xs
xsm
sm
md
lg

อีติ๋มตายแน่ : ตลกน้ำดีที่จะถูกมองข้าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ขึ้นชื่อว่าเป็นเพื่อนกัน ดังนั้น ทั้ง “ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค” และ “โน้ส-อุดม แต้พานิช” จึงมีลักษณะบางอย่างที่สามารถ “เดินร่วมทาง” ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยที่สุด ความเป็นคนที่มี Sense of Humor อยู่ในตัวเองก็คือลักษณะที่โดดเด้งของทั้งสองคนซึ่งประชาชนทั่วๆ ไปคงได้ประจักษ์กันมาบ้างแล้ว ทั้งจากโชว์เดี่ยวของโน้ส-อุดม และจากหนังหลายๆ เรื่องของต้อม-ยุทธเลิศ

ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นตลกปัญญาชน โน้ส-อุดม ซึ่งมารับหน้าที่เขียนบทให้กับหนังเรื่องนี้ก็พกความเป็นตลกมีสาระมาใช้สอยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปั้นแต่งมุกตลกเกือบทั้งเรื่องที่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่แค่ทำให้ “ขำ” แต่ยังทำให้ “คิด” ไปด้วยในขณะเดียวกัน

เช่นเดียวกับทักษะความเก๋าในการเป็นนักเล่าเรื่อง (Story Teller) ของโน้ส-อุดม (อย่างที่เราได้เห็นในโชว์เดี่ยวของเขา) ก็ช่วยหนังได้อย่างมาก เขารู้จังหวะว่าจะเล่าอะไรก่อนอะไรหลัง รวมทั้งจะปล่อยอะไรตรงไหน ซึ่งเมื่อมาเขียนบทหนัง ก็ทำให้เขาก็สามารถจัดวางและลำดับเรื่องราวได้ราบรื่น

เหนืออื่นใด อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ “อีติ๋มตายแน่” ก้าวพ้นไปจากความเป็นหนังตลกกะหลั่วๆ ทั่วๆ ไปก็คือ การมีประเด็นที่คมชัดและจับต้องได้ และหนังก็ทั้งย้ำทั้งเน้นประเด็นดังกล่าวนี้เพื่อให้คนดู “รู้สึก” ได้จริงสมความตั้งใจ แม้เมื่อว่ากันอย่างถึงที่สุด ประเด็นที่ว่านี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย แต่มันก็กระทบชิ่งต่อ “จุดบอด” บางจุดของสังคมได้อย่าง “เห็นภาพ” และ “เป็นจริง” มากที่สุดโดยที่เราไม่อาจปฏิเสธ

แล้วประเด็นที่ว่านี้คืออะไรหรือ?

ครับ มองโดยภาพรวมทั้งหมด ผมเห็นว่า หนังของยุทธเลิศเรื่องนี้ประสบความสำเร็จพอสมควรในการโน้มน้าวให้คนดูเกิดความรู้สึกว่า ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมของเรายังมีปัญหาอยู่มากในเรื่องของการตระหนักถึง “คุณค่าที่แท้จริง” และ “ความงาม”...

หลังจาก “โคตรรักเอ็งเลย” นม-อุโด้ส โน้ส-อุดม แต้พานิช กลับมาสู่บทบาทการแสดงอีกครั้งในบทของ “ตึ๋ง” คนหนุ่มธรรมดาๆ ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักมวยโชว์ในบาร์ที่พัทยา พร้อมกับรับจ็อบเป็นไกรทองล่อจระเข้โชว์นักท่องเที่ยว หนังวางคาแรกเตอร์ของตึ๋งให้อยู่ในขอบข่ายเดียวกันกับพวก Underdog ต๊อกต๋อย ที่อยู่กับชีวิตแบบเซ็งๆ ไปวันๆ เอาดีอะไรไม่ได้ ซึ่งอย่างแรกที่ต้องชมก็คือ โน้ส-อุดม สวมบทหนุ่มที่แลดูป่วยๆ และซังกะตายได้ดีจนเรารู้สึกสัมผัสได้ถึงมวลแห่งความน่าเบื่อในชีวิตของตัวละครตัวนี้

มีหลายสิ่งหลายอย่างในตัวตนของตึ๋งซึ่งทำให้เราเชื่อว่า เขามีแนวโน้มที่จะต้องเจ็บปวดมากกว่าใครอื่น โดยหนึ่งในหลายๆ อย่างนั้นก็คือ ทัศนคติที่เขามีต่อผู้คน ซึ่งที่มาที่ไปอย่างหนึ่งที่หนังปูพื้นให้เรารู้ก็คือ การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเดิมๆ กับกิจกรรมซ้ำซากจำเจในแต่ละวัน มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ตึ๋งเกิดอาการคล้ายคน “ตายด้านเย็นชา” ไม่ตื่นเต้นหรือยินดียินร้ายกับสิ่งใกล้ตัว สำหรับตึ๋ง ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะน่าเบื่อหน่ายไปทั้งหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้คนที่ดูเหมือนจะไม่มีใคร “ดีพอ” สำหรับตึ๋งเลย

และเพราะการเห็นว่า อะไรๆ มันช่างน่าเบื่อหน่ายแบบนี้นี่เองที่ในที่สุดก็ทำให้ตึ๋งละเลย “ความงาม” ใกล้ตัวหลายๆ อย่างไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งในบาง Moment หนังได้เผยให้เห็นปัญหาข้อนี้ของตึ๋งอย่างชัดเจน เช่น เขาไม่เคยมองเห็นเลยว่าไมตรีจิตที่สาวกะเกรี่ยงอย่าง “มะขิ่น” (คริส หอวัง) มีให้กับเขานั้นเป็นความงดงาม ซ้ำมิหนำ ยังพูดแต่ถ้อยคำที่ทิ่มแทงหัวใจของเธอตลอดเวลา (ทุกๆ ฉากที่ตึ๋งปรากฏตัวพร้อมกับมะขิ่น เราจะสัมผัสได้ถึงหมอกควันแห่งอคติที่ปกคลุมบรรยากาศอยู่อย่างหนาแน่น)

หนังมีตัวละครที่ต้องพูดถึงอีก 2 คน คือ อิเตมิ หรือ “อีติ๋ม” (อาซึกะ) นักท่องเที่ยวสาวชาวญี่ปุ่น กับนักมวยอาชีพที่ชื่อ “สะท้านฟ้า” ผู้โด่งดัง ซึ่งทั้งสองคนดูจะมีบางสิ่งบางอย่างคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ “ความไม่ธรรมดา” (หรือจะเรียกว่า “ความพิเศษ” ก็ไม่ผิด) เพราะคนแรกเป็นหญิงสาวแสนสวยที่สามารถทำให้ชายหนุ่มตกหลุมรักได้ตั้งแต่แรกเห็น ส่วนอีกคนเป็นนักมวยอาชีพผู้โด่งดัง (ตึ๋งคลั่งไคล้ชื่นชมนักชกคนนี้ขนาดหนักถึงขั้นตั้งฉายาลอกเลียนให้กับตัวเองในการชกมวยโชว์ว่า “ฟ้าสะท้าน”)

ในขณะที่เบื่อๆ เซ็งๆ กับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวอันแสนธรรมดา หนุ่มตึ๋งได้รู้สึกถึง “ความไม่ธรรมดา” อันน่าเย้ายวนทั้งของอิเตมิและสะท้านฟ้า พร้อมกับพาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับตัวละครสองตัวนี้ ก่อนจะได้รับบทเรียนกลับคืนมาเป็นประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดครั้งหนึ่งในชีวิต...

บอกตามตรงครับว่า อ่านเรื่องย่อของหนังครั้งแรก รวมไปจนถึงดูภาพในโปสเตอร์ ผมก็โดน “มายาคติ” ที่ตัดสินสรรพสิ่งด้วยรูปลักษณ์ภายนอกครอบงำและนำทางไปล่วงหน้าก่อนแล้วว่า “อีติ๋มตายแน่” คงจะเป็นเรื่องของ “รักข้ามชาติ” ระหว่างสาวญี่ปุ่นกับหนุ่มไทย ไม่หนีไกลไปจากนี้แน่ๆ

แต่เมื่อได้ดูจริงๆ กลับพบว่า เนื้อหาที่เป็นแกนกลางของหนังพูดถึงเรื่องของการมองโลกมองผู้คนได้อย่างน่าคิด ผ่านเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกว่าจะค้นพบว่าอะไรแท้อะไรเทียม ก็ต้องเจ็บปวดเสียก่อน และที่สำคัญ เมื่อว่ากันอย่างถึงที่สุด ผมว่าตัวละครหลักๆ ทั้งสามคน ไม่ว่าจะเป็นตึ๋ง อิเตมิ หรือแม้กระทั่งนักมวยดังอย่างสะท้านฟ้า ในที่สุด ต่างก็ได้รับผลกรรมจากความฉาบฉวยของตัวเองไม่ต่างกัน (อิเตมิไปคบผู้ชายอีกคนเพียงเพราะเห็นว่าเขาดู “เก่งกว่าตึ๋ง” โดยไม่ทันได้คำนึงถึงว่าผู้ชายคนนั้นจะนิสัย “ดี” หรือ “แย่” ยังไง ขณะที่สะท้านฟ้าก็ไปปิ๊งความคิขุอาโนเนะของสาวต่างชาติและนำความเสื่อมมาสู่อาชีพของตัวเองอย่างไม่น่าจะเป็น)

หนังมีฉากดีๆ ที่น่าจดจำอยู่หลายฉาก และถือเป็นฉากสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเนื้อหาได้ดี เช่น ตอนที่ตึ๋งขว้างเสื้อยืดซึ่งสรีนคำว่า Army ทิ้งไป ซึ่งแต่เดิม ตึ๋งซื้อเสื้อที่สกรีนคำดังกล่าวนี้มาใส่ก็เพราะเห็นนักมวยฮีโร่ในดวงใจของเขาอย่าง “สะท้านฟ้า” ชอบใส่ ซึ่งนัยยะของมันก็คือ การเลียนแบบคนที่ตัวเองเทิดทูนว่าเป็นวีรุบุรุษ และแน่นอนที่สุด เมื่อตึ๋งโยนเสื้อตัวนั้นทิ้ง เขาก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องแบกความเป็นฮีโร่ของสะท้านฟ้าไว้บนบ่า มันคือการปลดเปลื้อง และคือการเข้าใจใน “คุณค่าที่แท้จริง” ด้วยในขณะเดียวกัน

ไม่ว่าจะอย่างไร ฉากที่ผมชอบมากที่สุดคือฉากที่หนุ่มตึ๋งจมูกโตพูดกับสาวน้อยอิเตมิด้วยถ้อยคำพื้นๆ (หลังจากที่ Speak English แบบพัทยามาค่อนเรื่อง) ว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก” (Nice to meet you) ซึ่งสำหรับคนที่ดูหนังมาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะพบว่า ถ้อยคำง่ายๆ ธรรมดาๆ เพียงแค่นี้ ไม่เพียงก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บแปลบในหัวใจเท่านั้น แต่ยังนับเป็นการเน้นย้ำตัว Message สำคัญของหนังได้ด้วยอีกทางหนึ่ง (ตรงจุดนี้ ผมถือว่า หนังทำได้เด็ดขาดมาก!)

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ Content ของหนังโดดเด่นคมคาย แต่มองในแง่ของความสมจริง (Realistic) ยังดูตกๆ หล่นๆ ไปในหลายๆ จุด ขณะเดียวกัน หลายๆ ซีนที่หนังดูจะมีความพยายามที่จะโน้มน้าวให้เรา “รู้สึกตาม” แต่มันกลับทำให้เรารู้สึกประดักประเดิดมากกว่าจะ “คล้อยตาม” ไปด้วย เช่น ฉากร้องเพลงในร้านฟาสต์ฟูดทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งดูยังไง ผมว่ามันก็ “เปิ่น” อยู่ดี และพูดตามตรง ไม่มีฉากนี้ยังจะดูดีกว่า ในขณะที่มุกตลกจิกกัดที่โน้ส-อุดม ดีไซน์ขึ้นมา แม้จะต้องยอมรับว่ามันเป็นการจิกกัดแบบแสบๆ คันๆ มันส์สะใจ แต่บางมุก็เยิ่นเย้อยืดยาดเกินไป เพราะการขยี้ย้ำๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก พูดง่ายๆ ก็คือ ควรจะจบได้แต่ไม่ยอมจบ (ผู้สันทัดกรณีหลายๆ ท่านบอกว่า นี่คือผลพวงของโชว์เดี่ยวครั้งที่ 7 !!!)

ขณะเดียวกัน จุดหนึ่งซึ่งน่าเสียดายมากๆ และผมเชื่อว่าทุกๆ คนคงนึกสงสัยใคร่รู้เหมือนๆ กันก็คือ เพราะอะไร หนุ่มตึ๋งถึงได้เดินไปบอกเลิกหญิงสาวคนนั้นทีคนนั้นที ซึ่งหนังตั้งใจเล่าซ้ำๆ ตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่จนแล้วจนรอด เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับรู้เลยว่าตึ๋งมีปมอะไรในใจ หรือเขาเคยประสบเคราะห์กรรมจากความรักแบบไหนมา แน่นอนครับ คำพูดหนึ่งของตึ๋งที่บอกว่า “มีแฟนไปก็โดนทิ้งเปล่าๆ” มันดูเลื่อนลอยและไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะทำให้เราเชื่ออย่างสนิทใจว่า มันคือสาเหตุหลักที่ทำให้ตึ๋งแสดงพฤติกรรมแบบนั้นออกมา ซึ่งถ้าหนังทำให้คนดูได้รู้ถึงต้นตอที่มาของพฤติกรรมดังกล่าว ความอินในเรื่องราวจะเพิ่มขึ้นมาอีกมากมายอย่างแน่นอน

แต่เอาล่ะ ไม่ว่ามันจะมีจุดอ่อนข้อบกพร่องที่สามารถมองเห็นชัดเจนยังไง แต่ถ้ามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมที่สุด ผมว่า “อิติ๋มตายแน่” ก็ถือเป็นการประสานมือกันระหว่างโน้ส-อุดม กับ ต้อม-ยุทธเลิศ ในระดับที่ดีใช้ได้ ไม่ถึงกับน่าผิดหวัง (ส่วนใครจะร้องไห้เสียดายตังค์ค่าตั๋ว ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล) และสุดท้าย ผมก็คาดหวังอยู่นะครับว่า โอกาสหน้า เราคงได้เห็นสองคนนี้ทำงานร่วมกันอีก ขณะเดียวกัน ก็ขอคาดหวังเพิ่มอีกนิดว่า พวกเขาคงทำให้ผลงานออกมาดู “กลมกล่อม” มากกว่านี้ จากการเรียนรู้จุดอ่อนข้อบกพร่องของ “อีติ๋มตายแน่”

เหนืออื่นใด ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งซึ่งอาจทำให้หลายๆ คน “ติด” และไม่มั่นใจว่าควรไปดูหนังเรื่องนี้ดีหรือเปล่า ก็คือ ชื่อของมัน เพราะ “อีติ๋มตายแน่” ฟังแล้วชวนให้รู้สึกเปิ่นๆ เชยๆ เหมือนชื่อหนังไทยยุคโบราณ และหนักกว่านั้น บางคนอาจจะบอกว่า ตั้งชื่อหนังได้ไร้รสนิยมมั่กๆ!! ซึ่งก็ไม่ว่ากันอยู่แล้วล่ะครับ เพราะทุกคนมีอิสระที่จะคิดจะรู้สึกกันอยู่แล้ว แต่ลองคิดเล่นๆ นะครับว่า บางที นี่อาจจะเป็นการท้าทายอย่างหนึ่งของหนังหรือเปล่า?

ท้าทายยังไง?

ง่ายๆ เลยครับว่า หากเรา “มองข้าม” หนังเรื่องนี้เพียงเพราะเห็นชื่อของหนัง (หรือชื่อของผู้กำกับก็ตามที!!) ในที่สุด เราก็คงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นักกับตัวละครหลักอย่างตึ๋งซึ่งพร้อมเสมอที่จะตัดสินสรรพสิ่งที่รูปลักษณ์ภายนอก และมันก็ทำให้เขามองข้าม “ความงาม” ของมะขิ่นไปอย่างน่าเสียดาย...
กำลังโหลดความคิดเห็น