xs
xsm
sm
md
lg

A Moment in June : เพราะนายทุนกับศิลปะ ใช่ว่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ไม่รู้ว่าผมจะมองโลกในแง่ดีไปคนเดียวหรือเปล่านะครับ กับการที่คิดว่า ในช่วงหลังๆ มานี้ ค่ายหนังอย่างสหมงคลฯ มีผลงานภาพยนตร์อยู่จำนวนหนึ่งซึ่งผมเห็นว่า เป็นการเปิดทางให้กับหนังที่ใส่อกใส่ใจกับความคิดสร้างสรรค์หรือการทดลองในเชิงศิลปะ

แน่นอนล่ะ นอกเหนือไปจาก “ความสุขของกะทิ” ที่ประดิษฐ์ประดอยราวกับงานแกะสลัก จนถึงตอนนี้ ผมก็ยังมองว่า หนังอย่าง “ฝัน หวาน อาย จูบ” นั้นมีเซ็นส์ของการทดลองในด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์อยู่สูงพอสมควร (โดยเฉพาะในเรื่อง “ฝัน” ของคุณมะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) เพียงแต่ที่มันไม่เวิร์กหรือคนดูส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ส่วนสำคัญ ผมคิดว่าน่าจะมาจาก “วิธีการขายของ” มากกว่าอื่นใด ที่ทำให้ผู้บริโภคหรือคนดูเกิดความคาดหวังไปอีกแบบ ขณะที่เนื้อหาตัวตนของหนังจริงๆ นั้นก็ไปกันคนละทิศละทาง พูดง่ายๆ ก็คือว่า คนดูอาจตั้งรับไม่ทันว่าจะได้มาเจออะไรแปลกๆ แบบนั้น ซึ่งถ้าคำโฆษณาสามารถให้ข้อมูลแก่คนดูให้รู้ตั้งแต่แรกว่าจะได้พบกับความแปลกแตกต่าง หนังก็อาจจะไม่โดนด่าอย่างที่เป็น (ผมไม่คิดว่าคนไทยจะเที่ยวไปก่นด่าอะไรก็ได้โดยไม่มีเหตุผล)

ครับ ที่พูดเปิดมาแบบนี้ จริงๆ ก็เพียงแค่อยากจะบอกว่า ที่ผ่านๆ มา ภาพของนายทุนส่วนใหญ่ในบ้านเรามักจะถูกมองเสมือนหนึ่งเป็น “ผู้ร้าย” มาโดยตลอด...ผู้ร้ายที่ทำร้ายหนังไทย ทำให้หนังไทยย่ำอยู่กับที่ เพราะคิดแต่เรื่องจะขายของอะไรทำนองนั้น แต่ถ้ามองกันด้วยใจกว้างๆ สักนิด ผมคิดว่า ค่ายหนังแต่ละค่ายในบ้านเรา ต่างก็มีผลงานประเภทที่ว่า “ใช้หัวใจทำ” แทรกแซมอยู่จำนวนหนึ่ง แม้จะเป็นจำนวนน้อยเพียงน้อยนิดเมื่อคิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ แบบ...ดีหนึ่งเรื่อง เน่าเก้าเรื่อง แต่ผมว่าก็ยังดีกว่าห่วยยกแผง

โอเคล่ะ ผม-อาจจะ-ไม่รู้ว่า กว่าที่หนังแต่ละเรื่องจะผ่านการอนุมัติจากเจ้าของเงินนั้น ต้องไฟท์กันมาลำบากยากเย็นแค่ไหน แต่เมื่อมีหนังดีๆ สักเรื่องผ่านมาได้ ผมก็ดีใจด้วย และคนๆ หนึ่งซึ่งเราต้องขอบคุณก็คือ นายทุนเจ้าของเงิน ที่ไม่ได้เพลิดเพลินแต่การประกอบธุรกิจหนังเพื่อหาตังค์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี “สายตา” (Vision) ที่มองว่าตนเองนั้นคือฟันเฟืองตัวหนึ่งซึ่งสามารถช่วยขับเคลื่อนพัฒนาหนังไทยไปด้วยในขณะเดียวกัน ด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับหนังแบบหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองอะไรมากมายในแง่ของรายรับ แต่ก็คับแน่นด้วยคุณภาพและศาสตร์ศิลป์แห่งภาพยนตร์จริงๆ

และนั่นก็คือสิ่งที่ผมรู้สึกต่อ A Moment in June...

หลังจากเริ่มถูกมองเห็นมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน จากผลงานหนังสั้นเรื่อง “จักรยานกับถ่านไฟฉาย” (Bicycle & Radios) ณัฐพล วงศ์ตรีเนตกุล เปิดตัวในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ต่อคนดูหนังในวงกว้างอย่างเป็นทางการกับหนังยาวเต็มรูปแบบเรื่องแรกในชีวิต A Moment in June หนังรักเหงาเศร้าที่พาเราเข้าไปสัมผัสกับเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครหลายๆ คู่ที่ต่างก็เป็นเสมือนภาพสะท้อนของกันและกัน และมีปัญหาคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ การปล่อยให้โอกาสดีๆ ในชีวิตหลุดลอยไป ก่อนจะมาสำนึกเสียใจในภายหลัง

ด้วยบรรยากาศอารมณ์ที่อยู่ในโทนเหงาๆ เศร้าๆ และการดำเนินเรื่องที่เนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป...“ชาคริต แย้มนาม” นักแสดงหนุ่มขวัญใจสาวๆ มาพร้อมกับบทบาทที่สุดแสนจะเซอร์ไพรซ์ในบทของ “ปกรณ์” ชายหนุ่มที่เริ่มรู้สึกว่า ชีวิตรักระหว่างเขากับ “พล” (นภัสกร มิตรเอม) กำลังเข้าสู่ช่วงไม่ราบรื่น และทั้งสองจำเป็นต้องแยกจากกันสักพัก เหมือนต้องการจะหยั่งเชิงหัวใจตัวเองว่า จะเป็นอย่างไร หากชีวิตนี้ไม่มีอีกฝ่ายอยู่เคียงข้าง

ขณะเดียวกันนั้น กาลเวลาในหนังก็จูงมือเราเดินทางย้อนหลังไปอีกหลายสิบปีก่อนหน้าเพื่อนำพาเราไปรู้จักกับคู่รักอีกหนึ่งคู่ ระหว่าง “กรุง” (สุเชาว์ พงษ์วิไล) กับ “อรัญญา” (เดือนเต็ม สาลิตุล) อย่างไรก็ดี แทนที่หนังจะเล่าอดีตรักของทั้งสองคนนี้แบบธรรมดาๆ เหมือนกับหนังทั่วๆ ไปที่ใช้วิธีการ Flash Back ไปทีละฉากสองฉาก A Moment in June กลับใช้สอยละครเวทีเป็นตัวเล่าเรื่องได้อย่างมีศิลปะ และนั่นก็ทำให้เราได้มีโอกาสชมฝีมือการแสดงอันดีเด่นของนักแสดงอีกสองคนคือ นุ่น-สินิทธา บุญยศักดิ์ กับ น้อย-กฤษฎา สุโกศล แคลปป์

ไม่ว่าจะอย่างไร ในขณะที่หนังพาเราออกเดินทางติดตามเรื่องราวความรักของพวกเขาไปเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดเด่นมากๆ ของหนังเรื่องนี้ก็คือ งานด้านโปรดักชั่นที่ดีไซน์ออกมาได้สวยงามน่าหลงใหล โดยเฉพาะสีสันอ็อพชั่นในสไตล์ย้อนยุคที่หลายๆ คนบอกว่าเหมือนกับหนังของหว่องการ์ไวเอามากๆ นั้น ก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะผู้กำกับเขาก็บอกผ่านบทสัมภาษณ์ในหลายที่หลายแห่งแล้วว่า เขาชอบหนังของหว่องการ์ไวอย่างมากมาย และเมื่อชอบกันถึงขนาดนั้น ก็ย่อมต้องมีกลิ่นอายติดมาบ้าง นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า ฉากบางฉาก (อย่างฉากในตรอก) คุณณัฐพลเขาก็บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นเสมือนฉาก “บูชาครู” โดยเฉพาะ

นอกเหนือไปจากมุมกล้องสวยๆ ที่ผ่านการจัดแสงเงามาอย่างประณีตบรรจง ผมเห็นว่าเทคนิคแบบหนึ่งซึ่งหนังใช้อย่างจงใจอยู่หลายครั้ง นั่นก็คือ การเคลื่อนที่ของกล้องในลักษณะซูมเอาต์ (กล้องค่อยๆ ถอยออกห่างจากตัวนักแสดง) แน่นอนว่า ลักษณะการมูฟเมนต์ของกล้องแบบนี้ไม่ได้มีไว้ทำเท่ แต่มันเป็นสัญลักษณ์แทนการ “จากลา” ของตัวละครในเรื่องได้เป็นอย่างดี

เหนืออื่นใด ไม่ว่าหนุ่มชาคริตจะเล่นเป็นเกย์หรือไม่ ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลย เพราะถึงที่สุดแล้ว เนื้อหาที่หนังต้องการจะบอกจริงๆ นั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าใครจะเป็นเกย์หรือไม่เป็น แต่มันพูดถึงเรื่องของ “โอกาส” ในชีวิตที่เราจะได้รักและอยู่ร่วมกับใครสักคน ซึ่งโอกาสที่ว่านั้น ถ้าเราปล่อยให้หลุดลอยไปในหนแรก ฟ้าดินก็อาจจะไม่หยิบยื่นโอกาสครั้งที่สองให้เราอีกเลย

เพราะโอกาสไม่เหมือนกับชิงช้าสวรรค์...(สังเกตไหมครับว่า หนังถ่ายซีนที่น้าสุเชาว์ยืนข้างๆ ชิงช้าสวรรค์อยู่หลายครั้ง) ชิงช้าสวรรค์ที่หมุนวนมาจุดเดิมได้ แต่โอกาสบางโอกาสพลาดแล้วไม่มีหนสอง เฉกเช่นสายลมที่ผ่านเลย...

ไหนๆ ก็พูดมาถึงเรื่องลม ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้ใช้สอย “ลม” ราวกับเป็นนักแสดงคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่เริ่มเรื่อง หนุ่มปกรณ์...อันที่จริง เราควรเรียกเขาว่า “สาวปกรณ์” จะถูกต้องกว่าไหม :) ...ก็เปิดประเด็นกับคนรักของเขาเรื่อง “ลม” ก่อนแล้ว ขณะที่ฉากซึ่งน้าสุเชาว์นั่งคุยกับคุณเดือนเต็มภายในห้อง กล้องก็จับภาพของตัวละครที่นั่งอยู่หลัง “พัดลม” ยิ่งไปกว่านั้น ตอนที่นุ่น-สินิทธา คุยกับ น้อย-กฤษฎา ก็ยังอุตส่าห์มีบทสนทนาที่พาดพิงไปถึงลมและพูดชัดเจนเลยว่า สายลมนั้นพัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ มันคืออุปมาของหนังที่ต้องการบอกกับทุกๆ คนว่าโอกาสนั้นก็เหมือนกันกับสายลมที่เมื่อพัดผ่านไปแล้ว อาจไม่ย้อนคืนมาอีก

เพราะความเด็ดขาดของ A Moment in June ในหลายๆ ด้านที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของคนทำ ทั้งศิลปะวิธีการเล่าเรื่อง งานโปรดักชั่น การแสดงอันแนบเนียนน่ายกย่องของนักแสดงทุกๆ คน รวมไปจนถึงเรื่องราวเนื้อหาซึ้งๆ คมๆ เช่นเดียวกับเพลงประกอบอย่าง “ท่าฉลอม” ที่ก็ขับกล่อมย้อมอารมณ์เคลิบเคลิ้มชวนฝันได้เป็นอย่างดี...นั้นทำให้ในตอนแรก หลังจากที่ได้ดู ผมเกิดไอเดียที่จะพาดหัวบทความนี้ว่า “A Moment in June : คือความสมบูรณ์และงดงาม ในความเป็นหนังรัก” แต่มาคิดดูอีกที นี่ควรจะเป็นโอกาสดีๆ ที่เราจะได้สื่อสารบางสิ่งซึ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นหรือเปล่า? (และผมก็ไม่อยากปล่อยให้ “โอกาสดีๆ” แบบนี้หลุดลอยไปเหมือนตัวละครในหนังเช่นกัน :)

แน่นอนครับ ถ้าหากตัวละครใน A Moment in June พากันรำพึงรำพันอย่างรันทดถึง “สายลมแห่งโอกาส” ที่พวกเขาปรารถนาให้มันพัดหวนคืนมาอีกครั้ง เพื่อว่าพวกเขาจะได้แก้ไขบางสิ่งบางอย่าง ผมก็ยังหวังอยู่นะครับว่า หนังอย่าง A Moment in June นี้คงมิใช่แค่สายลมวูบเดียวในอาณาจักรแห่งอุตสาหกรรมหนัง แต่มันยังจะมี “สายลม” แบบ A Moment in June อีกหลายวูบพัดตามมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะตอกย้ำว่า นายทุนกับภาพยนตร์ที่งดงามด้วยชั้นเชิงทางศิลปะนั้น สามารถอยู่ร่วมบ้านหลังเดียวกันได้จริงๆ...
กำลังโหลดความคิดเห็น