ด้วยชื่อเสียงและสถานะที่ไม่อาจจะเอามาเปรียบเทียบกันได้ เป็นเหตุให้ผมตัดสินใจอยู่นานเลยครับที่จะเขียนถึงชายคนนี้
ผู้ชายคนที่ชื่อ “แอ๊ด คาราบาว”
เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหน? หรือจะเขียนถึงประเด็นอะไร มันก็ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่า กระผมกระทาชายคนธรรมดาๆ คนหนึ่งเอาชื่อของนักร้องนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้มาทำมาหากินเรียกร้องความสนใจ
ทว่า หลังจากพิจารณาถึงความชอบส่วนตัว ผมว่ามันคงไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนัก (ใช่มั้ยครับ?) หากผมจะขอบันทึกเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ของผมที่มีต่อชายคนนี้ในฐานะแฟนเพลงคนหนึ่งของ “คาราบาว” (ที่อาจจะไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ถึงขนาดที่จะไปทราบถึงประวัติ(ความเป็นมา) ของวงดนตรีวงนี้อย่างละเอียด อาทิ จนถึงปัจจุบันสมาชิกคาราบาวมีใครบ้าง?, ผลงานที่ผ่านมามี่กี่อัลบัม-กี่เพลง?, เพลงนี้เคยอยู่ในอัลบัมอะไร? ใครใช้กีตาร์ยี่ห้ออะไร? เวลาว่างของพี่เทียรี่ชอบทำอะไร, พี่เล็กทำหนวดนานมั้ยก่อนขึ้นเวที? ฯลฯ)
ไม่ต้องเกริ่นอะไรกันมากมาย เชื่อว่า หลายคนคงรู้จักพื้นฐานของวงดนตรีวงนี้เป็นอย่างดี
จากบันทึกประวัติศาสตร์ที่เป็นความทรงจำส่วนตัวของผม คาราบาวหรืออีกนัยส่วนใหญ่ก็คือ ตัวของ แอ๊ด คาราบาว เองเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นับตั้งแต่อัลบัม “สาวเบียร์ช้าง” ที่ออกมาในราวๆ เดือนธันวาคม 2544 ก่อนจะต่อเนื่องด้วยอัลบัมนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2545
สาเหตุที่สำคัญก็คงจะเป็นเพราะงานอัลบัมที่ผ่านๆ มานั้น เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ของคาราบาวถูกเขียนขึ้นมาด้วยสายตาระนาบเดียวของ “คนติดดิน” ด้วยสายตาระนาบเดียวกับของคนที่ถูกระบบราชการ นักการเมือง เรื่อยไปจนถึงความเป็น “ทุนนิยม” อันหมายถึงความเจริญในเรื่องของวัตถุ เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งแนวคิดค่านิยมสมัยใหม่ เบียดเบียน แสวงหาผลประโยชน์ และกดขี่ให้กลายเป็นเพียง “คนตัวเล็ก” ที่ไร้ค่า ไร้ปากไร้เสียง ไร้ซึ่งสิทธิอำนาจการต่อรองในสังคม
จะมีมากก็เพียงอย่างเดียว ก็คือ “แรงงาน” หรือผลิตภัณฑ์ที่แลกด้วย ค่าเหนื่อย ที่ถูกตอบแทนด้วยอัตราค่าว่าจ้าง ค่าใช้จ่ายในราคาถูก
คนเหล่านั้นที่ประกอบไปด้วย ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ กรรมการ สาวโรงงาน คนที่ทำมาหากินเพียงเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ หรือแม้กระทั่งขี้เมา คนเร่ร่อน ฯ ที่ต่างก็ได้รับกำลังใจ หรืออย่างน้อยๆ ก็รู้สึกว่ามีเสียงเพลงของคาราบาวเป็นเพื่อนที่รู้ใจ มีคนที่พูดคุยในภาษาเดียวกันรู้เรื่อง
ด้วยเหตุผลที่ว่าบทเพลงของคาราบาวในการรับรู้ระยะแรกๆ จึงมิใช่เพียง “สินค้า” ทางอารมณ์เท่านั้น หากแต่ยังกินใจก้าวไกลไปถึง “แนวคิดทางสังคม” ในความรู้สึกของใครหลายๆ คนที่ย่อมจะคาดหวังไปถึงว่าตัวตนของนักร้องนักดนตรีเองก็น่าจะเป็นอย่างที่เขาถ่ายทอดออกมาด้วย
ในอัลบัมสาวเบียร์ช้าง และนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ (และอีกหลายชุดต่อมา) แม้เนื้อหาของงานเพลงส่วนใหญ่จะยังคงพยายามเดินตามในแนวรอยทางเส้นเดิม แต่เพราะการที่ตัวของแอ๊ดเอง ซึ่งชีวิตจริงหันไปวางตัวใกล้ชิดกับระบบทุนมากขึ้น ทั้งการรับหน้าที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งการก้าวเลยไปเป็นเจ้าของเครื่องดื่มบำรุงกำลังนั่นเองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นมาทันที
เป็นความขัดแย้งระหว่างงาน (เพลง) ที่เขาทำ กับสิ่งที่เขาเป็นในสายตาของคนทั่วไป
นับจากนั้น เรื่องราวที่เป็น “ตรงกันข้าม” ที่ว่าของแอ๊ด ก็ปรากฏออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงให้คนไทยใช้สินค้าไทยราคาถูกๆ (มากด้วยคุณภาพ) แต่ตนเองกลับใช้ของนอกราคาแพงๆ, เรียกร้องให้ช่วยกันอนุรักษ์ป่ารักษาเขา แต่ตนเองกลับเคยมีข่าวเกี่ยวกับปลูกบ้านรุกพื้นที่อุทยาน (รวมถึงเป็นเจ้าของที่ดินในอีกหลายจังหวัด), เคยร้องเพลงต่อว่าพวกที่ทำธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ว่า เป็นการทำมาหากินเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน เป็นเครื่องดื่มที่ไร้ประโยชน์ แต่ตนกลับมาทำขายเสียเอง, ชอบวิพากษ์วิจารณ์การโกงกินคอร์รัปชัน นายทุนหน้าเหลือ ขณะที่ตนเองก็มีข่าวพัวกันกับนักการเมืองคนนั้น-ผู้มีอิทธิพลคนนี้-นักธุรกิจคนโน้น
หรือแม้กระทั่งเรื่องของบทเพลงการต่อสู้เรียกร้องความชอบธรรมทางการเมือง ที่ว่ากันว่า เขาไม่เคยลง “สนามจริง” สักครั้งเดียว จนนำมาซึ่งข้อสงสัยของใครบางคนในคำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” กับ “อุดมการณ์”
ข้ามจากข้อสงสัยแรก มากันที่คำว่า “อุดมการณ์” ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่หลายคนยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อหาเหตุผลที่จะชอบหรือไม่ชอบคาราบาวในยุคปัจจุบัน
“ผมไม่มีอุดมการณ์อะไร มีแต่ทำงานเพลงเพื่อสังคม ไม่มีอุดมการณ์อะไรทั้งสิ้น” เป็นคำพูดหนึ่งที่แอ๊ดเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าเขามอง “อุดมการณ์” ในทิศทางเช่นไร
ซึ่งในสัมภาษณ์เดียวกัน แอ๊ด ได้พูดถึงการแต่งเพลงให้กับกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพลงหาเสียงให้กับนักการเมืองหรือเมื่อครั้งที่ตนเองยังทำธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลังอยู่ โดยเจ้าตัวสรุปว่า ทั้งหมดนั้น “คือ การหาอยู่หากิน”
“เรื่องนี้ (คาราบาวแดง) มันไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์ เป็นเรื่องทำมาหากิน ผมขี่มอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์มีอุดมการณ์ไหม ผมตีไก่มีอุดมการณ์ไหม”
ข้ามมาหลายปี 19 ธันวาคม 2551 แอ๊ด คาราบาว ได้ออกแถลงการณ์ที่ชื่อว่า “กับสถานการณ์หลังม็อบหยุดลงและรัฐบาลใหม่” ผ่านเว็บไซต์คาราบาวดอตเน็ต (www.carabao.net) โดยเนื้อหาหลักๆ นั้น เจ้าตัวได้พูดถึงเหตุผลกรณีที่ไม่ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงจุดยืนที่เขามีต่อกลุ่มคนเสื้อแดง
ผมเองเห็นด้วยครับในหลายๆ คำพูดของแถลงการณ์ อาทิ คำกล่าวที่ว่า...อยากให้บ้านเมืองสงบ, การชุมนุมทำได้แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการเมืองจะต้องแก้แบบบูรณาการ, ม็อบของผมเป็นม็อบสอนให้คนรักใคร่ ปรองดอง สันติวิธี ใช้ความคิดมากกว่าความโกรธ เกรี้ยวกราด ด่าทอ ใส่ไข่ใส่ความ ฯ (เพียงแต่ต้องพ่วงย้ำเข้าไปด้วยว่า ในกรณีของใครที่ทำผิดกฏหมายก็จะต้องถูกลงโทษ ไม่เว้นแม้แต่คนที่มียศ-ตำแหน่งใหญ่โต หรือเศรษฐีคนรวยที่มีเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน)
จะมาติดใจก็กับคำแถลงการณ์ตอนหนึ่งที่ว่า...“ถ้าสังคมไทยวันนี้จะมีสมองเหมือนแม่ยก คือ เลือกที่จะรักจะเชื่อโดยไม่ดูเหตุดูผล เราจะไปทำอะไรได้ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไป แล้วสักวันหนึ่งคนคงจะได้เห็นความจริงด้วยตนเอง”...ที่ผมเองรู้สึกว่ามันช่างเป็นการ “ตัดสินคน” จากมุมมองภายนอกที่แย่มากๆ
คนเราถ้าไม่อยากให้ใครมองเราว่าเป็นอย่างไร ตัวเองก็มิสมควรที่จะไปมองคนอื่นในลักษณะเช่นนั้น ใช่หรือไม่?
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งครับที่อยู่ห่างไกลเหลือเกินกับคำว่า มี “อุดมการณ์” แต่ชีวิตคนเราจะไม่เข้าไปเกี่ยวพันกับมันเลยก็ดูจะเป็นไปไม่ได้
อย่างน้อยๆ ขอให้มีความจริงจังในการกระทำที่ไม่ทรยศต่อคำพูดอันจริงใจของตนเองก็ยอดเยี่ยมและน่านับถือแล้วครับ ไม่ใช่ทำตัวปากก็ว่า ตาก็ขยิบ หรือเปลี่ยนสีตัวเองได้ตลอดเวลาเพียงเพราะต้องการแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวในแต่ละสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
มากอัลบัมหลายบทเพลงของคาราบาว (ตรงนี้ขอเว้นการที่จะพูดถึงที่มา) อาจจะมีเนื้อหาสร้างสรรค์จรรโลงสังคม รวมถึงมีแนวคิดที่ดีๆ ให้กับคนส่วนใหญ่ได้ซึมซับ ทว่าบางทีผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า สิ่งดีๆ ทั้งหลายแหล่เหล่านั้นดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปถึงคนที่ถือปากกาเขียนมันขึ้นมาแต่อย่างใด
มากันที่คำว่าเพลงเพื่อชีวิต
โดยส่วนตัวของผม ในคำว่าเพลงเพื่อชีวิตนั้นไม่มีความหมายอะไรให้ขบคิดเลยครับ
เนื่องจากที่ผ่านมาผมมองว่าเพลงของคาราบาว คือ เพลงสามช่า (เป็นหลัก) ที่ต้องมีเนื้อหาซึ่งค่อนข้างจะโดดเด่นในการเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือเหตุการณ์ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย กินใจ จะบีบให้ฮึกเหิมก็ได้ จะบังคับให้ซึ้งก็ไม่ยาก (แม้ในระยะหลังๆ แทบจะไม่มีอะไรที่แปลกใหม่ เดาทางได้ง่าย แต่อย่างไรผมก็ยังต้องขอ “ซูฮก” ให้กับการแต่งเพลงของผู้ชายคนนี้) ดังนั้น ผมจึงไม่ขอยกเอาคำว่าเพื่อชีวิตใคร หรือเพื่อชีวิตมัน หรือเพื่อชีวิตแอ๊ด มาเปรียบเปรย
เพราะผมรู้สึกว่าเวลาผมนึกอยากจะฟังเพลงคาราบาวครั้งใด ตอนนั้นเสียงเพลงดังกล่าวมันก็เป็นเพลงเพื่อ (จรรโลง) ชีวิตผมเท่านั้นเองครับ
...
หมายเหตุ : สมารถคลิคอ่านแถลงการณ์ของ "แอ๊ด คาราบาว" ได้ที่ กับสถานการณ์หลังม็อบหยุดลงและรัฐบาลใหม่ และสามารถคลิคอ่านบทความที่มีส่วนเกี่ยวกับแถลงการณ์ดังกล่าว เขียนโดย "สุรวิชช์ วีรวรรณ" ได้ที่ฝันของแอ๊ดบาวและราคาของมาร์ค