xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินระดับชาติ ผนึกกำลังไล่นายกฯ จี้ต้องลาออกสถานเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.เนาวรัตน์
“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” และ “จีรนันท์ พิตรปรีชา” เป็นตัวแทนสายศิลปิน ออกแถลงการณ์คัดค้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล “สมัคร” ในนาม “แนวร่วมศิลปินประชาธิปไตย” อัด นายกฯบริหารงานล้มเหลว ทั้งยังเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด จี้ ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก พร้อมจวก รัฐบาลดิ้นทำประชามติก็เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง

เป็นการผนึกกำลังที่สร้างปรากฏการณ์ทีเดียว สำหรับการออกมาแสดงจุดยืน ด้วยการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี “สมัคร สุนทรเวช” ลาออก ของศิลปินระดับชาติ อาทิ ศิลปินรัตนโกสินทร์, ศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินวัลซีไรต์ รวมไปถึงศิลปินจากทั่วทุกสารทิศ ในนาม “แนวร่วมศิลปินประชาธิปไตย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

โดยมีตัวแทนศิลปินจาก 3 สาขาใหญ่ๆ เข้าร่วมในการแถลงการณ์ดังกล่าว อาทิ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นตัวแทนของนักเขียนวรรณกรรม อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร เป็นตัวแทนจิตรกรรม นิด กรรมาชน รองประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต เป็นตัวแทนศิลปินเพลงเพื่อชีวิต และ จีรนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนกวีซีไรต์

นอกจากนี้ ที่ร่วมลงชื่อขับไล่ยังประกอบไปด้วย สุรชัย จันทิมาธร, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, ไพวรินทร์ ขาวงาม, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, คมทวน คันธนู, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ชัย ราชวัตร และอีกมากมาย โดยตัวแทนศิลปิน ระบุ นายกฯหมดความชอบธรรม เป็นต้นตอของความแตกแยก ทั้งยังบริหารงานล้มเหลว สิ้นสถานะความเป็นผู้นำ สมควรลาออกสถานเดียว!

“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” รัฐบาลสมัครขาดความชอบธรรม เพราะปล่อยให้ประชาชนตีกัน

“เราได้พูดคุยกันในแวดวงศิลปะ และได้กำหนดจิตสำนึกแนวทางในการทำงานศิลปะร่วมกัน และมีแนวทางที่ชัดเจนด้วย เราอาจะแตกต่างกันตรงท่าทีและวิธีการ แต่แนวทางต้องเดียวกัน จุดร่วมจุดต่างทิศทางวิธีการเราจะต้องจำแนกให้ชัดเจน หมายความว่าศิลปินทำงานสร้างสรรค์ ละเลยไม่ได้เลยเรื่องอารมณ์ความรู้สึก เหมือนจะเป็นพันธกรณีด้วยซ้ำไป ที่เราจะต้องมาดูแลความรู้สึกของคนในสังคม ในขณะเดียวกัน ศิลปินเองจะต้องอยู่บนความถูกต้องชัดเจนด้วย ยิ่งในภาวะอย่างนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมาปรึกษาหารือกัน”

“ผมในนามของกลุ่มนักเขียนวรรณกรรม ซึ่งมีหลากหลายซึ่งก็มีทั้งเรื่องสั้น บทความ นวนิยาย รวมทั้งกวีนิพนธ์ ซึ่งมีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับศิลปินท่านอื่นๆ ว่าเรากำลังทำงานตามอารมณ์ ความรู้สึก และความคิด อาจตจะหลากหลายตามแบบฉบับตามแต่ละบุคคล แต่เรื่องของวิธีการพวกเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ว่าทิศทางที่ถูกต้องมันคืออะไร และปรากฏการณ์ปัจจุบันเราได้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันแตกร้าวบาดลึก ไม่เคยปรากฏมาก่อน”

“ซึ่งมันเกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมที่โยงใยไปประวัติศาสตร์เมื่อสมัย 14 และ 6 ตุลาฯ ศัตรูคนเดียวกันแต่ในสนามที่ต่างกัน กับความไม่เป็นธรรมที่เพิ่มขึ้นดังแถลงการณ์ในฉบับแรกนี้ ซึ่งมันเป็นเนื้อแท้ๆ ของความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏอยู่ จึงทำให้เราเหมือนกับถูกผลักดันให้เลือกข้าง ซึ่งมันไม่ควรจะมีในกลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์ แต่มันปฏิเสธไม่ได้จากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่”

“ประการที่หนึ่ง ก็คือ การทำให้เกิดความแตกร้าวบาดลึก สอง ความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ซึ่งมีมาตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองจนถึงปัจจุบันนี้ ประการสุดท้าย คือ ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อเลือดหยดแรกต้องตกลงบนพื้นถนน มั่นแปลว่านิยมให้เกิดความรุนแรง การที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ชอบธรรมจึงก่อให้เกิดการตีกัน หลังสะพานมัฆวานเมื่อคืนวันที่ 2 ก.ย.”

“แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดปัญหาเกิดขึ้นมากมายในแขนงศิลปวัฒนธรรม มันเกิดมีเพียง 2 ทางเลือก คือ เวทีพันธมิตรฯ กับ เวทีเอารัฐบาล หลายคนไม่อยากไปสู่ทางเลือกอันนั้น หึลายคนพยายามแสดงว่าเราไม่เอาความไม่ชอบธรรมอันนี้ แต่เราก็ไม่อยากไปมีท่าทีแบบพันธมิตรฯ ซึ่งหลายส่วนของสังคมก็เป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้เราจะหาทางออกด้วยกันได้มั้ย บนเวทีของศิลปิน ซึ่งได้ให้เสรีในการแสดงความคิดเต็มที่ เรามีทิศทางตรงกัน แต่ท่าทีอาจจะต่างกัน เรามีจุดร่วมด้วยกัน แต่ก็มีจุดต่างร่วมกัน นี่เป็นความงดงามของประชาธิปไตย จึงได้เกิดจุดรวมใจวันนี้ขึ้น”

“อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร” จวก นายกฯทำประชามติเพื่อหาความชอบธรรมให้ตัวเอง

“ปกติศิลปินมักจะทำงานอยู่เบื้องหลังของสังคม แล้วศิลปะที่เราทำ ก็เป็นเรื่องที่พูดถึงการจรรโลงคุณธรรมของมนุษยชาติ พูดถึงความอิสระและเสรีภาพของมนุษย์ แต่ขณะนี้ศิลปินค่อนข้างจะหมดสุนทรียะทางด้านศิลปะ เนื่องจากสถานะของเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน สิ่งที่รัฐบาลกระทำกับสังคมมันตรงข้ามกับวิถีทางของศิลปะ วันนี้เราจึงต้องออกมาพูดถึงทัศนะของตัวเอง ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง”

“เราทุกคนกำลังเห็นความชอบธรรมของตัวเอง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับสังคมไทยขนาดนี้มาก่อน สิ่งที่สังคมเราเปลี่ยนไม่ใช่สิ่งที่เราจะสูญเสียประชาธิปไตยไป แต่สิ่งที่สูญเสียคือความไม่ชอบธรรมในสังคมต่างหาก ซึ่งสังคมเราอาจจะยังมองไม่เห็นภัยมืดที่กำลังคุกคามสังคมไทย และถ้ายังไม่ลุกขึ้นมาพูดถึงความชอบธรรมในสังคม เราจะสูญเสียมากกว่านี้”
จีรนันท์ พิตรปรีชา
นิด กรรมาชน
อ.ปัญญา

“เรามองประชาธิปไตยแค่การเลือกตั้ง แต่ไม่มองประชาธิปไตยในเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งความหมายจริงๆ มันคือเรื่องนี้ต่างหาก สิ่งที่รัฐบาลทำมันคือการทำลายความชอบธรรมทั้งหมดในสังคมไทย เราจึงต้องเรียกร้อง สังคมเรากำลังถูกครอบงำให้นึกถึงแต่ผลประโยชน์ ทำให้ทุกคนมองเห็นแต่เรื่องที่ตัวเองควรจะได้ ทำให้ทุกคนลืมนึกถึงความชอบธรรมที่ควรมีในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเราสงบร่มเย็นเป็นสุข”

“คติธรรมที่หลายคนไม่เคยคิด ก็คือ ความผิดของคนอื่นเห็นง่าย ฝ่ายของตนเห็นยาก ผลจึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น และก็คงไม่มีใครลุกขึ้นมาคัดค้านสิ่งที่ผู้นำประเทศทำกับบ้านเมือง สิ่งที่ศิลปินทุกท่านลุกขึ้นมาในวันนี้ ก็เพื่อไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างเช่นปัจจุบันซ้ำแล้วซ้ำเล่า อยากให้เข้าใจว่าสิ่งที่เราพยายามทำอยู่นี้ ก็เพื่ออยากจะเรียกร้องให้ความชอบธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง”

“ผมเห็นว่า การทำประชามติที่ท่านจะทำ เป็นการหาความชอบธรรมให้กับตัวเอง เป็นเพียงแนวทางที่รัฐบาลจะหาความชอบธรรมให้กับตนเอง เรื่องประชามติไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะมาทำตอนนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาจนถึงบัดนี้มันเป็นความหายนะ ที่คนหรือสังคมไม่มีความชอบธรรม ฉะนั้นคิดว่าการจะให้ลงประชามติ มันจะทำให้เกิดความชอบธรรมขึ้นในสังคมไทยแล้วหรือ”

“ผมเชื่อว่า ถึงแม้ว่าถึงผลประชามติจะออกมา ให้รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะเพราะมีเสียงข้างมาก แต่ผมก็ยังมั่นใจว่าความชอบธรรมจะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยแน่นอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกร้องคือความชอบธรรม ถ้าเราเข้าใจว่าความชอบธรรมในสังคมไทยคืออะไร เราจะมีจุดยืนอันเดียวกัน ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น เราสามารถที่จะถกเถียงกันเพื่อหาข้อยุติที่ดีที่สุดได้”

“เรามาเรียกร้องด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ จะสังเกตว่า ทุกครั้งที่ศิลปินออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ศิลปินไม่เคยได้อะไร เราก็ยังอยู่ปกติสุขของเรา เราก็ยังอยู่ในสถานะภาพเดิม และเราก็ต้องถอยกลับไปอยู่กับผลงานของตัวเองที่ต้องสร้างสรรค์ให้สังคม ในหน้าที่ของเราต่อไป แต่ถึงเวลามีปัญหาเราจำเป็นที่จะต้องออกมาเรียกร้อง และสิ่งที่เราทำปกติมันก็คือความชอบธรรมอยู่แล้ว แต่ถ้ามีความไม่ชอบทำขึ้นในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเรียกร้อง”

“ผมเป็นคนเขียนรูป เราก็มีพู่กันเป็นอาวุธ ถ้าเกิดความรุนแรงศิลปินก็ต้องเรียกร้องด้วยความอหิงสา วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่เห็นผลงานของเรา แต่ในวันข้างหน้าคนต้องเห็นว่ามันคือสิ่งที่เราเรียกร้องเพื่ออนาคต ถึงจะไม่สามารถเอางานศิลปะมาหยุดความบ้าระห่ำ ความบ้าอำนาจของคนบางคนได้ แต่สามารถทำให้คนหยุดคิดและตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม อันนี้คือคุณค่าของงานศิลปะ”

“นิด กรรมาชน” ตัวการของความแตกแยกในปัจจุบัน คือ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร

“ทุกครั้งที่มีการต่อสู้จะสังเกตเห็นว่า ศิลปินเพื่อชีวิตจะลุกขึ้นมาอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอ โดยใช้เสียงเพลง ปลุกเร้าเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน แต่หลังๆ จะเห็นว่าได้มีศิลปินหลากหลายสาขาเข้าร่วมกับเรา และก็จะมีคนตั้งคำถามเสมอว่า คุณคิดว่าคุณทำถูกหรือเปล่า คุณต้องการอะไร คุณอยู่ข้างใคร ทุกครั้งที่มีการต่อสู้คุณก็ออกมา ดิฉันอยากจะบอกว่า เราต่อสู้มาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ จนกระทั่งเราเข้าป่าไปเป็นทหารป่า ไปจับปืนต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ สุดท้ายก็ออกมาสู่ในเมือง แต่สังคมก็ยังไม่ดีขึ้นมีแต่แย่ลงๆ ระบบทุนนิยม ระบบมือใครยางสาวได้สาวเอาเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ นักศึกษาก็ไม่ได้สนใจการเมือง สมัย 14 ตุลาฯนักศึกษาสนใจการเมืองมาก แต่หลังจากนั้นกระบวนการนักศึกษากลับหายไปเลย”

“นี่แสดงให้เห็นว่า บ้านเมืองของเรากำลังถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยม ที่พยายามทำให้ชาวบ้านหรือนักศึกษาหลงอยู่ในวัตถุนิยม ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง มองการเมืองไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ทั้งที่จริงแล้วการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เกิด ในขณะเดียวกันในสถาบันการศึกษาตั้งแต่เล็กจนโต หรือแม้แต่ทุกหน่วยงานทุกองค์กรบัญญัติหนึ่งข้อจะมีไว้เลยว่า ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วอย่างนี้ชาติบ้านเมืองจะไปได้อย่างไร”

“จึงอยากเรียนทุกท่านไว้ตรงนี้ว่า ทุกครั้งที่มีการต่อสู้ศิลปินเพื่อชีวิตเลือกถูกค่ะ เราจะยืนข้างความเป็นธรรม เราไม่สนใจว่าใครจะเป็นใคร ถ้าคนที่ต่อสู้นั้นเป็นคนที่คุณธรรม เราจะกระโดลงมาร่วมต่อสู้กับพวกเขา บางคนอาจจะไม่ได้มาต่อสู้ในเวทีพันธมิตร แต่ดิฉันเชื่อว่าทุกคนเป็นกำลังหนุนช่วยผลักดันในพื้นที่ต่างๆ จากรายชื่อที่ทุกคนลงร่วมกับเราจะเห็นได้ว่ามากมาย ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็มีภารกิจช่วยเหลือตามจุดต่างๆ ตามที่จะสามารถทำได้”


“หลัง 14 ตุลาฯ เหตุการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ยิ่งในปัจจุบันนี้ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการแบ่งแยกกันชัดเจนว่าพวกใครเป็นพวกใคร ไม่น่าเชื่อว่าสมัยนี้ประชาชนมีการศึกษามากขึ้น มีการสื่อสารที่ทันสมัย แต่ประชาชนกลับแบ่งแยกกันมาขึ้น ดิฉันอยากจะเรียกร้องให้ผู้นำประเทศหันมามองถึงผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก อย่าเห็นแต่ประโยชน์ของตนเอง อย่าเห็นประโยชน์แต่เพื่อนฟ้องของตัวเอง อยากให้ตระหนักว่าประเทศเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของผู้นำทางการเมืองคนใดคนหนึ่ง”

“อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น ก็คือ เรื่องที่พวกเราที่เป็นนักต่อสู้ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ เพื่อนที่สามารถจะตายด้วยกันได้ สามารถที่จะกอดคอร่วมรบด้วยกันได้ แต่ปัจจุบันนี้ความคิดทางการเมืองเราแตกแยก ซึ่งดิฉันมีความเชื่อมั่นว่ามีคนๆ เดียว ก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาทำให้มีความแตกแยกในสังคมได้ดีมาก โดยใช้เงินเป็นสื่อ ทำให้มิตรสหายที่เคยต่อสู้กันมาแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย”

“แต่ถ้าวันหนึ่งถ้าเขามองเห็นความเป็นจริง เขาจะต้องกลับมายืนอยู่ข้างประชาชน ตอนนี้เขาอาจจะบอกว่าเขาทำถูก เราก็บอกว่าเราทำถูก แต่พฤติกรรมที่รัฐบาลทำ คิดว่าประชาชนคงมองเห็นได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นธรรมอะไรไม่เป็นธรรม อยากจะเรียกร้องมิตรสหายกลับมายืนข้างประชาชนที่แท้จริงเถอะค่ะ”

“จีรนันท์ พิตรปรีชา” ยังไงนายกฯก็ต้องลาออก(ไปก่อน)!

“พวกเรามาเจอกันโดยไม่ได้ส่องสุมหารืออะไรก่อน คิดก็ต่างกันแต่มีจุดร่วมอยู่หนึ่งจุด ซึ่งอยู่ในแถลงการณ์ฉบับนี้ แล้วหลังจากนั้นใครจะไปทำอะไรก็ไป ใครจะไปขึ้นเวทีพันธมิตร หรือว่าจะกลับบ้านไปวาดรูปเขียนกวีต่อก็ไม่ว่ากัน เราต้องมีแบบฝึกหัดใหม่ของการยอมรับความแตกต่าง ไม่ใช่ตื่นช้าขึ้นมาก็คิดว่าเราจะอยู่ข้างไหนดี ซึ่งอันนี้เป็นภาวะความกดดันที่ศิลปินทุกคนเผชิญอยู่ และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย กับการที่บอกว่าถ้าคุณไม่อยู่ตรงนี้ คุณเป็นไอ้พวกโน้น มันไม่ใช่นะคะ”

“สังคมบริภาคนิยมซึ่งกำลังมาแทนที่สังคมบริโภคนิยมในตอนนี้ มันก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน แต่บาดแผลที่เกิดขึ้น สภาพจิตของคนในชาติที่จะเกิดขึ้นมันประเมินไม่ได้ มันไม่เหมือนปิดสนามบินวันสองวัน แล้วประเมินความเสียหายออกมาเป็นตัวเลข เราจะอยู่กันได้ยังไงถ้าสังคมมีแต่ความแตกแยก สงสัยหวาดระแวงประณามกัน เพราะฉะนั้นศิลปินก็ต้องทำหน้าที่ของศิลปิน ด้วยการมาบอกว่าเรามีจุดร่วมอะไร และจุดต่างอยู่ตรงไหนเราก็สงวนกันไว้ โดยไม่ต้องประณามกัน”

“เราทำหน้าที่ของเราอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นจะต้องมาโปรโมทตัวเองว่าฉันทำโน่นทำนี่ ศิลปินคนที่ไม่มาวันนี้ เป็นคนที่ไม่รักชาติอันนี้ไม่ใช่เลย แต่ความเจ็บปวดของศิลปินส่วนตัวมีอยู่ข้อหนึ่ง โดยเฉพาะคนเขียนกวี คือ ทุกครั้งที่ต้องเขียนบทกวีไว้อาลัย สดุดีวีรชน มันเจ็บปวดและยิ่งทำให้ผู้อ่านเจ็บปวดมากขึ้นไปอีก ด้วยถ้อยคำเหล่านั้น เพราะฉะนั้นในวันนี้ยังไม่เขียนอะไร และไม่อยากเขียนบทกวีไว้อาลัย หรือคารวะสดุดีใครอีก”

“การที่นายกฯจะทำประชามติ ส่วนตัวมีความเห็นว่า อะไรก็ไม่เวิร์กแล้วไงคะ ถึงเสนอว่าคุณออกไปก่อน พูดไปก็มากความ ความขัดแย้งรายวันที่เกิดขึ้น เพราะพอฝ่ายนี้ว่ามา ฝ่ายโน้นก็โต้ กลายเป็นเรื่องเบี้ยวหัวแตก แต่ประเด็นหลักก็คือว่า ไม่ว่าอะไรก็ตามคุณไม่สามารถบริหารงานได้น่ะ”

โดยภายหลังการแถลงข่าว “จีรนันท์ พิตรปรีชา” นักเขียนกวีซีไรต์ ได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์คัดค้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

วิกฤตการณ์วันนี้ได้สร้างความแตกแยกร้าวฉานในแผ่นดิน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และหาทางออกไม่ได้ เนื่องจากมีการตั้งหลักแบ่งฝักฝ่ายอย่างสุดขั้ว โดยที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลนอกจากไม่พยายามแก้ปัญหา และยกระดับความขัดแย้งแล้ว ยังหมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งหน้าที่ เนื่องจากไม่สามารถรับมือแก้ไขปัญหาของประเทศตามครรลองประชาธิปไตย โดยได้รับฉันทามติจากประชาชนส่วนใหญ่ผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2551

พวกเราแนวร่วมศิลปินประชาธิปไตย ขอคัดค้านความไม่ชอบธรรมที่เป็นเหตุแห่งความแตกแยกร้าวฉานในแผ่นดิน จากการกระทำของรัฐบาล จึงของเสนอให้ นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลและดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งและยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากบริหารงานแล้วล้มเหลว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ทั้งยังเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤตนี้

พวกเราแนวร่วมศิลปินผู้มีชื่อข้างท้ายนี้ มีความเห็นร่วมกันว่า สันติสุขแห่งสังคมอารยะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มีส่วนร่วมและบทบาทในการแสดงความคิด และพิทักษ์คุณค่าแห่งศักดิ์ศรี ภูมิปัญญา และจริยธรรมสังคมให้มั่นคง ด้วยวิถีทางต่างๆ โดยที่ผู้นำประเทศจะต้องมีบทบาทเป็นแบบอย่างที่สำคัญ ซึ่งในกรณีนี้เราเห็นว่าเหลืออยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องสมัครใจลาออก เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของสังคมส่วนรวม

พวกเราของเรียกร้องให้ประชาชนและกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ที่ห่วงใยประเทศเปิดใจกว้างยอมรับข้อแตกต่างทางความคิด และออกมาแสดงทัศนะจุดยืนที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสม ในสถานการณ์สุดขั้วที่เป็นอยู่ในเวลานี้
จีรนันท์ อ่านคำแถลงการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น