xs
xsm
sm
md
lg

In My Skin : แล่เนื้อ...เถือหนัง

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

ประวัติโดยสังเขปของ มารินา เดอ วอง ที่ปรากฏในเว็บไซต์ imdb.com ระบุว่า เธอเกิดเมื่อปี 1971 จบการศึกษาด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยซอร์บอน จากนั้นไปศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ที่ ลา เฟมีส์ โรงเรียนหนังชื่อดังของฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส

เดอ วองฝึกวิชาที่ลา ฟามีส์สำเร็จในปี 1996 หลังจากนั้นก็เข้าสู่วงการเต็มตัวโดยทำหน้าที่สารพัดตำแหน่ง ทั้งกำกับหนังสั้น แสดง และเขียนบท - กว่าครึ่งของงาน 2 ประเภทหลังเป็นการทำงานร่วมกับ ฟรองซัวส์ โอซง ผู้กำกับชื่อดังของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นของเธอที่ลา เฟมีส์ (หนังของโอซงที่เดอ วองร่วมเขียนบทด้วยก็เช่น See the Sea, Criminal Lovers, 8 Women)

In My Skin เป็นผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวชิ้นแรกของมารินา เดอ วอง หนังออกฉายในปี 2002 ในงานชิ้นนี้ นอกจากเดอ วองจะลงมือกำกับเองแล้ว เธอยังเขียนบทเอง และรับบทนำเองอีกด้วย

ตัวเอกของหนังคือ เอสแตร์ หญิงสาวหน้าแปลก ผมดำขลับยาว วัยราว 30

เทียบกับคนรุ่นเดียวกัน สถานภาพของเอสแตร์ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจค่อนข้างมาก เธอมีงานทำในบริษัทประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่ง หน้าที่การงานกำลังรุ่ง อีกทั้งยังมีแฟนหนุ่มหล่อสาวกรี๊ดที่คอยเป็นห่วงเป็นใยเอาใจใส่เธอไม่ขาด

เหตุการณ์พลิกผันที่ทำให้ชีวิตของเอสแตร์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เกิดขึ้นในคืนวันหนึ่ง ในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่ง

คืนนั้น ขณะที่คนอื่นๆ กำลังดริ๊งค์กันมัน เต้นกันกระจาย เอสแตร์กลับไปเดินซุกซนในสวนที่เต็มไปด้วยเครื่องมือช่างต่างๆ แล้วก็ดันพลาดล้ม ขาของเธอไปฟาดผัวะเอากับของมีคมอะไรสักอย่างจนเกิดเป็นแผลเหวอะหวะฉกรรจ์น่าสยดสยอง

ความแปลกก็คือ เอสแตร์กลับไม่ได้รู้สึกเจ็บแปลบปวดปลาบ หรือกระทั่งรับรู้ถึงการมีอยู่ของบาดแผลขนาดใหญ่นั้นด้วยซ้ำ

ประหลาดกว่านั้นคือ บาดแผลดังกล่าว ในเวลาต่อมากลายเป็นจุดตั้งต้นให้เอสแตร์หลงใหลคลั่งไคล้การ ‘ชำเรา’ สารพัดอย่างกับเนื้อหนังและเรือนร่างของตนเองอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

เธอทั้งกรีด จิ้ม ทิ่ม ข่วน กระซวก แทง

หนักข้อเข้าก็ถึงกับเฉือน แล่ แล้วรับประทานมันเสียเลย!

ดิฉันได้ดีวีดี In My Skin เป็นของตัวเองเมื่อหลายปีก่อน ตั้งแต่คราวที่หนังออกแผ่นใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ครั้งนั้นดิฉันทนดูได้ราว 20 นาทีก็รีบปิด เพราะมันหวาดเสียวเกิน (ดิฉันหยุดตัวเองไว้ตรงเหตุการณ์ที่เอสแตร์เริ่มแงะๆๆ บาดแผลของเธอเป็นครั้งแรก)

เปิดดูอีกทีหนนี้ดิฉันกลั้นใจดูจนกระทั่งจบ และพบว่า พ้นจากความหวาดเสียวและภาพที่ชวนให้คอขย้อนต่างๆ แล้ว In My Skin ยังมีหลายอย่างที่น่าสนใจ และก็ถือเป็นหนังที่ ‘น่าจดจำ’ เรื่องหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย

สิ่งที่ดิฉันชอบมากที่สุดของหนัง คือการที่มันสร้างความอึดอัดและความรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้องให้แก่ผู้ชมได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ครั้งแรกที่เอสแตร์ลงมือกรีดตัวเอง หนังไม่ได้ส่งสัญญาณให้ผู้ชมล่วงรู้ล่วงหน้าเลยว่าเธอจะทำเช่นนั้น (ในฉากดังกล่าว เอสแตร์นั่งพิมพ์รายงานชิ้นหนึ่งอยู่ที่โต๊ะ เธอทำท่าหงุดหงิดงุ่นง่านเพราะคิดงานไม่ออก แล้วจู่ๆ เธอก็ลุกขึ้นจากโต๊ะ เดินดิ่งไปที่ห้องเก็บของ ถกกางเกงลง แล้วลงมือแล่เนื้อเถือหนังตัวเองเฉยเลย)

หลังจากนั้นหนังก็ไม่ได้มีคำอธิบายชัดๆ ว่าเอสแตร์เป็นอะไร อาการของเธอเป็นเช่นไร ขอบเขตของอาการอยู่ตรงไหน หนังเพียงแต่แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงที่เธอทำกับตัวเองนั้นหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนเธอจะไม่สามารถควบคุมมันไว้ได้ มากกว่านั้นคือ ความปรารถนาจะถากเถือเนื้อหนังตนเองของเอสแตร์ มักจะเข้มข้นพุ่งกระฉูดในยามที่เธออยู่ในที่สาธารณะ

2-3 ประการที่กล่าวมา ทำให้ผู้ชมตกอยู่ในภาวะไม่คาดไม่ถูก เดาไม่ได้ ไม่กล้าไว้ใจในอะไร เพราะไม่อาจรู้ได้เลยว่าหนังจะมาไม้ไหน นอกจากนั้น การที่หนังทำให้เอสแตร์เป็นตัวละครที่น่าเห็นใจและเราควรจะเอาใจช่วย (เนื่องจากเธอเป็นทั้ง ‘ผู้กระทำ’ และ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ไปพร้อมๆ กัน เราได้เห็นว่าเธอรู้สึกแย่และเศร้าสาหัสกับอาการป่วยของตัวเอง ทว่าไม่รู้จะจัดการมันอย่างไร) ก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะเกิดอาการ ‘ดูไป บ่นไป’ คอยลุ้นว่า “อย่านะเธอ...อย่านะ” โดยตลอด

ฉากที่น่าอึดอัดที่สุดในความเห็นของดิฉัน คือ คราวที่เอสแตร์นั่งร่วมโต๊ะอาหารกับลูกค้าใหญ่และเจ้านายของเธอ ในช่วงเริ่มต้น ทุกอย่างดูราบรื่นปรกติ แต่แล้วเมื่อเธอตั้งต้นซดไวน์แก้วที่ 1 ตามด้วย 2 และ 3 และ 4 – 5 – 6 เราก็ได้เห็นว่าความป่วยไข้ของเธอเริ่มจะสำแดงอาการอีกครั้ง อีกทั้งยังทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างที่ลูกค้าและเจ้านายผูกสัมพันธ์ทางธุรกิจกันอย่างยืดยาว เอสแตร์ –ซึ่งอยู่ในฐานะที่ควรจะต้องรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองไว้ให้ดีที่สุด- กลับดวงตาเลื่อนลอยและจิตใจกำลังโหยหาคาวเลือดเนื้อหนังของตัวเองจนแทบจะลุกขึ้นมาจัดการมันเสียตรงนั้น

ตามความเข้าใจของดิฉัน อาการเจ็บป่วยของเอสแตร์ ความปรารถนากัดทึ้งเรือนร่างตัวเองของเธอ ถูกใช้เป็นภาพเปรียบเพื่อสะท้อนถึงความเปล่ากลวงขาดพร่องของมนุษย์ที่เวียนว่ายในวิถีชีวิตปัจจุบัน

ตลอดทั้งเรื่อง เราได้เห็นเอสแตร์อยู่ในฐานะที่น่าจะเรียกได้ว่า มีพร้อมแทบจะทุกอย่าง ทั้งที่อยู่ชั้นดี งานการที่กำลังรุ่ง อีกทั้งความสัมพันธ์ของเธอกับแฟนหนุ่มก็มีแนวโน้มสูงที่จะพัฒนาไปไกลต่อไปในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งดูเหมือนเธอจะขาด –หรืออย่างน้อยเราก็แทบไม่ได้เห็น- ก็คือ โอกาสที่เธอจะได้แสดง ‘ตัวตนที่แท้’ ของเธอออกมา

งานประชาสัมพันธ์ที่เธอทำ หัวใจสำคัญของมันก็คือ การ ‘สร้างภาพ’ กำจัดภาพลักษณ์ที่ด่างพร้อยของลูกค้ารายนั้นๆ ให้หมดไป รักษาและเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีไว้ให้ได้

ขณะที่คนรักของเอสแตร์นั้น แม้เขาจะปฏิบัติต่อเธอด้วยความรักความเอาใจใส่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทว่าในอีกด้านหนึ่ง หนังก็แสดงให้เห็นเหมือนกันว่า ความเอาใจใส่ของเขานั้น บางทีมันก็มากไป และมันก็ผลักดันให้เอสแตร์ตกอยู่ในอาการที่คล้ายๆ จะอึดอัด กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่บ่อยครั้ง

ฉากหนึ่งที่น่าจะอธิบายประเด็นของหนังได้ดี ก็คือ ครั้งหนึ่ง ขณะเอสแตร์กำลังเดินทางไปที่ทำงาน เธอพาตัวเองไปอยู่ในที่สาธารณะแห่งหนึ่งที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน ระหว่างนั้น จู่ๆ อาการของเธอก็กำเริบขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และภาพที่เธอเห็นในเวลานั้นก็คือ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามที่เดินป่ายปะห้อมล้อมกลายเป็นภาพเลือนพร่า ใบหน้าของทุกคนกลายเป็นภาพมัวๆ จนไม่อาจจำแนกแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร และคนคนหนึ่งแตกต่างจากอีกคนที่ตรงไหน

การที่เอสแตร์กัดกลืนเนื้อหนังมังสาของตัวเอง นัยหนึ่งจึงอาจไม่ใช่การทำลายล้าง หากทว่าเป็นความพยายามที่จะรักษาตัวตนของตนเองไว้

อาจไม่ใช่ตัวตนที่สวยงาม แต่ถ้าทำมันหล่นหายหรือจำมันไม่ได้เสียแล้ว เราจะไม่อาจรู้ได้เลยว่า เราคือใคร และที่อยู่ๆ กันมานั้น แท้จริงแล้วเพื่ออะไรแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น