ใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานกว่า 2 ปี ในที่สุดหุ่นของตลกระดับตำนาน "ล้อต๊อก" (สวง ทรัพย์สำรวย) หรือ "ป๋าต๊อก" ปรมาจารย์ของบรรดาตลกรุ่นใหม่ก็พร้อมที่จะอวดโฉมให้ได้ชมกันแล้ว
โดยตัวตั้งตัวตีในการจัดทำหุ่นครั้งนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฎิของป๋าต๊อกอย่าง "ยอดธง บุญธูป" ตลก-นักแต่งเพลงรุ่นเก๋าที่เคยแต่งเพลง "ครูประชาบาล" ให้ยอดรักร้องจนโด่งดังมาแล้วนั่นเอง
สำหรับการจัดทำหุ่นในครั้งนี้เป็นไปตามเจตนาของป๋าต๊อกเองที่บอกกับคนใกล้ตัวเอาไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตลงในวันที่ 30 เมษายน 2545 ซึ่งสาเหตุที่ทิ้งเวลามานานเกือบ 7 ปีนั้นก็มีสาเหตุมาจากการที่ตกลงกันไม่ได้เสียทีว่าใครจะสร้าง
"ป๋าเสียไปตั้งแต่ปี 45 ทีนี้คนนู้นก็จะสร้าง คนนี้ก็จะสร้าง ตกลงกันไม่ได้สักที อีกอย่างคือได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณอั๋น (ภรรยาคนปัจจุบันของป๋าต๊อก) ที่ต่างจังหวัดแล้วการเดินทางมันลำบากมาก แทบจะไม่มีใครแวะไปเยี่ยม แวะไปกราบแกเลย"
ในส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คิดเป็นเงิน 1.6 แสนศิษย์เอกของป๋าต๊อกบอกว่าได้มาจากการที่ตนทำงานเพลงร่วมกับ อ๊อด ชัยวัฒน์ โดยการปั้นในครั้งนี้จะใช้วัสดุที่เป็นไฟเบอร์ที่สามารถทนแดดทนฝนได้ดี ซึ่งทางผู้ปั้น "ช่างดำ" (กิตติศักดิ์ สังข์นาค) ที่เคยปั้นหุ่นของ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" มาแล้วก็ไม่ได้คิดค่าแรงแต่อย่างใด
ส่วนที่ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีในการปั้นนั้นก็เป็นเพราะว่าต้องเสียเวลาในการปลูกเส้นผมร่วมล้านเส้น ซึ่งเส้นผมที่นำมาปลูกนั้นเป็นเส้นผมของคนจริงๆ และบางส่วนก็เป็นเส้นผมของป๋าต๊อกเอง
"คือทางช่างดำเขาก็รู้จักทั้งผม ทั้งป๋าด้วย ซึ่งผมได้เก็บสิ่งที่สำคัญๆ ของป๋าต๊อกไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อใน เสื้อนอก กางเกงเข็มขัด รองเท้า แว่นตา ฯลฯ ก็ใช้ของจริงของป๋าทั้งหมด รวมทั้งกระดูกป๋า และเส้นผมบางส่วนก็เป็นของป๋าที่เก็บเอาไว้เมื่อครั้งป๋าเสียชีวิต"
"การปลูกผมบนศีรษะหุ่นทีละเส้นนี่แหละที่กินเวลานาน อีกอย่างป๋าเป็นคนชอบร้องเพลงมาก ถึงจะร้องไม่ค่อยเป็นก็เถอะ (หัวเราะ) แกก็เลยขอให้ผมเนี่ยปั้นเป็นตอนแกยืนถือไมค์ด้วย"
ยอดธงบอกว่าแรกเริ่มเดิมทีตั้งใจไว้ว่าจะนำหุ่นของป๋าต๊อกไปตั้งไว้ที่วัดท่าพระซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเจตนารมย์ของป๋าฯ เอง ทว่าเนื่องจากที่วัดท่าพระมีปัญหาในเรื่องของการเวณคืนที่ดิน ประกอบกับหากนำไปไว้ที่นั่นก็จะต้องมีการสร้างเสียใหม่
ดังนั้นเจ้าตัวเลยตัดสินใจจะนำเอาหุ่นของป๋าต๊อกไปตั้งไว้ที่วัดไร่ขิง จ.นครปฐม ที่มีหุ่นของยอดรัก สลักใจ ตั้งอยู่แทน
"คือที่วัดท่าพระเขามีปัญหาเรื่องเวนคืนที่ดินกันอยู่ ซึ่งเรารอไม่ได้ แล้วศาลาที่ตั้งก็ต้องทำใหม่ แบบนั้นเลยตัดปัญหามาไว้วัดไร่ขิงน่าจะดีกว่า อีกอย่างหนึ่งคนเยอะกว่าด้วย ถ้าสมมติว่าคนมาไหว้ป๋ากันเยอะๆ ทางวัดก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย"
"แล้วท่านเจ้าคุณแย้ม (พิพัฒน์วิริยาภรณ์) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันท่านก็เห็นชอบด้วยในการช่วยเหลือบรรดาศิลปินเก่าๆ ท่านก็ตกลง นอกจากหุ่นของป๋าแล้วก็ยังมีหุ่นยอดรักที่เป็นรูปหล่อตั้งไว้ก่อนหน้านี้แล้วด้วย เรากะไว้ว่าจะเอามาไว้คู่กัน"
...
เชิดชู ศรัทธา หาหวย?
แม้การปั้นหุ่น-รูปปั้นของบุคคลขึ้นมาจะมีจุดประสงค์หลักก็เพื่อเป็นการระลึกนึกถึง ยกย่องเชิดชูเกียรติประวัติตลอดจนผลงานของบุคคลนั้นๆ ทว่าสำหรับ "ความเชื่อ" บางอย่างของผู้คนในบ้านเราแล้ว หุ่นเหล่านี้จึงมิใช่เพียง "ตัวแทน" เท่านั้น หากแต่ยังเปรียบเสมือนกับที่สถิตย์จิต-วิญญาณของคนๆ นั้นด้วย
และนั่นเองที่ทำให้หุ่นเหล่านี้กลายเป็นที่พึ่งในเรื่องของโชค-ลาภของชาวบ้านบางส่วนไปโดยปริยาย ซึ่งให้น่าสนใจว่าหลังจากนี้ไปหุ่นของป๋าต๊อกเองจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ขอหวย เหมือนกับหุ่นของ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ที่วัดทับกระดาน จ.สุพรรณฯ หรือไม่?
"เรื่องของหวยนี่เราก็ไม่ได้เน้น มีความคิดอย่างเดียวว่าป๋าต๊อกเป็นบรมครูตลกที่ลูกศิษย์ลูกหาให้การยกย่อง แต่บางคนก็คิดถึง บางคนก็ไม่คิดถึง ก็ไม่อยากให้คนลืมเลือนหรือสูญหายไปจากความทรงจำ อย่าลืมว่าวงการตลกที่เป็นอยู่ตอนนี้ป๋าเป็นคนกรุยทางทั้งนั้น"
"ส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องให้หวยหรือว่าต้องมางมงายอะไรมากมาย แต่ถ้ามีมาทำบุญเยอะๆ ผลประโยชน์ก็จะเข้ามาพัฒนาวัด ป๋าก็จะได้บุญไปด้วย ใครที่ยังรัก ยังเคารพและไม่ลืมป๋าต๊อกก็คงวัดได้จากงานสวดบูชานพเคราะห์ที่จะมีวันศุกร์ที่ 3 นี้ล่ะครับ ก็หวังเอาว่าลูกหลานตลกคงมาช่วยกันอย่างดีเหมือนทุกครั้งครับ"
ออกปากบอกจะไม่อยากให้คิดไปในเรื่องที่งมงาย ทว่าเมื่อถามว่ามีพบเจอเหตุการณ์อะไรที่แปลกๆ จากหุ่นป๋าต๊อกหรือเปล่า? ตลก-นักแต่งเพลงรุ่นเก๋ารีบตอบทันทีว่า..."ไอ้เรื่องนี้เจอกับตัวนะ (ตอบทันที) ก็หลังจากไปรับหุ่นมาจากบ้านช่างดำได้ 5 คืน วันนั้นผมก็มองไปที่หุ่น เหมือนป๋าสูบบุหรี่ ไฟแดงวาบๆๆ ภรรยาที่เห็นเหมือนกันถึงกับกระโดดกอดผมเลย (หัวเราะ)"
"อันนั้นคือมีพยานเห็นด้วย อีกครั้งหนึ่งเห็นเงาดำๆ เดินนำหน้าผมเข้าไปในหุ่นของป๋า แต่อันนี้ไม่ได้บอกใครหรอกครับ กลัวเขาหาว่าโฆษณาอีก นอกนั้นก็เป็นเรื่องการจู่โจมบริจาคแบบไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นคุณสรพงศ์ ชาตรี หรือ คุณโด่ง เจริญผล ซึ่งเป็นแบบนี้ก็นับว่าน่าชื่นใจที่มีคนเห็นถึงความสำคัญ"
...
การเชิดชูบุคคลในวงการบันเทิงของบ้านเราที่ได้เสียชีวิตไปแล้วด้วยการปั้นเป็นหุ่นนั้นต้องถือว่ามีไม่มากสักเท่าไหร่
ที่เป็นที่รู้จักกันดี ก็อาทิ หุ่นขี้ผึ้งของพระเอกตลอดกาล "มิตร ชัยบัญชา" (28 มกราคม พ.ศ. 2477 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513) ที่ปั้นโดยพระเอกดังในอดีต ยอดชาย เมฆสุวรรณ และถูกนำไปตั้งอยู่ที่ วัดท่ากระเทียม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 1 ก.ค.50 ที่ผ่านมา โดยในตัวหุ่นได้มีการบรรจุอัฐิของมิตรไว้ด้วย
นอกจากหุ่นขี้ผึ้งแล้ว ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ(ศาลายา)ก็ได้มีการจำลองหุ่นมิตรในท่วงท่ากำลังโหนบันไดลิงจากเฮลิคอปอเตอร์อันเป็นแอ็กชั่นสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจากการถ่ายฉากดังกล่าวในภาพยนตร์เรื่องอินทรีทองนั่นเอง
ขุนพลเพลงลูกทุ่ง "สุรพล สมบัติเจริญ" (25 กันยายน พ.ศ. 2473-16 สิงหาคม พ.ศ. 2511) ก็มีหุ่นกับเขาเช่นกัน ตั้งอยู่ที่วัดป่าเรไร จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิดของเขาเอง โดยผู้ปั้นนั้นเป็นเจ้าของโรงหล่อชื่อ "ประยูร นันลา" ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ปั้นหุ่นของยอดรัก สลักใจ
หุ่นของ "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" (21 มกราคม 2453 - 1 เมษายน 2524) ในท่ายืนมือถือไวโอลีนและคันสี ขนาดความสูงกว่า 2 เมตร ใช้วัสดุเหล็กหล่อผสมโลหะรมดำ ตั้งอยู่ที่ประตูสวนลุมพินี ด้านถนนพระราม 4 ใกล้ทางเข้าเวทีลีลาศ โดยมีพิธีเปิดรูปปั้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ 2545 ซึ่งวันที่ 20 พฤศจิกายน ก็คือวันก่อตั้งวงสุนทรภรณ์ในปีพ.ศ. 2482 นั่นเอง
ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง จ.นครปฐมก็มีการปั้นหุ่นของบุคคลที่สำคัญของวงการเพลงบ้านเราไว้เช่นกัน ประกอบไปด้วย "ครูเอื้อ สุนทรสนาน", "พรานบูรพ์ จวงจันทน์ จันทร์คณา" (29 มีนาคม พ.ศ. 2444-6 มกราคม พ.ศ. 2519) และ "อ.ไพบูลย์ บุตรขัน" (4 กันยายน พ.ศ. 2461 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515) นักแต่งเพลงและนักเขียนบทละครที่ได้รับการขนานนามว่า "อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของไทย"
แต่ถ้าจะว่ากันถึงเรื่องของโชคลาภ เป็นที่พึ่งของบรรดานักเสี่ยงโชคทั้งหลายแล้ว คงต้องยกให้กับหุ่นของ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" (4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535) ที่ตั้งอยู่ในศาลาริมสระน้ำ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจะมีชาวบ้านเดินทางมาขอหวย บนบานสารกล่าวอยู่เป็นประจำ
โดยเฉพาะในช่วงของการจัดงานรำลึกถึงเธอระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายนของทุกๆ ปี ซึ่งจะปรากฏเป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา
ที่มาแรงไม่แพ้กันในเรื่องของการถูกขอหวยก็คือหุ่นของลูกทุ่งดัง "ยอดรัก สลักใจ" (6 กุมภาพันธ์ 2499 - 9 สิงหาคม 2551) ในท่ายืน มือขวาถือไมค์ ขนาดเท่าตัวจริง (สูง 168 ซม.) ทำจากซิลิกาผสมทองเหลือง ตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม
ทั้งนี้อดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดังได้นำโชคมาให้กับชาวบ้านวัดหาดแตงโม อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ที่เป็นบ้านเกิดของเขามาแล้วก่อนที่รูปปั้นของเขาจะแล้วเสร็จเสียอีกในงวดวันที่ 16 พ.ย.2551 กับเลขท้ายสองตัวอย่าง 20 ซึ่งว่ากันว่าในครั้งนั้นมีเพียงเสาไฟฟ้าที่อยู่ในวัดหาดแตงโมเท่านั้นที่ไม่ได้ซื้อตัวเลขที่ว่า