xs
xsm
sm
md
lg

Romanzo Criminale : เรียกข้าว่า “ราชาแห่งโรม”

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล



ปลายทศวรรษที่ 70 โรม เมืองหลวงของประเทศอิตาลี ถึงแก่กาลลุกเป็นไฟภายหลังการถือกำเนิดของกลุ่มอาชญากรรมกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ บันดา เดลลา มาเญียนา

Banda della Magliana (หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัวคือ Gang of Magliana) เป็นชื่อที่สื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ตั้งให้แก่คนกลุ่มนี้ ภายหลังพวกเขาก่อเหตุ ‘โชว์เหนือ’ ให้คนทั้งอิตาลีได้รู้จัก ยำเกรง และครั่นคร้ามมาพักหนึ่ง

เหตุที่เป็น ‘แก๊ง อ๊อฟ มาเญียนา’ ก็เนื่องจากสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เท่าที่สื่อพอจะได้ข้อมูลมาเลาๆ ในช่วงเวลานั้น ล้วนแล้วแต่เติบโตในพื้นที่ย่านมาเญียนา ซึ่งเป็นเขตชุมชนที่ตั้งอยู่ในทิศตะวันตกของกรุงโรมด้วยกันทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับองค์กรอาชญากรรมทั่วไป – กลุ่มมาเญียนามีพฤติกรรมและกิจกรรมฝ่าฝืนและท้าท้ายกฎหมายนับไม่ถ้วน ทั้งลักพาตัว เรียกค่าไถ่ ค้ายา ฟอกเงิน ฆ่าใครก็ตามที่ขัดผลประโยชน์อย่างไม่เกรงกลัวใครหน้าไหนทั้งสิ้น

ที่อาจจะพิเศษสักหน่อย ก็คือ กลุ่มมาเญียนาถูกลากโยงให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับสภาพการเมืองร้อนระอุที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ช่วงเวลานั้นด้วย

สภาพดังกล่าว กล่าวโดยสรุปก็คือ ในทศวรรษที่ 70 นั้น เป็นช่วงเวลาที่จิตสำนึกทางการเมืองของหนุ่มสาวและคนหัวก้าวหน้าแทบจะทั่วทุกมุมโลก ได้รับการกระตุ้นเร้ากระทั่งสุกงอม และในที่สุดก็แปรสภาพไปอยู่ในรูปของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล มีการลุกฮือขึ้นเรียกร้อง ประท้วง และกำจัดอะไรก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าไม่ถูกไม่ต้องในสังคม โดยไม่เกี่ยงงอนว่าจะต้องใช้วิธีการที่รุนแรงสักแค่ไหน (ภาษาอังกฤษเรียกช่วงเวลานี้ว่า years of lead ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มบาเดอร์-ไมน์ฮอฟในหนัง The Baader-Meinhof Complex อาละวาด)

ในประเทศอิตาลีเอง มีการก่อวินาศกรรมในที่สาธารณะ (เช่น การวางระเบิดสถานีรถไฟกลางของเมืองโบโลนญาในปี 1980 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 200) มีการลักพาตัว สังหาร และพยายามสังหารบุคคลสำคัญระดับชาติเกิดขึ้นหลายครั้ง (ครั้งหนึ่งคือการลักพาตัวและสังหาร อัลโด โมโร นายกรัฐมนตรีอิตาลีและผู้นำกลุ่ม Chirstian Democracy ในขณะนั้น และอีกครั้งคือการพยายามลอบสังหาร พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2)

เหตุการณ์ทั้งหมดนั้น แม้แทบทุกครั้งจะได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าจะไม่ใช่ฝีมือของกลุ่มมาเญียนา ทว่าด้วยอิทธิพลและความบ้าดีเดือดของกลุ่มดังภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชน ก็ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายผู้พิทักษ์กฎหมายและความยุติธรรมของประเทศ ค่อนข้างจะปักใจเชื่อว่า พวกเขาน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นไม่มากก็น้อย และไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ภาพยนตร์ Romanzo Criminale ของ มิเคเล ปลาซิโด ดัดแปลงจากหนังสือชื่อเดียวกันของ จันคาร์โล เด คาตาลโด ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของกลุ่มมาเญียนาอีกที

เนื้อหาของหนังเล่าถึงชาย 3 คนที่ในเวลาต่อมาจะกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งและแกนนำของกลุ่ม หนึ่งคือ เลบานีส สอง ไอซ์ และสาม แดนดี้

หนังเปิดเรื่องขณะทั้งสามยังเด็ก ความห่ามตามประสาเด็กผลักดันให้พวกเขาและเพื่อนซี้อีกคนลงมือโจรกรรมรถชาวบ้านมาขับ แล้วต่อมาเหตุการณ์ก็เลยเถิด เมื่อทั้งหมดขับรถที่ขโมยมาพุ่งชนตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิต

ไม่นานหลังจากนั้นทั้งหมดก็ถูกตำรวจบุกจับกุมตัว เพื่อนซี้บาดเจ็บสาหัสจากการพุ่งชนครั้งนั้นและตายจากไป ส่วนที่เหลือก็มีอันต้องย้ายออกจากบ้านเข้าไปโตในคุก

ตัดข้ามมาราว 20 ปี เลบานีส ไอซ์ และแดนดี้ ต่างเดินออกจากคุกภายหลังชดใช้กรรมตามที่กำหนด ในระยะแรก ทั้งหมดยังคงตกอยู่ในสภาพหลงคว้างเพราะไม่รู้จะทำมาหากินอะไรและเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ตรงไหน

ในเวลาต่อมา เลบานีสก็เป็นผู้นำพาทางสว่าง –หรือที่ถูกควรเรียกว่า ‘ทางมืด’- มาให้กับทุกคน เขาเสนอแผนการหาสมาชิกเสริม วางแผนลักพาตัวเศรษฐีหลายพันล้านชื่อดังรายหนึ่ง แล้วเรียกค่าไถ่เป็นราคาสูงลิ่วแพงลิบ

ในตอนแรกเริ่ม ความตั้งใจเดิมของทุกคน ณ เวลานั้น ก็คือ การหาเงินใช้จ่ายและตั้งตัวสักก้อนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เงินทองมีพลังอำนาจแปรเปลี่ยนหัวใจคนได้ฉันท์ใด เงินก้อนใหญ่ๆ ก็สามารถผลักดันบงการให้คนบางคนคิดการใหญ่ได้ฉันท์นั้น...

เป็นเลบานีสอีกครั้งที่สวมบทบาทจอมวางแผน เขาเสนอให้ทุกคนนำเงินค่าไถ่ที่ได้มา ไปลงทุนขยายกิจการในธุรกิจผิดกฎหมายประเภทอื่นต่อ... เอามันทุกอย่าง หว่านมันทุกประเภท เป้าหมายสูงส่งที่เลบานีสบอกทุกคนในตอนนั้น ก็คือ “เราทั้งหมดจะครองกรุงโรมด้วยกัน!”

เหตุการณ์ถัดจากนี้เล่าถึงกรรมวิธียึดโรมของเลบานีสกับเพื่อนทั้งสอง ต่อเนื่องไปยังชีวิตหลังได้มาซึ่งเงินทองและอำนาจ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น พวกเขาต้องทำอะไร และเพื่อรักษามันไว้ พวกเขาต้องทำอะไรบ้าง

แน่นอนว่า บทสรุปลงท้ายของหนังไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดคาดเดา

การเริ่มต้นยิ่งใหญ่บนความฉิบหายของผู้อื่น สุดท้ายมันจะนำไปสู่อะไรได้ นอกจากปลายทางแห่งความฉิบหายของตัวเองเท่านั้น...

Romanzo Criminale เข้าโรงฉายที่ประเทศอิตาลีในเดือนกันยายน 2005 จากนั้นในปีถัดมา หนังได้รับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหมีทองคำ ที่เทศกาลหนังเบอร์ลินประจำปี 2006 และในปีเดียวกัน ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลดาวิด ดิ โดนาเตลโล ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญอันดับหนึ่งในวงการภาพยนตร์อิตาลีถึง 14 สาขา ลงท้ายหนังกวาดมาได้ถึง 8 (หนึ่งในนั้นคือรางวัลบทภาพยนตร์) แต่น่าเสียดายที่ในจำนวนนั้นไม่มีรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรวมอยู่ด้วย

เทียบกับ Gomorra หนังแก๊งสเตอร์จากชาติเดียวกันที่ดังมากเมื่อปีก่อน (และขณะนี้เข้าฉายในบ้านเราอยู่ ที่โรง house อาร์ซีเอ) – ทั้งคู่ต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงเหมือนกัน บอกเล่าเรื่องราวของบุคคลที่หาเลี้ยงชีวิตในมุมมืดเหมือนกัน ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ ระหว่าง Gomorra กับ Romanzo Criminale นั้น เห็นจะต้องบอกว่า มีความแตกต่างกันพอสมควร

เพราะในขณะที่ Gomorra พยายามจะเล่าทุกสิ่งทุกอย่างด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย เย็นชา และเหินห่างอย่างถึงที่สุด Romanzo Criminale กลับทำทุกอย่างเพื่อให้ "หนังเป็นหนัง"

ทั้งการเพิ่มเติมแง่มุมซับซ้อนของตัวละครและเปิดโอกาสให้ผู้ชมรู้จักทุกคนอย่างเต็มที่ (ขณะที่ Gamorra กันผู้ชมให้รับบทเพียงผู้สังเกตการณ์ เฝ้ามองเหตุการณ์อยู่ห่างๆ เปิดเผยเรื่องของตัวละครเท่าที่จำเป็น และไม่พยายามจะทำให้ผู้ชมผูกพันหรือมีความรู้สึกร่วมกับตัวละครเหล่านั้นมากนัก) อีกทั้งวิธีการเล่าเรื่องก็ยังแพรวพราว เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนสารพัด

อาทิ การนำภาพฟุตเตจเหตุการณ์จริงมาแทรกใส่ในบางช่วงตอน (การพบศพนายกฯ, สถานีรถไฟที่เละเป็นจุณเพราะแรงระเบิด ฯลฯ) การใช้บทสนทนาจากเหตุการณ์ชุดหนึ่ง มาบอกเล่าซ้อนทับกับภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกช่วงเวลาหนึ่ง (เช่น คราวที่หนังต้องการเล่าว่า การจะกำจัดหัวหน้าแก๊งที่ครอบครองวงการต่างๆ อยู่จะต้องทำเช่นไร หนังก็ใช้เสียงของใครคนหนึ่งขณะแจกแจงบรรยายแผนการ มาเล่าคลอไปกับภาพระหว่างเหตุการณ์บุกตะลุยยิงดะขาใหญ่ทุกผู้ทุกนามตามถ้อยคำที่ใครคนนั้นกำลังสาธยายไม่มีผิดเพี้ยน)

ผลก็คือ ในแง่ของความสมจริงและจริงจัง แม้ Romanzo Criminale จะตกเป็นรอง Gamorra อยู่ค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่หนังของมิเคเล ปลาซิโดเรื่องนี้มีมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ ความสนุกเร้าใจ ความตื่นเต้น และการสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่ผู้ชม ในแบบที่หนังแอ๊กชั่นแก๊งสเตอร์ดีๆ เรื่องหนึ่งพึงจะทำได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หนึ่งควรชี้แจงให้ชัดไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ไม่ใช่คำพิพากษาตัดสินว่าหนังเรื่องใดดีกว่าเรื่องใด เพราะเอาเข้าจริง ทั้ง 2 เรื่องต่างก็เป็นหนังดีที่ควรค่าแก่การชมด้วยกันทั้งคู่

มันเพียงแต่มาคนละแนว เลือกคนละทาง วางเป้าหมายไว้คนละอย่าง

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์สุดท้าย ไม่ว่าจะ Romanzo Criminale หรือ Gamorra ต่างก็ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองตั้งเป้าไว้อย่างน่าพอใจและทั่วถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น