ถ้าแฟนหูเหล็กชาวเอเชียจะร่วมภูมิใจที่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของยอดมือกีตาร์ เอ็ดดี แวน เฮเลน จะเป็นชาวชวา จากคุณแม่ที่เป็นชาวอินโดนิเซีย คงต้องไม่ลืมว่ามือกีตาร์อีกคนอย่าง เคิร์ก แฮมเม็ต ก็มีคุณแม่เป็นชาวฟิลิปปินส์เหมืนกัน ซึ่งขุนขวานแห่งเจ้าพ่อเมทัล Metallica ได้สร้างบารมีมาพร้อมๆ กับวงด้วยลีลาการเล่นที่เร้าร้อนและแม่นยำมาตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
และก่อนที่ผลงานอัลบั้มที่แฟนๆ หูเหล็กเฝ้ารอกันมากว่า 5 ปีที่ประกาศชื่ออย่างเป็นทางการแล้วว่า Death Magnetic จะวางจำหน่ายให้ฟังกันในเดือนก.ย.นี้แล้ว มาดูกันหน่อยว่าในการเปิดใจต่อ The 100 Greatest Guitar Songs of All Time ของ Rolling Stone เขามีทัศนคติต่อการเล่นดนตรีอย่างไร
RT: คุณปลุกปั้นผลงานชุดใหม่ของ Metallica มากว่า 3 ปีแล้ว คุณรู้ได้อย่างไรว่าริฟฟ์หรือโซโลที่แต่งออกมาจะได้ใช้หรือโยนทิ้งไป
KH: ผมรู้ดีว่าจะเก็บอะไรเอาไว้ ผมพยายามอยู่เสมอที่จะสร้างท่อนโซโลที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมอัดท่อนโซโลเอาไว้เป็น 100 แทร็คเพื่อเพลงในชุดนี้เพลงเดียว และมันมีความยาวแค่ท่อนละ 25 วินาทีเท่านั้น (หัวเราะ) ซึ่งเมื่อมันเข้ากับเพลงแล้วจะรู้ทันทีเลยว่าใช้ได้หรือเปล่า มันจะ ว้าว หรือ ยังไม่เด็ดพอ เหมือนขาวกับดำเลยทีเดียว
RT: ในฐานะวงที่มีกีตาร์ 2 คน บทบาทของคุณใน Metallica เป็นอย่างไร
KH: เจมส์ เฮตฟิลด์ กับผมเข้าขากันเป็นอย่างดี เราไม่เคยขัดขากันเรื่องกีตาร์เหมือนกับที่วงอื่นๆ ที่มีมือกีตาร์ 2 คนเป็นกัน แนวทางของเขาเป็นรากฐาน ที่มาพร้อมกับภาคริธึมที่แข็งแกร่ง ส่วนของผมจะเน้นไปที่เทคนิคและความพลิ้วมากกว่า ผมเน้นการเล่นกีตาร์ที่องค์ประกอบของสเกลและโทนอันหลากหลาย ผมเขียนท่อนริฟฟ์ ดัดแปลงคอร์ด เพื่อให้มั่นใจว่าแต่ละทำนองจะประสานกันเป็นอย่างดี
ในหลายๆ อัลบั้มที่เราทำกันในยุค 90 ผมจะเน้นไปที่การสร้างความสมดุลของเสียง หยิบโน่นหยิบนี้มาผสมเพื่อความหลากหลาย ทั้งเนื้องานโดยรวม, ทางเดินคอร์ด, เพิ่มลิคตรงโน้นนิด เพิ่มเสียงกระแทกกระทั้นตรงนี้หน่อย ที่ตอนนี้เราหันหลังให้กับมันหมดแล้ว และจะกลับไปเน้นซาวด์กีตาร์เน้นๆ เหมือนที่เคยทำในยุค 80 ดังนั้นงานชุดใหม่ที่เรากำลังจะคลอดออกมานี้เป็นเหมือนการสร้าง "เครื่องจักรแห่งการล้างผลาญ" ดีๆ นี่เอง
RT: มีท่อนโซโลในผลงานชุดแรกๆ บ้างไหมที่มีอิทธิผลต่อการเล่นของคุณจนวันนี้
KH: เมื่อคนได้ฟังท่อนโซโลของเพลง Creeping Death และ Ride the Lightning จากชุด Ride the Lightning เมื่อปี 1984 มันมีแนวทางที่แตกต่างการต้นฉบับเดิมอย่างชัดเจน มือกีตาร์คนเก่าอย่าง เดฟ มัสเทน มักจะเน้นที่ความเร็วเป็นหลัก แต่ผมชอบให้มันมีเมโลดีมากกว่า และเล่นประสานเพื่อทำให้มันติดหูให้มากที่สุด แต่ยอมรับว่าตอนนั้นที่เข้ามาใหม่ๆ ผมยังละอ่อนสุดๆ
RT: ท่อนริฟฟ์ของ Enter Sandman จากชุดงูสปริงเมื่อปี 1991 ที่เป็นฝีมือคุณนั้น กลายเป็นท่อนริฟฟ์คลาสสิกที่ใครได้ยินก็ร้องอ๋อทันที เทียบชั้นกับ Smoke on the Water และ Whole Lotta Love ทีเดียว คุณแต่งมันได้อย่างไร
KH: เพื่อนผมที่มีร้านกีตาร์มันติดป้ายตัวเบ่อเริ่มที่หน้าร้านว่า "ห้ามเล่น enter sandman" (หัวเราะ) เรื่องของเรื่องก็คือ ตอนนั้นยอดวงกรันช์อย่าง Soundgarden เพิ่งจะออกผลงานชุด Louder than Love เมื่อปี 1989 ผมจึงพยายามขับดันทัศนคติของผลงานชิ้นนั้นไปสู่ท่อนริฟฟ์ที่ใหญ่โตและหนักหน่วงยิ่งขึ้น ตอนนั้นมันเป็นเวลาตี 2 ที่ผมอัดมันลงเทปและไม่ได้สนใจอะไรมันนัก จนกระทั้ง ลาร์ส อูลริช มือกลองของวงมาได้ยินท่อนริฟฟ์เข้า จึงทักว่า "มันเยี่ยมทีเดียว แต่ต้องเล่นท่อนแรกวน 4 รอบน่ะ" ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ทำให้เพลงนี้ติดหูมากขึ้นไปอีก
RT: คุณเริ่มเล่นกีตาร์ครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 15 มันดูช้าไปหรือเปล่า เมื่อเทียบกับการเติบโตมาในเมืองแห่งเสียงดนตรีอย่างซาน ฟรานซิสโกแถมยังมีพี่ชายที่เป็นนักสะสมแผ่นตัวยงด้วย
KH: ในยุค 70 การเริ่มเล่นดนตรีในวัย 15 ไม่ถือว่าช้าหรอก ตอนนั้นผมเริ่มเล่นตามไปกับแผ่นเป็นร้อยๆ ครั้ง เพลงแรกที่ผมพอจะเล่นได้ดีคือ Purple Haze ของ จิมมี เฮนดริกซ์ จำได้ว่าผมเล่น Dazed and Confused ของ Led Zeppelin เวอร์ชันคอนเสิร์ต The Song Remains the Same แทบทุกวัน พยายามที่จะเก็บทุกเม็ดจากเพลงที่ยาวกว่าครึ่งชั่วโมงเพลงนั้น สำหรับผมตอนนั้นมันถือเป็นพจนานุกรมแห่งท่อนริฟฟ์อย่างแท้จริง
จนกระทั้งผมมาได้ฟัง Mother Mary จากชุด Force It ของ UFO ทัศนคติเกี่ยวกับกีตาร์ของผมก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ มือกีตาร์ของเขา ไมเคิล เชงเกอร์ ไม่ได้โซโลสเกลบลูส์ แต่เขาเล่นโหมด พวกสเกลที่ฟังเหมือนกับเพลงคลาสสิก ส่วนภาคริธึมนั้นก็ร้ายกาจสุดๆ ทุกวันนี้ UFO ยังเป็นวงร็อคอันดับหนึ่งในโลกของผม ผมเคยเล่นเพลง Doctor Doctor ให้ลูกชายวัยขวบครึ่งของผมฟัง เขาชอบมันเป็นบ้าเลย
RT: แล้วคุณก็นำเอาความเป็นเฮนดริกซ์มาสู่ Metallica ด้วย
KH: ผมพยามจะไม่ทำให้มันชัดเจนขนาดนั้น ผมชอบท่อนจบของเพลง For Whom the Bell Tolls ที่มีเสียงคันโยกอย่างบ้าระห่ำ กับเฮนดริกซ์นั้นเขามีสำเนียงที่ไม่เหมือนใคร ขณะที่กองทัพตู้แอมป์มาร์แชล, เอฟเฟค fuzztone, wah-wah และ Uni-Vibe กองอยู่ตรงหน้าเขา ตอนที่ผมได้ยินเขาเล่นใน Woodstock ผมบอกกับตัวเองว่า "ฉันอยากให้เสียงกีตาร์ออกมาแบบนี้บ้าง" แต่พอเขาเริ่มใช้ fuzz box มันกลับออกมานุ่มนวลมากกว่าจะแผดเสียงมากระหน่ำหูคนฟัง เฮนดริกซ์เขาชัดเจนกับอะไรแบบนี้
RT: แล้วสำเนียงการเล่นของคุณละ โดยเฉพาะการเล่นโซโล
KH: ผมชอบเสียงที่สะอาดชัดเจน ไม่รกหูมากเกินไป ผมจะทำเสียงแตกต่อเมื่อมันเข้ากับโทนของเพลงนั้นๆ และผมชอบเหลือเกินกับการเล่น wah-wah จนบางครั้งก็คิดเหมือนกันว่าใช้มากไปหรือเปล่า แต่ผมไม่สน เพราะเล่นมันแล้วผมมีความสุข
RT: การที่ Metallica จะเน้นไปที่ความดุดันเป็นหลัก มันเป็นข้อจำกัดในการเล่นกีตาร์ของคุณบ้างไหม
KH: หัวใจสำคัญคือต้องรักษาเอกลักษณ์ของวงเอาไว้ แต่ในเวลาว่างผมชอบจะเล่นแจ๊สและบลูส์ ผมฟังงานของ ทัล ฟาร์โลว์, เคนนี เบอร์เรล, เอลมอร์ เจมส์ และ บัดดี กาย ซักวันหนึ่งผมจะออกงานเดี่ยวของผมเอง ที่จะรวมสไตล์กีตาร์เอาไว้ให้กว้างที่สุด ผมเคยคิดน่ะว่าถ้าอายุ 70 แล้ว ผมยังจะไปเอนหลังที่เฉลียงและเล่นเพลงอย่าง Seek and Destroy อยู่อีกหรือเปล่า (หัวเราะ) ผมชอบเอาท่อนริฟฟ์ของ UFO มานั่งเล่นกว่าครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อผมปรับแอมป์ไปที่เสียงปกติ ผมก็จะเริ่มเล่นเพลงบอสซา โนวา หรือ โรเบิร์ต จอห์นสัน
RT: แล้วคุณจะรับเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาในอาณาจักร Metallica บ้างหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเกิดขึ้น
KH: เมทัล-ลิกา ชื่อนี้ก็บอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว
Kirk Hammett Showing Blueprint of Metal