xs
xsm
sm
md
lg

เทพีไอซิส/ นพวรรณ สิริเวชกุล

เผยแพร่:   โดย: นพวรรณ


โดย นพวรรณ สิริเวชกุล

คลิกที่ไอคอนด้านบนเพื่อ ชม และ ฟัง ในรูปแบบ MULTIMEDIA

เทพีไอซิสเป็นธิดาของรา RA สุริยเทพผู้ซึ่งเป็นฟาโรห์องค์แรกของอียิปต์ ซึ่งมีโอรสและธิดา ๕ องค์ด้วยกัน ทั้งเทพีไอซิสและเทพโอซิริส( Osiris) ต่างก็เป็นบุตรของรา ที่ได้อภิเษกกันเอง เฉกเดียวกับเทพเซตและเทพีเนพทิส จะมีก็เพียงเทพฮามาคิสเท่านั้นที่ไม่ได้อภิเษกกับผู้ใด

ในความเชื่อของขาวอียิปต์ ต่างยกย่องให้ไอซิสเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ขณะที่เทพโอซิริสเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังยกย่องให้เทพีไอซิสเป็นตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความจงรักภักดีต่อสามีตัวเองอย่างไม่เสื่อมคลาย และยังเชื่อว่าพระนางเป็นผู้สอนให้ชาวอียิปต์รู้จักการทำกสิกรรม รู้จักการทำแป้งสาลี ปั่นด้ายทอผ้า รวมทั้งการรักษาโรคขั้นพื้นฐานต่างๆอีกด้วย

ในปัจจุบันหลายคนอาจสับสนระหว่างเทพีไอซิสกับเทพีฮาเทอร์ที่มักจะมีสัญลักษณ์คล้ายๆ กัน นักวิชาการทางไอยคุปต์กล่าวสรุปไว้ว่าให้สังเกตุที่เทพีไอซิสจะอยู่ร่วมกับเทพโอซิริสและเทพฮอรัส ขณะที่เทพีฮาเทอร์นั้นมักพบรูปสลักของพระนางในกริยาดูแลทารกและรับใช้กษัตริย์

ตามผนังของวิหารต่างๆ เราจะพบภาพของเทพีไอซิสที่มีสัญลักษณ์ต่างๆ บนเศียรเสมอ เช่น สัญลักษณ์ที่เป็นแผ่นวงกลมที่เรียกกันว่าแผ่นสุริยะ ติดอยู่ระหว่างเขาวัว บางครั้งเศียรของพระนางก็เป็นหัววัวเสียเองกล่าวว่าช่วงนั้นพระนางได้รับคำแนะนำจากเทพเจ้าทอตให้แปลงร่างเพื่ออำพรางตัวจากเทพเซต แต่บางครั้งเราอาจเห็นเทพีไอซิสมีเศียรประดับด้วยจันทร์เสี้ยว หรือบางครั้งก็จะเป็นดอกบัวขาวบ้างก็มีแซมด้วยดอกข้าวสาลี

วิหารที่ถือว่าเป็นของเทพีไอซิสนั้น คือวิหารแห่งฟิเล่ เป็นเกาะเล็กๆกลางแม่น้ำไนล์ ถือเป็นวิหารขนาดเล็กที่สวยงาม ภายในประดับประดาด้วยภาพแกะสลักบนแผ่นหิน จารึกเกี่ยวกับความรักของพระนางที่มีต่อสวามีเทพโอซิริสและโอรสของพระนางเทพฮอรัส

แม้ว่าตำนานรักของพระนางจะถูกเสริมเติมแต่งมากมาย แต่ข้อใหญ่ใจความที่ทำให้หลายคนอดทึ่งและรู้สึกศรัทธาต่อพระนางไม่ได้ก็คือ เรื่องการของออกตามหาร่างของสวามีที่ถูกน้องชายปองร้าย

หลังจากเทพโอซิริสและเทพีไอซิสขึ้นครองบัลลังค์ต่อจากเทพราแล้ว ก็ยังความริษยามาสู่เทพเซตอย่างล้นเหลือ จนกระทั่งออกอุบายลวงพี่ชายตัวเองด้วยปรารถนาในบัลลังก์ เทพเซตจึงสร้างหีบขึ้นมาอย่างวิจิตรงดงาม และนำไปถวายแด่เทพโอซิริส โดยมีข้อแม้ให้เทพโอซิริสเสด็จทอดร่างลงไปในหีบใบนั้น

ด้วยความวิจิตรงดงามทำให้เทพโอซิริสมิได้เอะใจถึงความร้ายกาจของอนุชาตัวเอง พระองค์เสด็จลงไปทอดร่างในหีบพร้อมกับที่เทพเซตผนึกฝาแน่นสนิทแล้วนำไปลอยในแม่น้ำไนล์ หีบนั้นลอยไปติดกับอยู่กับต้นทามาริสต์กระทั่งกิ่งก้านของมันห่อหุ้มหีบจนมิดชิด ราชาแห่งนครไบลอสนำต้นไม้ดังกล่าวไปสร้างเป็นเสาประดับในท้องพระโรงของตัว โดยไม่ได้รู้ว่าภายในมีหีบบรรจุร่างของเทพโอซิริสอยู่....

ข้างฝ่ายเทพีไอซิสได้ออกตามหาร่างของสวามี กระทั่งรู้ว่าอยู่ในเมืองไบลอสจึงจำแลงร่างเป็นหญิงชราเพื่อเข้าไปดูแลโอรสแห่งราชาไบลอส...ทุกค่ำคืนพระนางจะลอบมาร่ำไห้กับเสาที่บรรจุร่างของเทพโอซิริส จนกระทั่งราชินีแห่งไบลอสรู้ความจริง และด้วยความเห็นใจ จึงมอบเสาต้นนั้นกลับคืนให้แก่เทพีไอซิส กลับไปยังเกาะแซมมิส ที่หลบซ่อนตัวจากเทพเซต

เทพเซตยังไม่หยุดความอำมหิต ยังคงตามมาราวีถึงเกาะแซมมิส พร้อมฉีกร่างของเทพโอซิริสออกเป็น ๑๔ ชิ้น แล้วเหวี่ยงกระจัดกระจายไปทั่วแผ่นดินอียิปต์ เทพีไอซิสไม่ละความพยายาม พระนางยังเร้นตัวออกตามหาร่างกายของสวามีตัวเอง ดินแดนที่พบชิ้นส่วนพระนางจะสร้างเสาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์กระทั่งครบทั้ง ๑๔ แห่ง

จากนั้นพระนางได้นำชิ้นส่วนทั้งหมดของเทพโอซิริสมาประกอบ พร้อมชโลมด้วยน้ำมันหอมระเหยแล้วห่อด้วยผ้าขาวเนื้อดี เพื่อให้เทพโอซิริสมีชีวิตเป็นนิรันดร์ กล่าวกันว่านี่คือต้นกำเนิดการทำมัมมี่ของอียิปต์

นึกถึงความพยายาม ความอดทน บากบั่นในการค้นหาเทพโอซิริสของเทพีไอซิสแล้ว ทำให้หลายคนยกย่องว่านี่คือตำนานรักที่ยิ่งใหญ่ตำนานหนึ่งที่เราเคยได้รู้จักค่ะ.

สามารถรับฟังย้อนหลัง รายการ ต่างสมัย รอยไทย โดย นพวรรณ สิริเวชกุล ได้ทาง
www.managerradio.com   
         

กำลังโหลดความคิดเห็น