xs
xsm
sm
md
lg

หลวงพี่กับผีขนุน : ห่วยหรือดี อย่าดูแค่ที่ชื่อเรื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

จะมากจะน้อย ผมเชื่อว่าทุกๆ คนน่าจะเคยรู้สึกกันมาบ้างล่ะว่า ทำไม หนังไทยหลายๆ เรื่องถึงตั้งชื่อกันมาแบบนั้น บางคนอาจไปไกลถึงขั้นตำหนิเจ้าของไอเดียว่าตั้งชื่อหนังได้ไร้รสนิยมหรือเฉิ่มเชยเอามากๆ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ล้วนมาสรุปลงที่คำพูดประโยคเดียวกัน นั่นก็คือ แค่ได้ยินชื่อของหนัง ก็ไม่รู้สึกอยากจะไปดูแล้วล่ะ


และไม่มากไม่มาย ผมเชื่อว่า คงไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่รวมถึงหลายๆ คนที่จะมีความรู้สึกแบบนั้นกับหนังอย่าง หลวงพี่กับผีขนุน...

นี่คือผลงานการกำกับของคุณดุลยสิทธิ์ นิยมกุล และดูจากหน้าหนัง หลวงพี่กับผีขนุนถูกตกแต่งหน้าตาให้เป็นผลงานที่มี DNA ของหนังตลกผสมกับหนังผี แต่สิ่งที่คนดูจะไม่มีทางรู้เลย จนกว่าจะได้ดูก็คือ นี่เป็นหนังที่จัดได้ว่าค่อนข้างมีสาระกว่าที่คิดไว้หลายช่วงตัว

ทศพล ศิริวิวัฒน์ หรือ “ทศ 108 มงกุฎ” มาในบทของ “เสือ” เซลล์แมนจอมลวงโลกที่ชีวิตกำลังจนมุม จากการไล่ล่าของตำรวจหนุ่มหน้าเหลี่ยมอย่าง “จ่าคงเดช” (หม่ำ จ๊กมก) เมื่อหมดทางไป เซลล์แมนหนุ่มนักต้มตุ๋นจึงตัดสินใจโกนผมห่มผ้าเหลืองบวชพระตามคำขอร้องของแม่ อย่างไรก็ดี ชีวิตในวัดของหลวงพี่เสือกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะหลังจากบวชได้ไม่กี่วัน พระหนุ่มรูปใหม่ก็มีอันอยู่ไม่เป็นสุข เพราะวิญญาณของผียายปริกที่ออกหลอกหลอนไม่เว้นแต่ละคืน

นอกจากบอกว่า พระก็กลัวผีเป็นเหมือนคนทั่วๆ ไป ผมคิดว่า โดยเนื้อหาภาพรวมทั้งหมด สิ่งที่ “หลวงพี่กับผีขนุน” พูดได้ชัดถ้อยชัดคำที่สุดก็คือ การเปลี่ยนผ่านและเติบโตของผู้ชายคนหนึ่งซึ่งทั้งชีวิตที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่เอาอ่าวอะไรสักอย่าง และก็ไม่ผิดแต่อย่างใดเลยครับ ถ้าใครจะนับว่า นี่คือหนังคัมมิ่งออฟเอจ (Coming of Age) อีกเรื่องหนึ่ง

Coming of Age เป็นแนวทางหนึ่งของหนังที่พูดถึงการเติบโตทางความคิดความอ่านของตัวละครผ่านเหตุการณ์บางอย่างที่จะปรับระดับสายตาในการมองโลกมองชีวิตของพวกเขาให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญ ได้โปรดอย่าเข้าใจนะครับว่า Coming of Age จะต้องเกิดขึ้นกับตัวละครที่เป็นเด็กๆ หรืออายุน้อยๆ เท่านั้น เพราะว่ากันตามจริง คนเรา แม้ตัวจะโต อายุจะเยอะ ก็ใช่ว่าจะเข้าอกเข้าใจอะไรๆ ทั้งหมดเสมอไป แต่มันจะมีจุดเปลี่ยนและบทเรียนใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยสั่งสอนให้เราเติบโตได้เรื่อยๆ ในทางความคิด

และสำหรับหนุ่มใหญ่อย่าง “เสือ” จุดเปลี่ยนที่ว่านั้นก็คือ การบวชพระ

ดังนั้น มันจึงไม่สำคัญหรอกครับว่า “ผีขนุน” จะหลอกได้เฮี้ยนแค่ไหน เพราะสาระที่หนังจะพูดกับคนดูจริงๆ ก็คือ ประสบการณ์ในชีวิตผ้าเหลืองนั้นกำลังทำให้ผู้ชายคนหนึ่งยกเครื่องความคิดตัวเองใหม่หมด หรืออย่างน้อยที่สุด เราก็น่าจะคาดหวังได้ว่า หลังจากสึกออกมาแล้ว ทิดเสือคงไม่ไปก่อกรรมทำเข็ญต้มตุ๋นชาวบ้านอีกอย่างที่เคยทำมา (ผมไม่รู้นะครับว่าหนังจงใจแค่ไหนในการตั้งชื่อตัวละครเอกว่า “เสือ” แต่เมื่อมองดูที่เนื้อหาตัวละคร มันเหมาะมากๆ กับคำเปรียบเปรยอย่าง “เสือกลับใจ”)

โอเคล่ะ การบวชอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของหนุ่มเสือ แต่สำหรับหนัง ผมคิดว่ามันคือลูกเล่นอย่างหนึ่งซึ่งคนทำหยิบมานำเสนอได้น่าสนใจ เพราะนอกจากจะสะท้อนถึงวิถีประเพณีไทยแบบดั้งเดิมแล้ว ยังเกี่ยวเอาเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับการอุปสมบทติดมาด้วย เพราะแต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเราเชื่อกันว่า การบวชพระ นอกจากจะเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ยังถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ชายเติบโตเป็น “ผู้ใหญ่” มากขึ้นด้วย ซึ่งจากเรื่องราวพระเสือในหนัง “หลวงพี่กับผีขนุน” ก็คือกรณีตัวอย่างที่สะท้อนภาพความเชื่อแบบนี้ออกมาอย่างแจ่มชัด

แต่รู้ไหมครับ ผมชอบอะไรในหนังเรื่องนี้?

เพลงประกอบครับ เลือกมาได้เหมาะเจาะเหมาะเหม็งมากๆ เรียกว่าพอได้ยินปุ๊บนี่รู้เลยว่า บ้านนี้มีงานบวชแน่ๆ หรือเพียงแค่ได้ยินเสียงร้องของคุณไวพจน์ เพชรสุพรรณ กับคุณละอองเพชร แสงพราว กลิ่นผัดหมี่ กลิ่นแกงฟักทองของงานบวชงานบุญก็โชยกรุ่นมาเลยทีเดียว

จากหน้าหนังที่ดูเหมือนจะเน้นขายความฮา เอาเข้าจริงๆ ผมกลับเห็นว่า สิ่งที่โดดเด่นเหนือสิ่งอื่นใดใน “หลวงพี่กับผีขนุน” กลับเป็นเรื่องของเนื้อหาที่แม้ว่าจะไม่ได้เลิศเลออะไรนัก แต่ก็มีแก่นเรื่องที่จับต้องได้ เพราะนอกเหนือไปจากพล็อตหลักที่เกี่ยวกับหลวงพี่เสือ หนังยังมีพล็อตรองที่เกี่ยวข้องกับผียายปริกและจ่าคงเดชที่มาพร้อมกับบทสรุปในเรื่องบาปบุญคุณโทษและการให้อภัย เช่นเดียวกับแง่มุมความรักระหว่างแม่ลูกที่มาสุกงอมเด่นชัดขึ้นในช่วงท้ายๆ เรื่อง นั่นยังไม่นับรวมถึงหลวงตาชรารูปนั้นที่คำพูดคำจาราวกับกำลังนั่งเทศนาบนธรรมาสน์ยังไงยังงั้น

ว่ากันอย่างถึงที่สุด สำหรับผม หนังเรื่องนี้คือความบันเทิงแบบบ้านๆ ด้วยเนื้อเรื่องที่เกาะเกี่ยวเกี่ยวกับวิถีพื้นบ้านไทย พอดูได้ เรื่อยๆ แต่ไม่สนุกมาก หรือถ้าจะพูดกันตรงๆ เลยก็คือว่า มันยังไม่ใช่หนังที่ดีจนต้องมานั่งประนมมือสรรเสริญ แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ดูดีเกินไปกว่าจุดที่ผมคิดไว้หลายขุม ตอนได้เห็นชื่อ “หลวงพี่กับผีขนุน”
กำลังโหลดความคิดเห็น