xs
xsm
sm
md
lg

SOCKET : ไฟ (ฟ้า) สวาท/ธีปนันท์

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


คอหนังชาวไทยคงจะคุ้นเคยกับคำว่า หนังคัลท์ (Cult Film) กันมากขึ้นในระยะหลังมานี้ นิตยสารภาพยนตร์ในบ้านเราหลายเล่มแจกแจงและอธิบายให้เราเข้าใจ รวมถึงยอมรับมันเป็นส่วนหนึ่งของการเสพความบันเทิง – อย่างต่อเนื่องจริงจัง ทั้งสื่ออินเตอร์เน็ตเองก็ได้สร้างชุมชนของผู้นิยมหนังเฉพาะกลุ่มขึ้นมาแล้วหลายๆ กลุ่ม

คำจำกัดความของ Cult Film นั้นออกจะกว้างขวางอยู่สักหน่อย กล่าวก็คือ มันสามารถเป็นหนังในตระกูล (Genre) ใดก็ได้ ดีหรือเลวก็ได้ สัญชาติใดก็ได้ หรือทุนต่ำทุนสูงก็ได้อีกเหมือนกัน ขอเพียงให้มีกลุ่มผู้ชมที่จงรักภักดีแบบเดนตาย โดยไม่ต้องเอาเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอย่างที่ยกตัวอย่างมาเป็นปัจจัยหลัก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Cult Film ก็มีภาพชินตาที่ค่อนข้างชัดเจนในการรับรู้ของคนทั่วไป กล่าวคือ นอมินีของมันอาจจะต้องเป็นหนังสยองขวัญ - ทุนต่ำ - และคุณภาพโดยรวมต้องจัดอยู่ในขั้นเลว (ไม่ว่าจะวัดด้วยมาตรฐานใดก็ตาม)

องค์ประกอบดิบเถื่อน และความรุนแรงในหนังคัลท์ ค่อยๆ กีดกันคนดูเพศหญิงออกไป จนมันกลายเป็นโลกของเพศชายโดยสมบูรณ์ ตัวละครหญิงในหนังสยองขวัญอิตาเลียนหลายเรื่อง จึงเป็นแค่เพียง Object of Desire เพื่อตอบสนองความปรารถนาทางเพศของผู้ชาย

และเพื่อความเป็นธรรม รสนิยมการเสพหนังของเพศหญิงก็ไม่ได้ต่างกันนัก ตัวละครชายในหนังที่พวกเธอดูหรือในหนังสือนิยายที่พวกเธออ่าน – ก็ไม่ใช่ผู้ชายที่มีอยู่จริงในโลกนี้ นอกจากในความเพ้อฝันของพวกเธอเอง

เกย์เองก็มีแฟนตาซีส่วนตัวไม่ต่างกัน แต่หนังคัลท์สำหรับเกย์แท้ๆ อาจหาได้น้อยมาก (ไม่นับรวมหนังโป๊สำหรับเกย์) เพราะแม้แต่หนังคัลท์ที่ดูแต๋วสุดๆ ของ จอห์น วอเตอร์ส เกย์บางกลุ่มก็ต่อต้านเนื้อหาของมัน

บางทีภาพลักษณ์ของหญิงสาวหรือชายหนุ่มในฝันของเกย์ อาจจะไม่ตรงกับลักษณะของตัวละครในหนังของวอเตอร์สนัก โดยเฉพาะกะเทยร่างยักษ์อย่าง ดีไวน์ (นักแสดงคู่บุญของวอเตอร์ส) นั้น ออกจะน่าตบมากกว่าน่ารักเสียด้วยในสายตาของใครหลายๆ คน

เมื่อเทียบดีไวน์กับคนอย่าง จูดี การ์แลนด์, บาร์บรา สไตรแซนด์ หรือ เฟย์ ดันอะเวย์ 2-3 คนหลังอาจจะเป็นที่ยอมรับมากกว่า และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เกย์ส่วนใหญ่มักจะชอบหนังอย่าง The Way We Were หรือ Mommie Dearest มากกว่าหนังอย่าง Female Trouble

อย่างไรก็ดี การมาถึงของทศวรรษที่ 90 ก็เป็นนิมิตหมายอันดี สำหรับคนดูหนังเกย์แบบเฉพาะกลุ่ม การกำเนิดขึ้นของ New Queer Cinema กลุ่มคนทำหนังเกย์และเลสเบี้ยนในอเมริกาที่เปี่ยมความสามารถและมีความคิดหลักแหลม อย่าง กัส แวง ซองต์, โรส ทรอช, ทอม เคลิน หรือ ทอดด์ เฮย์นส์ ฯลฯ – ทำให้ทางเลือกของผู้ชมเกย์มีมากขึ้น

หากไม่นับ “ขาแรง” ที่ “ดิบเถื่อน” ใกล้เคียงกับหนังคัลท์สยองขวัญ - อย่าง เกรกก์ อารากิ (The Living End, Mysterious Skin) และ บรูซ ลาบรูซ (No Skin off My Ass) ซึ่งสามารถจัดรวมกลุ่ม New Queer Cinema ได้เหมือนกัน จุดเปลี่ยนที่น่าขำขันของหนังคัลท์สำหรับเกย์ เพิ่งมาถึงเมื่อตอนที่หนังเรื่อง HellBent (2004) ออกฉาย

อารากิและลาบรูซนั้น “แรง” ก็จริงอยู่ แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับ HellBent ของ พอล เอเธอเรดจ์ อุสต์ ที่นอกจากจะแรงอย่างไม่มีสติแล้ว ยังจัดได้ว่า เลวทราม ต่ำช้า

HellBent เป็นหนังแบบ “สับ สับ สับ” เพียงแต่เปลี่ยนให้บรรยากาศอบอวลไปด้วยความเป็นเกย์ นั่นก็คือ เราจะได้เห็นผู้ชายหน้าตาดีเต็มไปหมด พวกเขาแก้ผ้า…และถูกฆ่า มันสนธิขนบหนังคัลท์สยองขวัญแบบผู้ชายและแฟนตาซีของเกย์อย่างเมามัน

และ HellBent นั่นเองทำให้คนหันมาสนใจงานของ ผู้กำกับ เดวิด เดอ คอคโต อีกครั้งหนึ่ง อันได้แก่ หนังชุด The Brotherhood (2001) ที่เป็นเรื่องราวซาตานในหอพักนักเรียนชาย (เดอ คอคโต ทำหนังอีกหลายเรื่อง และมีพล็อตที่คล้ายคลึงกันนี้)

ฌอน แอบเลย์ เป็นนักทำหนังอิสระจากชิคาโก้ ที่พยายามทำให้หนังที่เขาเรียกว่า Queer Horror มีที่ทางของมันอย่างชัดเจน เขาและเพื่อนช่วยกันสร้างหนังสยองขวัญเกย์หลายเรื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะนอกเหนือจากการไปฉายตามเทศกาลหนังเกย์หรือหนังสยองขวัญเล็กๆ แล้ว หนังของเขาก็ไม่มีโอกาสไปลงโรงฉาย หรือทำดีวีดีขายเลย

Socket เป็นหนังเรื่องแรกของแอบเลย์ที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง อย่างน้อยๆ มันก็ได้รับจัดจำหน่ายจากบริษัทผลิตดีวีดีหนังเกย์ชื่อดังคือ บริษัท TLA นำออกขายทั่วโลก

ชื่อของหนังนั้นแปลว่า เต้าเสียบปลั๊กไฟที่เรามีกันอยู่ทุกบ้าน และแอบเลย์ก็นำมาพัฒนาเป็นพล็อตที่พิลึกเอาการ เรื่องมีอยู่ว่า นายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งถูกฟ้าผ่าและรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ขณะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เขาได้เจอกับนักศึกษาแพทย์รูปงามที่เคยผ่านประสบการณ์การโดนฟ้าผ่ามาเหมือนกัน

เด็กหนุ่มชักชวนพระเอกของเราไปเข้ากลุ่มบำบัดผู้โดนฟ้าผ่า และที่นั่นก็มีผู้เคราะห์ร้ายอีกหลายรายที่มาบำบัดทุกข์กันสัปดาห์ละครั้ง – ด้วยการเอาไฟฟ้าช็อตตัวเอง

แต่ยิ่งนานวันเข้า การเอาไฟฟ้าช็อตตัวเอง กลายเป็นการเสพติด พระเอกของเราถึงขั้นผ่าตัดให้ข้อมือของตนเองเป็นปลั๊กเสียบอัตโนมัติและเสียบกับปลั๊กไฟได้ทุกที่ทุกเวลา จนเมื่อการช็อตไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจได้แล้ว พระเอกของเราจึงออกฆ่าคนด้วยการใช้ไฟในร่างกายช็อตคนอื่น

ฟังเรื่องดูแค่นี้ก็ไม่เข้าใจว่า แอบเลย์คิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร เขาให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองเป็นแฟนตัวยงของ เดวิด โครเนนเบิร์ก (Videodrome, Eastern Promises) และ Socket นั้นมีที่มาจากการที่แอบเลย์ได้อ่านนิยายขนาดสั้นเรื่อง Crash ของ เจ จี บัลลาร์ด เรื่องที่โครเนนเบิร์กเคยนำมาสร้างเป็นหนัง และก่อกระแสอื้อฉาวไปทั่ว

Socket จึงมีแก่นเรื่องคล้ายๆ กับหนังของโครเนนเบิร์ก มันพูดถึงมนุษย์ที่ลดทอนคุณค่าของตัวเองด้วยการไปพึ่งพิงสิ่งไม่มีชีวิต และกลายเป็นอื่นอย่างรวดเร็ว แต่ยิ่ง Socket มีท่าทีจริงจังกับตัวเองมากเท่าไหร่ หนังก็ยิ่งดู Cult มากเท่านั้น

ด้วยทุนที่ไม่สูงนัก (แอบเลย์เล่าว่า เขาใช้เวลาถ่ายทำเพียง 1 สัปดาห์) ทุกอย่างจึงดูเป็นมือสมัครเล่นมาก-ถึงมากที่สุด จนผมกลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่ และเดาว่าแอบเลย์คงขนเพื่อนมาเล่นกันเต็มที่ โดยเฉพาะนักแสดงสาวประเภทสองในบท แพทย์หญิงปากร้ายแบบฉบับ Grey’s Anatomy ที่พูดจาไวยิ่งกว่าการอ่านคำเตือนของโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง หรือ 2 สาวเลสเบี้ยนเพื่อนสนิทของพระเอกที่มาเพื่อปล่อยมุกตลกกันไม่ยั้ง

ความน่ารักของ Socket ที่อยู่นอกเหนือความยุ่งเหยิงเหล่านั้น คือการที่แอบเลย์แสดงให้เห็นว่า โลกในหนังของเขา เกย์ เลสเบี้ยน หรือสาวประเภทสอง ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอม หากแต่กลืนเป็นเนื้อเดียวกับพวกชายจริงหญิงแท้
กำลังโหลดความคิดเห็น