xs
xsm
sm
md
lg

The Pope’s Toilet : ความฝันบนกองปฏิกูล

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


The Pope’s Toilet เปิดเรื่องอย่างยียวน กวน และงง ด้วยการขึ้นข้อความตัวหนังสือ ใจความว่า “เรื่องเล่าต่อไปนี้เป็นความจริง และมันก็ช่างเป็นเรื่องบังเอิญ ที่เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่เราเล่าเอาไว้ในที่นี้

แปลไทยเป็นไทยก็คือ เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่หนังบอกเล่า แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงแค่เรื่องแต่งล้วนๆ มันไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลก ยกเว้นเพียงในโลกของหนังเรื่องนี้เท่านั้น

กระนั้นก็ตาม เค้าโครงเนื้อหาของหนังก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง –ในโลกแห่งความเป็นจริง- เหตุการณ์หนึ่ง

เหตุการณ์ที่ว่า คือการที่ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบุคคลชั้นผู้นำที่เดินทางมากที่สุดในโลก (129 ประเทศ ในช่วงเวลา 27 ปีที่ดำรงตำแหน่ง) เสด็จเยือนเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศอุรุกวัย ที่ชื่อ เมโล ในปี 1988

เมโลตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอุรุกวัย เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเซร์โรลาร์โก (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า department ซึ่ง wikipedia.com ฉบับภาษาไทยให้คำแปลว่า จังหวัด) ห่างจากชายแดนด้านที่ติดกับประเทศบราซิลเพียง 60 กิโลเมตร ทั้งเมืองมีประชากรเพียง 5 หมื่นคนเศษ

ภาพรวมของเมโลไม่ใช่เมืองที่มีสิ่งใดตรึงตาต้องใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ และฐานะความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่ดีนัก

การเสด็จมาเยี่ยมเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ในครั้งนั้น จึงถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จำต้องได้รับการจารึกไว้ และเหนืออื่นใด มันนำมาซึ่งขวัญกำลังใจ เพิ่มพูนศรัทธาแรงกล้าให้แก่คริสตศาสนิกชนและผู้ยากไร้ได้อย่างล้นหลาม

เซซาร์ ชาโลเน (ผู้กำกับภาพ City of God และ The Constant Gardener) และ เอนริเก เฟอร์นานเดซ สองผู้กำกับชาวอุรุกวัย นำเหตุการณ์ดังกล่าวมาคิดต่อยอด อัดฉีดจินตนาการเข้าไป จนกลายเป็นพล็อตหนังเรื่อง The Pope’s Toilet

ตัวเอกของหนังคือ เบโต ชายวัยกลางคน ฐานะยากจน ซึ่งหาเลี้ยงเมียและลูกสาววัยรุ่นด้วยการรับจ้างขนของหนีภาษีให้กับเจ้าของร้านค้าในเมือง

วิธีการทำงานของเบโตกับเพื่อนนั้นไม่ซับซ้อน ทุกคนมีจักรยานเป็นพาหนะคู่ชีพ (ใครมีสตางค์หน่อยก็อาจอัพเกรดเป็นมอเตอร์ไซค์) ปั่น 60 กม. ข้ามฝั่งไปยังเมืองชายแดนของทางบราซิล ใช้เงินส่วนตัวของตนจัดหาซื้อของตามใบสั่งที่ได้รับ จากนั้นก็ปั่นจักรยานคนจนคันเดิมอีก 60 กม. หลบ เลี่ยง และหนีเจ้าหน้าที่ศุลกากรกลับไปเมืองเมโล นำสินค้าไปแลกเป็นเงินและรับค่าจ้างเสี่ยงภัย...บวก-ลบแล้ว แต่ละเที่ยวกำไรแค่เศษเงิน

ข่าวการเสด็จเยือนเมโลของสมเด็จพระสันตะปาปา สร้างความตื่นเต้นดีใจให้แก่ชาวเมืองเมโลผู้ยากไร้เป็นอันมาก

พลังศรัทธาเลื่อมใส ความปรารถนาที่จะได้เห็นตัวเป็นๆ ของท่านเป็นบุญตาสักครั้ง – นั้นเป็นส่วนหนึ่ง

ทว่าจุดใหญ่ใจความสำคัญที่ทำให้ใครๆ กระตือรือร้น –จนเข้าขั้นคลุ้มคลั่ง- กับเรื่องนี้กันนัก ก็เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า นี่คือโอกาสหาเงินครั้งสำคัญ มีการคาดหมายว่าจะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศแห่แหนกันมาต้อนรับพระองค์ท่านนับแสน ชาวเมโลแทบจะทุกหลังคาเรือนจึงตัดสินใจทุ่มทุนสร้าง แต่ละคนต่างลงเงินและลงแรงผลิตสินค้าเพื่อนำมาขายให้นักแสวงบุญเหล่านี้

บางคนขายของที่ระลึก บ้างขายขนมขบเคี้ยว อีกไม่น้อยเลือกขายอาหารหนัก แต่กับเบโตแล้ว ธุรกิจของเขาพิสดารกว่านั้น

ในเมื่อมนุษย์ทุกคนต้องเข้าส้วมเป็นกิจวัตร..งานนี้มีคนเป็นแสน แถมส่วนใหญ่ยังมาจากต่างแดน บท ‘ข้าศึกบุก’ ขึ้นมา จะวิ่งแจ้นไปหาส้วมเข้าได้ที่ไหน?

เบโตขุดทุกบาท คุ้ยทุกสตางค์ ตัดสินใจทำส้วมสาธารณะทันที!

เรื่องราวถัดจากนี้เล่าถึงวิบากกรรมระหว่างการสร้างส้วมของเบโต

เขาต้องทำหลายอย่างที่ชีวิตนี้ไม่เคยคาดฝันว่าจะทำ ทั้งโกหกลูก-เมีย หักหลังเพื่อน ทิ้งความฝัน ยอมสวามิภักดิ์ศัตรูที่เคยเกลียดเข้ากระดูกดำ ฯลฯ

ทั้งหมดเพียงเพื่อสร้างห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ และต่อไปจะส่งกลิ่นเหม็นโชย ที่เขาเชื่อของเขาว่า มันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าสำหรับตนและครอบครัวในภายภาคหน้าเท่านั้น

The Pope’s Toilet ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศอุรุกวัยในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ ประจำปี 2008 (แต่ท้ายที่สุดก็เข้าไม่ถึงรอบสุดท้าย)

หนังมี เฟอร์นานโด เมเรลเลส ผู้กำกับ City of God และ The Constant Gardener เพื่อนร่วมงานเก่าของเซซาร์ ชาร์โลน เป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง เสียงวิจารณ์ที่หนังได้รับแกว่งตัวในแดนบวกเป็นส่วนใหญ่ ได้รับเชิญให้ไปเดินสายฉายประกวดตามเทศกาลหนังแถบละตินอเมริกามากมาย และผลลัพธ์โดยรวมก็ถือว่าประสบความสำเร็จใช้ได้ทีเดียว

แม้โครงเรื่องเนื้อหาและรูปลักษณ์หน้าตาของ The Pope’s Toilet จะชักจูงใจให้ผู้ชมโน้มเอียดคิดไปในทางที่ว่า มันเป็นหนังตลกเสียดสีแสบสันต์ กวนๆ มันๆ ขันขื่น ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนนั่นจะเป็นหน้าหนังที่ ‘สับขาหลอก’ ผู้ชมอยู่ไม่น้อย

เพราะเอาเข้าจริง เรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงของหนัง ได้รับการบอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง อาจไม่ถึงกับเคร่งขรึมตึงเครียด แต่ก็ไม่มีอารมณ์ขันเจือแฝงแอบปนให้มากมาย หนังไม่พยายามจะบีบคั้นฟูมฟายให้มากมายนัก ทว่าความรู้สึกรวมๆ ที่มันหยิบยื่นให้ผู้ชมตลอดทั้งเรื่อง ก็ค่อนข้างจะกระเดียดไปทางเศร้าสร้อย หดหู่ และสะท้อนใจ

The Pope's Toilet สะท้อนให้เห็นชีวิตของคนชั้นล่างในสังคมที่อับจนไปเสียทุกอย่าง จนทรัพย์ จนสิทธิ์ จนโอกาส ความฝันพอเพียงเพียงแค่อยากจะมีมอเตอร์ไซค์มือสองสักคันก็ยังเป็นเรื่องยาก และเพื่อจะได้มาซึ่งอะไรบางอย่าง พวกเขาจำต้องยอมสละอะไรบางอย่างซึ่งมีคุณค่ามากๆ เป็นการแลกเปลี่ยนเสมอ

โดยส่วนตัว ดิฉันไม่คิดว่า หนังมีเป้าหมายในการเชิดชูคนจน-ต่อต้านคนรวยแต่อย่างใด

The Pope’s Toilet ไม่ใช่หนังที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า คนรวยนั้นละโมบและชั่วร้าย มันเพียงแต่นำเสนอภาพชีวิตของคนซึ่งจนสุดแสนจะจน เป็นชีวิตที่แร้นแค้น ขาดแคลน - ชนิดที่คนซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะเดียวกันนึกภาพไม่ออก และไม่อาจคาดถึง

ที่ถือเป็นการเย้ยหยันอย่างเจ็บแสบ ก็คือ การที่หนังบอกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ความฝันถึงวันข้างหน้าที่สดใสกว่าเดิมของคนเหล่านี้ –ซึ่งมีเบโตเป็นตัวแทน- ลงท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับของเสียสิ่งปฏิกูล ที่ใครต่อใครมุ่งหมายจะขับถ่ายทิ้งมันให้พ้นจากร่างกาย

หรือพูดอีกแบบก็คือ สิ่งที่คนอื่นเรียกว่า "ขี้" เบโตกับครอบครัวเรียกว่า "โอกาสทอง"




กำลังโหลดความคิดเห็น