต่งไว้ก็มี โชคดีที่เพลงนี้ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานเมื่อปี 2519 ผมได้ขึ้นไปที่โรงเรียนการเมืองที่ภูพาน เจอนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นคนในรุ่นเดียวกับจิตร ภูมิศักดิ์ พี่อุทัยวรรณ เป็นคนแรกในป่าที่เขียนเรื่องเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ลงในจุลสารโรเนียวชื่อ "ธงปฏิวัติ" เบื้องหลังเพลงทุ่งรวงทอง, ภูพานปฏิวัติ, มาร์ชกองทัพปลดแอกฯ, เลือดต้องล้างด้วยเลือด นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยที่มาของเพลงเหล่านี้"
วิทยุคลื่นสั้นเสียง - สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) เริ่มมาพูดถึงจิตร ภูมิศักดิ์อย่างจริงจังในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อมีคนจากเมืองเข้าป่าเป็นจำนวนมาก หลังจากที่จิตรเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปีเต็ม
"เรื่องบทเพลง ไม่ว่าจิตรจะแต่งด้วยสำนึกทางการเมืองแบบไหน ผมว่าบทเพลงมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงพลังในแง่ของงานศิลปะ" สุชาติ สวัสดิ์ศรีกล่าว
สุชาติบอกว่า ยอมรับว่าป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ชูจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะที่เป็นนักคิดนอกกระแสคนหนึ่งในสังคมไทยที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ตั้งใจเอาไปเปรียบกับเช กูวาราแต่อย่างใด ขณะที่คนรุ่นนี้มีระบบมากขึ้นในการที่จะได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นงานของจิตร ภูมิศักดิ์ แต่สมัยของสุชาติ สวัสดิ์ศรีต้องพยายามที่จะแสวงหาเพื่อรับรู้ ดังนั้น จึงสมควรที่คนรุ่นนี้จะศึกษาต่อยอดจากงานของจิตร ภูมิศักดิ์อย่างเป็นวิชาการ ไม่ใช่ศึกษาอย่างเป็นรูปเคารพ
"จิตรมีความหลากหลายด้านที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านวรรณคดี, งานวิจารณ์, ประวัติศาสตร์, นิรุกติศาสตร์, เขียนบทกวี, เขียนเพลง ในแง่ของคนที่เรียนมาทางด้านสังคมและมนุษยศาสตร์ ต้องถือว่าจิตร ภูมิศักดิ์เป็นของใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว วิธีคิดของเขามีความแปลกใหม่หลายเรื่อง เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย ซึ่งเอาทฤษฎีแบบมาร์กซิสม์มามองประวัติศาสตร์ไทย และทางภาษาศาสตร์ ผมคิดว่าหนังสือ "ความเป็นมาของคำสยามฯ" เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ส่วนความคิดเกี่ยวกับศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะเพื่อชีวิตนั้น ผมคิดว่ามันเป็นกรอบความคิดที่ทำให้เราตื่นตัวขึ้นมาก็จริง แต่ในแง่ของกรอบความคิดเรื่องศิลปะนั้นยังค่อนข้างจะคับแคบ เพราะจิตรถือเอาศิลปะเป็นเพียงส่วนของงานการเมือง ผมคิดว่าศิลปะมันมีวิญญาณของมันมากกว่านั้น" สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าว
หลายปีก่อน สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เคยทำผลงานเพลงชุดหนึ่ง งานชุดนี้ควบคุมการผลิตโดย เรืองยศ พิมพ์ทอง บางเพลงในงานชุดนี้เป็นของจิตร ภูมิศักดิ์ เช่น แสงดาวแห่งศรัทธา (สุเทพ วงศ์กำแหง), เปิบข้าว (เอกชัย ศรีวิชัย)
เพลงอื่นๆ เช่น 14 ตุลา (ขับร้องหมู่), นกสีเหลือง (เพ็ญศรี พุ่มชูศรี), ดอกไม้ (วงจันทร์ ไพโรจน์), เพื่อมวลชน (ไพจิตร อักษรณรงค์), สู้ไม่ถอย (เมดเลย์) มาร์ชประชาชนเดิน (วินัย พันธุรักษ์), เมื่อฟ้าสีทอง (จิติมา เจือใจ), เปิบข้าว ( เอกชัย ศรีวิชัย), คนกับควาย (ชาย เมืองสิงห์), หนุ่มสาวเสรี (ไวพจน์ เพชรสุพรรณ), การะเกด (ชินกร ไกรลาส), คนภูเขา (สุนารี ราชสีมา), ตุลาชัย (สุดา ชื่นบาน), ราชดำเนิน (ดาวใจ ไพจิตร), รัตติกาล (ธานินทร์ อินทรเทพ / ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล), คนดี (ธานินทร์ อินทรเทพ), นกสีเหลือง (พ.ญ. พันธิวา สินรัชตานันท์) เป็นต้น
"ก่อนหน้านี้ นักร้องในสายเพลงลูกกรุงที่มีโอกาสร้องเป็นคนแรกคือ พี่โจ๊ว เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ผมเพิ่งมีโอกาสมาร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง มันทำให้คนที่ชอบร้องเพลงอย่างพวกเราได้มีโอกาสได้ฟัง ได้ถ่ายทอดเพลงเพื่อชีวิต หลายเพลงที่เราร้องมันบ่งบอกถึงชีวิตของคนยากจน คนที่ใช้แรงงานในการต่อสู้ชีวิต"
สุเทพ วงศ์กำแหง ได้ยินเรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จากวงคาราวาน
"การตั้งวงคาราวานขึ้นมา มันทำให้แนวเพลงเปลี่ยน ความจริงมันไม่ได้เพิ่งจะมี แต่มันมีมานานแล้ว สมัยก่อนหน้านั้น ในวงการเพลงเรามีเสน่ห์ โกมารชุน, คำรณ สัมบุณณานนท์ เขาก็ร้องเพลงเกี่ยวกับชีวิตคนยาก คนจน เกี่ยวกับอะไรต่อมิอะไรมาแยะ แต่ความตื่นตัวในการฟังของคนสมัยนั้นยังไม่ได้ถึงขนาดที่ทำให้คนสนใจในสิทธิความเป็นอยู่ของประชาชน จนกระทั่งถึงยุคของหงา คาราวาน เราถึงรู้ว่าเรามีสิทธิ์ทวงคืนความถูกต้องจากรัฐบาลได้ ทำให้คนตื่นตัวเป็นลำดับ" สุเทพ วงศ์กำแหงกล่าว
สุเทพ วงศ์กำแหง รู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ จากคำบอกเล่าของรุ่นพี่ อย่างสุวัฒน์ วรดิลก ฯลฯ และติดตามอ่านจากผลงานหนังสือต่างๆ เป็นต้น
...
จอมใจดวงแก้ว!?
คอนเสิร์ต "ซิมโฟนี 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์" ชูเพลง "จอมใจดวงแก้ว" เป็นครั้งแรกที่เพลงนี้ถูกบรรเลงในแบบซิมโฟนี ก่อนหน้านี้เพลงนี้ หงา คาราวาน เคยเล่นบนเวทีคอนเสิร์ตของเขามาแล้ว
ตำนานเพลงว่า จิตรได้ประพันธ์เพลงนี้ โดยได้นำเอาทำนองเพลง "วันสุดท้าย" ของสุชาติ เทียนทอง นักร้องเพลงลูกทุ่งที่โด่งดังในยุคนั้น จากความทรงจำของกรองแก้ว เจริญสุข บทเพลงนี้ "กลาโหม" ซึ่งเป็นทหารพิทักษ์จิตรได้ขอร้องให้จิตรประพันธ์ขึ้นเพื่อมอบให้แก่คนรักของเขาที่จะจากกัน บทเพลงนี้บรรเลงครั้งแรกด้วยน้ำเสียงของ "กลาโหม" โดยมีจิตรเล่นแมนโดลินคลอตามไปด้วยต่อหน้ากรองแก้ว เจริญสุขในวันที่ต้องอำลาจากกัน
ที่มาของเพลงนี้ แคน สาริกา ผู้ตามจิตร ภูมิศักดิ์ในรอยป่า ตั้งข้อสงสัย !! และตั้งข้อสังเกตว่าเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ส่วนใหญ่จะมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน สมัยคุกลาดยาว ทองใบ ทองเปาด์บันทึกไว้ในหนังสือ คอมมิวนิสต์ลาดยาว เมื่อตอนที่เดินทางไปโรงเรียนการเมืองที่ภูพาน พี่อุทัยวรรณ ซึ่งอยู่กับจิตร และเขียนที่มาของบทเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ช่วงที่อยู่ในป่าไม่เคยพูดถึงและไม่คุ้นกับเพลงนี้เลย หลักฐานพยานบุคคล ไม่มี , หลักฐานเอกสารไม่มี มีแค่การบอกเล่าจากความทรงจำของกรองแก้วเท่านั้น
"ไม่ใช่ผมไม่เชื่อ แต่เรื่องนี้ควรได้รับการค้นคว้าต่อไป ควรจะมีหลักฐานที่มาที่ไปมากกว่านี้" แคน สาริกา กล่าว
และมากกว่านั้น เพลงนี้ไม่ได้แสดงถึงอัจฉริยะของจิตร ภูมิศักดิ์ นอกจากแสดงให้เห็นว่า จิตร ภูมิศักดิ์แต่งเพลงจีบสาวเป็นเท่านั้น !! เพลงอื่นๆ อย่างเช่น หยดน้ำบนผืนทราย, มนต์รักจากเสียงกระดึง, อาณาจักรความรัก ยังมีความน่าสนใจมากกว่า
...
บทเพลง "ประชาชน" ขึ้นหิ้งแล้ว
เลือก 3 บทเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่แคน สาริกาโปรดปรานคือ เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ, ภูพานปฏิวัติ และแสงดาวแห่งศรัทธา
"ในวัย 18-19 ปี การได้ฟังเพลงเสียงเพรียกจากมาตุภูมิ มันทำให้เราสำนึกถึงแผ่นดินเกิด มีความรักต่อแผ่นดินเกิดและพร้อมที่จะเสียสละเพื่อการต่อสู้และเดินทางไกล, ภูพานปฏิวัติ สำหรับผมเป็นเพลงปฏิวัติที่คลาสสิกที่สุด แตกต่างจากเพลงปฏิวัติที่ทางพรรคฯ เอาทำนองจีนมาใส่คำร้อง เพลงของจิตรมีชั้นเชิงกว่าเยอะ เพลงนี้ร้องกันมาต่อๆ ภายหลังจีนเอาไปใส่ทำนองให้ มันใหญ่มาก เหมือนเพลงมาร์ชกองทัพเลย ส่วนเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เป็นเพลงดังหลังป่าแตก มาดังในยุคหลังสุด ในสถานการณ์ของการต่อสู้ในยุคหนึ่ง เพลงนี้ไม่ดัง เพราะโรแมนติกเกินไป"
บทสรุปท้ายของเกจิเพลงภูพาน กล่าวถึงเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ว่า
"จะเรียกว่าเพลงอะไรก็แล้วแต่ แต่มันเป็นเพลงที่มีเป้าหมายทางสังคมชัดเจน ทุกเพลงมีความมุ่งมั่น ไม่ใช่แค่ฟังเฉยๆ มันมีทั้งการปลอบประโลม มีความหวัง เต็มไปด้วยความใฝ่ฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เห็นชนชั้นที่แตกต่างทางสังคมชัดเจน ทำนองเพลงของจิตรมีความกว้างและหลากหลายมาก บวกกับความเป็นนายภาษา แม้แต่เพลงที่มีเนื้อหาปลุกเร้ายังมีภาษาที่สวย ผมว่ามันถึงเวลาแล้วที่เพลงของเขาควรจะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เป็นเพลงคลาสสิกไทยได้แล้ว"
...
หมายเหตุ - ผลงานเพลง จิตร ภูมิศักดิ์ แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้
บทเพลงจากนาคร (พ.ศ.2499-2500)
มาร์ชเยาวชนไทย (ประมาณปี พ.ศ. 2498 -2499), มาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยม (ประมาณปี พ.ศ. 2498-2500), มาร์ชกรรมกร (ประมาณปี พ.ศ. 2498-2500)
บทเพลงลาดยาว (พ.ศ. 2501-2507)
มาร์ชครูไทย (พ.ศ. 2503), มาร์ชชาวนาไทย (พ.ศ. 2502), มาร์ชลาดยาว (พ.ศ. 2503-2505) เทอดสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2503-2505), ฟ้าใหม่ (พ.ศ. 2503-2505), ความหวังยังไม่สิ้น (พ.ศ. 2503-2505), แสงดาวแห่งศรัทธา (พ.ศ. 2503-2509), ศักดิ์ศรีของแรงงาน (พ.ศ. 2504), อินเตอร์เนชั่นแนล (พ.ศ. 2504), รำวงวันเมย์เดย์ (พ.ศ.2503-2505), เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ (พ.ศ. 2503-2505), ทะเลชีวิต (พ.ศ. 2504), หยดน้ำบนผืนทราย (พ.ศ. 2504), อาณาจักรความรัก (พ.ศ. 2504 - 2508), วีรชนปฏิวัติ (พ.ศ. 2505 - 2506)
บทเพลงจากภูพาน (พ.ศ. 2508-2509)
ทุ่งรวงทอง (พ.ศ. 2508), เลือดต้องล้างด้วยเลือด (พ.ศ. 2505 - 2509), จอมใจดวงแก้ว (พ.ศ. 2508), ภูพานปฏิวัติ (พ.ศ. 2508), พลพรรคครองชัย (พ.ศ. 2508)