xs
xsm
sm
md
lg

เซเลบ : จากแขกรับเชิญสู่ธุรกิจทำเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณต้องเคยเห็นพวกเขาและพวกเธอเหล่านั้นอย่างแน่นอน

หนุ่มสาวหน้าตาดี ดูท่าทางทันสมัย ใช้ของแบรนด์เนม สวมเครื่องประดับระยิบระยับ เยื้องย่างเข้างานเปิดตัวสินค้าหรือปาร์ตี้ต่างๆ แสงไฟจากกล้องนับสิบตัวก็จะกระแทกกระทบมายังร่างไม่ขาดช่วงในจำนวนคนเหล่านี้ มีบ้างที่เป็นดารา นักร้อง หรือนักกีฬา แต่นั่นคือส่วนน้อย เพราะกว่า 60% ของคนกลุ่มนี้ เป็นผู้ที่ไม่เคยแสดงภาพยนตร์ ไม่เคยเล่นละคร และไม่มีผลงานออกสื่อที่เป็นรูปธรรมให้จับต้องได้เลยสักชิ้น

เราเรียกคนเหล่านี้ว่า ‘เซเลบ’ ซึ่งเป็นคำย่นย่อที่มาจาก ‘เซเลบริตี (Celebrity) และถ้าจะแปลกันแบบตรงตัว ก็จะมีความหมายว่า ‘ผู้ที่มีชื่อเสียง’ แต่สำหรับคำว่า เซเลบ หรือ เซเลบริตี ในนิยามของผู้คนในพุทธศักราชนี้จะมีความหมายเจาะจงไปถึงผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งจำเป็นจะต้องออกงานสังคมอยู่เป็นนิจ และจะต้องปรากฏใบหน้าโผล่ตามสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอไม่ขาดตกบกพร่องอีกด้วย
...
เซเลบคือ?
พจนานุกรมยังไม่มีการบัญญัติคำย่อที่ติดปากคนคำนี้เอาไว้ ส่วนคำว่า เซเลบริตี ก็มีความหมายในภาษาไทยตามที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น แต่ถ้าคุณคิดว่าเซเลบริตีกับเซเลบ มีความหมายที่ซ้อนทับตรงกันหรือเหมือนกันเป๊ะอย่างไม่มีผิดเพี้ยนล่ะก็ เราก็ต้องขอบอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่า คุณคิดผิด!

เพราะปัจจุบันการเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ได้กร่อนเป้าหมาย กลายเนื้อความไปจากเดิมไม่น้อยเลยทีเดียว

ในอดีต คนที่ตกเป็นเป้าของสื่อแขนงต่างๆ เวลาที่มีงานสังคมใดๆ จะต้องเป็นผู้ที่มีนามสกุลดังซึ่งสืบทอดเชื้อสายมาแต่โบราณ (อาจจะเป็นลูกหลานของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์) ซึ่งจะได้รับการเรียกขานว่าเป็น ‘ไฮโซ’ ในเวลาต่อมา ตัวอย่างของไฮโซช่วงต้น และผู้สูงศักดิ์ช่วงปลาย ได้แก่ เจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ ผู้ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง

ไฮโซที่เป็นแขกรับเชิญหลักของงานเปิดตัวสินค้า งานปาร์ตี้ระดับสูง มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการพบปะสังสรรค์กับคนในแวดวงเดียวกันเท่านั้น ส่วนการได้มีหน้าโผล่ตามสื่อต่างๆ เพื่อเพิ่มระดับของการเป็นที่รู้จักอาจเป็นผลพลอยได้หรือเป้าประสงค์อันดับรองลงไปเท่านั้น

วิวัฒนาการของ ‘แขกรับเชิญงานสังคม’ ก็ได้พัฒนาต่อเนื่องจากยุคของไฮโซ(แท้)ล้วนๆ ไปจนถึงยุคที่เซเลบถือกำเนิด มนุษย์พันธุ์เซเลบจะไม่ยอมให้นามสกุลหรือชาติกำเนิดมาเป็นอุปสรรคต่อการโด่งดัง เพราะแม้พวกเขาจะไม่ได้เป็นลูกหลานของคนที่มีนามสกุลใหญ่โต (หรือไม่ได้เป็นไฮโซแต่กำเนิด) แต่พวกเขาก็สามารถประพฤติปฏิบัติหรือทำตัวให้กลายเป็นเซเลบได้ด้วยความเป็นตัวของตัวเอง
...
ก้าวสู่เซเลบ
จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย บางคนไม่ต้องทำอะไรมาก แค่มีพ่อแม่ร่ำรวย (ซึ่งไม่จำกัดว่าจะโกงเขามาหรือเปล่า) ก็เป็นเซเลบที่สื่อและคนในงานสนอกสนใจได้ แต่สำหรับบางคนที่นามสกุลไม่ดัง ฐานะไม่โดดเด่น ก็จำเป็นจะต้องหาวิธีการบางอย่างเพื่อทำให้ตัวเองกลายเป็น ‘จุดสนใจ’ ขึ้นมา เพราะการเป็นจุดสนใจหรือเป้าของสื่อในงานสังคมนั้น ย่อมนำไปสู่การพัฒนาเป็นเซเลบได้ในอนาคต

ดังนั้น เมื่อมีงานเปิดตัวสินค้าหรืองานสังคม เราจึงมีโอกาสได้เห็นมนุษย์หลายรูปแบบ ทั้งคนที่ชอบทำตัวเป็นปาท่องโก๋กับเซเลบชื่อดัง เขาจะเดินไปไหนแต่ละทีก็ห้อยเกาะไปด้วยราวกับใช้ท่อหายใจเดียวกัน ถ้าปฏิบัติตามลักษณะดังกล่าวก็มีโอกาสสูงที่ใบหน้าจะติดกล้องไปด้วย หรือมนุษย์อีกประเภทที่ดูราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์เรื่อง X-Men ทั้งแต่งตัวสีจัดจ้านชนิดแมลงทับยังอาย ทาปากสีแดงแปร๊ดให้หนาและบานคล้ายต้องการจะเป็นอมนุษย์ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามอันสูงส่งในการที่จะให้บรรดาช่างภาพเก็บภาพของพวกเขาไปออกสื่อต่างๆ โดยไม่สนใจว่าจะถูกนำไปเผยแพร่ในหมวดของแปลกหรือสิ่งเร้นลับ

ปัจจุบันมีนิตยสาร หนังสือ และเว็บไซต์จำนวนไม่น้อยที่มีการแนะนำเทคนิค วิธีแต่งหน้า แต่งตัว ตลอดจนการประพฤติตนให้กลายเป็นเซเลบ โดยสิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ สื่อที่แนะนำข้อปฏิบัติในการเป็นเซเลบเหล่านั้น เกือบทั้งหมดเป็นสื่อสำหรับเด็ก วัยรุ่น และเยาวชน และนั่นก็ทำให้เกิดศัพท์แสงใหม่ๆ ที่ฟังแล้วต้องเกาหัวด้วยความสงสัย อาทิ เซเลบ ม.ปลาย เป็นต้น
...
ลัทธิเซเลบ
หนังสือ นิตยสาร และสื่อต่างๆ มีอิทธิพลในการทำให้คนธรรมดาๆ คนหนึ่งกลายร่างเป็นเซเลบได้อย่างไม่น่าเชื่อ เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยหันไปยึดเอาบรรดาเซเลบที่พวกเขาเห็นจากสื่อต่างๆ ไปเป็นต้นแบบ หลังจากที่ปักธงได้แล้วว่าต้องการ ‘เป็นเหมือนใคร’ พวกเขาก็จะใช้วิธีเลียนแบบ เพื่อจะก้าวขึ้นไปอยู่ในจุดที่มีไฟส่องสว่างเช่นเดียวกับเซเลบที่พวกเขาชมชอบ

การเลียนแบบดังกล่าวเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำผมทรงเดียวกับเซเลบต้นแบบ แต่งกาย ใส่เครื่องประดับ ตลอดจนเลียนแบบวิธีการพูด คำพูดติดปาก และท่าทางการเดินให้เหมือนเซเลบที่พวกเขายึดเป็นต้นแบบ

คอลัมน์ไฮไลต์โลก โดย ‘มนต์ทิพย์ ธานะสุข’ ในหนังสือพิมพ์มติชน ได้เขียนถึงประเด็นที่สมาคมครูอาจารย์ หรือ ATL ในประเทศอังกฤษทำการวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับกรณีเซเลบ ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะกลายเป็นลัทธิใหม่ของเด็กวัยรุ่นในอังกฤษและอเมริกา เอาไว้ดังนี้

“การศึกษาของเอทีแอลพบว่า เด็กๆ ต้องการมีชื่อเสียงโด่งดัง เพื่อให้ตนเองได้เป็นเซเลบที่เป็นที่รู้จักในสังคม พวกเขาจะพยายามทำภาพลักษณ์ของตนเองหรือประพฤติปฏิบัติตัวให้เหมือนเซเล็บที่ตนเองชื่นชอบ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะหากต้นแบบที่พวกเขายึดเอาเป็นแบบอย่าง ประพฤติตัวออกนอกกรอบ ก็จะส่งอิทธิพลให้เยาวชนเลียนแบบทำตาม

อย่างในกลุ่มเด็กผู้หญิงที่แต่งตัวเลียนแบบดารานักร้อง แต่การแต่งกายแบบนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานะหรือกาลเทศะ หรือการประพฤติตัวที่เป็นไปในทางที่ยั่วยุ ก็อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมขึ้นได้”

บางที ถ้าเรามองให้กว้างกว่าหน้าจอโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารต่างๆ ในเมืองไทย จะพบว่า ไม่ใช่เพียงเยาวชนในบ้านเราที่กำลังบูชาเซเลบจนเกินพอดี แต่แทบทุกสังคมทั่วโลกที่ใช้ระบบทุนเป็นตัวขับเคลื่อนต่างก็กำลังประสบภาวะดังกล่าวอยู่เช่นกัน
...
ทำไมต้องเซเลบ?
กล่าวโดยสรุปคือ เพราะว่าได้ประโยชน์ทั่วถึงกันทุกฝ่าย หรือจะใช้ภาษาฝรั่งว่า Win – Win ก็ย่อมได้ เพราะปาร์ตี้ งานเปิดตัวสินค้า ตลอดจนงานประเภทอื่นๆ ก็ล้วนต้องการให้สื่อแขนงต่างๆ มาร่วมงานและนำภาพในงานไปเผยแพร่บอกต่อให้มากที่สุด ส่วนเซเลบเองก็ต้องการให้สังคมรู้จักตัวเองให้มากที่สุด เพราะนั่นเท่ากับว่าพลานุภาพในการเป็นเซเลบ ของพวกเขาจะกล้าแกร่งขึ้นได้ (เซเลบที่ไม่มีข่าว หรือไม่ได้ออกสื่อ เท่ากับสูญเสียสถานภาพการเป็นเซเลบไปโดยปริยาย) นอกจากนั้น สิ่งที่เพิ่มเติมเสริมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรายได้หรือผลิตภัณฑ์ที่เจ้าภาพนำมาเปิดตัวในงานนั้นๆ

เจ้าภาพเต็มใจจะจ่ายให้บรรดาเซเลบที่ ‘เรียกแขก’ ได้ ส่วนทางฟากเจ้าภาพก็ได้ประชาสัมพันธ์งานตัวเองไปกับสื่อต่างๆ และเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าด้วยเซเลบที่มีไลฟ์สไตล์ต้องตรงกับสินค้านั้นๆ อีกด้วย โดยบรรดาผู้ที่ถูกเรียกว่าเซลบที่มีชื่อเสียงกันในปัจจุบันนั้นมีอยู่มากมายทีเดียวทั้งในส่วนของดารา นักร้อง นางแบบ ไฮโซ อาทิ ม.ร.ว.แม้นนฤมาส ยุคล, สุทัศนีย์ คุนผลิน, กรกนก ยงสกุล, กรุณา วัจนะพุกกะ, ดวงกมล เวปุลละ, ศศิวิมล ณ ระนอง, นวลพรรณ ล่ำซำ, ชฎาทิพ จูตระกูล, พัชรดา ซอโสตถิกุล, ชาม โอสถานนท์

ยิง หยิง ศลิษา เอี่ยมมะโนชญ์, นอร์ธ ดวงรัตน์ กิ่งเกตุ, ยุ้ย อรวรรณ อิงคสิทธิ์, แคลร์ จาติกวนิช, แม๊กซี่ ตระการตา ศรีวิกรม์, โอ๋ บุปผา กิ่งชัชวาลย์, มล. ลักษณสุภา กฤษดากร, หม่อมมุก มล. รดีเทพ บุรณศิริ, หม่อมขวัญ มล.ขวัญกมล ทองใหญ่, ตวง ศิรินลักษณ์ พลางกูร, ต้อ ชลภาส โอภาสพันธ์, แมว ทัศนพงษ์ สวัสดิพงษ์, เดือน นิวัตรา ขำแก้ว, มาร์ติน่า เกรนาเชอร์ เป็นต้น

“เราต้องดูว่าคนนี้เขาเข้าธีมกับงานหรือเปล่า เข้ากับงานไหม สองสมมติเป็นดาราที่กำลังมีประเด็น มีข่าวอยู่อย่างนี้ หรือดาราที่หายหน้าไปนาน อย่างช่วงก่อนนี้ เจนนี่ไม่รับงานเลย พอ เฮ้ย เจนนี่มารับงาน เราก็ติดต่อเจนนี่ให้มาออกงาน หรือบางทีเจนนี่ก็ไม่รับเลย สามสี่เดือน นักข่าวก็บอกว่าอยากเจอเจนนี่จัง เราก็อาจจะเชิญเขามาได้” เก๋ ประชาสัมพันธ์มือเก๋าของวงการ แสดงทรรศนะในการเลือกตัวเซเลบมาร่วมงานอีเวนต์ต่างๆ

ปัจจุบันการเชิญเซเลบมาร่วมงานเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ มันเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การทำธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาลธุรกิจหนึ่งเลยทีเดียว
...
Celeb Business
ใครจะค้าน้ำมันก็ค้าไป ใครจะขายไก่ ขายปลา ขายอาหารญี่ปุ่นก็เชิญ แต่สำหรับ ‘จีน่า-สนิทพิมพ์ เอกชัย’ เธอบอกว่า เปิดบริษัทรับเชิญเซเลบไปร่วมงานอีเวนต์ดีกว่า

บริษัทของจีน่าชื่อ พิมพลัส พีอาร์ จำกัด เป็นบริษัทแรกๆ ของไทยที่ทำหน้าที่เชิญเซเลบชื่อดังไปร่วมงานต่างๆ โดยเธอเรียกระบบการเชิญแขกไปร่วมงานที่บริษัทของเธอดูแลอยู่นี้ว่า ‘Pimplus lnvitation Center’

“ระบบบริการนี้เกิดขึ้นจากงานพีอาร์ที่ทำอยู่ พบว่า เวลาลูกค้าจัดงานไม่ค่อยมีแขกมางาน จึงมีความคิดว่าแม่เหล็กที่จะทำให้งานน่าสนใจนั้น ควรจะต้องมีบุคคลเก๋ๆ ที่มีชื่อเสียงมาร่วมงาน"

“บางครั้งสื่อต่างๆ ไม่ได้มางานเปิดตัวสินค้า แต่เขามาทำสกู๊ปไลฟ์สไตล์ของแขกคนดัง และนำไปเผยแพร่ตามหน้าหนังสือ ทั้งสกู๊ปหน้าไลฟ์สไตล์ ซุบซิบหน้าสังคม และขยายผลไปถึงหน้าเศรษฐกิจ” (บทสัมภาษณ์จาก Positioning Magazine)

ความจริงจังในธุรกิจดังกล่าว พิสูจน์ได้จากระบบการทำงานที่มีตั้งแต่จัดทำฐานบัญชีรายชื่อของเซเลบและแขกกลุ่มต่างๆ บันทึกรายละเอียดทุกอย่างทั้งประวัติส่วนตัว หน้าที่การงาน ไปจนถึงไลฟ์สไตล์เพื่อที่จะนำไปเทียบกับงานอีเวนต์ที่ติดต่อมา

นอกจากนี้บริษัทของเธอยังมีหน่วยเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในทุกๆ งานสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งช่างภาพและคนเก็บข้อมูลเซเลบใหม่ๆ ที่คลอดออกมาตามงานต่างๆ โดยเน้นไปที่งานแต่งงานของคนดัง และงานไฮโซทั้งหลาย

เวลาผ่านไป เศรษฐกิจทั่วโลกทรุดเสื่อม แต่งานสังคม และงานอีเวนต์ต่างๆ ก็ยังมีที่ทางในการแสดงตัว แม้เซเลบจำนวนมากจะออกมาบ่นว่าค่าตัวของพวกเขาลดน้อยลงไปจากเดิมก็ตาม แต่ถ้าใครได้แอบมองลอดซองกระดาษใบโตที่เจ้าของงานยื่นให้ ก็คงจะต้องทำตาลุกวาวด้วยความอิจฉา

ถ้าอยากรู้ว่าธุรกิจนี้มันทำเงินขนาดไหน ก็ลองมาดูข้อมูลที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนเหล่านี้กันเลย

รายได้ที่บริษัทรับเชิญเซเลบไปออกงานต่างๆ จะได้ (ไม่รวมค่าตัวเซเลบ) ขั้นต่ำอยู่ที่ 60,000 บาท / งาน

เซเลบที่ถูกเชิญไปร่วมงานจะได้รับเงิน 5,000 บาทขึ้นไป (หรือได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเท่านี้)

เซเลบที่ถูกเชิญไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือที่ถูกเชิญขึ้นไปพูดคุยบนเวทีจะได้รับเงิน 10,000 – 30,000 บาท แต่ถ้าเป็นระดับซูเปอร์สตาร์แล้วล่ะก็ ตัวเลขมากกว่า 30,000 บาทแน่นอน และส่วนใหญ่ต้องผ่าน “ผู้จัดการส่วนตัว” ดังนั้นจึงต้องบวกให้ผู้จัดการส่วนตัวด้วย


สรุปสิ่งที่ทำให้เซเลบและธุรกิจอาชีพที่เกี่ยวข้องดำรงอยู่ได้คือ ‘ความร่ำรวย’ ‘การมีชื่อเสียง’ และ ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ นั่นเอง




แตงโม
แทค-หญิงแม้น
ณัฐ เทพหัสดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น