Facebook...teelao1979@hotmail.com
บางคนอาจจะรัก Thor ขณะที่หลายคนชอบพอ Fast Five แต่ถ้าพูดถึงหนังฟอร์มใหญ่ของปีนี้ตั้งแต่ที่ได้ดูมา โดยส่วนตัว ผมคิดว่า X-Men First Class น่าจะเป็นผลงานที่กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า ผมรู้สึก “ชอบ” มากกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะตลอดระยะเวลามากกว่า 2 ชั่วโมง กับการเล่าเรื่องย้อนหลังทวนเวลากลับไปหารากเหง้าต้นกำเนิดของตัวละครหลัก เอ็กซ์เมนภาคนี้ “ไม่มีข้อเสียหายใหญ่โต” ที่สามารถจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นได้เลย
อันดับแรกสุด ผมคิดว่า บทภาพยนตร์นั้น ผ่านการปรุงแต่งขัดเกลามาอย่างเนียนกิ๊ก ทุกสิ่งทุกอย่างในเรื่อง มีเหตุมีผล ตรงนี้สำคัญนะครับ เพราะถ้าหนังตั้งโจทย์ให้กับตัวเองว่า จะพาผู้ชมไปค้นหาความเป็นมาของตัวละคร หาก “เหตุผล” ไม่แน่นจริง ก็ยากยิ่งที่จะทำให้คนเชื่อได้ แต่จุดนี้ หนังเอาตัวรอดไปได้แบบไร้ที่ติ แม้ผมจะรู้สึกว่า ช่วงๆ ท้าย หนังออกจะ “รวบรัด” ไปสักหน่อยตอนที่เกิดความแปรผันพลิกเปลี่ยนเกี่ยวกับตัวละครบางตัว แต่เมื่อคิดถึงว่า ตลอดระยะทางที่ผ่านมา หนัง “หยอด” ปัจจัยเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ พอบทจะพลิกก็พลิกแบบกลับหลังหันอย่างฉับพลัน ก็เป็นอันเข้าใจได้
ขณะเดียวกัน เมื่อเหตุและผลถูกโยนลงไปในเรื่องราวซึ่งส่งผลให้หนังไม่เลื่อนลอยในแง่หลักการ ตัวละครหลักๆ ทั้งโปรเฟซเซอร์เอ็กซ์ (ซึ่งภาคนี้ยังใช้ชื่อว่าชาร์ลส์ เซเวียร์), แม็กนีโต้ (ชื่อเดิม อีริค เลนเชอร์) ไปจนถึงเรเว็น ดาร์กโฮล์ม หรือแม้กระทั่งแฮงค์ แม็คคอย เหล่านี้ต่างมีความซับซ้อนในตัวเองตามแบบแผนของตัวละครแบบ Round Character พูดง่ายๆ ก็คือมีความลึก เป็นมนุษย์ เป็นปุถุชน มีความหวั่นไหวอ่อนแอ ส่วนวายร้ายตัวใหญ่อย่างเซบาสเตียน ชอว์ ที่แม้จะเป็น “คนที่อ่านง่ายที่สุด” แต่การแสดงของเควิน เบคอน ที่สื่อสารความแข็งกระด้างของตัวละครออกมาได้ราวกับแท่งเหล็กไร้หัวใจ ก็ทำให้เรามองข้ามไปได้ว่าลุงเซบาสเตียนแกเป็นตัวละคร “แบนๆ” กว่าใครเพื่อน เหมือนตัวละครในหนังเก่าๆ บางเรื่องที่ชอบขีดเส้นแบ่งแยก ดีก็ดีสุดขั้ว ชั่วก็ชั่วสุดขีด ทำนองนั้น
สีสันของเรื่องทั้งหมดนั้น ดูเหมือนจะเทไปให้กับอีริค เลนเชอร์ ผู้จะกลายมาเป็นแม็กนีโต้ มากกว่าบทของพระเอกตัวจริงอย่างชาร์ลส์ เซเวียร์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นการถูกต้องแล้วสำหรับหนัง เพราะเดาว่าคนดูเองก็คงอยากจะรู้ว่าเพราะอะไร สหายที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาถึงได้ถูกฉุดดึงเข้าไปสู่ด้านที่มืดดำแบบนั้นได้ “ข่าวดีขายไม่ได้ ข่าวร้ายๆ ดันขายดี” ก็ทำนองเดียวกันครับ
อันที่จริง วิธีการประมาณนี้ เราก็มักจะได้เห็นอยู่เป็นประจำล่ะครับสำหรับหนังซูเปอร์ฮีโร่ยุคหลังๆ ที่ “ตัวเด่น” ของเรื่อง มักฉีกขนบออกไป อย่างเช่น Batman : The Dark Knight แทนที่จะให้น้ำหนักกับบรูซ เวย์น ที่เป็นแบ็ทแมนเยอะๆ หนังก็เลือกที่จะเหวี่ยงความสำคัญไปให้กับ “คู่ตรงข้าม” อย่างโจ๊กเกอร์แทน ก็ได้สีสันไปอีกแบบหนึ่ง และ X-Men “รุ่นหนึ่ง” นี่ก็เช่นกัน (ชื่อไทยว่า “รุ่นหนึ่ง” เหมือนให้เซียนพระเครื่องตั้งให้อย่างไรไม่รู้)
ผมรู้สึกว่า ท่ามกลางคาแรกเตอร์สีเทาๆ ไม่ขาวจัดดำจัด ของอีริค เลนเชอร์ นั้น เขาคือ “แสงสว่าง” ของหนัง เป็นแกนหลักของเรื่อง ทำให้เรื่องมี Story ที่จะเล่า ส่วนนักแสงที่รับบทอีริคอย่างไมเคิล ฟาสเบนเดอร์นั้น มองบางมุม ชวนให้นึกไปถึงวิกโก้ มอร์เทนเซ่น (A History of Violence, The Road ฯลฯ) แต่ลักษณะเด่นของผู้ชายคนนี้ก็คือ การพลิกเปลี่ยนอารมณ์และสีหนาแววตาไปได้แบบสมูธ ไม่ขัดหูขัดตา เหมือนความมืดที่ค่อยๆ คลี่คลุมผืนฟ้าทีละนิด และเหมือนแสงอาทิตย์ที่ค่อยๆ ทอทาบขอบฟ้ายามเช้า
ส่วนคนที่ชอบแอ็กชั่น ผมคิดว่าก็ไม่มีอันใดให้ผิดหวัง แน่นอนล่ะ แม้ผมจะรู้สึกว่าฉากท้ายๆ ในหนังจะไม่ได้ออกมาพอที่จะเรียกได้ว่า “ฉากใหญ่” หรือฉากพีคๆ ต่างไปจากขนบหนังแอ็กชั่นทั่วไปที่มักจะวางฉากท้ายๆ ให้อลังการ แต่ฉากตึงตังโครมครามที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ ก็เพียงพอต่อการที่จะทำให้เรา “รู้สึกตื่น” ไปกับหนังได้ตลอดทั้งเรื่อง บวกกับดนตรีประกอบที่ทำหน้าที่ได้ดี รู้ว่าจังหวะที่ไหนที่จะดังหรือเบา ช็อตไหนซีนใดที่จะคลอหรือโหมกระพือเพิ่มอรรถรสความตื่นเต้นระทึก
แม็ทธิว วอห์น ผู้กำกับที่ดังมากๆ จากเรื่อง Kick-Ass คงถูกเรียกใช้อีกในหนังฟอร์มยักษ์เรื่องต่อไป เพราะผลิตงานออกมาได้ “เข้าตากรรมการ” ขนาดนี้ คงต้องมี “งานเข้า” อีกแน่นอน อันที่จริง แม็ทธิว วอห์น เคยกำกับหนังมาแล้วก่อนหน้า Kick-Ass คือ Layer Cake กับ Stardust ที่ก็แข็งปึ้กในด้านการเล่าเรื่อง และแม็ทธิว วอห์น ก็ใช้ “จุดแข็ง” ตรงนั้นมาใช้สอยกับเอ็กซ์เม็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และที่น่าคิด...ใครที่จดจำภาพของแม็ทธิว วอห์น มาจากหนังเรื่อง Kick-Ass ที่มีอารมณ์ขันแบบตลกร้ายเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง มาถึงเอ็กซ์เม็นเฟิร์สคลาส ก็ยังสามารถเก็บเกี่ยวอารมณ์แบบนั้นได้อยู่ มีมุกหลายๆ มุกเลยนะครับที่สะท้อนถึงการเป็นคนที่มี Sense of Humor ของหนัง
คือถ้าไม่นับรวม “แขกรับเชิญ” ที่หน้าตาคุ้นๆ ซึ่งโผล่มาตอนที่สองสหาย (อีริคและชาร์ลส์) ไปรวบรวมสมัครพรรคพวก และทำให้คนดูที่เป็นแฟนหนังแฟรนไชส์ชุดนี้หล่นเสียงหัวเราะออกมากันทั้งโรงแล้ว ฉากที่อีริคแซวชาร์ลส์ตรงหน้าคฤหาสน์ของด็อกเตอร์หนุ่มเหมือนกับยาจกกำลังแสดงความเห็นใจเศรษฐี ตอนที่เหล่าพลพรรคกลายพันธุ์พากัน “โชว์ของ” แสดงพลังที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งทั้งหมด ดูเหมือนจะ “โชว์รั่ว” มากกว่า “โชว์พลัง” เป็นที่ขำขันเฮฮา ก่อนบทหนังจะพาแต่ละคนเข้าสู่โหมดแห่งการฝึกใช้พลังในวิถีทางที่ถูกต้อง เหล่านี้คืออารมณ์ขันที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของเนื้อหาเรื่องราวของหนังได้เป็นอย่างดี
ถ้าจะมีอะไรตรงไหนที่ผมรู้สึกว่า หนังน่าจะทำได้ดีกว่านี้ก็คงเป็นฉากที่อีริคต้องเผชิญหน้ากับชาร์ลส์ในห้วงขณะแห่งการ “ต้องเลือก” อะไรสักอย่างนั่นล่ะครับ ผมอาจจะคิดเยอะไปที่ไปเปรียบเทียบกับฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Watchmen ตอนที่เหล่าฮีโร่ต้องทุ่มเถียงกันอย่างรุนแรงเพื่อปฏิบัติการบางอย่างในตอนท้ายเรื่อง ผมรู้สึกว่า การต้องเลือกข้างในหนังเรื่องนั้น ดูจะมี “พลังความสะเทือนใจ” ล้ำไปไกลกว่าเอ็กซ์เม็นอยู่หลายส่วน สาเหตุหนึ่ง คิดว่าคงเป็นเพราะหนังใกล้จะจบ ก็เลยรวบรัดอยู่สักหน่อย
พูดกันอย่างถึงที่สุด หนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องนี้ก็แทบจะไม่มีอะไรแปลกใหม่มากมายหรอกครับ วัสดุอุปกรณ์และชิ้นส่วนโครงสร้างต่างๆ ในหนังก็ล้วนเป็นของที่เคยเห็นกันมาหมดแล้วในหนังฮีโร่เหนือมนุษย์เรื่องอื่นๆ และผมว่าจุดดีของหนังอยู่ที่ความฉลาดในการหยิบโน่นหยิบนี่มาผสมผสานกัน ก่อร่างสร้างมันเป็น “บ้านที่สวยงาม” หลังหนึ่ง
ดังนั้น เวลาเราดูหนังไป ก็เหมือนจะนึกไปถึงหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เนืองๆ อย่างเช่น Push (พลังเหนือธรรมชาติ อาทิ เสียงหวีดมหาประลัย, Spider-man (ท่าห้อยหัวของหนุ่มแฮงค์) Daredevil (ปมทางใจอันเกี่ยวเนื่องกับผู้บังเกิดเกล้า) ฯลฯ การไปรวมรวมพลพรรค (เทคนิคนี้ เห็นเล่นกันเยอะมาก) การโชว์วิชาพลังฝีมือก็เหมือนหนังกำลังภายในสไตล์ชอว์บราเดอร์ส เพียงแต่เปลี่ยนจากควงหอกรำกระบี่มาเป็นปล่อยพลังเหนือธรรมชาติ การฝึกใช้พลังนั่นก็หนังจีนจอมยุทธ์อีก (แล้วที่ผมขำนิดๆ แบบไม่คิดหรอกครับว่าหนังเรื่องนี้จะไปหยิบมา คือผมรู้สึกว่า คุณน้องผู้หญิงที่บ้วนลูกไฟกลมๆ นั่น ก็พ้องพานกับ “ลูกท้อ” ที่หญิงชราคนหนึ่งในนิยาย (หนัง) “มังกรหยก” ภาค 2 ชอบถ่มซะเหลือเกิน)
นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงประเด็นใหญ่ๆ ในหนังที่อ้างถึงแง่มุมทางจิตวิทยาซึ่งฉุดกระชากลากพาตัวละครให้กลับกลายเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นประเด็นซึ่งเราเห็นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในหนังหลายต่อหลายเรื่อง
อย่างไรก็ดี ถ้าจะพูดว่านี่เป็นอาหารการกินอย่าง “ยำ” หนึ่งจาน มันก็เป็นยำที่ผสมผสานออกมาได้รสได้ชาติยิ่ง และคนดู “ผู้ชิม” ก็พร้อมที่จะเอร็ดอร่อยไปกับ “ยำ” จานนี้ได้อย่างไม่รู้สึกเสียดายลิ้นหรือเวลาขบเคี้ยว
“เอ็กซ์-เม็น” First Class ภายใต้การกำกับดูแลของแม็ทธิว วอห์น ก็คงไม่ต่างอะไรกับ First Kiss ที่หญิงสาวอย่างมัวร่าได้รับ มันทั้งน่าประทับใจและน่าจดจำ คุณจะดูเพื่อเสพรับความบันเทิงก็โอเค หรือจะดูเพื่อเก็บเกี่ยวเนื้อหาสาระก็ได้อีก มันอาจไม่ถึงกับหนักหน่วงข้นคลั่ก แต่ก็มี “ราก” ทางปรัชญาความคิดให้เราซอกซอนขบคิดตาม ไม่ว่าจะเป็นความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและอย่าหวั่นไหวไปกับความแตกต่าง
และเหนืออื่นใด มันเหมาะกับยุคที่คนเราต้องเลือกข้างอย่างยุคนี้ดีชะมัด เลือกข้างผิด เสียคนไปจนตาย!!