xs
xsm
sm
md
lg

"สังหารหมู่ที่นานกิง" ฉบับหนัง 2 เวอร์ชั่นเตรียมฉายพร้อมกันเม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

City of Life and Death หรือ Nanking! Nanking! ของจีน
John Rabe และ City of Life and Death สองผลงานภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เมืองนานกิงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะถูกนำมาฉายพร้อมกันในเมืองจีนภายในเดือนเม.ย.นี้

ก่อนหน้านี้ City of Life and Death หรือ Nanking! Nanking! ของผู้กำกับ หลู ชวน ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของทหารจีน, ทหารญี่ปุ่น และมิชชันนารีต่างชาติที่อยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง ได้ถูกกองเซ็นเซอร์ที่เมืองจีนกักเอาไว้ไม่ได้ฉายมาเป็นเวลานานกว่า 5 เดือน จนเมื่อมีการถ่ายซ่อมฉากที่รุนแรงเกินไป 2 ฉากเรียบร้อยแล้ว ทางการจีนก็อนุญาตให้ผลงานชิ้นนี้ออกฉายได้ในวันที่ 22 เม.ย.นี้

ส่วนหนังร่วมทุนสร้างระหว่างจีนและเยอรมนีอย่าง John Rabe ผลงานชีวประวัติของ จอห์น ราเบ้ อดีตสมาชิกพรรคนาซีของเยอรมันที่อาศัยอยู่ในเมืองจีนช่วงที่ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาในเมืองนานกิงเมื่อปี 1937 ซึ่งการก่อตั้งเขตปลอดภัยในนานกิงของเขาสามารถช่วยชีวิตชาวจีนผู้บริสุทธิ์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถึง 2 แสนคน เป็นผลงานกำกับของ โฟลเรียน กัลเลนเบอร์เกอร์ ผู้กำกับสารคดีรางวัลออสการ์ ที่เข้าชิง 8 สาขาในเทศกาล Berlin Film Festival เมื่อเดือนที่ผ่านมา และกำลังจะนำเข้ามาฉายที่เมืองจีนในวันที่ 28 เม.ย.นี้

ในการให้สัมภาษณ์ต่อทาง Hollywood Reporter หลู ชวน ผู้กำกับของ City of Life and Death ได้เปิดใจถึงเหตุผลว่าทำไมเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เมืองนานกิงถึงไม่ค่อยมีใครนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์บ่อยนัก

"ไม่เพียงแต่การสังหารหมู่ประชาชนในเมืองนานกิงจะถือเป็นการล่มสลายของมนุษยธรรม ประเทศจีนเองก็ต้องเจ็บปวดกับการพ่ายแพ้ต่อสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งนั้นอย่างมาก มันถึงเป็นเรื่องที่เจ็บปวดต่อจิตใจของคนในชาติมากเกินไป จนกลายเป็นประเด็นที่ต้องห้ามในวงการภาพยนตร์จีนในหลายปีที่ผ่านมา"

โดยผลงานชิ้นนี้เขาต้องการที่จะตีแผ่ว่าทำไมและอย่างไร มนุษย์ถึงยอมทำสิ่งที่ต่ำทรามเช่นนั้นได้ในยามสงคราม

"มากกว่า 3 ปีที่ค้นคว้าข้อมูลอย่างลึกซึ้ง ผมได้พบมุมมองที่เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นเวอร์ชั้นที่เสร็จสมบูรณ์นี้จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงทั้งการดำเนินเรื่องและทัศนคติ แต่แรกผมมุ่มเน้นที่จะทำหนังเพื่อเป็นตัวแทนของหนังสือ Rape of Nanking แต่ผมต้องการที่จะเรียนรู้กฏของธรรมชาติในยามสงครามและทำไมพวกเขาถึงนำไปสู่การสังหารหมู่ หนังเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอว่าชาวญี่ปุ่นน่ากลัวแค่ไหน แต่ให้เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นน่ากลัวแค่ไหน"

"ในอดีตหนังจีนมักจะนำเสนอภาพของทหารญี่ปุ่นไม่ต่างจากปีศาจ แต่พวกเขาไม่ได้ศึกษาอย่างเพียงพอที่จะรู้ว่าสงครามนี้เกิดขึ้นมาทำไมและอย่างไร ผมสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อเปิดมุมมองที่เคยถูกปิดบังไว้ของทั้งสองฝั่ง มันเป็นการเปิดใจต่อทัศนคติของฝ่ายผู้กระทำ และเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ของประวัติศาสตร์"

"ในส่วนของตัวหนังมันเป็นอะไรที่แตกต่างจากหนังสงครามของจีนในอดีต มันถูกถ่ายทำทั้งเรื่องด้วยกล้องมือถือ(hand-held camera) ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ต้องการที่จะใช้หนังอย่าง Schindler’s List หรือหนังฮอลลีวูดเรื่องอื่นๆ ที่มีสงครามเป็นฉากหลังมาเป็นต้นแบบหรือแหล่งอ้างอิง"

"ตอนที่ผมคัดเลือกนักแสดงที่จะมาสวมบททหารญี่ปุ่น ผมได้ตัดสินใจยกเลิกการคัดตัวนักแสดงที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองจีนมาก่อน เพราะพวกเขาจะมีความคุ้นเคยต่อคนจีนอย่างดีและจะให้ความเห็นต่อนานกิงตามวิธีที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสม ผมจึงหันไปคัดนักแสดงละครเวทีที่ไม่เคยมาเหยียบแผ่นดินจีนมาก่อน ผมต้องการให้พวกเขาซึมซับความรู้สึกสับสนต่อวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยแบบเดียวกับที่ทหารญี่ปุ่นในยุคนั้นรู้สึกตอนมาถึงนานกิงเป็นครั้งแรก พวกเขาทั้งหมดยอมรับว่าแทบจะไม่เคยรับรู้ว่าเรื่องราวอย่างนี้มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ดังนั้นการเข้ามามีส่วนร่วมของพวกเขาจึงกลายเป็นการเดินทางเพื่อการค้นพบในที่สุด"
ภาพจากเรื่อง John Rabe ของเยอรมัน
จอห์น ราเบ้ ในหนังกับตัวจริง
Nanking ฉบับอเมริกันที่ออกฉายไปเมื่อปี 2007
ยุ่นเตรียมสร้างสารคดีไตรภาคลบตำนาน 10 ปี Rape of Nanking และ 70 ปี "หนานจิง ต้าถูซา"
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 ธันวาคม 2550

หลังจากการต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อระหว่างกองทัพญี่ปุ่นและจีนในสงคราม Sino-Japanese War ครั้งที่สองที่เกิดขึ้นในเมืองเซียงไฮ้เมื่อกลางเดือนส.ค.ปี 1937 ได้เสร็จสิ้นลง กองทัพญี่ปุ่นที่เหนื่อยอ่อนจากการต่อสู้ที่ดุเดือดกว่าที่คาดไว้ของกองทัพจีนที่ล้าหลังกว่าตนก็เดินหน้าไปยังเมืองเป้าหมายแห่งใหม่ ด้วยใจที่เต็มไปด้วยไฟแห่งความกระหายสงครามที่ต้องการที่ปลดปล่อย

เป้าหมายต่อไปของพวกเขาคือเมืองนานกิง ที่ประชาชนในขณะนั้นกว่าล้านคนไปอพยพไปจากเมืองกว่าครึ่งหนึ่ง เหลือไว้แต่เด็ก, สตรี, คนชรา และคนป่วยที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลๆ และเพิ่มจำนวนด้วยคนยากไร้ที่อพยพเข้ามาอยู่ในตัวเมืองที่พวกเขาคิดว่าน่าจะให้ความปลอดภัยในชีวิตได้มากกว่า

ในวันที่ 9 ธ.ค. ที่กองทัพญี่ปุ่นเดินทางมาถึงนานกิง และใช้ความพยายามเกลี้ยกล่อมเพื่อการยึดครองเมืองอย่างสันติไม่เป็นผล กองทัพจึงใช้กำลังเข้ายึดครอง เพียงเวลาแค่ 2 วันในวันที่ 12 ธ.ค. กองทัพของชาวจีนที่อ่อนแอก็แตกพ่าย ทั้งทหารและชาวเมืองต่างพยายามหนีออกจากเมืองเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยการข้ามแม่น้ำแยงซี แต่มีชาวนานกิงไม่น้อยที่มีความหวังว่าการมาถึงของกองทัพญี่ปุ่นจะทำให้เรื่องวุ่นวายตลอดเวลาที่ผ่านมายุติลง ในเมื่อทหารฝ่ายจีนยอมวางอาวุธแล้วเช่นนี้ บางทีกองทัพญี่ปุ่นที่เข้มแข็งอาจจะเป็นผู้ปกครองที่ดีกว่ากองทัพจีนที่ละทิ้งพวกเขา ชาวนานกิงหลายคนโบกมือต้านรับทหารญี่ปุ่นที่กำลังเคลื่อนพลเข้ามาในเมือง บางคนถึงกับปักธงชาติญี่ปุ่นเอาไว้หน้าบ้านทีเดียว

แต่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. มาถึง ทหารชาวญี่ปุ่นที่ผ่านการรบมาอย่างโชกโชน ที่แบกรับความกดดันทั้งจากภายในกองทัพและการเอาชีวิตรอดในสมรภูมิตลาดหลายเดือนที่ผ่านมา ก็ได้ใช้ชีวิตประชาชนของชาวนานกิงที่ยอมแพ้อย่างไม่ดิ้นรนเพื่อระบายความป่าเถื่อนของตัวเองออกมาจนหมดสิ้น ทั้งการสรรหารูปแบบการฆ่าต่างๆ นานาเพื่อลดจำนวนเชลยศึกที่เป็นภาระของกองทัพอย่างรวดเร็ว แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือเมื่อพวกเขาคิดหาประโยชน์จากชีวิตของเชลยด้วยการใช้ชาวบ้านมาเป็นเป้ายิงกับซ้อมแทงดาบปลายปืน, จับคนมาทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ทุกรูปแบบที่นึกออกทั้งๆ ที่เหยื่อยังมีสติครบทุกอย่าง (ซึ่งประสบความสำเร็จเสียจนแทบจะไม่มีนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นถูกพิพากษาเป็นอาชญากรสงคราม เนื่องจากข้อมูลของพวกเขาเป็นที่ต้องการของสหรัฐฯอย่างมากเพราะกระบวนทุกอย่างไม่สามารถทำได้ในสหรัฐฯเนื่องจากผิดหลักมนุษยธรรม) รวมไปถึงข่มขืนครั้งมโหฬารที่เกิดขึ้นกับเหยื่อกามที่ไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งได้ ในช่วงเวลาที่มนุษย์ไม่เหลือความชั่วร้ายใดๆ ให้ทำได้อีก

โชคดีอย่างเดียวของเรื่องนี้คือเวลาในการล้างผลาญมนุษย์ด้วยกันทั้งร่างกายและวิญญาณจบลงหลัง 7 สัปดาห์ผ่านพ้นไปในต้นเดือน ก.พ. 1938 ขณะที่ปัจจุบันทางการของญี่ปุ่นยังไม่ออกมาระบุว่าบรรพบุรุษของพวกเขาได้เข่นฆ่าประชาชนเพื่อนบ้านไปทั้งหมดเท่าไหร่ ชาวจีนมีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่าบรรพบุรุษของพวกเขาถูกปีศาจร้ายแห่งสงครามคร่าชีวิตไปอย่างน้อย 300,000 คน

แต่ตัวเลขที่ปัจจุบันยังไม่ใครสามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด(และอาจจะไม่มีวัน)ได้แก่เหยื่อกามที่ทหารญี่ปุ่นใช้ในการคลายเครียดระหว่างพักฆ่าคน (ตั้งแต่หลักหมื่นต้นๆ จนถึงหลายหมื่น) ที่ไม่น้อยก็จะกลายเป็นศพทันทีที่พวกเธอถูกใช้ประโยชน์จนเป็นที่พอใจ ส่วนรายที่โชคดีพอจนรอดชีวิตมาได้ก็ยังต้องเผชิญกับโชคชะตาที่เลวร้ายในการอุ้มท้องที่ไม่พึงประสงค์ ทารกลูกครึ่งจีน-ญี่ปุ่นต้องถูกฆ่าให้ตายตั้งแต่เกิดเป็นจำนวนมากมาย ขณะที่ผู้เป็นแม่อย่างไม่ตั้งใจหลายคนก็เลือกที่จะจบชีวิตตัวเองมากกว่าจะแบกรับความอับอายที่ถูกทิ้งไว้บนตัวพวกเธอ

จะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเพียงแค่ 7 สัปดาห์ซักกี่ครั้งในประวัติศาสตร์ ที่ยังคงส่งผลกระทบมาสู่ชนรุ่นหลังในเวลา 70 ปีต่อมาได้รุนแรงเช่นนี้
จอห์น ราเบ้
Nanking การขานรับบนโลกแผ่นฟิล์มตะวันตก

ประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะไม่สมบูรณ์เท่านี้ถ้าขาดการเกิดขึ้นมาของ The Rape of Nanking: The Forgotten Holocaust of World War II ผลงานการเขียนเมื่อปี 1997 ของนักเขียนสาวอเมริกันเชื้อสายจีนอย่าง ไอริส จาง ที่ทำการค้นคว้าเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดแต่เป็นที่รับรู้น้อยที่สุดให้ได้รับการเปิดเผยในวงกว้าง และมันยังเป็นที่มาของ Nanking ภาพยนตร์สารคดีแห่งปี 2007 ที่นำเรื่องราวที่เธอค้นคว้ามาใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าชาวตะวันตกกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวและทำหน้าที่ในการช่วยเหลือชาวบ้านนานกิงด้วยการตั้งสถานที่ที่เรียกว่า Safety Zone ขึ้นมา ทั้ง Jugen Prochnow ในบท จอห์น ราเบ้ นักธุรกิจชาวเยอรมัน ที่ใช้สถานะในการเป็นสมาชิกของพรรคนาซีที่นายทหารฝ่ายญี่ปุ่นต่างยำเกรงในการช่วยเหลือชาวนานกิงจากการถูกสังหารไว้หลายหมื่นชีวิต, วู๊ดดี ฮาเรลสัน ในบท โรเบิร์ต วิลสัน นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เติบโตในประเทศจีนและเป็นนายแพทย์คนเดียวที่ไม่ยอมทิ้งค่ายผู้ลี้ภัยไปไหนเพื่ออยู่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บนับร้อยนับพัน, มาเรียล แฮมมิงเย์ ในบท มินนี วอทริน ครูสาวใหญ่ที่ปกป้องสตรีชาวนานกิงจากการเป็นเหยื่อกามในสงครามไว้ได้หลายพันคน

เท็ด ลีออนซิส รองประธานของเครือ AOL เผยว่าเขาได้มีโอกาสอ่าน The Rape of Nanking ของ ไอริส จาง ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเมื่อปี 2005 และเกิดแรงบันดาลใจในการออกทุนสร้างผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้

ซึ่งความสำเร็จของผลงานชิ้นนี้ได้รับการขานรับในวงกว้าง ทั้งการรับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Sundance Film Festival เมื่อม.ค. 2007 เข้าชิงสาขา Grand Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และคว้ารางวัล Documentary Film Editing Award ไปครองเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และล่าสุดได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 15 สารคดีเด่นที่เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมที่จะประกาศในต้นปีหน้านี้

คนที่ได้รับรู้เรื่องราวของชาวตะวันตกที่ยอมเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อช่วยเหลือชาวนานกิงที่น่าสงสาร (ที่ส่วนใหญ่จะพบจุดจบที่แสนเศร้าด้วยเช่นกัน) คงมีไม่น้อยที่นึกไปถึงวีรกรรมการช่วยชีวิตชาวยิวนับพันของ ออสการ์ ชินเลอร์ นักธุรกิจเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 จากหนังดังอย่าง Schindler's List แต่อีกบุคคลหนึ่งที่สมควรได้รับคำยกย่องในการรำลึกถึงเหตุการณ์ในนานกิงได้แก่ อาซูมะ ชิโร อดีตทหารที่เคยไปก่อกรรมทำเข็ญในเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้น ที่เป็นชาวญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนที่ออกมาเปิดเผยถึงความจริงที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างหนักแน่น โดยไม่แคร์สายตาของเพื่อนร่วมชาติที่พยายามจะทำเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะงานเขียน My Nanking Platoon ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1987 รวมทั้งการเปิดใจอย่างหมดเปลือกด้วยความสำนึกผิดของเขาเป็นสิ่งที่บรรดาเหยื่อชาวนานกิงที่ยังคงมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้รู้สึกได้รับการตอบรับจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากเสียกว่าที่พวกเขาได้รับจากทางการของญี่ปุ่นเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่เขากล่าวไว้ในการแถลงข่าวที่ศูนย์ YMCA ในฮ่องกงก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเมื่อเดือนม.ค.ปี 2006 ที่ผ่านมา

"ตอนนี้ผมอายุ 86 ปีแล้ว แต่ผมจะยอมสู้ตายเหมือนกับคนหนุ่ม ทว่าคราวนี้ไม่ใช่เพื่อองค์พระจักรพรรดิ แต่เพื่อความยุติธรรมและประวัติศาสตร์"
อาซูมะ ชิโร
The Truth about Nanjing การไม่ยอมรับของลูกหลานอาทิตย์อุทัย

การกระทำที่ไม่สนแรงต้านของสังคมของ อาซูมะ ชิโร อาจจะถือว่าเป็นความกล้าหาญในสายตาของชาวโลก แต่ในญี่ปุ่นแล้วเขาไม่ต่างจากตัวปัญหาที่ออกมาสร้างความแตกแยกให้กับชาติ หนึ่งในคนที่คิดแบบนั้นอาจจะรวมไปถึง มิซูชิมา ซาโตรุ ผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่อง The Truth about Nanjing ตอนแรกของไตรภาคที่ตั้งใจทำออกมาเพื่อโต้แย้ง Nanking ผลงานสารคดีที่กล่าวมาข้างต้นโดยเฉพาะ ซึ่งขณะที่ชาวจีนได้จัดงานครบรอบ 70 ปีเหตุการณ์หลั่งเลือดที่นานกิงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เขาก็ออกมาประกาศอย่างชัดเจนต่อชาวโลกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นไม่เคยเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

"ผมเชื่ออย่างสุดใจเลยว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น เรื่องราวทั้งหมดกุขึ้นมาระหว่างการพิจารณาของศาลในโตเกียวที่ทำการสอบสวนอาชญากรสงครามชาวญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1948" มิซูชิมากล่าวต่อทางสำนักข่าวเอเอฟพี

แม้ที่ผ่านมาทางการของญี่ปุ่นจะออกมายอมรับผิดต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการหลายครั้ง แต่เป็นที่รู้กันดีกว่ากลุ่มชาตินิยมในญี่ปุ่นได้ใช้อิทธิพลอย่างสูงตั้งแต่ยุคปี 1990 เป็นต้นมา ในการชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อที่ทางจีนเป็นผู้สร้างขึ้นมาเท่านั้น

"ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือการที่ เจียงไคเชก ที่ใช้เมืองนานกิงเป็นฐานในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น ได้จัดการแถลงข่าวถึง 300 ครั้งในช่วงเวลา 11 เดือนหลังจากเมืองนานกิงล่มสลาย ที่เขาได้แต่บอกกับบรรดานักข่าวนานาชาติว่า 'ญี่ปุ่นทำอย่างโน้น ญี่ปุ่นทำอย่างนี้' แต่ไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่นานกิงเลยซักครั้ง ไม่มีแม้แต่คำเดียว สิ่งนี้และหลักฐานอื่นๆ เป็นสิ่งยืนยันอย่างชัดเจนว่าการสังหารหมู่ครั้งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย"

"เราไม่ต้องการให้เยาวชนของเราเติบโตขึ้นมาโดยคิดว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศของผู้คนที่โหดร้ายป่าเถื่อน" มิซูชิมากล่าว

แม้จะมีชาวญี่ปุ่นไม่กี่คนที่ออกมาแสดงทัศนะที่สุดขั้วเช่นนี้ แต่ที่ผ่านมาก็มีนักการเมืองชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นหลายคนที่ออกมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งนั้น

นาย ชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่ลงจากตำแหน่งไปเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เคยสร้างความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวมาแล้วเมื่อเขาปฏิเสธที่จะยอมรับว่าการพิจารณาของศาลในโตเกียวต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่จัดตั้งโดยสหรัฐฯ ประเทศผู้นำของฝ่ายพันธมิตร ว่าเป็นไปอย่างความชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งในอดีตปู่หรือตาของเขาก็ถูกจับกุมเพื่อการดำเนินคดีในครั้งนั้นเช่นกัน แต่รอดพ้นจากการพิพากษาให้เป็นอาชญากรสงครามมาได้

กลุ่มของสมาชิกสภานิติบัญญัติ นำโดยอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น ได้ออกรายงานเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาโดยระบุว่าการสังหารหมู่ที่นานกิงเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นมา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนในเวลานั้นอย่างมาก

ผู้กำกับมิซูชิมาที่เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เล็กๆ เผยว่าเขาได้รับเงินบริจาคจำนวน 1.8 ล้านเหรียญจากผู้สนับสนุนกว่า 5,000 ราย รวมทั้ง ชินทาโร อิชิฮารา ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว เพื่อการสร้างผลงานไตรภาคชิ้นนี้ โดยภาคแรกจะออกฉายในเดือนม.ค.ที่จะถึงนี้
มิซูชิมา ซาโตรุ (ซ้าย) และ ชูโดะ ฮิงาชินากาโนะ (ขวา) และเหล่าชาวญี่ปุ่นหัวอนุรักษ์นิยมในการแถลงข่าวเรื่องการจัดฉาย The Truth about Nanjing
ในเรื่องนี้เขาเผยว่าจะสร้างภาพให้ 7 วีรชนในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่นที่ถูกแขวนคอในฐานะอาชญากรสงคราม ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมไปถึง ฮิเดกิ โตโจ อดีตแม่ทัพและนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในยุคนั้น ให้เหมือนกัน martyrs หรือ พระเยซูเจ้าที่ยอมถูกตอกมือและเท้าตรึงกางเขนเพื่อไถ่บาปให้กับชาวโลก เพราะว่าพวกเขาเหล่านี้ก็ยอมรับการถูกใส่ร้ายเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดเช่นกัน

"ถ้าคุณได้มาดูหนังเรื่องนี้ จะรู้ว่าโตโจกับฮิตเลอร์ต่างกันแค่ไหน" มิซูชิมากล่าว

"ผมบูชาวัฒนธรรมของชาวจีนอย่างมาก แต่ผมเชื่ออย่างหนักแน่นว่ารัฐบาลของชาวจีนสมควรถูกประณามสำหรับการสร้างโฆษณาชวนเชื่อและฝังความคิดเรื่องการแอนตี้ชาวญี่ปุ่นเอาไว้ในการศึกษาของพวกเขา"

มิซูชิมายังกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่นานกิงถูกสหรัฐฯใช้เป็นการกล่าวโทษต่อญี่ปุ่น ขณะที่พวกเขาพยายามกลบเกลื่อนสิ่งที่ตัวเองทำเอาไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

ขณะที่ทุกวันนี้ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในมหามิตรของสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งประเทศที่รุ่งเรื่องทางเศรษฐกิจที่สุดในโลก มิซูชิมากลับรู้สึกเศร้าใจต่อสภาพสังคมของชาวญี่ปุ่นที่กลายเป็นสังคมบูชาวัตถุนับตั้งแต่ช่วงหลังสงคราม

"หลังสงครามเสร็จสิ้นลง ญี่ปุ่นก็กลายเป็นสำเนาของวัฒนธรรมตะวันตก ผู้คนรับเอาทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการของตนโดยปราศจากการยั้งคิด พวกเขาต้องการมากขึ้นและต้องการเร็วขึ้น จนลืมสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษของเราปลูกฝังเอาไว้ ญี่ปุ่นกลายเป็นชนชาติที่น่าเศร้าหลังจากสงครามเป็นต้นมา"

*********************************

10 ปีที่โลกได้รู้จัก The Rape of Nanking

ปี 2007 นี้นอกจากจะเป็นการครบรอบ 70 ปีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นานกิงแล้ว ยังเป็นการครบรอบ 10 ปีของการตีพิมพ์ The Rape of Nanking: The Forgotten Holocaust of World War II หนังสือเล่มแรกที่กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นจริงเป็นจัง ผลงานการไล่ล่าหาข้อมูลของ ไอริส จาง นักเขียนสาวชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ที่มีอายุเพียง 29 ปีตอนที่หนังสือถูกตีพิมพ์ครั้งแรก

จะมีเหตุผลใดที่ดลใจให้บุตรสาวของนักวิจัยทางฟิสิกส์และนักจุลชีววิทยา หันมาจนใจโลกของการขีดเขียน จนกระทั้งจบการศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัย University of Illinois at Urbana-Champaign ในระดับปริญญาตรี และ Writing Seminars จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ในระดับปริญญาโท หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นนิทานเรื่อง หนานจิง ต้าถูซา หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ณ เมืองนานกิง ที่เธอได้ฟังจากพ่อแม่มาตั้งแต่ยังเล็ก จนกระทั้งมารู้ความจริงว่ามันเป็นมากกว่าเรื่องเล่าน่าสยดสยองเมื่อเธอโตเป็นสาว พร้อมกับความแปลกใจพอๆ กันต่อความเพิกเฉยของนักประวัติศาสตร์โลกที่มีต่อการชำระหนึ่งในเหตุการณ์ที่สะเทือนอารมณ์ของมนุษยชาติอย่างที่สุด จนเธอต้องลงมือสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเธอเอง

และการตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองลงเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ปี 2004 ทำให้การครบรอบ 10 ปีของผลงานสุดดังของเธอต้องมีขึ้นโดยปราศจากผู้ที่ให้กำเนิดมัน

แต่สิ่งที่มาเป็นตัวแทนของตำนานของเธอในปีนี้นั้นได้แก่ละครกึ่งสารคดีเรื่อง Iris Chang, the Rape of Nanking ที่เล่าย้อนประวัติการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นที่มาของงานเขียนชิ้นสำคัญต่อประวัติศาสตร์ครั้งนี้

Iris Chang, the Rape of Nanking ที่ออกฉายทางช่อง History Television ของแคนนาดาในการรำลึก 70 ปีเหตุการณ์ที่เมืองนานกิงเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ที่มารับบทเป็น ไอริส จาง ได้แก่ โอลิเวีย เจิ้ง นักแสดงสาวสวยชาวแคนนาเดียนเชื้อสายจีน ที่โด่งดังมาจาก Broken Trail มินิซีรีส์ระดับรางวัลเอมมี่ และพิธีกรของรายการ Entertainment Tonight Canada

โอลิเวียได้รู้จักกับไอริสครั้งแรกหลังจากได้อ่านเรื่องราวของเธอใน Reader's Digest เมื่อปี 1998 แต่ต้องรอเป็นเวลาถึง 8 ปีกว่าเธอแจะได้อ่าน The Rape of Nanking อย่างจริงๆ จังๆ 2 ปีก่อนที่เธอจะได้สวมบทเป็นเธอ ซึ่งมันทำให้เธอชื่นชมอย่างมาก และเริ่มค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการสังหารหมู่และตัวไอริสด้วยตัวเธอเอง

"ฉันไม่สามารถเอา The Rape of Nanking ออกจากหัวได้ ฉันไม่สามารถเอาเรื่องราวของไอริส จางออกจากหัวได้ จนสุดท้ายฉันต้องโทรไปหาสามีหม้ายของเธอไม่กี่เดือนหลังจากนั้นแล้วสารภาพกับเขาว่า 'ฟังน่ะ ฉันประทับใจเรื่องราวของภรรยาคุณมากๆ และฉันอยากจะเขียนบทหนังเกี่ยวกับชีวิตเธอ คุณจะช่วยฉันไหม?' "

จนกระทั้งเมื่อเดือนพ.ค.ปี 2006 โอลิเวียได้บินไปหา เบร็ต ดักลาส อดีตสามีของไอริส จางถึงซาน ฟรานซิสโก และได้เห็นแหล่งข้อมูลของเธอที่ Hoover Institution ของมหาวิทยาลัย Stanford University

หลังจากนั้น 9 เดือนต่อมาเธอก็ได้อีเมล์จากตัวแทนของเธอว่ากำลังจะมีบทสำหรับละครเรื่องนี้ ที่กำกับโดย บิล สปาอิค และ แอน พิก ซึ่งเธอได้อีเมล์ไปยังทีมงานว่า "ฉันเกิดมาเพื่อเล่นเป็นไอริส จาง" และสุดท้ายเธอก็ได้รับเลือกจากผู้สมัครกว่า 200 คน

"ก่อนที่จะมีหนังเรื่องนี้ ฉันคิดเอาไว้แล้วว่าจะต้องเอาเรื่องราวของไอริสมาทำเป็นหนังใหญ่ให้ได้ เป็นเหตุผลเดียวกับที่เธอไม่ต้องการให้ผู้คนลืมเหตุการณ์ที่นานกิง ฉันก็ไม่อยากให้ผู้คนลืมเธอเช่นกัน"

"และพอฉันรู้ว่ากำลังจะมีหนังเรื่องนี้ ฉันก็คุกเขาลงอ้อนวอนทันที ฉันขอบคุณพระเจ้าที่มอบบทนี้ให้แก่ฉัน เพราะฉันรู้ว่าฉันต้องเป็นส่วนหนึ่งของมัน"

ซึ่งทีมงานผู้สร้างเผยว่าธีมของหนังเรื่องนี้คือ เรื่องราวของสิ่งที่มนุษย์กระทำสิ่งผิดมนุษย์ต่อเพื่อนมนุษย์ และความรับผิดชอบของเราทุกคนในการป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นที่นานกิง, เอาชวิตซ์ หรือ รวันดา กลับมาย้อนรอยอีกครั้ง

เหมือนอย่างที่ฉากเปิดตัวของหนังได้ใช้คำแถลงของ ไอริส จาง ว่า "การหลั่งเลือดที่นานกิงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ และมันก็เกิดขึ้นแล้ว และเราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ถ้าเราอยากจะมั่นใจว่าประวัติศาสตร์จะไม่กลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง"

เวรกรรมของลูกหลาน

บาดแผลที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างเอาไว้ยังส่งผลกระทบมาสู่คนรุ่นหลังในยุคนี้ นอกจากบรรดาเหยื่อสงครามผู้ที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากทางการญี่ปุ่น(รวมทั้งทางการจีนของพวกเขาเอง) ลูกหลานชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ถูกแรงเกลียดชังจากเหตุการณ์ที่บรรพบุรุษสร้างเอาไว้เล่นงานอย่างไม่หยุดหย่อน

ที่อื้อฉาวที่สุดในปีที่ผ่านมาได้แก่การแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนก.ย. ในการแข่งขันรอบสุดท้ายของกลุ่มเอ ระหว่างทีมชาติญี่ปุ่นและเยอรมนีเพื่อตัดสินทีมที่จะเข้ารอบต่อไป ซึ่งตลอดทั้งเกมการแข่งขัน แฟนกีฬาชาวจีนที่อยู่ในสนามต่างร้องตะโกนเชียร์ทีมเยอรมันตั้งแต่ต้นเกมจนจบเกม ซึ่งผลออกมาปรากฏว่าญี่ปุ่นตกรอบด้วยการแพ้ไป 2-0

แต่กลายเป็นว่าจริงๆ แล้วแฟนกีฬาชาวจีนไม่ได้เชียร์นักกีฬาสาวเมืองเบียร์เพราะชื่นชอบในทีมเยอรมัน แต่เพื่อเป็นการกดดันทีมสาวซามูไร ซึ่งตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ ถ้าครั้งไหนแฟนบอลเห็นทีมญี่ปุ่นอยู่ในสนาม พวกเขาจะโห่ไล่ทันที แม้แต่ตอนที่มีการร้องเพลงชาติญี่ปุ่น แฟนกีฬาชาวจีนก็ไม่ยอมลุกจากเก้าอี้เพื่อแสดงความเคารพ

แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นหลังจากการแข่งขันแม็ตสุดท้ายของสาวญี่ปุ่น หลังจากโดนเยาะเย้ยและโห่ฮาตลอดทั้งเกม ทีมนักฟุตบอลสาวญี่ปุ่นก็ออกมายืนเรียงกันพร้อมกับป้ายที่เขียนว่า "ขอบคุณแฟนกีฬาชาวจีน" แล้วก้มหัวเพื่อขอบคุณเสียงเชียร์ของแฟนๆ ชาวจีนที่ไม่เคยมีอยู่จริง

ภาพข่าวดังกล่าวที่ออกมาสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศจีนว่า ชาวจีนทุกวันนี้เอาความทรงจำในอดีตมาเป็นอคติแบบไม่ลืมหูลืมตาหรือเปล่า

การที่บาดแผลในใจของชาวจีนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่หายสนิทเสียที ส่วนหนึ่งก็มาจากการจงใจเปิดสะเก็ดแผลไม่รู้จักหยุดหย่อนด้วยมือชาวญี่ปุ่นเอง ซึ่งบางครั้งก็สร้างความเอือมระอาให้กับชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่บางกลุ่มเช่นกัน

The Truth about Nanjing ผลงานภาพยนตร์ของมิซูชิมา ซาโตรุนั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานของ ชูโดะ ฮิงาชินากาโนะ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Asia University ผู้ที่เดือนก่อนนี้ถูกศาลที่ญี่ปุ่นสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อสตรีชาวจีน หลังจากเขาหาว่าเธอโกหกว่าเธอเคยเป็นเหยื่อกามในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นบุกยึดนานกิง

ฮิงาชินากาโนะ เคยกล่าวในการสัมมนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในนานกิงว่าเรื่องราวทั้งหมด รวมทั้งตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวน 142,000 คนนั้นเป็นสิ่งที่ทางชาวยุโรปและอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเมืองนานกิงยุคนั้นปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาเอง

"แน่นอนว่ามันมีโอกาสที่ตัวเลขจะออกมาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก แต่ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ มันก็เป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้" สเวน ซาเลอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Tokyo University กล่าว

และแม้ว่ามิซูชิมาจะสามารถเรี่ยรายเงินจากคน 5,000 คนเพื่อมาสร้างหนังของเขาได้ถึง 200 ล้านเยน แต่ก็มีชาวญี่ปุ่นไม่น้อยที่มองต่างมุมไปกับเขา ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรู้สึกที่ต่างกันสุดขั้วที่มีต่อนโยบายทางการทหารของประเทศในอดีต

มีกลุ่มที่เป็นการรวมตัวกันของตัวแทนจากสถาบันการศึกษาและนักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นที่ทำการจัดสัมมนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนานกิงไปทั่วโลก รวมทั้งที่นานกิงเอง เพื่อส่งเสริมการปรองดองระหว่างชนชาติ และต่อสู้เพื่อขจัดภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นออกจากชนชาติที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับอดีตของตนเอง

"ผมอยากจะไปดูหนังเรื่องนั้น เพราะอยากจะรู้ว่ามันจะทำออกมาอย่างไร แต่ผมรู้สึกละอายจริงๆ เพราะขณะที่นานาชาติเขาทำสารคดีที่มีความซื่อตรง มันน่าละอายเหลือเกินที่ญี่ปุ่นทำได้แต่หนังแบบนี้" โทคุชิ คาซาฮารา ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Tsuru University กล่าว
บิดาของไอริส จางมอบดอกไม้แก่รูปปั้นทองแดงของลูกสาว ที่ตั้งอยู่ใน Memorial Hall of the Victims in Nanjing Massacre ของจังหวัดเจียงซู
ความหวังของปี 2017

การโต้เถียงอย่างเอาเป็นเอาตายเรื่องข้อเท็จจริงของสงครามรุ่นปู่ทวดของจีนและญี่ปุ่น ทำให้ 2 มหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอเชียเย็นชาต่อกันตั้งแต่เข้าสู่ยุดศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา อย่างไรเสียความสัมพันธ์ของประเทศบ้านพี่เมืองน้องแห่งเอเชียบูรพานี้กำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา

แม้จะเป็นปีที่รำลึกการครบรอบปีที่ 70 ของเหตุการณ์ที่นานกิง แต่รัฐบาลที่เมืองปักกิ่งก็เลือกที่จะเอ่ยถึงความขัดแย้งเหล่านั้นให้น้อยลงในปีนี้ ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายลงความเห็นว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะหาวิธีการปรองดองจุดยืนของตัวเองได้อย่างราบรื่นในที่สุด

"ผมคิดว่ามันจะเป็นการเยี่ยวยาได้ไม่มากก็น้อย ถ้านักการเมืองระดับหัวกะทิของญี่ปุ่นจะมาเยือนที่นานกิงซักครั้ง ผมคิดว่าทางฝั่งรัฐบาลจีนพร้อมที่จะอ้าแขนต้อนรับ เหลือแต่ว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะยืนมือไปฉวยโอกาสนี้เมื่อไหร่เท่านั้นเอง" สเวน ซาเลอร์กล่าว

ยาซูโอะ ฟูกูดะ นากยกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่นยังแสดงความเป็นไปได้ที่เขาจะไปเยือนนานกิงภายในต้นปีที่จะถึงนี้เช่นกัน

แต่ทางสเวน ซาเลอร์ย้ำว่าการมาถึงของหนังสารคดีของมิซูชิมา ซาโตรุ และการคงอยู่ของทัศนคติอันสุดขั้วของ ชูโดะ ฮิงาชินากาโนะ และเหล่าสมาชิกหัวอนุรักษ์ในประเทศ ยังคงเปิดโอกาสให้ทางฝ่ายจีนหยิบเอาความขัดแย้งเหล่านี้กลับมาเป็นประเด็นในปี 2017, 2027 หรือจนถึงปี 2037 ต่อไปก็ได้
การจุดเทียนเป็นรูปอักษรจีนที่มีความหมายว่า สันติ ณ Nanjing Massacre museum เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น