โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
จะคอยรอหรือว่าไม่รอคอย แต่องค์บากภาค 2 ก็ถูกเสิร์ฟสู่สายตาคนดูไปเรียบร้อยแล้วท่ามกลางเสียงชมและติติงในลีลาแบบ “นานาจิตตัง” อย่างไรก็ดี นี่คือหนังไทยในสายแอ็กชั่นเพียงเรื่องเดียวของปีนี้ที่มีคนให้ความสนใจมากที่สุด ด้วยเหตุผลอย่างน้อยๆ สองประการ คือหนึ่ง มันเป็นหนังที่แสดงนำโดย “จา-พนม ยีรัมย์” และสอง มันเป็นหนังที่กำกับโดย “โทนี่ จา” (ก็คนเดียวกันนั่นแหละท่าน)
แน่นอนที่สุด ด้วยเหตุผลสองข้อนี้ ผมถือว่า ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เจ้าของหนังตัวจริงเสียงจริงอย่างเสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ที่จะฝันหวานถึงรายรับที่คงพุ่งทะลุเกินร้อยล้านบาทไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก หลังจากหนังหลายๆ เรื่องของเสี่ยในปีนี้ไม่ค่อยเข้าเป้าเท่าไรนัก (ผมเขียนบทความชิ้นนี้ในช่วงวันศุกร์ แต่ก็เดาได้ล่วงหน้าเลยว่า ช่วงเวลา 3 วัน คือ ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เสี่ยเจียง หรือแม้กระทั่ง จา พนม คงอมยิ้มไปตามๆ กัน ขณะนั่งนับกราฟรายได้ที่น่าจะวิ่งขึ้นเร็วมากที่สุดมากกว่าหนังไทยทุกๆ เรื่องที่เข้าฉายในปีนี้)
และไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้งยังไงก็ตาม ผมคิดว่า ถึงเวลานี้ นักแสดงหนุ่มลูกข้าวเหนียวอย่างจา พนม ได้สร้างเนื้อสร้างตัวมาจนถึงระดับที่กลายเป็น “แบรนด์” ที่แข็งแรงมากที่สุดอีกแบรนด์หนึ่งในสายหนังบู๊ไปเรียบร้อยแล้ว สังเกตได้จากกระแสคนดูส่วนหนึ่ง (ซึ่งอาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วย) ที่แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนว่าจะไปดูหนังเรื่องนี้เพราะมีจา พนม แสดงนำ ซึ่งก็เหมือนกับเมื่อก่อนที่ผู้คนยุคหนึ่งพากันแห่ไปดูหนังของบรู๊ซ ลี เฉินหลง เจ็ทลี หรือแม้แต่ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (แรมโบ้) รวมไปจนถึงสตีเว่น ซีกัล และ ฌอง-คล็อด แวน แดมม์ (คนหลังนี้เล่นหนังบู๊จนคนดูเอียน และถือเป็นอนุสติเตือนใจได้อย่างดีว่า ลำพังแค่เล่นบทบู๊ล้างผลาญเก่งอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตการแสดงมั่นคง แต่ต้องมีหนังดีๆ บทดีๆ ประกอบด้วย)
อย่างไรก็ตาม คำถามต่อมาที่หลายๆ คนเฝ้ามองมากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยความห่วงใยหรือเพราะอยากเห็นความล้มเหลวของคนอื่นก็ตามที ก็คือ หนังในตระกูลจา พนม ในที่สุด จะถูกทำให้เป็นเพียงหนังขายแบรนด์ (หรือพูดอีกแบบก็คือ ขายดารานักแสดง) อย่างเดียวหรือไม่ ซึ่งแน่นอนครับว่า คนส่วนใหญ่ไปดูหนังเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเพราะอยากเห็นความเก่งของจา พนม แต่กับประสบการณ์จากหนังสองเรื่องที่ผ่านมา คือ ทั้งต้มยำกุ้ง และองค์บากภาค 1 ก็คลี่ผลสำรวจออกมาให้เห็นโดยไม่จำเป็นต้องทำโพลล์แล้วว่า แค่บู๊บ้าระห่ำอย่างเดียวนั้นมันไม่เวิร์ก เพราะนอกจากนี้ยังมีประเด็นของเนื้อเรื่องหรือบทหนังที่ก็ต้องแข็งแรงไม่น้อยไปกว่ามัดกล้ามของจา พนม เช่นกัน
จาก “ต้มยำกุ้ง” หรือแม้กระทั่ง “องค์บาก 1” ซึ่งดูเหมือนจะรวบรวมศิลปะแห่งการต่อสู้ไว้อย่างครบครัน แต่กลับหลงลืมศิลปะแห่งบทภาพยนตร์และการเล่าเรื่องไปอย่างน่าเสียดาย...มาถึง “องค์บาก 2” ทั้งผมและคุณก็คงคิดเหมือนๆ กันว่า เราได้เห็นทิศทางที่ดีขึ้นของสิ่งที่เคยบกพร่องในองค์บากภาค 1 และ ต้มยำกุ้ง นั่นก็คือเรื่องของบทหนังซึ่งพัฒนาขึ้นมามากอย่างเห็นได้ชัด
เรื่องราวในหนังเป็นอย่างไร ผมขออนุญาตข้ามไป (และเดี๋ยวคุณไปดู ก็จะรู้ได้เอง) แต่สิ่งที่น่าพูดถึงด้วยความชื่นชมพอสมควรก็คือ บทหนังของงานชิ้นนี้ที่ถูกคิดขึ้นมาโดยจา พนม กับ พันนา ฤทธิไกร ก่อนจะถูกผ่องถ่ายให้กับ “เอก เอี่ยมชื่น” เป็นคนรับผิดชอบ ดูเด่นกว่าหนัง 2 เรื่องที่ผ่านมา ทั้งต้มยำกุ้ง และองค์บาก 1 อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าพล็อตเรื่องจะเดินมาในทิศทางคล้ายๆ กับหนังชอว์ บราเดอส์ ที่ผูกติดตัวเองไว้กับเรื่องราวทำนองบุญคุณความแค้น แต่บทหนังขององค์บาก 2 ก็แข็งแรงพอตัวในแง่ของเหตุผลและที่มาที่ไป มีความสมจริงและต่อเนื่องลื่นไหล ไม่กระโดดข้ามไปข้ามมาจนน่าสงสัยว่ามันเป็นไปได้ยังไง เหมือนในต้มยำกุ้งที่เราจะมองเห็นปัญหาข้อนี้อย่างเด่นชัด หรือถ้ามันจะมีอะไรที่ “น่าสงสัย” อยู่บ้าง ก็มีน้อยถึงน้อยมาก แต่หากจะจับผิดกันจริงๆ หลายๆ คนก็อาจจะมี “คำถาม” บ้าง อย่างเช่น จา พนม เข้าไปถึงลานพิธีของพระยาราชเสนา (ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) ได้อย่างไร แบบเดียวกับที่เคยสงสัยในต้มยำกุ้งกับการที่จู่ๆ จา พนม ก็ไปโผล่ที่ซิดนี่ย์? แต่ “คำถาม” เหล่านี้ก็ไม่ถึงกับทำให้ภาพรวมของหนังเสียศูนย์แต่อย่างใด
นั่นหมายความว่า องค์บาก 2 สามารถพาตัวเองก้าวพ้นไปได้อีกระดับจากหนังในตระกูลจา พนม เรื่องก่อนหน้า (คำว่า “ตระกูล” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง genre ของหนังนะครับ ผมใช้เพียงเพื่อให้เข้าใจร่วมกันได้ง่ายขึ้นว่าเป็นหนังที่แสดงโดยจา พนม) ที่มุ่งเน้น “แอ็กชั่นโชว์” เป็นเรื่องหลัก แต่ไร้น้ำหนักในด้านเนื้อหาเรื่องราว ซึ่งเท่าที่หยั่งกระแสเสียงคนส่วนใหญ่ ค่อนข้างพอใจกับบทหนัง และมันก็น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีได้เช่นกันว่า บทหนังนั้นไม่จำเป็นต้องลึกซึ้งอะไรมากมายหรอก แค่ให้ดูมีความสมเหตุสมผลหน่อย คนดูก็พอจะยอมรับได้แล้ว ส่วนจะทำให้มันเป็นหนังที่ดีทั้งแอ็กชั่นและเหนือชั้นด้วยเนื้อหา เหมือนแอ็กชั่นหวงเฟยหงยุคหนึ่งที่พูดถึงการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมจีนกับตะวันตกได้อย่างแยบยลและคมคาย...นั้นคงต้องว่ากันไปอีกขั้นหนึ่ง
เพราะความเป็นหนังแนวบู๊ที่ต้องมีฉากบู๊เป็นเสาหลัก (นั่นก็คือ ยังไงเสีย บทก็ยังคงเป็นรอง และบู๊ก็ต้องเป็นหลักอยู่วันยันค่ำ ส่วนบทหนังจะได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่องยังไง ต้องไปว่ากันอีกที) ซึ่งในแง่นี้ องค์บาก 2 ก็ตอบสนองได้ดีไม่น้อยไปกว่าแอ็กชั่นเรื่องผ่านๆ มาของจา พนม และสิ่งที่น่าชื่นชมก็คือ โทนี่ จา ของแฟนๆ ในระดับนานาชาติ ดูจะมีความตั้งอกตั้งใจและพิถีพิถันในการสร้างสรรค์ฉากบู๊และลีลาการต่อสู้เป็นพิเศษ ผมไม่แปลกใจเลยที่จา พนม เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาใช้เวลาในการศึกษากระบวนท่าการต่อสู้นานมาก เพราะเมื่อประมวลโดยภาพรวมที่ออกมา เราจะได้เห็นศิลปะการต่อสู้ (martial art) ที่งดงามด้วยท่วงท่าลีลาหลากหลายแขนงละลานตาไปหมด ทั้งมวยไทย กังฟู ยูโด ไอคิโด้ ไปจนถึงนินจา ฯลฯ และที่จะพลาดไม่ได้เลยก็คือ นาฏยุทธ ที่เป็นจุดขายสำคัญ
อย่างไรก็ดี นาฏยุทธ คือลีลาการต่อสู้ที่เรายังไม่มีโอกาสได้เห็นในภาคนี้ ซึ่งก็อย่างที่ทุกๆ คนคงจะรู้กันแล้วนั่นแหละครับว่า องค์บากจะมีภาค 3 ตามมา ซึ่งก็นับเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์คนดูอย่างแรงเช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้ ผมเชื่อว่า คนส่วนใหญ่หรือเกือบจะทั้งหมด ไม่เคยแม้แต่จะระแคะระคายมาก่อนเลยว่า องค์บากจะมีภาค 3 ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ คนจะรีบส่งเสียงบ่นทันทีที่หนังเก็บฉากสุดท้ายในตอนจบ ก่อนจะมาค้นพบในภายหลังว่า หนังเขาจะมีภาค 3 อยู่ ด้วยเหตุดังนี้ องค์บาก 2 จึงเป็นหนังที่ออกสตาร์ทและประคองเกมได้ดีมาตลอดทั้งเรื่อง แต่ดันมาตายเอาตอนจบซะนี่ โธ่ๆๆ!! (ผมเชื่อนะครับว่า ถ้าหากสหมงคลฯ มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะมีภาค 3 ต่อไปอีก หนังคงจะไม่ถูกด่า “โดยไม่จำเป็น” แบบนี้แน่นอน คือถึงแม้ผู้ชมจะมองเห็นกันอยู่ว่าตอนจบของภาคนี้มันดูห้วนไปจริงๆ แต่ก็น่าจะรับได้ไม่ยาก เพราะเข้าใจและรู้มาก่อนแล้วว่าเรื่องราวยังมีภาคต่อ)
และแน่นอนที่สุด นอกเหนือไปจากนาฏยุทธ เราก็คาดหวังเช่นกันนะครับว่า คงได้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของตัวละครหลายๆ ตัวที่ยังไม่ได้แสดงอะไรมากในภาคนี้ อย่างหม่ำ จ๊กม๊ก, เดี่ยว-ชูพงษ์ ช่างปรุง หรือแม้กระทั่งนางเอกตอนโต (พริมรตา เดชอุดม) ที่ได้เล่นรำโชว์ก้นงอนๆ ไม่กี่นาที ขณะที่น้าหงา คาราวาน ขุนพลคนเพลงเพื่อชีวิตที่เห็นโผล่หน้ามาแว้บๆ ในภาคนี้ ไม่รู้ว่าภาคต่อไปจะมีบทให้เล่นอีกสักแว้บหรือเปล่า (ฮา)
เหนืออื่นใด ใครก็ตามที่คิดจะไปดูจา พนม คำรามเสียงหลงว่า “ช้างกูอยู่ไหน?!!” หรือ “องค์บากอยู่ไหน?” ก็เตรียมตัวเตรียมใจผิดหวังไว้ได้เลย (ฮาอีก)
หมายเหตุ : เนื่องจากบทความชิ้นนี้มีความคลาดเคลื่อนในข้อมูลบางประการ โดยมีท่านผู้อ่านที่หวังดีช่วยติติงมา ผู้เขียนบทความจึงได้แก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว และต้องขออภัยในความบกพร่องดังกล่าวนั้น ซึ่งนี่ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนให้ผู้เขียนระมัดระวังและตรวจตราให้รอบคอบยิ่งๆ ขึ้นในโอกาสต่อไป
ด้วยความขอบคุณและมิตรภาพ
อภินันท์ บุญเรืองพะเนา