xs
xsm
sm
md
lg

เฟรนด์ชิพ : สุขและเศร้าในคืนวันอันเก่าก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

นอกเหนือไปจากธีมของหนังที่วางโพสิชั่นให้กับตัวเองว่าเป็นหนังรักวัยรุ่น คงต้องยอมรับว่าจุดขายสำคัญอีกอย่างของภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของฉัตรชัย นาคสุริยะ คงหนีไม่พ้นดารารุ่นเยาว์ระดับแม่เหล็ก 2 คนอย่างมาริโอ้ (มาริโอ้ เมาเร่อ) กับสายป่าน (อภิญญา สกุลเจริญสุข) ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการตัดสินใจของใครหลายๆ คนว่าจะเดินเข้าไปดูหนังเรื่องนี้หรือไม่?

ในขณะเดียวกัน ความฉลาดอย่างน่ายกย่องของ “เฟรนด์ชิพ” ก็คือ การทำให้ตัวเองกลายเป็นหนังที่ครอบคลุมกลุ่มคนดูหลายวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคำโฆษณาบนแผ่นโปสเตอร์ของหนังที่เอ่ยปากไต่ถามทำนองว่า “ตอนอยู่ ม.ปลาย คุณเคยแอบรักใครหรือเปล่า?” นั้นก็เจือกลิ่น Nostalgia หรืออารมณ์ถวิลหาคืนวันอันเก่าก่อนไว้พอสมควร

แน่นอนครับว่า Message ในคำถามแบบนี้มันส่งไปถึง “ผู้ใหญ่” โดยตรง (หรืออย่างน้อยๆ ก็คนที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมมาแล้ว) และเป้าหมายของมันก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากทำให้ “หนังวัยรุ่น” เรื่องหนึ่งกลายเป็นหนังที่คนซึ่งผ่านพ้นวัยรุ่นไปแล้ว “รู้สึก” ว่าตัวเองก็น่าจะสามารถมีอารมณ์ร่วมได้ด้วย เพราะทุกๆ คนก็ล้วนมีเรื่องราวในอดีตเป็นของตัวเอง และแน่นอน เฟรนด์ชิพก็ตอบสนอง “ความรู้สึก” ในเชิง Nostalgia แบบนี้ได้ระดับหนึ่ง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ถ้าใครต่อใครจะบอกว่า หลายๆ แง่มุม ตลอดจนวิธีการนำเสนอของเฟรนด์ชิพนั้นสอดรับกับหนังอย่าง “แฟนฉัน” โดยมีประเด็นหลักๆ ร่วมกันคือ รักเก่าในวันก่อน...

โดยพล็อตเรื่อง เฟรนด์ชิพเกี่ยวเนื่องกับหนุ่มสาววัยทำงานกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจัดงานสังสรรค์ระหว่างเพื่อนเก่า ซึ่งนั่นก็คือจุดเริ่มต้นให้ความหลังในวัยเรียนหวนย้อนมาสู่ความทรงจำของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สิงหา” ชายหนุ่มผู้เก็บความสงสัยไว้ในใจตลอดมาว่า “มิถุนา” เด็กสาวที่เป็นรักแรกของเขาไปอยู่หนแห่งใดในตอนนี้ เพราะตั้งแต่เรียนจบ สาวน้อยมิถุนาก็หย่าขาดจากการติดต่อเพื่อนฝูงไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมกับสมุดเฟรนด์ชิพของสิงหาที่เธอไม่ได้คืนให้เขา...

เหมือนเพื่อนเก่ามานั่งเล่าความหลัง เฟรนด์ชิพใช้เวลาเกือบทั้งเรื่องนำเสนอภาพชีวิตหลากหลายเรื่องราวในช่วงวัยรุ่นวัยเรียนของตัวละครต่างๆ ย้อมอารมณ์ “โหยหาอดีต” ด้วยสีสันบรรยากาศแห่งยุค 80s ซึ่งอยู่ในช่วงราวๆ ทศวรรษ 2530 เสียงเพลงเก่าๆ ของแจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ รวมถึงเพลงของศิลปินหลายๆ คนของค่ายคีตา รายการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตยอดฮิตแห่งยุคอย่าง “โลกดนตรี” ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ผมขออนุญาตไม่แจกแจงในที่นี้ว่าตัวละครมีใครบ้าง แต่สิ่งแรกที่ขอชมก็คือหนังทำได้ดีพอสมควรในส่วนของการใส่รายละเอียดที่โอบล้อมชีวิตในวัยเรียนซึ่งรอบด้านและหลากหลาย ทั้งที่พูดถึงแบบผ่านๆ และตั้งใจพูดแบบลงลึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมิตรภาพ พฤติกรรมแก่นเซี้ยวยามอยู่ในกลุ่มเพื่อน การลองเสพยา การแอบพ่อแม่เล่นเกมหรือดูหนังโป๊ ไปจนถึงการ “ขึ้นครู” ตามประสาเด็กผู้ชาย การมีเรื่องชกต่อยกับนักเรียนต่างก๊วน หรือแม้กระทั่งการสูญเสียคนที่รัก ฯลฯ (รายละเอียดเหล่านี้ที่ว่ามา บางอย่างสุ่มเสี่ยงต่อกรรไกรเซ็นเซอร์ แต่ก็โชคดีที่ผ่านมาได้)

และคงไม่ว่ากันนะครับ ถ้าผมจะบอกว่า สิ่งหนึ่งซึ่งหนังเรื่องนี้ทำตกหล่นไปอย่างน่าเสียดายก็คือเรื่องของ “ความใฝ่ฝัน” ที่หนังไม่พูดถึงเลย ซึ่งผมว่ามันค่อนข้างผิดปกติวิสัยของชีวิตในวัยนี้ เพราะโดยทั่วๆ ไป เราคงไม่ปฏิเสธกันใช่ไหมว่า คนวัยนี้น่าที่จะเริ่ม “คาดหวัง” บางสิ่งบางอย่างกับวันข้างหน้าของตัวเองบ้างแล้ว หรือมี “ความฝัน” อะไรสักอย่างที่อยากจะมุ่งไป อย่างน้อยๆ ก็คงเริ่มถามกันบ้างแล้วล่ะว่า จะเรียนต่อที่ไหนกันดี

ดังนั้น วัยรุ่นในหนังเรื่องนี้จึงเป็นวัยรุ่นที่แล้งไร้ความใฝ่ฝันโดยสิ้นเชิง (แต่เอาล่ะ ถ้าจะคิดว่า ก็หนังเขาอยากนำเสนอแต่เรื่อง “รักแรก” กับความฝันอยากจะมีคนรัก...ก็จงมองข้ามข้อสังเกตนี้ไปเสีย)

ก็อย่างที่บอกครับว่า เครื่องมือในการสร้าง Nostalgia อย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ก็คือบทเพลงประกอบ ซึ่งหนังควบคุมจังหวะในการเข้า-ออกของเพลงประกอบเหล่านี้ได้ค่อนข้างดีและมีความไหลลื่น ขณะเดียวกัน ก็มีการใช้วิธีเล่าเรื่องแบบปล่อยภาพให้ไหลผ่านไปเรื่อยๆ โดยใช้เพลงประกอบเป็นเครื่องมือสื่อสารแทนความรู้สึกในช่วงนั้นๆ ของตัวละคร เพียงแต่บางช่วง ผมรู้สึกว่า ทั้งเพลงและดนตรีประกอบมันเยอะเสียจนฟังดูรกหูไปหน่อยไหม?

ในส่วนของนักแสดงหลักอย่างมาริโอ้นั้น แม้จะโดนค่อนขอดมาโดยตลอดว่า ถ้าหน้าตาไม่ดี เล่นได้เท่านี้ถือว่าธรรมดามากๆ แต่จริงๆ แล้ว ผมว่าเขาทำได้ไม่เลวเลยสำหรับคนที่ผ่านงานแสดงมาเพียงเรื่องสองเรื่อง และถ้าได้เล่นหนังดีๆ กับผู้กำกับดีๆ อย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะเป็นดาวแห่งวงการมีอยู่สูงแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งอยากติงไว้บ้างก็คือเรื่องของจังหวะจะโคนในการพูดที่บางครั้งมันฟังดูแข็งๆ ทื่อๆ เหมือนเด็กกำลังท่องตำราเรียนไปหน่อยไหม โดยเฉพาะเวลาที่ต้องพูดบทพูดยาวๆ ส่งผลให้น้ำเสียงการพูดมันฟังดูเรียบๆ เฉื่อยๆ ไร้ความรู้สึกไร้พลัง ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยการลองเน้นหนักเสียงต่ำสูงหรือเสียงดังเสียงเบาเข้าไปในคำบางคำ

ขณะที่น้องสายป่าน (ของใครต่อใคร?) ซึ่ง “สอบผ่าน” มาจาก “พลอย” ผมว่าเธอมีทักษะในการ “ตีความ” และ “เข้าอกเข้าใจ” ได้ดีในคาแรกเตอร์ที่ตัวเองเล่น และนี่ก็ส่งผลไปถึงการแสดงที่ดีตามมาด้วย เพียงแต่ผมนึกสงสัยอยู่นิดนึงว่า เวลาเธอยิ้ม มันเป็นยิ้มแบบธรรมชาติของเธอจริงๆ หรือว่าเป็นยิ้มที่ถูก “ปั้นแต่ง” เรียบร้อยแล้วเพื่อให้มันออกมาดูน่ารัก?

ส่วนดาราที่ถือเป็น “ตัวชูโรง” อีกคนที่คงพลาดอย่างแรงถ้าไม่พูดถึง ก็คือ “แจ๊ค แฟนฉัน” (เฉลิมพล ฑิฆัมพรธีรวงศ์) ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวละครที่ย้อมสีสันให้หนังสนุกและมีชีวิตชีวาแล้ว เรายังอาจพูดได้ว่า เขานี่แหละที่เป็น “แม่เหล็ก” อีกตัวที่ดึงดูดอารมณ์คนดูให้นั่งติดตามเรื่องราวต่อไปได้เรื่อยๆ เพื่อรอดูว่า เขาจะมาพร้อมกับมุกตลกอะไรอีกในฉากต่อไป (ถ้ามีโอกาสเจอตัว ผมก็อยากจะบอกเขาเหมือนกันว่า แจ๊ค นายนี่มันตลกกวน Teen ได้เจ๋งโคตรๆ เลยว่ะ ขอบอก!!)

อีกหนึ่งความโดดเด่นที่เห็นได้ชัดในหนังเรื่องนี้อยู่ที่บทพูดซึ่งค่อนข้างมีความเป็นธรรมชาติและจี๊ดจ๊าดได้ใจวัยรุ่นไปเต็มๆ แม้จะออกแนวหยาบคายไปบ้างในบางประโยค แต่ก็ยอมรับได้ว่ามันเป็นภาษาที่วัยรุ่นเข้าใช้กันจริงๆ ขณะที่หลายๆ คำพูดก็ฟังดูคล้ายๆ กับหลุดออกมาจากหน้าสมุดเฟรนด์ชิพยังไงยังงั้น (สมกับชื่อเรื่องของเขานั่นแล)

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า หนังดูเหมือนจะมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงประมาณ 20 นาทีสุดท้ายที่หนังควรจะจบลงได้ แต่กลับไม่จบ และลากคนดูต่อไปอีก มากไปกว่านั้น อารมณ์ขันที่ร่ำรวยมาตลอดทั้งเรื่องกลับถูกลบทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง และหนังก็หันไปหาด้านที่สลดหดหู่แทน จนคนดูเริ่มรู้สึกต่อไม่ติด (ถึงช่วงนี้ ผมสังเกตเห็นว่า พวกเด็กๆ วัยรุ่นที่ดูรอบเดียวกับผม...รอบบ่ายวันเสาร์...จากที่เคยใจจดใจจ่อกับหนัง ก็เริ่มเอียงข้างมาคุยกันบ้างแล้ว และหลายๆ คนเริ่มเดินออกไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งลึกๆ พวกเขาอาจจะบอกกับตัวเองก็ได้นะครับว่า พลาดตรงนี้ไป ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร!!)

พูดง่ายๆ ก็คือ หนังทำได้ดีมาโดยตลอด แต่กลับมาตกม้าตายเอาเมื่อตอนใกล้จะจบ

และอีกจุดหนึ่งซึ่งผมคิดว่า หนังดูเหมือนจะสับสนในตัวเองอยู่พอสมควรก็คือ การให้ตัวละครเอกฝ่ายชายออกเดินทางตามหา “รักแรก” ในความหลัง ซึ่งมันดูจะผิดจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมที่หนังถูกวางมาแต่แรกแล้วว่าเป็นเรื่องในทำนอง Nostalgia เพราะโดยธรรมชาติของ Nostalgia ก็คือการที่คนคนหนึ่งนั่งลงหวนคำนึงถึงหลายสิ่งที่ล่วงผ่าน สิ่งเหล่านี้แม้วันเวลาจะพ้นผ่านไปนานแค่ไหน มันก็จะยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของเราเสมอ (ไม่ว่าเรื่องรักแรกหรือเรื่องอะไรก็ตามที)

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะหยุดตัวเองไว้เพียงนั่งรำลึกนึกถึง เฟรนด์ชิพกลับพลิกเปลี่ยนตัวเองอย่างกะทันหันไปเป็นเรื่องราวของคนที่เที่ยวเดินทางออกตามหาเสี้ยวอดีตที่สูญหาย ซึ่งในมุมมองของผม มันไม่ใช่ความจำเป็นเลยสำหรับอารมณ์แบบ Nostalgia

และถ้าเราลองตัดช่วงเวลาหลังจากที่ “สิงหา” คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้ครบถ้วนแล้ว (ซึ่งก็คือช่วงเวลาประมาณ 20 นาทีสุดท้ายที่ผมพูดถึงก่อนหน้านี้) ออกไป ผมว่า Nostalgia ก็ได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว คือหวนคำนึงถึง แล้วรู้สึกสุขเศร้าไปกับมัน...เท่านั้น...และหนังก็ตอบโจทย์ตัวเองครบถ้วนโดยไม่มีอะไรตกหล่น ส่วนเรื่องสมุดเฟรนด์ชิพที่หายไปพร้อมกับมิถุนานั่นก็ปล่อยให้มันเป็น “ความลับ” ต่อไปก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย

ผมเข้าใจว่า การที่หนังให้พระเอกออกตามหา “มิถุนา” และ “เฟรนด์ชิพ” เล่มนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นความปรารถนาของหนังที่อยากจะ Link เรื่องราวให้เข้ากับชื่อเรื่อง (เฟรนด์ชิพ) ทั้งที่ว่ากันตามจริง หนังไม่จำเป็นต้องไปอาลัยอาวรณ์อะไรมากมายกับ “Friendship” เล่มนั้นก็ได้ ในเมื่อตลอดทั้งเรื่อง หนังก็นำเสนอให้เห็นภาพของ “ความเป็นเพื่อน” ได้อย่างซาบซึ้งใจเต็มที่แล้ว

ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าถามความรู้สึกส่วนตัวของผมจริงๆ ว่า แล้วตกลง เฟรนด์ชิพเป็นหนังแบบไหน ดีหรือไม่ดี? ผมไม่ขอเลือกทั้งสองอย่าง แต่พูดได้ว่า นี่คือผลงานที่ไม่ขี้เหร่เลยสำหรับคนทำหนังมือใหม่อย่างฉัตรชัย นาคสุริยะ และผมคิดว่าเขาไม่ได้ฉาบฉวยแน่นอนกับผลงานเรื่องนี้ แต่ก็อย่างที่บอกครับว่า อาจจะยัง “ขาดๆ เกินๆ” ไปบ้างในบางส่วน เช่น การให้ความสำคัญกับซัพพล็อตในส่วนของ “แหลม สายัณห์” มากเสียจนดูจะมีน้ำหนักและน่าสะเทือนใจมากกว่าเรื่องราวของตัวเอกทั้งสองคนด้วยซ้ำไป หรืออย่างฉากหิ่งห้อยบนดอยสูงนั้นก็ดู “เกาหลีโอเวอร์” ไปหน่อยไหม ฯลฯ

แต่โดยรวมแล้ว ผมคิดว่า เขาสามารถ “ไปต่อ” ได้ (อีกไกล) บนเส้นทางสายนี้

นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า ผู้กำกับคนนี้เขามี Sense of Humor อยู่ในตัวเองค่อนข้างสูง (ดังจะเห็นในหนังเรื่องนี้ว่า แค่เปิดเรื่องมาก็ฮาแตกกันทั้งโรงแล้วกับมุกรับโทรศัพท์ของป๋าเต็ด) และยิ่งในประเทศที่คนดูหนังส่วนใหญ่ชื่นชอบอะไรที่มันขำๆ ด้วยแล้ว ใครล่ะครับจะกล้าพูดว่า ฉัตรชัย คุณเลิกทำหนังเถอะ !?!?

กำลังโหลดความคิดเห็น