xs
xsm
sm
md
lg

BOYS LOVE: สุขสมและเจ็บปวดในไม้ป่าเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

อาจไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นสมการสำเร็จรูปหรือสูตรตายตัวอะไรได้ แต่ “สาร” หรือ “เนื้อหา” อย่างหนึ่งซึ่งเรามักจะพบเห็นอยู่บ่อยๆ ในหนังเกย์ส่วนใหญ่ก็คือการนำเสนอความรู้สึกเจ็บปวดของตัวละคร (ที่เป็นเกย์) ซึ่งต้องปะทะกับความคิดเชิงอคติทางเพศของสังคมรอบข้างที่ปฏิเสธ “การมีอยู่” ของพวกเขาเหล่าเกย์ (สิ่งนี้ถือเป็นแพทเทิร์นทางด้านเนื้อหาอย่างหนึ่งของหนังเกย์ไปแล้ว)

แน่นอนครับว่า อคติทางเพศแบบนี้ยังมีอยู่จริงและมีอยู่มากในหลายๆ พื้นที่ของสังคมโลก แต่เมื่อมันถูกนำมาบอกผ่านในหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนดูแน่ๆ ก็คงหนีไม่พ้นความรู้สึกว่ามันซ้ำซากจำเจ

ยอมรับนะครับว่า อคติคร่ำครึบางอย่างนั้นน่าเบื่อหน่ายขนาดไหน แต่การดูหนังที่พูดแต่เนื้อหาเดิมๆ ผมว่าก็น่าเอียนไม่แพ้กัน (จริงไหม?)

จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรนักที่กระแสหนังเกย์ซึ่งเคยแข็งตัวมากๆ เมื่อหลายปีก่อนจะอ่อนตัวลงไปแล้วอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน แลถึงแม้จะไม่อาจฟันธงได้แบบจะแจ้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ทั้งหมดนั้น เนื่องมาจากเหตุผลด้านเนื้อหาที่ย่ำอยู่กับที่ด้วยส่วนหนึ่ง (เหมือนกับกระแสหนังเกาหลีฟีเวอร์ที่ทำให้คนดูเห่ออยู่พักใหญ่ ก่อนจะซาลงไปพร้อมกับเนื้อหาของหนังที่วนเวียนอยู่แต่กับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือไม่ก็ตลก จนคนดูรู้สึกอิ่มเอียน)

อย่างไรก็ดี พ้นไปจากนี้ ผมเห็นว่าก็ยังมีหนังเกย์อีกจำนวนไม่น้อยที่ฉีกเนื้อหาออกไปจากกลุ่มที่พูดถึงข้างต้น คือนอกจากจะไม่พาตัวเองเข้าไปแตะต้องเรื่องอคติทางเพศหรือตัดพ้อโลกที่จิตใจคับแคบแล้ว ยังมุ่งนำเสนออย่างจริงจังเพื่อให้คนดูได้สัมผัสกับแง่มุมความรักความสัมพันธ์ของเพศที่สามซึ่งมีทั้งด้านที่สวยงามหวานชื่นและขมขื่นเจ็บปวดไม่ต่างจากความรักความสัมพันธ์ทั่วๆ ไป

ผลงานของ “หว่อง การ์ ไว” อย่าง Happy Together ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดของหนังเกย์ในแนวทางที่ว่านี้ หรือถ้าจะพูดให้ชัดลงไปเลยก็คือว่า Happy Together ไม่มีส่วนไหนที่เกี่ยวกับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของเพศที่สาม เพราะหัวข้อใหญ่ๆ ที่หนังเรื่องนี้พูดถึงคือความรักความสัมพันธ์ของคนสองคนซึ่งมีทั้งวันเวลาที่สุขสมและโศกเศร้าคละเคล้ากันไป

และไม่มากไม่มาย ผมว่าหนังญี่ปุ่นอย่าง Boys Love ก็เดินอยู่ในแนวทางนี้เช่นกัน (พูดแบบนี้ไม่ได้คิดจะเอา Boys Love ไปเทียบกับ Happy Together นะครับ เพราะถึงอย่างไร งานของหว่องการ์ ไว ย่อมลุ่มลึกและคมคายกว่าหลายขุม ผมเพียงแต่ต้องการจะบอกถึง “ทิศทาง” การนำเสนอของหนังเท่านั้นเอง)

Boys Love (กำกับโดย Kotaro Terauchi) เปิดตัวอย่างเงียบๆ สู่ตลาดภาพยนตร์ในรูปแบบหนังแผ่นตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่แล้ว สาระหลักในหนังเกี่ยวข้องกับความรักระหว่างผู้ชาย 3 คนที่นำไปสู่รักสามเส้าโดยมีความปวดร้าวสูญเสียยืนคอยอยู่ปลายทาง

เรื่องราวโดยย่อที่สุดนั้นมีอยู่ว่า เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “โนเอรุ” ไปตกหลุมรักกับ “มามิยะ” นักเขียนหนุ่มประจำนิตยสารเล่มหนึ่ง ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่เรื่องยากอะไรที่รักครั้งนี้จะสมหวัง แต่ปัญหาที่ติดหนึบอยู่ข้างหลังของโนเอรุก็คือ เขามีผู้ชายอีกคนที่รักเขาและรอคอยที่จะได้ครองชีวิตคู่ร่วมกับเขาอยู่แล้ว

คงเหมือนกับหนังเกย์หลายๆ เรื่องที่มักจะวนเวียนอยู่กับการนำเสนอภาพชีวิตที่ดูแสนจะมืดหม่นและสมหวังยากของตัวละคร No regret เอย Eternal Summer เอย ก็ล้วนแต่เป็นด้านที่เศร้าหม่นในโลกของเกย์ทั้งนั้น ซึ่ง Boys Love ก็ไม่ต่างไปจากนี้ เพราะถึงแม้หนังจะมีฉากที่ดูสดใสมีชีวิตชีวาบ้าง แต่บรรยากาศโดยรวมจัดว่าอยู่ในโทนเศร้า (หญิงสาวบางคนที่เป็นสาวกของ “ฟิคเกย์” หรือ “นิยายเกย์” บอกผมว่า อารมณ์และรูปแบบการเล่าเรื่องของงานชิ้นนี้ดูใกล้เคียงกับ “ฟิคเกย์” เอามากๆ)

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดดูจะตกอยู่กับหนุ่มน้อยโนเอรุเพียงผู้เดียว เนื่องจากการเป็นตัวละครที่มี “มิติ” และ “ความลึก” มากกว่าคนอื่นๆ และแน่นอน ความเจ็บปวดของเขาก็ย่อมมีมากกว่าคนอื่นๆ

โนเอรุ เป็นหนุ่มน้อยนักเรียนไฮสกูลที่มีหัวด้านการวาดภาพ เขาเป็นจิตรกรดาวรุ่งที่สื่อต่างๆ อยากขอสัมภาษณ์ โนเอรุเขียนภาพไว้ภาพหนึ่งซึ่งเป็นภาพของเด็กผู้ชายคนหนึ่งยืนหันหน้ามองดูทะเลที่เวิ้งว้าง (หนังให้ชื่อภาพนั้นว่า the Boy and the Sea ราวกับจะเล่นล้อกับวรรณกรรมชิ้นเอกของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ที่ชื่อ the Man and the Sea)

แม้คนอื่นๆ จะชื่นชมว่ามันเป็นภาพที่สวยงามมากในบรรดาภาพทั้งหมดของโนเอรุ แต่คนเหล่านั้นก็ไม่เคยรู้เลยว่า ในภาพภาพนั้นซ่อน “ความหลัง” ซึ่งโนเอรุเก็บไว้เป็น “ความลับ” และปวดร้าวอยู่ในใจเพียงลำพังมาเนิ่นนาน

ยิ่งไปกว่านั้น ภาพที่ว่านี้เองที่มีส่วนอย่างสำคัญในการเปิดเผยเผยเงื่อนปมและเหตุผลที่มาที่ทำให้โนเอรุมีพฤติกรรมเสเพลเกเรเหมือนเด็กใจแตกแบบนั้น (ไม่ค่อยตั้งใจเรียน ไร้สุข ไปจนถึงมีเซ็กซ์กับผู้ชายไม่ซ้ำหน้า)

อันที่จริง หนังไม่ค่อยมีรายละเอียดซับซ้อนอะไรนัก นอกจากเล่นกับความรู้สึกหวั่นไหว เหงาเศร้า และสับสนของตัวละครไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี Boys Love ก็มีพัฒนาการด้านเรื่องราวให้ชวนติดตามได้เรื่อยๆ เช่นกัน ก่อนจะพาคนดูก้าวเข้าสู่จุดพีคสุดๆ ในตอนท้ายเรื่อง แม้จะเป็นจุดพีคที่ไม่ค่อยเซอร์ไพรซ์เท่าไหร่นัก แต่ก็ได้ความสะเทือนใจไประดับหนึ่ง

และส่วนที่ผมเห็นว่าเป็นลักษณะเด่นที่น่าชื่นชมพอสมควรสำหรับหนังเรื่องนี้อยู่ที่วิธีการดำเนินเรื่องซึ่งมีการหยิบยกเอาวาทะคำคมของบุคคลและนักเขียนดังๆ อย่าง เช็คสเปียร์, เฮมิงเวย์ ฯลฯ มาขึ้นเป็นตัวหนังสือคั่นไว้เป็นช่วงๆ

ซึ่งวาทะเหล่านั้น นอกจากจะมีความหมายน่าคบคิดแล้ว ในด้านหนึ่งยังทำหน้าที่เป็นเสมือนบทเกริ่นนำหนังแต่ละช่วงได้เป็นอย่างดีว่า เบื้องหน้าจากนี้ไป เรื่องราวในหนังจะก้าวเดินไปทิศทางใด หรือมี “อารมณ์” ประมาณไหน (วิธีการแบบนี้ก็เหมือนนิยายทั่วๆ ไปที่ถูกแบ่งออกเป็นบทๆ โดยแต่ละบทก็จะมีชื่อของตัวเอง และชื่อบทนั้นๆ ก็สื่อถึงความหมายของเรื่องราวในแต่ละบทได้ด้วย)

ว่ากันอย่างถึงที่สุด ผมไม่คิดว่า Boys Love จะน่าผิดหวังมากมายอย่างที่นักวิจารณ์บางคนหล่นความเห็นไว้ตามเว็บไซต์บางเว็บ เพราะถึงอย่างไร หนังเรื่องนี้ก็ได้พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดครบทุกคำ ซึ่งก็ได้แก่ความรักแบบผู้ชายๆ (Boys Love) ที่ไม่มีอันใดแตกต่างจากความรักแบบอื่นๆ ในแง่ของความหลากหลายทางอารมณ์ ซึ่งมีทั้งรักใคร่หลงใหล ไปจนถึงหึงหวงและอิจฉาริษยา

แต่ถ้าจะดูอย่างค้นหาความหมายจริงๆ ผมคิดว่า “สาร” ที่ Boys Love สื่อกับคนดูได้ชัดที่สุดก็คือ โศกนาฏกรรมที่เกิดจากความเข้าใจผิดอย่างรุนแรงในเรื่องความรัก
เข้าใจผิดยังไงหรือ?

ก็คือเข้าใจว่า ความรักนั้น เมื่อรักแล้วต้องได้ครอบครองเป็นเจ้าของ (ความรักแบบนี้มักไม่รู้สึกยินดีเมื่อคนที่ตัวเองหมายปองไปมีความสุขกับคนอื่น)

และก็เป็นเพราะความเข้าใจผิดๆ แบบนี้นี่เองที่ทำให้ตัวละครคนหนึ่งเกิดอาการหน้ามืดตามัว ถึงกับฉวยมีดไปจ้วงแทงคนที่ตัวเองรัก...




กำลังโหลดความคิดเห็น