xs
xsm
sm
md
lg

ม.3 ปี 4 เรารักนาย : เหนื่อยใจกันหรือยังกับหนังรักอาร์เอส??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

น่าสังเกตมากว่า นับตั้งแต่ “ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น” หนังรักวัยรุ่นของบ้านเราก็ดูเหมือนจะดร็อปลงไปพอสมควร และที่พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า ที่ผ่านๆ มา หนังรักแนวนี้ไม่ถูกปั้นออกมาป้อนตลาดเลย เพียงแต่ถ้ามองในแง่ของคุณภาพหรือความประทับอกประทับใจแล้ว ก็พูดได้เลยว่า ช่วงเวลาหนึ่งปีกว่าๆ มานี้ ไม่มีหนังรักวัยรุ่นเรื่องไหนเลยที่เราจะกล้ายืดอกบอกคนอื่นๆ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นหนังดี เพราะแม้แต่ผลงานของปรมาจารย์หนังวัยรุ่นอย่างคุณบัณฑิต ฤทธิ์กล (ทั้ง บุญชู 9 และ อนึ่ง...คิดถึงเป็นอย่างยิ่ง) ที่ถูกคาดหวังพอสมควรจากนักดูหนังดี ว่ากันอย่างถึงที่สุด ก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างจากหนังอีกสิบๆ เรื่องในตลาดที่เพียงแค่มาเก็บกวาดเงินใส่กระเป๋าไม่กี่ล้าน แล้วก็หล่นหายไปจากใจคนดู


แน่นอนล่ะ ท่ามกลางบรรยากาศของหนังสไตล์วัยรุ่นกับความรักที่ดูเซื่องๆ ซึมๆ หนังอย่าง ม.3 ปี 4 เรารักนาย ก็แทรกตัวขึ้นมาในรูปลักษณ์หน้าตาของหนังรักวัยรุ่นแบบเต็มตัว พร้อมๆ กับที่หลายๆ คน (ทั้งผมและคุณ) คาดหวังว่า นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งผลงานประทับใจ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งแรกที่ผมสนใจเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือว่า ม.3 ปี 4 ฯ น่าจะเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำการตลาดมาแล้วอย่างดีตั้งแต่กระบวนการ “ตั้งชื่อเรื่อง” เพราะก็อย่างที่รู้กันนั่นแหละครับว่า คนที่เดินเข้าโรงหนังเป็นประจำ ส่วนใหญ่คือวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา และหนังเรื่องนี้ก็ชาญฉลาดพอที่จะสร้างตัวละครให้มีวัยเดียวกันกับ “ลูกค้าขาประจำ” ของโรงหนัง พร้อมกับตั้งชื่อเรื่องให้รู้สึกถึงความใกล้ชิดกับชีวิตจริงๆ ของพวกเขา

ดังนั้น จากถ้อยคำของผู้บริหารแห่งอาร์เอสที่เคยประกาศไว้ว่า หนังของอาร์เอสแต่ละเรื่องนั้นผ่านการสำรวจและวิจัยตลาดมาแล้ว ก็เห็นจะเป็นจริงอย่างที่สุดในงานชิ้นนี้ เพราะเพียงแค่ชื่อเรื่องก็จัดการ “กินรวบ” ไปแล้ว ทั้งเด็กมัธยมและหนุ่มสาวมหา’ลัย

แต่ก็อีกนั่นแหละ ทั้งๆ ที่ดูเหมือนจะถูก “วางแผน” มาแล้วอย่างดี แต่รายได้ของหนังเรื่องนี้กลับไม่ค่อยเดินเท่าไรนัก ถามว่า แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับหนังของอาร์เอสเรื่องนี้?

เพราะคนดูเข็ดหลาบกับ “รักนะ 24 ชั่วโมง” หรือเปล่า นั่นก็น่าคิด แต่ที่น่าคิดมากยิ่งกว่าก็คือว่า ที่ผ่านๆ มา อาร์เอสดูเหมือนจะผสมเครื่องปรุงของหนังรักได้ยังไม่ถูกปากคนดูเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับหนังของอีกค่ายอย่างจีทีเอชที่แม้ว่าบางเรื่อง อาจจะไม่ได้ “สวยหรู” ขั้นเทพ แต่ก็ห่างไกลจากคำว่า “ขี้เหร่” อยู่หลายขุม

เท่าๆ ที่ผมได้ติดตามดูหนังรักของอาร์เอสมาทุกๆ เรื่องซึ่งกำกับโดยคุณเหมันต์ เชตมี (ผู้กำกับคนนี้ ว่ากันว่า เป็นมือวางหนังรักประจำค่าย เหมือนกับที่ยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพชร ถูกวางไว้ในตำแหน่งของคนทำหนังตลก) มักจะมีปัญหาคล้ายๆ กันอยู่อย่างหนึ่ง คือ บทภาพยนตร์ที่ยังดูไม่ค่อยจะสมจริง ซึ่งถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาที่สุด หนังรักจากฝีมือของคุณเหมันต์ที่จัดว่าพอดูได้มีอยู่แค่เรื่องเดียว นั่นก็คือ รักจัง

แน่นอนว่า ตอนที่ “รักจัง” เข้าฉาย ผมเชื่อว่าใครต่อใครก็คงจับจ้องมองกันอยู่ว่า คุณเหมันต์ เชตมี อาจจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มีแววมาในทางของหนังรัก แต่จริงๆ แล้ว ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะยิ่งผู้กำกับคนนี้ทำหนังไป ทำหนังไป ผมกลับรู้สึกว่า คุณภาพที่เคยฉาวแววไว้ใน “รักจัง” นั้น มันจะลดลงเรื่อยๆ ในงานชิ้นต่อๆ มาของเขา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รักนะ 24 ชั่วโมง” นั้น หนังไม่เพียงจะไม่เหนียมอายในการขาย Product Placement อย่างโจ่งแจ้งเต็มตาเท่านั้น แต่ยังใช้สอยความหล่อเหลาของหนุ่มฟิล์ม (รัฐภูมิ โตคงทรัพย์) อย่างเต็มที่เช่นกัน

อันที่จริง ผมว่าหนังจะให้ดาราดังๆ คนไหนมาเล่นก็ได้นะครับ แต่ที่รู้สึกขัดหูขัดตาอยู่บ้างก็คือว่า หนังรักของค่ายนี้มักจะเน้นบิวท์ความน่ารักน่าชังของนักแสดงมากเกินไป และคุณผู้กำกับก็ดูเหมือนจะห่วงใยเป็นพิเศษในการเซ็ตหน้าตาและท่าทางการแสดงออกตลอดจนน้ำเสียงให้ดูคิกขุน่ารัก ซึ่งด้านหนึ่ง มันก็ดีแหละครับ เพราะมันเรียกอารมณ์ร่วมจากคนดูให้หัวเราะหรือยิ้มน้อยๆ ที่มุมปากไปกับความน่ารักน่าหลงใหลของตัวละครได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็อย่าลืมนะครับว่า บางที ความน่ารักนั้นมันก็ดูมากเกินไปจนมองคล้ายคน “ดัดจริต” ที่ต้องทำตัวน่ารักตลอดเวลาที่อยู่หน้ากล้องมากกว่าจะรู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติของตัวละครจริงๆ

มาที่ ม.3 ปี 4 เรารักนาย...ผมว่าหนังเรื่องนี้ของคุณเหมันต์ เชตมี มีความพยายามที่จะฉีกตัวเองออกไปจากขนบเดิมๆ อยู่เหมือนกัน อย่างเรื่องก่อนๆ ที่เคยใช้สอยดาราดังๆ หน้าตาดีๆ (พอลล่า กับ บีม ดีทูบี ใน “เซ็กซ์โฟน” ฟิล์มกับพอลล่า เทย์เลอร์ ใน “รักจัง” ก่อนจะมาขายหนุ่มฟิล์มอีกทีใน “รักนะ 24 ชั่วโมง”) แต่มาคราวนี้ คุณเหมันต์ดูใช้สอยดาราที่ยังไม่ป๊อปมากแทบทั้งหมด
(อยากจะพิสูจน์ว่าหนังดีไม่เกี่ยวกับดาราที่มาเล่น หรือเปล่า ไม่แน่ใจ) แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ว่าจะใช้สอยดาราหน้าไหน (เก่าหรือใหม่) แต่วิธีการกำกับการแสดงของคุณเหมันต์ก็ยังดูจะเหมือนๆ เดิมอยู่ นั่นก็คือ บิวท์ความน่ารักของตัวละคร และพูดแบบนี้ ไม่ใช่ผมเป็นคนขวางโลกที่ไม่ชอบเห็นความน่ารักของผู้คนนะครับ แต่ก็อย่างที่บอกว่า ถ้ามันมากเกินไป มันก็ดูไม่เป็นธรรมชาติ (ลองนึกถึง รักนะ 24 ชั่วโมง ดูสิครับ ไม่รู้ฟิล์มจะยิ้มเรียกคะแนนความหลงใหลจากสาวๆ อะไรมากมายขนาดนั้น)

ขณะที่อีกสิ่งหนึ่งในหนังเรื่องนี้ที่ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ แต่ถูกคิดขึ้นมาแล้วแบบเบ็ดเสร็จว่าต้องเป็นแบบนี้ คือ เรื่องของเพลงประกอบครับ คือเพลงประกอบเยอะมากจนรกรูหู เพราะหนังเดินเรื่องไปได้ไม่เท่าไหร่ เดี๋ยวเพลงมาอีกแล้ว และที่สำคัญ เพลงเหล่านั้นก็ไม่ใช่เพลงใคร แต่เป็นเพลงของศิลปินค่ายอาร์เอสทั้งนั้น จุดนี้จะเรียกว่าเป็นความฉลาดอีกอย่างหนึ่งของคนทำก็ได้ที่อาศัย “กระสุนนัดเดียว แต่ยิงนกได้สองตัว” คือขายหนังอย่างเดียวไม่พอ ยังโปรโมทเพลงผ่านหนังได้ด้วย และเหนืออื่นใด ผมไม่ได้จะบอกว่ามันเป็นความเลวร้ายอะไรนะครับ เพราะคุณจะใส่เพลงอะไรเข้ามาในหนังก็ได้ มีอิสระเต็มที่ แต่ก็ต้องดูด้วยเพลงนั้นๆ มันส่งเสริมฟีลลิ่งของหนังแค่ไหน ไม่ใช่ใส่เข้ามาเพียงเพื่อต้องการจะไม่ให้หนังมัน “เงียบ” ซึ่งมีหลายๆ จุดในหนังเรื่องนี้ที่เพลงถูกใส่เข้ามาแบบไม่เกื้อหนุนกันกับอารมณ์ของเนื้อเรื่องเลย (โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ของหนัง)

และก็เหมือนผลงานหลายเรื่องที่ผ่านๆ มาของอาร์เอส ม.3 ปี 4 ฯ ยังคงรักษาอุดมการณ์แห่ง Product Placement ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โอเคล่ะ ผมคิดว่าหนังมีความชอบธรรมที่จะโฆษณาสายการบินสายสองสายนั่นได้ เพราะมันมีเหตุผลรองรับอยู่ (ชายหนุ่มต้องลงใต้ไปภูเก็ตเพื่อพบหญิงสาว) แต่ที่ดูแล้วจงใจไปหน่อย ก็คงเป็นโฆษณาร้านฟาสต์ฟู้ด (ขึ้นต้นด้วยตัว M) ที่หนังให้ตัวละครไปออกสตาร์ทรถตรงหน้าร้านนั้นอย่างไม่สมเหตุสมผล คำถามก็คือ ตัวละครไปไหนกันมา ทำไม จู่ๆ ก็มาสตาร์ทรถหน้าร้านอาหารแดกด่วนแบบนั้น??

จะขายของก็ไม่มีใครว่าหรอกครับ แต่ทำให้มันเนียนๆ และดูสมจริงกว่านี้อีกนิดก็จะดีครับ นั่นยังไม่นับรายละเอียดหลายๆ อย่างที่หนังเก็บไม่หมด เช่น ตอนที่หญิงสาวอย่าง “จูน” หยิบมือถือขึ้นมากดปุ่มปุ๊บๆ แล้วติดเลย ไม่ถึงสองวินาทีด้วยซ้ำไปมั้ง ซึ่งในความเป็นจริง ถามหน่อยเถอะครับว่า มีโทรศัพท์เครือข่ายไหนที่ “รวดเร็ว” แบบนั้น ผมจะได้ไปหามาใช้บ้าง ขณะที่ตอนที่ “จูน” ปั่นจักรยานไปตามชายหนุ่มที่สนามบิน ก็จะทำให้คนดูเกิดคำถามตามมาก็คือ จูนจะทำแบบนั้นไปให้เหนื่อยทำไม ในเมื่อมือถือก็มี ทำไมไม่โทรไปบอกกันก่อนว่า อย่าเพิ่งกลับนะ เดี๋ยวจะไปหา หรือว่าจริงๆ แล้ว หนังก็เพียงต้องการจะลากจูนไปในจุดที่จะสามารถโชว์โลโก้ของสายการบินบางสาย? แต่นั่นยังไม่เท่าไหร่ เพราะจริงๆ คนภูเก็ตเขารู้กันว่า ตลาดในเมืองกับสนามบินน่ะ มันไกลกันแค่ไหน และคนภูเก็ตตัวจริง ไม่มีใครเขาจะปั่นจักรยานจากบ้านในตลาดไปสนามบินกันหรอกครับ ซึ่งจุดนี้ หนังมองข้ามเพื่อสร้างความรู้สึกโรแมนติก (แบบว่า หญิงสาวไม่อยากสูญเสียชายหนุ่มไปอีกแล้วถึงขั้นต้องลงทุนทำให้ตัวเองเหนื่อยขนาดนั้น...น่านับถือและชื่นชมมาก!!) หรือเพราะไม่รู้จริงๆ ว่าคนภูเก็ตเขาไม่ทำอะไร “เหนื่อยๆ” แบบนี้กันหรอก?

และในขณะที่ detail (รายละเอียด) บางอย่างถูกละเลย เราจะพบอีกว่า บทภาพยนตร์ก็ยังไม่แน่นและดูลอยๆ ฝันๆ ไม่สมจริง ยิ่งตอนที่พระเอกหนุ่มเดินทางลงใต้แล้วไปพบขบวนแห่ศพนั่น ดูน้ำเน่าสุดๆ เพราะอะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้น ซึ่งก็เข้าใจแหละครับว่าหนังต้องการอารมณ์แบบไหน แต่การให้คนมาเดินจูงศพพร้อมน้ำตาไหลพรากปนเม็ดฝน นั่นน่ะ ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจอะไรเลยครับ (แต่ถ้าจะรู้สึก ก็คงเป็นความอเนจอนาถมากกว่า) ผมคิดว่า เอาแค่ลงใต้ไปจ๊ะเอ๋งานศพเท่านี้ก็พองามแล้วล่ะครับ แล้วเชื่อผมสิ ไม่ว่าใครที่ได้ดูก็จะรู้สึกกระดากใจที่จะมีอารมณ์ร่วมไปกับฉากนี้ของหนังเหมือนๆ กัน (อีกจุดที่ดูหน่อมแน้มมากๆ ก็คือ ช่วงท้ายเรื่องที่พระเอกหนุ่มไปเซอร์ไพรส์หญิงสาวในร้านเน็ต อืมมม...อะไรมันจะ “เบบี๋” ขนาดนั้น)

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับความรักออนไลน์ผ่านการแชทในโปรแกรม Msn ซึ่งก็ดูมีความร่วมสมัยดี แต่ผมก็ยังมองไม่ออกว่ามันมีประเด็นที่ลึกซึ้งอะไร อย่างมากสุด ก็เป็นแค่เรื่องของเด็กๆ ที่เล่นเอ็มแล้วนัดเจอกันแค่นั้นเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับหนังดีๆ เรื่อง Me And you and everyone we know แล้ว เราจะเห็นว่า เอ็มเอสเอ็นในหนังเรื่องนั้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตของตัวละครอย่างมากมาย หรืออาจกล่าวได้ว่า ของใช้ไฮเทคอย่างเอ็มเอสเอ็นนั้นมันสร้างจุดหักเหในชีวิตของตัวละครอย่างเห็นภาพ หรือมองเข้ามาใกล้อีกนิดกับหนังไทยอีกเรื่องอย่าง “ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” เราจะเห็นว่า เอ็มเอสเอ็นนั้นเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ต่อเนื้อเรื่อง

ว่ากันอย่างถึงที่สุด ม.3 ปี 4 ฯ เป็นหนังรักแน่นอน แต่เป็นหนังรักวัยใสธรรมดาๆ ที่พูดถึงวัยรุ่นที่อยากจะมี “คนรัก” แต่ถามว่ามันมีปรัชญาสาระอันว่าด้วยความรักอะไรหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ คือหนังไม่มีแง่มุมที่จะทำให้เรารู้สึกอย่างหนักแน่นจริงจังถึงพลังและความสำคัญของความรักได้เลย และเอาเข้าจริงๆ จากหน้าหนังที่ดูเหมือนจะขายความรักวัยรุ่น แต่ไปๆ มาๆ ส่วนที่โดดเด่นกว่า กลับเป็นความรักแม่ลูกของตัวละครฝ่ายหญิงซะมากกว่า

เหนืออื่นใด ผลงานของคุณเหมันต์ชิ้นนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกของนิยายรักวัยรุ่นหวานแหววที่มาพร้อมกับพล็อตพาฝัน พระเอกหล่อๆ นางเอกสวยๆ แล้วทั้งคู่ก็มีความรักกัน หรือรักแต่แสดงออกอีกอย่าง ปกปิดความจริงในใจ มีโกรธกันบ้าง งอนกันบ้าง แต่เดี๋ยวทุกอย่างก็จะแฮปปี้เอ็นดิ้งใน สรุปแล้ว ดูละครน้ำเน่าทางฟรีทีวีหลายๆ เรื่องยังซึ้งยิ่งกว่า ส่วนเรื่องนี้ บอกได้คำเดียวว่า ดูแล้วเหนื่อย คือก็เอาใจช่วยนะครับ แต่เข็นไม่ขึ้นจริงๆ ยิ่งเมื่อถึงตอนที่เดินจูงศพนั่นแล้ว ผมแทบจะลุกเดินออกจากโรงหนังให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น