xs
xsm
sm
md
lg

เชือดก่อนชิม เซ็นเซอร์ก่อนฉาย!!! (มันเป็นงึกๆ งักๆ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

จะมากจะน้อย ผมเชื่อว่าคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงหนังมาอย่างต่อเนื่องคงได้รับรู้อะไรๆ กันมาบ้างเกี่ยวหนังเรื่องนี้ แต่ถ้าจะสรุปให้ฟังกันอย่างรวบรัดที่สุด คงต้องบอกว่า นี่คือหนังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผ่านการ “กอดรัดฟัดเหวี่ยง” กับกองเซ็นเซอร์มาจนเหงื่อท่วม เพราะต่อให้ไม่นับรวมว่า หนังต้องเปลี่ยนชื่อจาก “ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน” มาเป็น “เชือดก่อนชิม” ภาพและเนื้อหาในหนังหลายๆ ฉากก็ถูกเซ็นเซอร์ “เชือด” ออกไปไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งเหตุผลสั้นๆ ที่เราๆ ท่านๆ ก็คงรู้ๆ กันอยู่แล้ว ก็คือว่า ฉากเหล่านั้นมันดู “โหด” และ “รุนแรง” มากเกินไป

แต่เอาล่ะ ไม่ว่า “เชือดก่อนชิม” จะโหดเลือดสาดแค่ไหน หรือ “ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน” ชามนี้จะอร่อยจนลืมตายสมราคาคุยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ผมเชื่อว่า หลายๆ คนคงรู้สึกมึนๆ งงๆ เหมือนกัน กับเรื่องประหลาดๆ พิสดารซึ่งเกิดขึ้นกับการดูหนัง 2 เรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน หนึ่งคือ Watchmen และ สองคือ เชือดก่อนชิม เรื่องนี้

ยังไม่ต้องไปพูดถึงว่าหนังทั้งสองเรื่องนั้นดีหรือด้อยยังไง แต่สิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะทำให้ผมและคุณสับสนงุนงงคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ เรื่องของการเซ็นเซอร์และจัดเรทติ้งให้กับหนังทั้งสองเรื่องนั้น ซึ่งถ้าพูดกันแบบชาวบ้านที่สุดก็คงต้องบอกว่า “มั่ว” เป็นอย่างยิ่ง

เล่าให้ฟังสักนิดครับสำหรับท่านที่ยังไม่ได้ไปดู...ทั้ง Watchmen และ เชือดก่อนชิม เป็นหนังที่มีภาพและเนื้อหาบางอย่าง (เซ็กซ์ & ความรุนแรง) ซึ่งเข้าเกณฑ์ไม่เหมาะสมสำหรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือวุฒิภาวะอะไรก็แล้วแต่จะว่ากันไป และหนังก็ดูเหมือนจะหวังดีกับคนดูมากๆ ด้วยการขึ้นข้อความบนจอก่อนฉายว่า หนังเรื่องนี้ไม่เหมาะกับคนอายุเท่านี้ๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่เป็นแบบนั้น แต่มันสายเกินไปแล้วหรือเปล่าที่จะเพิ่งมาบอกกันตอนนี้ ในเมื่อคนดูเขาเสียตังค์ซื้อตั๋วเข้ามานั่งเรียบร้อยแล้ว (และถ้าเขาเห็นข้อความเตือนนั้นแล้วไม่อยากดู เขาจะคืนตั๋วได้มั้ย?? หลายๆ คนเขาถามมาครับ!!)

คำถามที่น่าสนใจ...เพราะอะไร ตอนขายตั๋ว พนักงานถึงไม่บอกกล่าวกันเลยว่า หนังไม่เหมาะกับเด็กๆ และยังขายตั๋วให้เหมือนไม่รู้อะไรทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับเรื่อง Watchmen ผมเห็นพ่อแม่หลายคนพาลูกไปดูด้วย และผมก็เชื่อว่า พ่อแม่เหล่านั้นคงไม่ใช่แค่จะเกิดอาการ “เหวอ” กับเนื้อหาและตัวตนจริงๆ ของหนัง แต่แค่ได้เห็นข้อความจัดเรทคนดู (ที่บอกว่า หนังเรื่องนี้ไม่เหมาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี) ก็น่าจะเริ่มรู้สึกแล้วว่าตัวเองคิดถูกหรือเปล่าที่กระเตงลูกตัวน้อยๆ มาดูหนังเรื่องนี้ เพราะเข้าใจไปว่ามันเป็นหนังฮีโร่ปราบเหล่าร้ายเหมือนหนังฮีโร่สะอาดๆ เรื่องอื่นๆ อย่างสไปเดอร์แมน ซูเปอร์แมน หรือ X-Men

มากกว่านั้น ผมค่อนข้างเศร้าใจนะครับกับความคิดเห็นในทำนองว่า ก่อนจะพาลูกๆ ไปดู ทำไมพวกคุณ (ที่เป็นผู้ปกครองหรือพ่อแม่) ถึงไม่ไปศึกษาก่อนว่าหนังมันมีเนื้อหาแบบไหน เหมาะหรือไม่เหมาะกับเด็กๆ...เพราะมองกันอย่างเข้าอกเข้าใจ ถ้าหากคุณไม่ใช่คนที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของวงการหนังแบบเข้าเส้น แต่เป็นคนทำงานทั่วๆ ไปที่อยากหาเวลารีแล็กซ์ให้กับชีวิต พาคนในครอบครัวไปดูหนังบ้างเป็นครั้งคราว ถามว่า อะไรล่ะจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจที่จะ “ดู” หรือ “ไม่ดู” ถ้าไม่ใช่การโปรโมทโฆษณาด้วยส่วนหนึ่ง และกับหนังเรื่อง Watchmen ก็ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งแล้วว่า นอกจากจะโปรโมทมาในมาดหนังฮีโร่เต็มตัวแล้ว ยังไม่มี “สัญญาณ” ใดๆ บ่งบอกให้รู้ล่วงหน้าก่อนเลยว่า หนังมันมีภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ผมไม่อยากจะคิดเหมือนกับที่หลายๆ คนคิดว่า โฆษณาหนังไม่จริงใจและไม่ตรงไปตรงมากับคนดู หรือเพราะค่ายหนัง “เห็นแก่ได้” จนลืมนึกไปถึงเรื่องของจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ถ้าจะพูดกันให้ถึงรากถึงรากโคนของเรื่องราวไปเลย ก็ต้องบอกว่า นี่คือผลพวงของ “มาตรฐาน” ที่ยังไม่เป็น “ระบบ” อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนที่เห็นๆ กันอยู่ก็ดูมั่วๆ ชวนสับสน ยกตัวอย่างเรื่อง Watchmen ทั้งๆ ที่หนังก็จัดเรทติ้งคนดูด้วยข้อความในตอนก่อนฉายไปแล้ว แต่พอดูไปเรื่อยๆ ทั้งผมและคุณก็คงได้เห็นว่า ภาพบางภาพในหนังถูก “ทายาหม่อง” (หรือพูดให้ชัดก็คือ โดนเซ็นเซอร์นั่นแหละท่าน) ซึ่งมันชวนให้งงว่า ตกลง จะจัดเรทติ้ง หรือว่าจะเซ็นเซอร์หนังกันแน่??

และถ้าจะเลือกเอาการจัดเรทติ้งจริงๆ ถามว่า แล้วทำไม ถึงปล่อยให้เด็กอายุไม่ถึง 20 เข้าไปร่วมชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ด้วย? เพราะไม่ว่าจะเป็น Watchmen หรือ เชือดก่อนชิม ผมก็ยังเห็นน้องๆ อายุไม่ถึง 20 ซื้อตั๋วเข้าไปดูได้เหมือนๆ กัน

ในฐานะคนดูหนังธรรมดาๆ คนหนึ่ง บอกตามตรงว่า “งง” ครับกับสิ่งที่เป็นอยู่ อะไรคือมาตรฐาน อะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น และคำถามหนึ่งซึ่งคนในวงการหนังส่งเสียงให้ได้ยินอยู่เสมอๆ ก็คือ เมื่อไหร่ ระบบเรทติ้งจะถูกนำมาใช้อย่างจริงๆ จังๆ กันเสียที และคนดูผู้ชมจะต้องดูหนังผ่าน “จักษุ” ของเซ็นเซอร์ไปอีกนานแค่ไหน (แทนที่จะได้เห็นหนังอย่างที่ผู้กำกับเขาอยากให้เราเห็นจริงๆ) ซึ่งมองในแง่ของกฎหมาย ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการจัดเรทที่แม้จะออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากต้องรอกฎหมายลูกที่จะมารองรับ ก็เลยยังบังคับใช้ไม่ได้จนถึงทุกวันนี้

ผมเห็นด้วยนะครับว่า ต่อให้มีกฎหมายจัดเรทคนดูหรือไม่ก็ตาม เอาเข้าจริงๆ เด็กๆ หรือคนอายุไม่ถึง 18 ก็สามารถเข้าถึงสิ่งที่เราคิดว่าไม่เหมาะสมกับพวกเขาได้อยู่ดี (อย่าแกล้งทำเป็นเบบี๋ไปหน่อยเลยครับ เพราะเด็กๆ เดี๋ยวนี้น่ะ เขารู้หมดแล้วล่ะว่าจะไปหา “สิ่งไม่เหมาะสม” เหล่านี้ได้จากที่ไหนบ้าง ทั้งอินเตอร์เน็ตเอย แผงหนังเถื่อนเอย ที่เหล่านี้ไม่เคยเอ่ยปากขอดูบัตรประชาชนของใครหรอกครับ)

แต่ในทางตรงกันข้าม ผมก็เข้าใจเช่นกันว่า การจัดเรทมันน่าจะให้ประโยชน์มากกว่าให้โทษทั้งต่อคนดูและคนทำหนัง...อย่างน้อยที่สุด คนดูได้รู้ว่า หนังเรื่องไหนตัวเองดูได้หรือไม่ได้ (เฉพาะในโรงหนังนะครับ ส่วนคุณจะไปแสวงหาดูจากที่อื่นๆ ก็คงไม่มีใครไปตรัสรู้กับคุณได้) ขณะที่คนทำหนังหรือค่ายหนังก็จะได้ไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดกับการเห็นผลงานของตัวเองถูกตัด ถูกหั่น ถูกเซ็นเซอร์ หรือกระทั่งถูกห้ามฉาย (ผมเชื่อนะครับว่า ผู้กำกับภาพยนตร์แต่ละคนแต่ละท่านนั้นมีวิจารณญาณและสำนึกรับผิดชอบต่อผู้ชม และถ้าพวกเขาทำในสิ่งที่เลยเถิดไม่เข้าท่าไปจริงๆ สังคมหรือคนดูนั่นแหละที่จะเป็นผู้พิพากษาพวกเขาเอง)

และที่สำคัญ กับความคิดของใครหลายๆ คนที่บอกว่า ผู้ประกอบการภาพยนตร์กลัวจะ “เสียลูกค้า” เพราะการจัดเรท ผมคิดว่าไม่จริงเลย อีกทั้งยังเชื่อมั่นด้วยว่า ถึงจุดหนึ่ง นักธุรกิจหนังเหล่านี้ก็คงทำความเข้าใจได้เองว่า “เม็ดเงิน” ที่ตัวเองจะได้ เมื่อเทียบกับคุณประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการจัดเรทนั้น มันเทียบกันไม่ได้เลย

ครับ ที่พูดมาทั้งหมด ผมไม่ได้มีอคติหรือจงใจจะกล่าวโทษใครแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นกองเซ็นเซอร์ หรือผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์ และเหนืออื่นใด ไม่ใช่เพราะว่าต้องการอยากจะดูภาพวาบหวิวหรือฉากฆ่าฟันกันโหดเหี้ยมอะไรพวกนั้นถึงขั้นต้องมาเขียนบทความยืดยาวขนาดนี้นะครับ เพียงแต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ มันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า “เรา” กำลังเมาค้าง และแสดงอาการ “งึกๆ งักๆ” (เบลอๆ งงๆ) ซึ่งตัดสินใจไม่ถูกว่าควรจะทำอะไรดี คือ จะเซ็นเซอร์ หรือ จัดเรทติ้ง ก็ไม่ชัดเจนจริงๆ เลยสักอย่าง

คนเมาค้างจำเป็นต้อง “ถอน” ครับ (เทคนิคการถอนเป็นยังไง ต้องไปถาม “ปอยฝ้าย มาลัยพร” อิอิ) แต่กับอาการเมาค้างที่เกิดขึ้นในวงการหนัง หลายๆ คนก็คงกำลังคิดว่าจะ “ถอน” ด้วยวิธีไหน (ถอนเซ็นเซอร์ออกไปจากวงจรของหนังเลยดีมั้ย? จะบ้าหรือเปล่าครับ เขาทำงานกันมาหลายปีดีดัก อยู่ๆ คุณจะไปปลดเขาได้ไง จริงป่าว?)

แต่จะถอนหรือไม่ถอนอะไรออกไป ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งซึ่งทำได้ในตอนนี้ก็คือ “รอคอย” ครับ...รอคอยวันที่กฎหมายจะถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง และเมื่อวันนั้นมาถึง เชื่อว่า อะไรๆ ก็คงชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน เราก็น่าจะหวังใจได้ว่า คงไม่มีหนังเรื่องไหนถูก “เชือดก่อนฉาย” เหมือนอย่างหลายๆ เรื่องผ่านมา ใช่หรือเปล่า?

กำลังโหลดความคิดเห็น