โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
จะผิดหวังหรือสมหวังในประเด็นไหนอย่างไรกันบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องลงในรายละเอียด แต่กับฉากหน้าที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดที่ทุกๆ คนคงเห็นพ้องต้องกันก็คือ Quantum of Solace น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหนังในตระกูล 007 ที่ดุเด็ดมากที่สุดในแง่ของความบู๊แอ็กชั่น ขณะเดียวกัน สไตล์หลายๆ อย่างที่เคยเป็น “เครื่องหมายการค้า” ให้กับหนังเจมส์ บอนด์ ในตอนที่ผ่านๆ มาก็ดูจะถูกลดทอนความสำคัญลงไปอย่างเห็นได้ชัด...
อย่างไรก็ดี สิ่งแรกที่ผมคิดว่าน่าพูดถึงก่อนเรื่องอื่นๆ (แม้ว่าแฟนๆ ของเจมส์ บอนด์ จะรู้ๆ กันอยู่แล้ว) ก็คือ แม้ว่า Quantum of Solace จะยังคงสวมเสื้อคลุมและมีรายละเอียดเกือบทุกกระเบียดนิ้วที่เป็นเจมส์ บอนด์ แต่เนื้อเรื่องใน Quantum of Solace ไม่ได้ดัดแปลงมาจากต้นฉบับงานเขียนของ “เอียน เฟลมมิ่ง” ดังเช่นเจมส์ บอนด์ ทั้ง 21 ตอนที่ผ่านมา หรือถ้าหากจะมีอะไรที่จำเป็นต้องให้เครดิตแก่เอียน เฟลมมิ่ง บ้าง อะไรที่ว่านั้นก็คงจะได้แก่ “ชื่อเรื่อง” (Quantum of Solace) ที่หยิบยืมมาจากชื่อของเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในงานประพันธ์ชุด For Your Eyes Only (ปี 1960) ของเฟลมมิ่ง
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ชื่อของหนัง (Quantum of Solace) เอามาจากชื่อเรื่องสั้นของเอียน เฟลมมิ่ง แต่เนื้อเรื่องในหนังนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลยกับในหนังสือ เพราะมันถูกแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยทีมเขียนบททั้ง 3 คนคือ นีล เฟอร์วิส, โรเบิร์ต เวด และ พอล แฮกกิส (ทีมเดิมกับที่เขียนบทให้ Casino Royale) ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าเป็น “ความฉลาดเข้าใจเล่น” ของทีมเขียนบทชุดนี้ก็คือ แทนที่จะสร้าง “ปมปริศนา” อันใหม่ขึ้นมาให้สายลับหนุ่มของเราออกค้นหาคลี่คลาย (ซึ่งคงเปลืองสมองและเวลาในการคิดพอสมควร) พวกเขากลับอาศัยจุดเล็กๆ จากภาคที่ผ่านมา (Casino Royale) ที่มีการเอ่ยถึงองค์กรๆ หนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “ควอนตัม” แบบผ่านๆ และทีมเขียนบทก็หยิบเอาจุดเล็กๆ จุดนั้นมาขยายความต่อจนก่อเกิดเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่เห็นใน Quantum of Solace
และแน่นอนที่สุด หากไม่นับรวม Casino Royale ปี 1967 ที่ทำออกมาในแนวเจมส์ บอนด์ คอเมดี้ (คนละฉบับกับ Casino Royale เมื่อสองปีที่แล้ว) และ Never Say Never Again ในปี 1983 Quantum of Solace ถือเป็นภาคที่ 22 ของหนังเจมส์ บอนด์ เรื่องราวโดยคร่าวๆ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกับ Casino Royale เมื่อสายลับ 007 ได้ตามล้างตามเช็ดวายร้ายตัวฉกาจอย่างมิสเตอร์ไวท์เรียบร้อยแล้ว ภารกิจใหม่ของบอนด์ก็เริ่มต้นขึ้นในแทบจะทันทีโดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การตามล่าค้นหาองค์กรบาปที่มีชื่อว่า “ควอนตัม” ซึ่งมิสเตอร์ไวท์อ้างไว้ก่อนตายว่ามีขุมพลังกระจายอยู่ในทุกๆ ที่ อย่างไรก็ดี ขณะที่ภารกิจตามล่าดำเนินไป ในหลายๆ Moment หนังทำให้เราได้เห็นว่า ภายในใจของสายลับหนุ่มนั้น ยังคงเจ็บปวดไม่หายจากการสูญเสียหญิงสาวคนรักไปเมื่อภาคที่แล้ว และลึกๆ เขานึกถึงการแก้แค้น...(สังเกตให้ดีจะเห็นว่า เนื้อหาใน Quantum of Solace “กินบุญเก่า” ของ Casino Royale อยู่หลายอย่าง ไล่ตั้งแต่ชื่อองค์กรที่กลายมาเป็น Topic ใหญ่ของ Quantum of Solace ไปจนถึงประเด็นความแค้นที่ถูกเกริ่นไว้แล้วใน Casino Royale ก่อนจะมาถูกตอกย้ำใน Quantum of Solace)
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร จุดใหญ่ๆ ที่คนดูตั้งข้อสังเกตกันนั้นอยู่ที่ตัวของเจมส์ บอนด์ ซึ่งรับบทโดย “เดเนียล เครก” ซึ่งนับตั้งแต่เขารับบทนี้ครั้งแรกใน Casino Royale ก็ดูเหมือนว่า คาแรกเตอร์ของตัวละครตัวนี้จะ “เปี๊ยนไป๋” โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมุทะลุดุดัน เลือดร้อน บุ่มบ่าม ยิ่งเป็นตัวขับเน้นความแตกต่างระหว่าง เดเนียล เครก กับ พระเอกเจมส์ บอนด์ รุ่นก่อนหน้าได้เป็นอย่างดี
ซึ่งถ้าจะมองว่านี่เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความต่างก็พอไหว แต่ถ้ามองอย่างพยายามทำความเข้าใจ ผมว่า มันมีความ “สมจริง” และ “สมเหตุสมผล” มากที่สุดเหมือนกัน เพราะอย่าลืมว่า Casino Royale ที่เดเนียล เครก มารับบทนี้ครั้งแรกนั้น เป็น “ปฐมบท” แห่งนิยายสายลับเจมส์ บอนด์ ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของความใหม่ หรือยังไม่ “มืออาชีพ” เพียงพอ ลวดลายไหวไหวพริบ ความเนี้ยบเฉียบขาด หรือแม้แต่การวางมาดเท่ๆ และลีลาในการหลีหญิงตามสไตล์เพลย์บอยที่หลายๆ คนมองว่ามันหายไป นับตั้งแต่การมาถึงของเดเนียล เครก แต่จริงๆ แล้ว ผมกลับเห็นว่า บางที สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่มัน “ยังไม่เกิดขึ้น” เท่านั้นเอง
เพราะเมื่อมองดูตามลำดับของซีรี่ส์นิยายสายลับเรื่องนี้ เราจะพบว่า Quantum of Solace ซึ่งเป็นภาคต่อของ Casino Royale ยังถือเป็นช่วงแรกๆ ในอาชีพสายลับของเจมส์ บอนด์ ดังนั้น ความอ่อนประสบการณ์จึงเป็นสิ่งที่ย่อมจะเกิดขึ้นได้ และมันก็แสดงให้เห็นผ่านการแก้ปัญหาของเจมส์ บอนด์ ที่ส่วนใหญ่มักใช้ “อารมณ์” เป็นตัวนำทาง ซึ่งจากคำพูดเชิงสั่งสอนสายลับ 007 ของ “เอ็ม” (จูดี้ เดนช์) ที่บอกว่า “ถ้าแยกแยะมิตรกับศัตรูไม่ออกเมื่อไหร่ ก็จบ” นั้น ก็ตอกย้ำถึง “วุฒิภาวะ” ที่ยังไม่เข้าที่เข้าทางของหนุ่มบอนด์ได้เช่นกัน
แต่เอาล่ะ สิ่งนี้กลายเป็นประโยชน์ให้กับหนังอย่างมหาศาล เพราะคาแรกเตอร์ที่กล้าลุยกล้าแลกและหุนหันพลันแล่นในทุกๆ สถานการณ์เช่นนี้ ในด้านหนึ่ง มันก็เอื้อให้เกิดฉากบู๊แอ็กชั่นได้ง่ายๆ และ Quantum of Solace ก็ใช้สอยประโยชน์จากความบุ่มบ่ามเลือดร้อนของเจมส์ บอนด์ อย่างเต็มที่ด้วยการเขียนบทให้เขาต้องเข้าฉากบู๊แทบจะทุกๆ 5 นาที!! (นั่นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้าสายลับภาคนี้จะถูกกิเลสคอหนังแอ็กชั่นเป็นพิเศษ)
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากความแอ็กชั่นดุดัน เราจะเห็นว่าเจมส์ บอนด์ ในเวอร์ชั่นของเดเนียล เครก มีข้อแตกต่างอย่างสำคัญจาก 007 ที่รับบทโดยคนอื่นๆ (เพียซ บรอสแนน โรเจอร์ มัวร์ ฯลฯ) หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เจมส์ บอนด์ ในแบบเดเนียล เครก มีลักษณะของพระเอกแบบ Anti-Hero อยู่ค่อนข้างสูง เพราะนับตั้งแต่ Casino Royale เป็นต้นมา ภาพของเจมส์ บอนด์ ดูจะถูกลดทอนในเรื่องของความเนี้ยบ หรือต้องเป็นพวกเพอร์เฟคต์ตลอดเวลา ซึ่งบางจังหวะ หนังก็ทำให้เราเห็นว่า นอกจากความเก่ง ฮีโร่ก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดาทั่วๆ ไปที่ก็มีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ในตัวเอง และมีโอกาสพลาดพลั้ง (ที่ผ่านๆ มาก็มีหนังแนวฮีโร่หรือซูเปอร์ฮีโร่หลายๆ เรื่องเล่นกับประเด็นประมาณนี้มาแล้วเหมือนกัน สไปเดอร์แมนเอย ซูเปอร์แมนเอย ต่างก็เคยหัวทิ่มหัวตำในความเป็น “ปุถุชน” ของตนเองมาแล้วทั้งสิ้น)
และพูดก็พูดเถอะ ผมว่า ตั้งแต่เดเนียล เครก มารับบทสายลับ ก็ดูเหมือนว่า ชีวิตของเจมส์ บอนด์ จะวิ่งเข้าหาด้านที่น่าหดหู่หม่นหมองมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายสิ่งที่เขาประสบล้วนแต่นำพาความปวดร้าวมาให้แทบทั้งนั้น (ไม่ว่าจะเป็นการถูกทรยศโดยหญิงสาวคนรัก พร้อมกับเสียเธอไปอย่างไม่มีวันหวนคืนใน Casino Royale หรือการสูญเสียคนสำคัญของชีวิตบางคนไปใน Quantum of Solace)
ชีวิตของฮีโร่สายลับในเวอร์ชั่นเดเนียล เครก จึงดู “นัวร์” (Noir) และเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากกว่าเจมส์ บอนด์ ที่รับบทโดยคนอื่นๆ อย่างน้อยที่สุด เขาก็ไม่ใช่ Perfectionist และมีเรื่องเจ็บปวดอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง เช่น “มีชีวิตคู่ไม่ได้เพราะเป็นสายลับ” (แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำตัวเป็นเพลย์บอยไปวันๆ Fun แล้วทิ้งไปเรื่อยๆ ?!?!)
สรุปแล้วก็คือ นอกจากดุดันและดื้อดึง เราจึงได้เห็นสายลับ 007 ใน Quantum of Solace “แอบเศร้า” บ้างในบาง Moment
พ้นไปจากนี้แล้ว เราก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่า Quantum of Solace ได้นำความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างมาสู่ชีวิตของสายลับ 007 และทำให้รายละเอียดที่เป็นธรรมเนียมในหนังตระกูลบอนด์หลายๆ อย่างหายไป (ไม่มีประโยคแนะนำตัวเองอันแสนคลาสสิกอย่าง My name’s Bond, James Bond, ไม่มีประโยคสั่งวอดก้า มาร์ทินี่เขย่าแต่ไม่คน ฯลฯ) รวมไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ประจำตัวพระเอกอย่างพวก gadget หรูไฮชนิดต่างๆ ที่ดูเหมือนจะถูกตัดออกไป ขณะที่รถยนต์คู่กายสายลับที่เคยโชว์หรูอยู่ในภาคก่อนๆ ก็ดูจะหายลับไปอย่างไร้ร่องรอย (Gadget ที่ล้ำสุดๆ ในภาคนี้เห็นอย่างเดียวคือโทรศัพท์มือถือที่ช่วยในการสะกดรอยเป้าหมาย แต่หนังก็ไม่ได้เน้นหรือว่าอธิบายขยายความถึงความยอดเยี่ยมของมันแต่อย่างใด ซึ่งผิดไปจากเจมส์ บอนด์ ภาคที่ผ่านๆ มาที่หนังดูจะภูมิอกภูมิใจอยู่เสมอเวลาได้พรีเซ็นต์สิ่งของล้ำๆ ต่อสายตาคนดู)
นอกเหนือจากจุดที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่าง Quantum of Solace ยังคงไม่หลงลืมที่จะใส่ Gun Barrel Sequence (ท่าหยิบปืนแล้วหันกลับมายิงแบบจู่โจมชนิดที่คนดูไม่ทันได้ตั้งตัว) ซึ่งถือเป็น “ท่าบังคับ” เอกลักษณ์ประจำหนังตระกูลเจมส์ บอนด์ เพียงแต่ Gun Barrel Sequence ในภาคนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในจุดที่คุ้นเคยเหมือนภาคที่ผ่านๆ มา ขณะเดียวกัน เครดิตตอนต้นเรื่องก็ทำออกมาได้ชัด เนียน สวย ด้วยภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกทะเลทราย ขณะเดียวกัน เพลงประกอบอย่าง Another Way to Die นอกจากจะเป็นเพลงที่ฟังเพลิน ยังช่วยปูพื้นนำร่องอารมณ์คนดูก่อนจะเข้าสู่เนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี
ในด้านของนักแสดงหลักๆ นอกไปจากเดเนียล เครก ที่เล่นบทพระเอกบ้าเลือดขาลุยได้สมบทบาทแล้ว ตัวร้ายในเรื่องอย่าง “แมทธิว อมัลลิค” (รับบท โดมินิก กรีน) ก็สอบผ่านอย่างไร้ข้อตำหนิในการเป็นคู่ปรับของสายลับ 007 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แววแห่งความดุร้ายที่ส่งผ่านสายตาของเขานั้น ถือว่ากินขาด โดยไม่จำเป็นต้องวางมาดเขื่องอะไรเลย ส่วนจูดี้ เด็นช์ ก็ยังเป็น “เอ็ม” ที่ดูสุขุมและน่าเชื่อถือ สมบทบาทหัวหน้า MI6 ขณะที่สาวบอนด์คนใหม่อย่าง “โอลก้า คูรีเรนโก้” ถือว่าเปิดตัวได้ดีในบทของ “คามิลล์” หญิงสาวที่มาพร้อมกับความปวดร้าวในอดีต
ในส่วนของบทหนัง ดูเหมือนว่าทีมเขียนบทจะตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อตอบสนองความบู๊ของเจมส์ บอนด์โดยเฉพาะ แต่ถ้าจะมองกันแบบหาจุดโฟกัสจริงๆ แก่นเรื่องใน Quantum of Solace น่าจะกำลังเล่นกับประเด็นความแค้นมากกว่าอย่างอื่น (ซึ่งชื่อของหนังในภาคภาษาไทยก็น่าจะบอกได้ระดับหนึ่ง) และที่สำคัญ มันไม่ใช่แค่ความแค้นของเจมส์ บอนด์ คนเดียว แต่ยังเกาะเกี่ยวผูกพ่วงด้วยความแค้นของ “คามิลล์” ด้วยเช่นกัน
ซึ่งในประเด็นของความแค้นนี้ หนังใช้สอยประโยชน์จากความอ่อนด้อยด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์ของสายลับ 007 ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และก็เน้นย้ำอยู่หลายๆ ครั้งว่า เมื่อใดก็ตามที่เขาเอาความเจ็บแค้นส่วนตัวไปพัวพันกับภารกิจเพื่อส่วนรวม ก็อาจนำความยุ่งยากหรือแม้แต่ความผิดพลาดในปฏิบัติการให้เกิดขึ้นตามมาได้
อย่างไรก็ดี ขณะที่ความแค้นของคามิลล์สิ้นสุดลง แต่สำหรับสายลับเจมส์ บอนด์ เขาอาจจำเป็นต้องเก็บความแค้นไว้สะสางในภาคต่อๆ ไป เช่นเดียวกับองค์กรควอนตัมที่ใช้การบริจาคเป็นฉากหน้าปิดบังความชั่วร้าย ซึ่งในที่สุดก็ยังไม่สามารถสาวไปถึงตัวการใหญ่ๆ ได้ และแน่นอนที่สุด ความแค้นของ 007 ที่รอวันสะสาง รวมทั้งองค์กรที่ยังไม่เผยโฉม สองอย่างนี้คือ ต้นทุนชั้นดีที่น่าจะส่งให้เจมส์ บอนด์ เรียกเก็บเงินคนดูได้ต่อไปอีกหลายภาค (ยิ่งเมื่อคิดถึงคำพูดของวายร้ายคนหนึ่งซึ่งอ้างไว้ว่า We have people everywhere.ก็ยิ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เรื่องราวของควอนตัมคงไม่จบลงง่ายๆ และดูจากรูปการแล้ว หากมีภาคต่อๆ ไป ก็เป็นไปได้เหมือนกันที่ความร้ายกาจขององค์กรนี้อาจจะถูกยกระดับขึ้นไปเทียบเท่ากับ Smersh หรือแม้แต่ Spectre ที่เคยแผลงฤทธิ์มาแล้วในอดีต)
และสุดท้าย สิ่งที่ผมรู้สึกแปลกใจพอสมควรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือ ผู้กำกับ “มาร์ค ฟอร์สเตอร์” ซึ่งสร้างชื่อมาจากหนังในแนวทางดราม่า (Monster’s Ball, Finding Neverland, The Kite Runner ฯลฯ) ไม่เคยนึกเลยว่า เฮียแกจะมี Sense ทางแอ็กชั่นดุดันขนาดนี้ และที่สำคัญ แม้ว่าฉากแอ็กชั่นรวมถึงการตัดต่อในงานชิ้นนี้จะดูคล้ายๆ หนังสายลับรุ่นน้องอย่าง Jason Bourne ไปบ้าง แต่เชื่อเถอะว่า ถึงนาทีนี้แล้ว คอหนังแอ็กชั่นคงเพิ่มรายชื่อของมาร์ค ฟอร์สเตอร์ ไว้ในลิสต์ในฐานะผู้กำกับคิวบู๊ได้มันส์ระห่ำอีกคนหนึ่งเรียบร้อยแล้ว หลังจากได้ดู Quantum of Solace เรื่องนี้ จริงไหม??