xs
xsm
sm
md
lg

ความจำสั้น แต่รักฉันยาว : หนังดีๆ แห่งปี 2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

หลังจากปล่อยให้ค่ายอื่นๆ ออกสตาร์ทกันไปก่อนคนละเรื่องสองเรื่องในช่วงสองเดือนแรกของปี ในที่สุด จีทีเอชที่หลายๆ คนแปะเครดิตให้ว่าเป็น “บ้านของหนังดี” ก็ออกเดินก้าวที่หนึ่งด้วย “ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” หนังรักปนเศร้าที่ผมคิดว่า เป็นการออกสตาร์ทศักราชใหม่ได้สวยสดงดงามยิ่ง สำหรับจีทีเอช


ก็อย่างที่คนดูหนังทุกๆ คนคงจะรับรู้กันนั่นล่ะครับว่า ส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ยี่ห้อของจีทีเอชฮิตติดตลาดมาโดยตลอด ก็คือ จุดยืนหรือคาแรกเตอร์ของหนังค่ายนี้ที่ว่ากันอย่างถึงที่สุด ถ้าไม่นับรวมถึงหนังผีหรือหนังสยองขวัญ ผลงานแทบทั้งหมดของจีทีเอชล้วนจัดอยู่ในหมวดหมู่ของหนังที่ดูแล้ว อย่างน้อยๆ ก็รู้สึกดีกับชีวิต (Feel Good) โอเคล่ะ มันอาจจะมีบางแง่บางมุมที่ดูโศกหรือรายละเอียดบางอย่างที่ชวนให้รู้สึกแย่ในหนังแต่ละเรื่อง แต่ทุกๆ เรื่องก็มักจะมีบทสรุปหรือเนื้อหาภาพรวมที่เป็นแง่งามและสามารถสร้างความรู้สึกประทับใจให้กับคนดูผู้ชมได้เสมอๆ

ไม่ว่าจะเป็น แฟนฉัน เพื่อนสนิท ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น Seasons Change สายลับจับบ้านเล็ก กอด มหาลัยเหมืองแร่ หรือแม้กระทั่ง 15 ค่ำ เดือน 11 ฯลฯ ใครกันหรือที่ดูหนังเหล่านี้แล้วจะออกมาบอกว่า ข้าพเจ้ารู้สึกแย่เป็นอย่างยิ่ง?? (คนอื่นจะคิดเหมือนผมหรือเปล่าว่า เสน่ห์แบบหนึ่งของหนังจีทีเอชก็คือ ชื่อเรื่อง ที่มักจะมีแง่มุมให้คนหยิบเอาไปแปลงเล่นคำสนุกๆ ได้เสมอๆ

อย่างเช่นเรื่องนี้ที่หลายๆ คนเอาไปแปลงเป็น “ความจำสั้น แต่ม้ามฉันยาว” และอะไรอื่นๆ “ยาว” อีกเยอะแยะ ซึ่งมองเผินๆ มันอาจไม่มีอะไรมากไปกว่าความคิดซนๆ ของคนดู แต่ถ้าใช้สายตาของการตลาดมอง มันคือช่องทางสร้างการรับรู้ให้กับผู้คนอีกทางหนึ่ง ซึ่งช่วยทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับหนังไปโดยปริยาย)

และแน่นอนที่สุด เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อว่า หนังอย่าง “ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” จะเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทำให้คนดูรู้สึกดีมากกว่ารู้สึกแย่ ถึงแม้ว่าเนื้อเรื่องในหนัง จะมีเซ้นส์ของความโศกผสมอยู่ในอัตราส่วนค่อนข้างสูงก็ตามที...

เหมือนโชคชะตากำลังเล่นตลก จึงทำให้ “เก่ง” (เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ) สัตวแพทย์หนุ่มได้พบกับ “ฝ้าย” (ญารินดา บุนนาค) หญิงสาวที่เขาเคยแอบรักในวัยเรียน..อีกครั้งหนึ่ง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา เก่งรู้แค่เพียงว่า ฝ้ายแต่งงานกับ “โอม” (เจมส์ อเล็กซานเดอร์ แม็กกี้) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขาเอง แต่ข่าวใหม่ที่มาพร้อมกับการกลับมาของฝ้ายซึ่งสร้างเซอร์ไพรซ์ให้กับเก่งอย่างมากมายก็คือว่า ตอนนี้ ฝ้ายนั้นได้หย่ากับโอมเรียบร้อยแล้ว

ไม่ว่าจะอย่างไร ในขณะที่หนังปล่อยให้คนดูลุ้นไปเรื่อยๆ ว่า เก่งจะทำอย่างไรกับรักเก่าซึ่งเขามีโอกาสเต็มที่ที่จะถักทอความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ ทั้งผมและคุณก็คงเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่หมอหนุ่มจะทำแบบนั้นได้ อย่างน้อยๆ ก็ตราบเท่าที่ฝ้ายยังคงฝังใจอยู่กับรักครั้งเก่าระหว่างเธอกับโอม

ไม่ใช่ไม่อยากลืม แต่การลืม เป็นสิ่งที่มนุษย์จะจงใจทำไม่ได้เลย (อย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ว่าไว้) ซึ่งในหลายๆ ครั้ง หนังทำให้เราได้เห็นว่า “ฝ้าย” ที่แม้จะหย่าขาดทางกายจากโอมแล้ว แต่ในทางใจ เธอยังคงเก็บเขาไว้เหมือนคนลืมไม่ลง และลึกๆ ดูเหมือนเธอจะยังหวังว่า รักที่พังทลายจะหวนคืนมาเป็นดังเช่นคืนวันอันเก่าก่อน...

นอกเหนือไปจากเก่งกับฝ้าย เราจะเห็นว่า หนังยังมีตัวละครอีกคู่หนึ่งซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หรือถ้าจะพูดให้ถูก เราควรจะเรียกว่าเป็นคู่ชูโรงเสียด้วยซ้ำ เพราะเรื่องราวระหว่างคุณลุงจำรัส (กฤษณ เศรษฐธำรงค์) กับป้าสมพิศ (ศันสนีย์ วัฒนานุกูล) ที่พรหมลิขิตบันดาลให้มาพบรักกันในวัยชรานั้น หนังบอกเล่าได้อย่างแพรวพราวมีชีวิตชีวาชนิดที่เรียกได้ว่า เรื่องรักของหนุ่มสาวรึ? ชิดซ้ายไปเลย (ใครอยากดูว่า เวลาที่ผู้สูงอายุจีบกันนั้น น่ารักน่าชังแค่ไหน บอกได้เลยว่า คุณไม่ผิดหวังแน่ๆ :)

ถ้าเรื่องราวระหว่างเก่งกับฝ้าย เป็นภาพแทนของความทรงจำอันเจ็บปวด เป็นเรื่องของคนที่อยากลืม แต่ไม่สามารถจะลืมได้ (และที่จริง ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ฝ้ายฝ่ายเดียวหรอกครับที่ปวดร้าวกับความทรงจำ แต่หมอหนุ่มก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้เช่นกัน เพราะอย่าลืมนะครับว่า เก่งเองก็เคยเจ็บปวดไม่น้อยเช่นกัน กับการที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยหกล้มหัวใจถลอกมาแล้วกับรักแรก) เรื่องรักระหว่างลุงจำรัสกับป้าสมพิศก็คือเรื่องราวของคนที่ต้องการจะเก็บความทรงจำไว้ให้นานเท่านาน แต่สุขภาพสังขารกลับไม่เป็นใจ และนั่นก็เป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ที่ถูกบอกผ่านเนื้อหาในเพลงประกอบซึ่งลุงจำรัสกับป้าสมพิศขับร้องให้เราฟังอยู่บ่อยครั้งว่า อยากจำ กลับลืม อยากลืม กลับจำ...

ท่ามกลางเรื่องราวเศร้าๆ ซึ้งๆ ของคู่รักสองวัย ผมคิดว่า ผลงานการกำกับของคุณยงยุทธ ทองกองทุน เรื่องนี้ สามารถผสมผสานส่วนประกอบต่างๆ ออกมาได้อย่างลงตัวจนออกมาเป็นหนังที่ดูสนุกและดูแล้วมีความสุข หนังมีซีนซึ้งๆ คำพูดคมๆ มากเท่าๆ กับมุกฮาๆ ขำๆ ที่หยอดใส่คนดูอยู่เรื่อยๆ และก็เหมือนกับหนังจีทีเอชหลายๆ เรื่องที่ “เอาคนดูอยู่” คือสามารถดึงความสนใจของผู้ชมให้อินอยู่กับหนังได้ตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความรู้สึกอยากรู้อยากติดตาม

พ้นไปจากนี้ ผมคิดว่า การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ก็ถือเป็นความคมคายอีกอย่างของหนัง ปลาทองเอย ต้นชมพู่มะเหมี่ยวเอย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวเปรียบเทียบที่ช่วยขับเน้นให้ประเด็นของหนังมีพลังและชัดเจนขึ้น แม้กระทั่งเจ้า “สะพานลอย” สุนัขที่บาดเจ็บและพลัดหลงจากเจ้าของนั้น จะว่าไป ก็อาจเทียบเคียงได้กับตัวละครอย่าง “ฝ้าย” ที่กำลังบาดเจ็บทางใจและมองหา “เจ้าของ” ที่จะครองชีวิตคู่อยู่ร่วมกับเธอได้จริงๆ

มีฉากในเชิงสัญลักษณ์ฉากหนึ่งซึ่งผมคิดว่าหนังทำได้ดีมากๆ ก็คือ ตอนถอนต้นชมพู่มะเหมี่ยว เพราะขณะที่ “ฝ้าย” เธอบอกว่า ให้ตัดรากแก้วของต้นชมพู่ออกไปนั้น หนังก็ดูเหมือนจะเฉลยให้เรารู้อยู่กลายๆ ถึงการปลดปล่อยตัวเองออกจากแผลใจในอดีตของฝ้ายเช่นเดียวกัน หรือบางที แม้ว่าเธออาจจะไม่สามารถสลัดทิ้งเรื่องรักที่รวดร้าวไปได้โดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยๆ เราก็เห็นนิมิตหมายอันดีว่า นับจากนี้ หญิงสาวคงจะไม่จมปลักอยู่กับรักเก่าอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว

เช่นเดียวกับลุงจำรัสที่ความทรงจำถูกกัดกร่อนด้วยโรคอัลไซเมอร์ ในตอนแรก ผมนึกว่าหนังคงจะทำร้ายหัวใจผู้ชมแน่ๆ ด้วยการเน้นให้เราเห็นถึงภาพของชายชราผู้น่าสงสารที่เงอะๆ งะๆ จดจำอะไรไม่ได้ แม้กระทั่งใบหน้าคนรักของตัวเอง แต่ผิดถนัด และผมถือว่า หนังพลิกหาทางออกให้กับตัวละครได้อย่างแนบเนียนสวยงาม เพราะแทนที่จะปล่อยให้ลุงจำรัสหลงลืมป้าสมพิศด้วยฤทธิ์ของโรคร้ายไปเสียก่อน หนังก็จัดให้ตัวละครทั้งสองพบกับจุดเปลี่ยนในตอนท้ายที่พลิกความคาดหมายของคนดู ซึ่งนำไปสู่บทสรุปที่ซาบซึ้งกินใจ (จำถ้อยคำประโยคนั้นที่ลุงจำรัสจอมคารมคุยกับป้าสมพิศใต้ต้นชมพู่ในบ้านของลูกชายลุงจำรัสได้ไหมครับ?...คมมั่กๆ)

ว่ากันอย่างถึงที่สุด ขณะที่งานชิ้นนี้ทำให้คนดูเชื่อได้อย่างสนิทใจว่า ความรักของพวกเขาเหล่าตัวละครคงจะ (ยืน) “ยาว” เหมือนชื่อเรื่อง ผมก็เชื่อครับว่า นี่คืออีกหนึ่งผลงานของจีทีเอชที่จะติดแน่นอยู่ในความทรงจำของคนดูไปอีก “ยาว” (นาน) แน่ๆ แต่จะยาวไปถึง 90 ล้าน หรือ 100 ล้านบาทหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของจีทีเอชที่จะต้องไปลุ้นกันเอาเอง อิอิ...
กำลังโหลดความคิดเห็น