xs
xsm
sm
md
lg

Female Agents: นางโชว์ โสเภณี และสาวๆ มือดียุคนาซีป่วนโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันไม่ถึง 3 เดือน มีหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มาฉายให้คนไทยได้ดูถึง 2 เรื่อง ซึ่งทั้งสองเรื่องก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องคล้ายคลึงกันอย่างประจวบเหมาะ เพราะมันพูดถึงชะตากรรมของคนเล็กๆ ที่ “บันทึกทางประวัติศาสตร์” มักมองข้ามและหลงลืม

คงเป็นเรื่องปกติที่ “ฮีโร่” ของสงคราม ถ้าไม่ใช่ “ท่านนายพล” ก็เป็นใครสักคนที่กินตำแหน่งต้นๆ ในกองทัพ “คนธรรมดาสามัญ” อย่างมากก็เป็นได้เพียง “ตัวประกอบ” ที่เดินผ่านหน้ากล้องอย่างไร้ความหมาย ??

แต่เอาล่ะ ไม่ว่าจะอย่างไร หนัง 2 เรื่องที่ผมเอ่ยถึงในย่อหน้าแรกนั้นกลับแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงตรงที่ “ตัวเอก” ของแต่ละเรื่องซึ่งล้วนเป็น “คนตัวเล็กๆ” ที่ถูกแรงโน้มถ่วงของสงครามดึงดูดให้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องราวแห่งการสู้รบ

อันที่จริง ในห้วงเวลาหลายปีมานี้ ผมคิดว่ามีหนังดีๆ มากมายหลายเรื่องที่เล่าถึงตัวละครเล็กๆ ในสนามรบอันยิ่งใหญ่ที่ต้องฟันฝ่าดิ้นรนเพื่อประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดจนถึงวันผ่านพ้นภาวะสงคราม แต่ถ้าจะเอาเฉพาะในช่วงปีสองปีมานี้ เท่าที่ผมจำได้ มีอยู่ประมาณ 3-4 เรื่อง ไล่ตั้งแต่ The Lives of Others, Black Book, The Counterfeiter รวมมาถึง Female Agents ที่กำลังเข้าฉายในบ้านเราอยู่ในขณะนี้

แน่นอนครับว่า เมื่อได้ดูหนังเหล่านี้ ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นกับคนดูย่อมไม่ใช่ความปลาบปลื้มชื่นชมหรือยินดีปรีดาในความหาญกล้าของเหล่าวีรบุรุษสงครามเหมือนหนังแนวเชิดชูวีรกรรมทั่วๆ ไป แต่เป็นความรู้สึกสะเทือนใจอย่างถึงที่สุดกับชะตากรรมอันน่าเศร้าของเหล่าตัวละครที่ “ดูเหมือน” จะไร้ความสลักสำคัญใน “บันทึกทางประวัติศาสตร์”

มากไปกว่านั้น หนังทุกเรื่องที่ผมพูดถึง แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะบ่งบอกว่าเป็นหนังสงคราม แต่เอาเข้าจริงๆ เนื้อหาสาระกลับพาดพิงโยงใยถึงประเด็น “ความเป็นมนุษย์” และตีแผ่ภาวะจิตใต้สำนึกและสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของคนเราได้อย่างแหลมคม (ในความคิดของผม The Counterfeiter คือหนังที่ดีที่สุดในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะมองในแง่มุมของความเป็นศิลปะหรือแก่นสารสาระ)

และไม่มากไม่มาย ผมคิดว่า Female Agents ก็มีครบทุกประเด็นที่กล่าวมา...

Female Agents เปิดเรื่องอย่างรวบรัดด้วยการเล่าถึงหญิงสาว 5 ชีวิตที่ถูกเกณฑ์เข้ามาแบกรับภารกิจ “สายลับ” อำพรางตัวเข้าไปช่วยเหลือนักธรณีวิทยาชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งถูกทหารเยอรมันจับตัวไปทรมานเพื่อเค้นเอาความลับบางอย่างเกี่ยวกับการยกพลขึ้นบกที่ฝั่งนอร์มังดี อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราได้เห็นในเวลาต่อมาก็คือว่า สายลับสาวทั้ง 5 ถูกแรงเหวี่ยงแห่งสงครามพัดพาเข้าไปในวังวนแห่งการสู้รบอันดิบเถื่อน ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะจบลงในแบบที่ไม่มีใครคาดหวัง
ว่ากันโดยที่มาที่ไป Female Agents สร้างขึ้นมาจากเค้าโครงชีวิตจริงของผู้หญิง 5 คนซึ่งเคยทำงานเป็นสายลับในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ 1 ใน 5 คนนั้นเป็นหญิงชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2004 ด้วยวัย 98 ปี ผู้กำกับ “ฌอน-พอล ซาลาโมเน่” อ่านพบข่าวมรณกรรมของเธอทางหน้าหนังสือพิมพ์แล้วก็เกิดไอเดียที่จะทำหนังเรื่องนี้ทันที

อย่างไรก็ดี ซาลาโมเน่บอกว่านี่ไม่ใช่ “หนังสงคราม” อีกเรื่องอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่เขาต้องการสะท้อนให้เห็นจริงๆ คือเรื่องของผู้หญิงในสงครามซึ่ง...“ผมจะทำให้คนดูรู้สึกเจ็บปวดไปกับชีวิตของนักสู้ผู้ถูกลืมเหล่านี้”

ถ้าไม่เป็นการคิดเข้าข้างผู้กำกับมากเกินไปนัก ผมว่า ซาลาโมเน่ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ในการพาหนังของตัวเองไปถึงฝั่งอย่างที่ตั้งใจ เพราะนอกจากตัวละครหลักทั้งหมดจะเป็นผู้หญิงแล้ว Female Agents ยังสามารถสื่อสารถึงความสูญเสียและปวดร้าวของหญิงสาวทั้งห้าออกมาได้อย่างน่าสะเทือนใจ

สงครามไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้ชาย เพราะในความเป็นจริง มีผู้หญิงตั้งเท่าไรที่ทุ่มเทตัวเองเพื่อร่วมแรงขับเคลื่อนเส้นทางสู่ชัยชนะ ? และมีผู้หญิงอีกตั้งเท่าไรที่บาดเจ็บล้มตายในควันไฟแห่งสงคราม ? Female Agents ดูเหมือนจะพูดกับคนดูแบบนี้...

“พลังของผู้หญิง” สื่อออกมาอย่างชัดเจนผ่านเรื่องราวหญิงสาว 5 คนซึ่งประกอบไปด้วย “ลูอิส” สาวนักแม่นปืน “จีนน์” โสเภณีใจเพชร “กาเอล” ผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิด “ซูซี่” อดีตนางโชว์ผู้เลอโฉม และ “มาเรีย” นักสู้ชาวอิตาเลียนที่ซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศส เธอทั้งหมดต้องเข้าไปเสี่ยงชีวิตอยู่ในดินแดนของนาซี และทำทุกอย่างเพื่อให้ภารกิจลุล่วง ไม่เว้นแม้กระทั่งการเอาตัวเข้าแลก

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปฏิบัติการอันลุ้นระทึก สิ่งที่หนังเสริมใส่เข้ามาสร้างความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ของคนดูได้ค่อนข้างดีก็คือ แง่มุมที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกอันซับซ้อนของตัวละครหญิงแต่ละคนที่ปะปนกันไป ทั้งกล้าหาญและหวาดหวั่น ทั้งฮึดสู้และท้อถอย

และอย่างน้อยๆ หนึ่งครั้ง หนังได้แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของ “ความเป็นหญิง” ที่ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่ดิบเถื่อนสักเพียงไหน ก็ยังไม่สูญสิ้นความอ่อนโยน แต่ความอ่อนโยนที่ว่านี้แทนที่จะเป็นผลดี กลับกลายเป็นต้นเหตุที่นำโศกนาฏกรรมมาสู่ตัวเธอเอง (แน่นอนล่ะ สงครามที่ไหนล่ะจะ “เรียกร้อง” ความอ่อนโยนหรือเห็นอกเห็นใจ ?!)

ในแง่ของเทคนิควิธีการเล่าเรื่อง ต้องขอชมครับว่า ซาลาโมเน่เขย่าส่วนผสมต่างๆ ของหนังออกมาได้อย่างลงตัวและแนบเนียนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การควบคุมอารมณ์ของเรื่องราวที่เข้าใจจัดวางจังหวะว่าจะผ่อนหนักผ่อนเบาตรงไหน หรือปล่อยความรู้สึกแบบใดในช่วงไหนยังไง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกระทึกตื่นเต้น เศร้าสลด หรือแม้แต่อารมณ์ลุ้นบีบคั้นหัวใจ อารมณ์เหล่านี้มีการเชื่อมโยงและส่งต่อกันอย่างเป็นเอกภาพและลื่นไหล ไม่ทำให้คนดูเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า หนัง “กระโดด” ข้ามไปข้ามมา

และเนื่องจากหนังเรื่องนี้มีทิศทางหลายๆ อย่างคละเคล้ากัน ทั้งความเป็นแอกชัน ระทึกขวัญ ดราม่า ตลอดจนจิตวิทยา ซึ่งถ้าผู้กำกับไม่ชัดเจนว่าควรปล่อยอะไรตรงไหนหรือจัดวางจังหวะในการเข้าออกไม่ถูก ก็อาจทำให้หนัง “เละ” ได้เหมือนกัน แต่ซาลาโมเน่ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

ขณะที่นักแสดงสาวขวัญใจหลายๆ คนอย่าง “โซฟี มาร์โซ” ก็โชว์ฝีมือการแสดงขั้นเทพอย่างไร้ที่ติในบทของลูอิส ผมไม่แน่ใจเท่าไรนักว่าในโลกนี้จะมีคนสักกี่คนกันที่ “เล่น” เป็นคนอื่นได้ “จริง” และ “เนียน” ถึงเพียงนี้?

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด ที่ผ่านมา ผมคิดว่า หลายๆ คนคงจะเริ่มเอียนกันบ้างแล้วกับหนังแนวสงครามโลก (โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 !!!) แต่กับ Female Agents ผมเห็นว่านอกจากจะไม่น่าเบื่อแล้ว ยังเป็นหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ดูสนุกมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

แต่ก็ขอเตือนไว้ก่อนนะครับว่า มันไม่ใช่ความสนุกแบบ “ว้อ บ้า มหาสนุก” หรืออะไรพวกนั้น แต่เป็นความสนุกที่เกิดจากความถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทางด้านศิลปะแห่งภาพยนตร์อย่างแท้จริง

กำลังโหลดความคิดเห็น